Thai Netizen Network

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต เรียกร้องแก้ ม. 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ

แถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองเน็ต:
ขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 อย่างเร่งด่วน

(English version)

ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ) ยังไม่ถูกประกาศใช้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้แสดงจุดยืนเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาตลอด ด้วยเล็งเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีผลในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังขัดกับคุณลักษณะของอินเทอร์เน็ตในหลายแง่มุม ซึ่งสร้างผลกระทบในการบังคับใช้ หากแต่ภาครัฐกลับมิได้กระตือรือร้นและจริงจังในการแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชนฉบับนี้

นอกจากนี้ ระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองที่แหลมคมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองเน็ตพบว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะมาตราที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ มาตรา 14 และ 15 ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานกับผู้ที่คิดต่างทางการเมือง หรือคิดต่างจากรัฐบาล ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนได้แก่ กรณีการจับกุมและตั้งข้อหาร้ายแรงกับ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (http://www.prachatai.com) ถึงสองคดี

กรณีการจับกุมโดยกองบังคับการปราบปราม

ในคดีแรกนั้น ตำรวจได้ตั้งข้อหากับจีรนุชว่ามีความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ คือเจตนาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปรากฎอยู่ในเว็บบอร์ดประชาไท

อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวได้ถูกลบออกจากระบบแล้วเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะมีการจับกุม ภายหลังจากที่จีรนุชได้รับจดหมายจากกองบังคับการปราบปราม ซึ่งแสดงถึงเจตนาของจีรนุชว่ามิได้จงใจสนับสนุนการ กระทำผิดดังกล่าว นอกจากนี้ ระยะเวลา 20 วันที่ตำรวจกล่าวอ้างว่าเป็นการ “จงใจ สนับสนุน หรือยินยอม” ก็ยังไม่ได้มีกำหนดอยู่ในกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงตัวเลขที่ปรากฎในบันทึกของตำรวจหลังจากที่มีการจับกุมแล้วเท่านั้น

กรณีการจับกุมโดยตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นและตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

ส่วนในคดีที่สอง ตำรวจภูธรอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่นได้ขอให้ศาลจังหวัดออกหมายจับจีรนุชตามการเข้าแจ้งความของ สุนิมิต จิระสุข [1] ผู้อ่านเว็บไซต์ประชาไทแล้วพบว่าที่ท้ายบทสัมภาษณ์ โชติศักดิ์ อ่อนสูง (ผู้ปฏิเสธที่จะยืนในโรงภาพยนตร์ระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี) [2] ซึ่งเปิดให้ผู้อ่านทั่วไปสามารถโพสต์ความคิดเห็นได้ มีผู้อ่านบางคนโพสต์ความเห็นในทางที่เห็นด้วยกับการกระทำของโชติศักดิ์ สุนิมิตจึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับจีรนุชซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการเว็บไซต์และผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไท ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงจำนวนมาก ดังนี้

ศาลขอนแก่นได้อนุมัติหมายจับจีรนุชตามข้อหาที่สุนิมิตแจ้งความมาทั้งหมด ทั้งนี้ ข้อความที่ตำรวจกล่าวหาว่าผิดกฎหมายนั้นเป็นข้อความตามที่สุนิมิตกล่าวอ้าง และปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ประชาไทเป็นเวลาเพียง 1 – 5 วันก่อนที่สุนิมิตจะเข้าแจ้งความ

ในกรณีนี้ กองบรรณาธิการประชาไทได้พิจารณาลบข้อความบางส่วนด้วยตนเองไปแล้ว ไม่นานหลังพบข้อความ แสดงถึงเจตนาของทีมงานที่ไม่ได้จงใจหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิด และพร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เมื่อได้รับการร้องขอเช่นกัน

ข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

คดีของจีรนุชชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ดังนี้

1. ภาระของ “ท่อ”

มาตรา 15 ปฏิบัติกับผู้ให้บริการ หรือ “ตัวกลาง” (intermediary: เช่น ศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด บล็อก) เสมือนหนึ่งเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ผู้มีทั้งหน้าที่และความสามารถในการคัดกรองเนื้อหาทั้งหมดก่อนตีพิมพ์ แต่คุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์เช่นทุกวันนี้คือ ข้อมูลทุกอย่างไหลผ่านอย่างรวดเร็ว ตัวกลางจึงเป็นเพียง “ท่อข้อมูล” หรือช่องทางผ่านของเนื้อหาเท่านั้น (mere conduit) หากผู้บังคับใช้กฎหมายไทยจะถือว่าตัวกลางต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและเนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านตัวกลางแล้ว นั่นย่อมหมายความว่า ตัวกลางจะต้องกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดก่อนการเผยแพร่ ซึ่งด้วยความเร็วและปริมาณข้อมูลจำนวนมาก สิ่งดังกล่าวยากที่จะทำให้เป็นไปได้ โดยไม่กระทบกับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

2. ท้องที่เกิดเหตุ “ทั่วราชอาณาจักร”

มาตรา 15 อ้างถึงความผิดอาญาตามมาตรา 14 โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิด “ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งรวมถึงความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ การเป็นความผิดอาญาทำให้บุคคลใดก็ได้สามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ และการเข้าถึงจากที่ใดก็ได้ของเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต ทำให้การแจ้งความเป็นไปได้จากทุกพื้นที่ ซึ่งเปิดโอกาสให้กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันได้ เช่นเดียวกับที่มีการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาไปแจ้งความในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างความยากลำบากแก่ผู้ถูกฟ้องโดยไม่มีเหตุอันควร[^3]

3. ตัวกลางกลายเป็น “แพะ”

ในการดำเนินคดีกับ “ตัวกลาง” ดังเช่นในคดีของจีรนุชทั้งสองคดีนั้น ยังไม่มีการตัดสินโดยศาลว่าข้อความที่ถูกแจ้งนั้นเป็นข้อความที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีผู้โพสต์ข้อความเพียงรายเดียวที่ถูกดำเนินคดี และคดียังไม่สิ้นสุด ซึ่งในกระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับผู้โพสต์รายนี้นั้น เว็บไซต์ประชาไทได้ให้ความร่วมมือตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง สำหรับผู้โพสต์ข้อความอื่น ๆ รัฐต้องไม่พยายามเอาผิดกับตัวกลาง เมื่อได้รับความร่วมมือแล้วแต่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดตัวจริงได้

ภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายและต่อสู้คดีที่ต้องใช้ทรัพยากร รวมถึงเวลาเดินทางอันยาวนาน ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐมุ่งเน้นการจับกุมตัวกลาง ทำให้ตัวกลางต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเกินสัดส่วนที่สมเหตุผล นำไปสู่แนวโน้มที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเกินความจำเป็น โดยยึดหลัก “ลบเกินไว้ก่อนปลอดภัยกว่า” หรือกำจัดภาระทั้งหมดโดยการยกเลิกพื้นที่สำหรับเนื้อหาที่ผู้ใช้ผลิตเอง (user-generated content) เช่นการปิดบริการเว็บบอร์ด ซึ่งสร้างผล กระทบกับผู้ใช้จำนวนมากที่ไม่ได้กระทำความผิด

เราต้องไม่ลืมว่าโครงการเช่น วิกิพีเดีย และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะคุณลักษณะของอินเทอร์เน็ตที่เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ผู้อ่านสร้างเนื้อหาได้เอง อย่างรวดเร็ว จากทุกสถานที่ แต่การควบคุม จำกัดสิทธิ และบีบพื้นที่ตัวกลางลง เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสร้างสรรค์นวัตกรรม จะทำให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์

ข้อยกเว้นความรับผิด (Safe Harbour)

ในประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะมีการกำหนดข้อยกเว้นความรับผิด (safe harbour) หรือการถือว่าตัวกลางเป็นผู้บริสุทธิ์โดยปริยายในขณะที่ยังไม่สามารถพิสูจน์เจตนาการกระทำความผิดได้ เนื่องจากตัวกลางคือพื้นที่ที่โดยปกติไม่มีส่วนรู้เห็น หลักการนี้จึงมีไว้เพื่อคุ้มครองตัวกลางจากภาระทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ไม่ได้ให้เสรีภาพแก่ตัวกลางจนเกินขอบเขต เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งตัวกลางเมื่อพบเนื้อหาที่เป็นความผิด และขออำนาจศาลเพื่อสั่งให้มีการลบเนื้อหานั้นได้ (notice and take down) ทั้งนี้ต้องเป็นไปในระยะเวลาที่เหมาะสม[^4]

ข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 ในปัจจุบัน เป็นไปในลักษณะคุกคามเพื่อบีบพื้นที่ “ตัวกลาง” อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดการสื่อสารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

เครือข่ายพลเมืองเน็ตจึงเห็นว่า มาตรา 15 ของกฎหมายฉบับนี้ เป็นบทบัญญัติที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง จึงเสนอให้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดังนี้

  1. พิจารณาและปฎิบัติกับ “ตัวกลาง” ในฐานะที่เป็นเพียงทางผ่านของข้อมูล (ท่อ) หรือเป็นเพียงที่พักข้อมูลแบบอัตโนมัติ (cache/buffer) และเข้าใจถึงธรรมชาติของอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลไหลผ่านตัวกลางอย่างรวดเร็ว จนไม่อาจกลั่นกรองหรือควบคุมได้ในทางที่คุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์
  2. ถือว่าตัวกลางนั้นบริสุทธิ์โดยปริยาย (by default) โดยตระหนักว่าตัวกลางนั้นเป็นเพียงทางผ่านของข้อมูลเท่านั้น จนกว่าจะมีหลักฐานให้เชื่อได้ว่า ตัวกลางมีเจตนาสนับสนุนหรือสมรู้ร่วมคิดในการกระทำความผิด และจึงนำมาสู่การพิสูจน์ในชั้นศาล
  3. หากศาลยังไม่ตัดสินว่า ข้อความที่เป็นปัญหานั้นผิดกฎหมายจริง และ/หรือ ผู้กระทำการตามมาตรา14 (ผู้โพสต์ข้อความ) มีความผิดจริง จะยังเริ่มดำเนินคดีกับตัวกลางตามมาตรา 15 ไม่ได้
  4. หากศาลตัดสินแล้วว่า ตัวกลางมีเจตนากระทำความผิดจริง โทษที่ตัวกลางต้องรับ จะต้องมีการแยกแยะแตกต่างหนักเบา ระหว่าง ทำเอง, สนับสนุน, ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ตามหลักสัดส่วน
  5. ต้องมีการบัญญัติข้อกำหนดลายลักษณ์อักษรเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ว่าด้วยหลักการแจ้งลบข้อความที่ผิดกฎหมาย (notice and takedown procedure) เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe harbour) ให้กับตัวกลาง เช่น เมื่อผู้ดูแลเว็บได้รับจดหมายจากเจ้าหน้าที่ว่ามีข้อความผิดกฎหมาย แล้วไม่ลบภายในเวลาอันสมเหตุผลตามที่กำหนด จึงอาจถูกพิจารณาว่ามีความผิด

เครือข่ายพลเมืองเน็ต ขอเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งนำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสาธารณะ พิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 และมาตราที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้เสนอมานี้ โดยทันที เพื่อระงับมิให้กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองและลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เพื่อเสรีภาพออนไลน์
เครือข่ายพลเมืองเน็ต
17 ตุลาคม 2553

[1]: http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9510000049421
[2]: http://prachatai.com/journal/2008/04/16466
[3]: เช่นกรณีที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ฟ้องหมิ่นประมาท พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร ที่จังหวัดปัตตานี จากบทความของ พล.ต.อ. วสิษฐ ในหนังสือพิมพ์มติชน
[4]: อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องข้อยกเว้นความรับผิดได้จากบทความแปลโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต “ภาระรับผิดทางกฎหมายของตัวกลาง: ปกป้องพื้นที่อินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมการแสดงออกและสร้างสรรค์นวัตกรรม”

Exit mobile version