กฎหลักของมารยาทเน็ต – เอกสารประกอบการเสวนา “กติกาพลเมืองชาวเน็ต” [สฤณี อาชวานันทกุล]

2009.05.13 01:26

แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต เพื่อประกอบการเสวนากล้วยน้ำไทวิชาการ (ICT Social Network) ตอนที่ 3 “กติกาพลเมืองชาวเน็ต” จากแนวปฏิบัติสู่จารีตประเพณีจนถึงกฎหมายลายลักษณ์อักษร เมื่อ 13 พฤษภาคม 2552 ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท

แปล เรียบเรียง และดัดแปลงจาก http://www.albion.com/netiquette/corerules.html
คัดลอกมาจากหนังสือ มารยาทเน็ต (Netiquette) โดย เวอร์จิเนีย เชีย

เกริ่นนำ

มารยาทเน็ต (netiquette) คืออะไร พูดง่ายๆ ก็คือ มารยาทในการสื่อสารแบบเครือข่าย หรือไซเบอร์สเปซ คำว่า “มารยาท” หมายถึงกิริยาอาการที่พึงประพฤติปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มารยาทเน็ตคือชุดวิธีประพฤติตนที่เหมาะสมเมื่อคุณใช้อินเตอร์เน็ต

เมื่อคุณต้องเจอกับวัฒนธรรมใหม่ๆ และโลกไซเบอร์สเปซก็มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง คุณจะต้องยอมรับว่าอาจทำผิดพลาดไปบ้าง เช่น อาจจะไปละเมิดผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือคุณอาจจะเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดแบบผิดๆ และต่อว่าคนพูดโดยไม่ได้เจตนา สิ่งที่แย่กว่านั้นอีกคือ ไซเบอร์สเปซมีลักษณะอะไรบางอย่างที่ทำให้เราลืมไปว่า เรากำลังมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริงๆ ไม่ใช่แค่รหัสตัวอักษร (ASCII) ที่ปรากฏบนจอ

ดังนั้น คนใช้อินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะผู้ใช้รายใหม่ที่มีเจตนาดี ก็อาจทำผิดพลาดได้หลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลืมไปว่ากำลังสื่อสารกับคนจริงๆ อีกส่วนเพราะไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติในโลกนี้

บทความเรื่องมารยาทเน็ตนี้มีจุดประสงค์ 2 ส่วน กล่าวคือ เพื่อช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผู้เล่นอินเตอร์เน็ตมือใหม่ให้เหลือน้อยที่สุด และช่วยให้ผู้ท่องอินเตอร์เน็ตที่มีประสบการณ์ช่วยผู้เล่นมือใหม่ได้ สมมติฐานของบทความนี้คือ คนส่วนใหญ่น่าจะอยากหาเพื่อน ไม่อยากสร้างศัตรู และถ้าคุณทำตามกฏพื้นฐานไม่กี่ข้อ คุณก็จะมีโอกาสทำผิดแบบเสียเพื่อนน้อยลง

กฏและคำอธิบายต่อไปนี้คัดมาจากหนังสือ เพื่อนำเสนอชุดแนวทางทั่วไปสำหรับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งจะไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับมารยาทต่างๆ แต่จะให้หลักการพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้เมื่อคุณเจอกับปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องมารยาทในการใช้อินเตอร์เน็ต

กฎข้อที่หนึ่ง อย่าลืมว่ากำลังติดต่อกับคนที่มีตัวตนจริงๆ

จงปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนที่คุณอยากให้คนอื่นปฏิบัติต่อคุณ นี่เป็นบทท่องจำแสนง่ายที่พ่อแม่และคุณครูอนุบาลพร่ำสอนคุณ ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา จริงอยู่ที่คุณต้องมั่นคงในจุดยืนของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ต้องไม่ทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นด้วย

ในโลกไซเบอร์สเปซ กฎนี้เป็นมากกว่าธรรมเนียมทั่วไป เพราะเมื่อคุณติดต่อสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต สิ่งเดียวที่คุณเห็นคือจอคอมพิวเตอร์ คุณไม่มีโอกาสแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงเพื่อสื่อความหมาย คุณทำได้แต่เขียนออกไปเท่านั้น

เมื่อคุณติดต่อกันทางออนไลน์ ไม่ว่าด้วยอีเมล์หรือจะโต้ตอบผ่านกระทู้ คุณอาจจะเข้าใจความหมายของคนที่คุยด้วยผิดไปและอาจลืมไปว่าเขาก็เป็นคนและมีความรู้สึกเหมือนกันกับคุณ

เรื่องนี้อันที่จริงเป็นตลกร้าย เพราะเครือข่ายอินเตอร์เน็ตทำให้คนที่ไม่เคยพบเจอกันมารู้จักพูดคุยกันได้ แต่มันก็ห่างเหินเกินกว่าที่จะเหมือนกับเวลาพูดคุยกับคนจริงๆ คนที่คุยกันทางอีเมล์เปรียบเสมือนคนขับรถ ที่มักจะด่าทอต่อว่าคนขับรถคันอื่นๆ ทำท่าทางลามกหยาบโลนใส่กัน และทำตัวป่าเถื่อนโดยรวม คนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่ทำตัวแบบนั้นเวลาอยู่ที่ทำงานหรือบ้าน แต่ดูเหมือนว่าการมีเครื่องจักรกลอะไรสักอย่างมาคั่นกลางทำให้พวกเขายอมรับพฤติกรรมเหล่านั้นได้

สิ่งที่มารยาทเน็ตบอกเราก็คือ จริงๆ แล้วพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

จริงอยู่ที่เราใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อสื่อความรู้สึกและความคิดเห็นของเราอย่างอิสระ ออกสำรวจโลกใหม่ๆ และไปในที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน แต่อย่าลืมกฎข้อสำคัญ นั่นคือ คนที่คุณเจอในอินเตอร์เน็ตนั้น ก็เป็นคนจริงๆ เหมือนกับคุณนั่นแหละ

เราจะพูดอย่างนั้นตรงๆ ต่อหน้าเขาหรือเปล่า?

กาย คาวาซากิ นักเขียนและนักรณรงค์เครื่องแมคอินทอช เล่าเรื่องที่เขาได้รับอีเมล์จากคนแปลกหน้าคนหนึ่งที่เขาไม่เคยเจอ เนื้อความในอีเมล์ต่อว่ากายว่าเขาเป็นนักเขียนที่ห่วยแตก ไม่มีอะไรน่าสนใจจะสื่อ

อีเมล์นั้นหยาบคายอย่างเหลือเชื่อ แต่โชคร้ายที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาบนโลกอินเตอร์เน็ต

มันอาจเป็นเพราะคุณรู้สึกว่ามีอำนาจพิเศษ ที่สามารถส่งอีเมล์โดยตรงไปหานักเขียนที่มีชื่อเสียงอย่างกายได้ และอาจจะจริงที่คุณไม่ต้องเห็นเขาทำหน้ายับย่นด้วยความหดหู่ตอนที่อ่านอีเมล์ของคุณ แต่ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไรก็ตาม เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นบ่อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ

กายเสนอบททดสอบชุดหนึ่งให้คุณลองทำ ก่อนที่จะส่งอีเมล์หรือโพสต์ข้อความอะไรบนอินเตอร์เน็ต ก่อนอื่นคุณต้องถามตัวเองว่า ถ้าเจอกันต่อหน้าคุณจะพูดแบบนี้กับเขาหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ก็จงแก้ข้อความนั้นแล้วอ่านใหม่อีกครั้ง ทำแบบนี้ซ้ำๆ จนคุณรู้สึกว่าไม่ลำบากใจที่จะพูดแบบนี้กับใครแล้ว จึงค่อยส่ง

แต่ถ้าคุณเป็นพวกที่ชอบพูดอะไรหยาบคายรุนแรงต่อหน้าคนอื่นเพื่อความสะใจ ก็คงต้องไปอ่านหนังสือประเภท สมบัติผู้ดี เพราะมารยาทเน็ตช่วยอะไรคุณไม่ได้

เวลาที่คุณติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะผ่านอีเมล์หรือโพสกระทู้ คุณต้องพิมพ์สิ่งที่ต้องการสื่อลงไป และมันมีโอกาสที่คนจะบันทึกสิ่งที่คุณเคยเขียนเอาไว้ โดยที่คุณไม่สามารถควบคุมได้ พูดอีกอย่างคือ สิ่งที่คุณเขียนนั้นมีโอกาสกลับมาหลอกหลอนคุณได้ในอนาคต ดังนั้น พยายามอย่าก้าวร้าว

อย่าลืมเรื่องอีเมล์อันโด่งดังของ โอลิเวอร์ นอร์ท ผู้รักระบบอีเมล์ของทำเนียบขาวที่เรียกว่า PROFS มาก เขาขยันลบข้อความที่เขาเคยรับ-ส่ง แต่สิ่งที่เขาคาดไม่ถึงก็คือ เจ้าหน้าที่ห้องคอมพิวเตอร์คนอื่นที่บันทึกข้อมูลรวมทั้งของโอลิเวอร์ลงบนเมนเฟรมก็ขยันบันทึกเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเขาถูกตรวจสอบ ข้อความเหล่านั้นจึงกลายเป็นหลักฐานยืนยันความผิดของเขา

ถึงคุณจะไม่อยากก่ออาชญากรรม คุณก็ควรอยากระมัดระวังตัว ข้อความอะไรก็ตามที่คุณส่งอาจถูกเก็บไว้หรือส่งต่อได้ เมื่อคุณส่งไปแล้วก็ไม่อาจควบคุมได้อีกว่ามันจะไปไหนต่อ

กฎข้อที่สอง การสื่อสารออนไลน์ให้ยึดมาตรฐานความประพฤติเดียวกับการสื่อสารในชีวิตจริง

ในชีวิตจริง คนส่วนใหญ่มักจะเคารพกฎหมาย ไม่ว่าจะด้วยนิสัยหรือเพราะกลัวโดนจับก็ตาม แต่ในโลกอินเตอร์เน็ต โอกาสที่จะถูกจับมีน้อย และบางทีเพราะผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมักลืมว่าอีกฝ่ายที่กำลังคุยด้วยเป็นคนที่มีตัวตนจริงๆ ก็เลยปฏิบัติต่อกันโดยมีมาตรฐานทางศีลธรรมต่ำกว่าในโลกจริง

ถ้าเรื่องนี้เกิดจากความสับสนก็ยังพอเข้าใจได้ แต่อย่างไรคนพวกนี้ก็เข้าใจผิดอยู่ดี มาตรฐานของพฤติกรรมบนโลกอินเตอร์เน็ตอาจจะแตกต่างจากโลกแห่งความจริงในบางเรื่อง แต่มันไม่ได้ต่ำกว่าแน่นอน

อย่าเชื่อเวลาคนพูดว่า “ศีลธรรมอย่างเดียวที่มีจริงคือ อะไรก็ตามที่คุณทำแล้วไม่มีใครเอาเรื่อง” บทความนี้เกี่ยวกับมารยาท ไม่ใช่ศีลธรรม แต่ถ้าคุณต้องพบเจอกับข้อขัดแย้งเชิงศีลธรรมในโลกอินเตอร์เน็ต คุณก็จงปฏิบัติตามแบบแผนที่คุณยึดถือในชีวิตจริง

ถ้าคุณใช้ซอฟท์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ คุณก็ควรจ่ายเงินด้วย การจ่ายเงินซื้อซอฟท์แวร์เป็นการส่งเสริมให้คนเขียนซอฟท์แวร์เหล่านี้มากขึ้น เงินไม่กี่ดอลล่าร์อาจไม่ได้มีความหมายกับคุณมากนัก แต่การจ่ายเงินจะทำประโยชน์ให้กับโลกอินเตอร์เน็ตในระยะยาว

การแหกกฎเป็นมารยาทที่แย่

ถ้าคุณอยากจะทำอะไรผิดกฎหมายในไซเบอร์สเปซ สิ่งที่คุณกำลังจะทำนั้นก็น่าจะผิดมารยาทด้วย

จริงอยู่ที่กฎหมายบางข้อคลุมเครือซับซ้อน ยากที่จะปฏิบัติตามได้ และในบางกรณีเราก็ยังถกกันไม่ตกว่าจะนำกฎหมายไปประยุกต์ใช้ในโลกไซเบอร์สเปซได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว และกฎหมายลิขสิทธิ์

นี่เป็นคู่มือมารยาท ไม่ใช่คู่มือกฎหมาย แต่มารยาทเน็ตก็เรียกร้องให้คนปฏิบัติต่อกันและกันอย่างดีที่สุดภายใต้กฎหมายของสังคมและไซเบอร์สเปซ

กฎข้อที่สาม รู้ว่าคุณอยู่ที่ไหนในไซเบอร์สเปซ

มารยาทเน็ทในแต่ละ “พื้นที่” ไม่เหมือนกัน

การกระทำอะไรก็ตามอาจเป็นเรื่องยอมรับได้ในที่หนึ่ง แต่ถ้าเป็นที่อื่นอาจจะไม่ใช่ เช่น คุณอาจจะซุบซิบนินทาไร้สาระได้เวลาโพสกระทู้เกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ แต่ถ้าคุณเผยแพร่ข่าวลือที่ไม่มีมูลในเมลลิสต์ของนักข่าว คุณก็จะเป็นคนที่ไม่มีใครชอบหน้าเอามากๆ

เนื่องจากมารยาทเน็ตในแต่ละที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่คุณควรจะรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน ดังนั้นกฏที่ตามมาคือ

ซุ่มก่อนร่วมวง

เมื่อคุณเข้าไปในพื้นที่ใดๆ ที่นั่นถือเป็นที่ใหม่สำหรับคุณ ดังนั้น ลองใช้เวลาสักพักสังเกตการณ์ก่อนว่า ที่นั่นเขาคุยอะไรกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างไร หรือเข้าไปอ่านข้อความเก่าๆ จากนั้นค่อยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเขา

กฎข้อที่สี่ เคารพเวลาและการใช้แบนด์วิธ

คนปัจจุบันดูเหมือนจะมีเวลาน้อยลงกว่าที่เคยเป็นมามากนัก แม้ว่า(หรืออาจจะเพราะ)เรานอนน้อยลง และยังมีเครื่องมือทุ่นแรงมากขึ้นกว่าคนรุ่นปู่รุ่นพ่อเคยมี เมื่อคุณส่งอีเมล์หรือโพสต์ข้อความลงอินเตอร์เน็ต รู้ไว้ว่าคุณกำลังทำให้คนอื่นเสียเวลามาอ่าน ดังนั้นเป็นความรับผิดชอบที่คุณควรแน่ใจก่อนส่ง ว่าข้อความหรืออีเมล์นั้นไม่ทำให้ผู้รับเสียเวลา

คำว่า “แบนด์วิธ” (bandwidth) บางครั้งมีความหมายพ้องกับเวลา แต่จริงๆ แล้วมันเป็นคนละเรื่องกัน แบนด์วิธคือความจุของข้อมูลของสายไฟและช่องทางที่เชื่อมต่อทุกคนในโลกไซเบอร์สเปซ

ข้อมูลที่สายไฟรับได้นั้น มีปริมาณจำกัดในช่วงเวลาหนึ่งๆ แม้ว่าจะส่งผ่านสายไฟเบอร์ออฟติกที่ไฮเทคที่สุดก็ตาม คำว่า “แบนด์วิธ” บางครั้งก็หมายถึงความจุของระบบโฮสต์ เมื่อคุณโพสข้อความเดียวกันในกลุ่มข่าวเดียวกัน 5 ครั้ง คุณกำลังทำให้เสียเวลา (ของคนที่เข้าไปเปิดอ่านทั้ง 5 ข้อความ) และเปลืองแบนด์วิธ (เพราะข้อมูลที่ซ้ำกันทั้งหมดนั้นต้องเก็บไว้ที่ไหนสักแห่ง)

คุณไม่ได้เป็นศูนย์กลางของไซเบอร์สเปซ

บางทีคำเตือนข้อนี้อาจจะดูไม่จำเป็นสำหรับผู้อ่านส่วนใหญ่ แต่ฉันยังคิดว่าควรต้องพูดถึง เพราะยิ่งเมื่อคุณกำลังทำรายงานหรือโปรเจคและกำลังคลุกคลีตีโมงกับมันอย่างหนัก คุณอาจจะลืมคิดไปว่า คนอื่นมีเรื่องอื่นที่ต้องทำนอกเรื่องของคุณ ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าคำถามทุกคำถามของคุณจะได้รับคำตอบในทันทีทันใด และอย่าทึกทักเอาเองว่าผู้อ่านทุกคนจะต้องเห็นด้วย หรือสนใจข้อโต้แย้งที่กระตือรือร้นของคุณ

กฎสำหรับกระดานสนทนา (discussion group)

กฎข้อสี่นี้มีนัยสำหรับผู้ใช้กระดานสนทนาหรือ discussion group ผู้ที่เข้ามาอ่านกระดานแบบนี้ส่วนใหญ่นั่งแช่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไปอยู่แล้ว นานจนครอบครัวเพื่อนฝูงต้องนั่งเคาะนิ้วรอว่าเมื่อไหร่ถึงจะมากินข้าวสักที ในขณะที่ผู้ใช้เหล่านี้กำลังติดตามวิธีใหม่ล่าสุดในการฝึกลูกสุนัขสูตรทำหมูย่างจิ้มแจ่วในกระดานบนอินเทอร์เน็ต

นอกจากนั้น โปรแกรมรายการข่าวหลายโปรแกรมก็ทำงานได้ช้ามาก และผู้อ่านยังต้องตะลุยอ่านหัวข้อทั้งหมด กว่าที่จะไปถึงเนื้อความจริงๆ ไม่มีใครชอบหรอกถ้าต้องเสียเวลาทำทั้งหมดนั้นแล้วพบว่า มันไม่เห็นจะคุ้มค่าเวลาที่เสียไปเลย

ควรส่งอีเมล์หรือข้อความไปให้ใครบ้าง?

ในอดีต คนคัดลอกเอกสารโดยใช้กระดาษคาร์บอน ซึ่งอย่างมากก็ทำสำเนาได้แค่ 5 ครั้ง ดังนั้นเมื่อคุณจะส่งสำเนา 5 ครั้ง คุณจึงต้องคิดอย่างหนัก แต่ปัจจุบันการคัดลอกข้อความและส่งต่อให้คนอื่น (CC ในอีเมล์) นั้นทำได้อย่างง่ายดาย บางครั้งเราจึงลอกอีเมล์ส่งต่อกันจนเป็นนิสัย โดยทั่วไป นี่ถือเป็นเรื่องไร้มารยาท
วันนี้คนมีเวลาน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะพวกเขามีข้อมูลที่ต้องรับรู้มากมาย ดังนั้นก่อนจะส่งเมล์ต่อไปให้ใคร ให้ลองถามตัวเองดูก่อนว่าเขาจำเป็นจะต้องรู้เรื่องในอีเมล์นั้นหรือไม่ ถ้าไม่ ก็อย่าส่ง ถ้าอาจจะอยากรู้ ก็ทบทวนทีก่อนส่ง

กฎข้อที่ห้า ทำให้ตัวเองดูดีเวลาออนไลน์

ใช้ประโยชน์จากความเป็นนิรนาม

ฉันไม่อยากจะให้รู้สึกว่า อินเตอร์เน็ตเป็นสถานที่โหดร้าย เย็นชา เต็มไปด้วยผู้คนที่อดใจรอไม่ไหวที่จะดูถูกคนอื่น แต่โลกอินเตอร์เน็ตก็เหมือนโลกจริง คนที่สื่อสารกันในนั้นอยากเป็นให้คนอื่นชอบ การติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระดานสนทนา ทำให้คุณเข้าถึงคนที่คุณไม่เคยพบเจอ และไม่มีใครสามารถเจอคุณได้ คุณไม่ต้องถูกตัดสินด้วย สีผิว, สีตา, สีผม, น้ำหนัก, อายุ หรือการแต่งตัวของคุณ

อย่างไรก็ตาม คุณจะถูกตัดสินผ่านคุณภาพของสิ่งที่คุณเขียน นี่เป็นข้อได้เปรียบสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เลือกจะติดต่อออนไลน์ เพราะถ้าพวกเขาไม่สนุกกับการเขียนตัวหนังสือ ก็คงไม่ทำต่อ ดังนั้น การสะกดคำให้ถูกและเขียนให้ตรงตามหลักไวยากรณ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

ถ้าคุณใช้เวลาเล่นอินเตอร์เน็ตมากและคุณไม่เก่งเรื่องการสะกดหรือไวยากรณ์ คุณก็ควรจะไปทบทวนสองเรื่องนี้ มีหนังสือให้อ่านมากมาย แต่คุณจะได้เรียนรู้มากและบางทีก็อาจจะสนุกกว่าถ้าไปลงเรียนเอง ถ้าคุณอยู่ในวัยกลางคน คุณไม่จำเป็นต้องไปลงเรียนวิชาประเภท “ไวยากรณ์แบบเรียนลัด” กับกลุ่มวัยรุ่นที่เบื่อเรียน คุณอาจจะไปลงเรียนวิชาตรวจปรู๊ฟและเรียบเรียงแทน วิชาพวกนี้ส่วนมากจะครอบคลุมหลักไวยากรณ์พื้นฐานอย่างค่อนข้างครบถ้วนอยู่แล้ว และก็จะเต็มไปด้วยนักเรียนที่กระตือรือร้นเพราะอยากรู้เรื่องนี้จริงๆ ลองไปเปิดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชุมชนดู นอกจากนี้ ผลพลอยได้ในการลงเรียนวิชาก็คือ คุณจะได้พบปะผู้คนจริงๆ อีกด้วย

รู้ว่าตัวเองกำลังพูดอะไรอยู่ และพูดอย่างมีเหตุมีผล

ให้ความสนใจกับเนื้อหาของสิ่งที่คุณเขียน จงแน่ใจว่าคุณรู้ว่าตัวเองกำลังพูดอะไรอยู่ เวลาที่คุณเขียนประโยค “ผมเข้าใจว่า…” หรือ “ผมเชื่อว่าในกรณีนี้…” ให้ถามตัวเองว่า คุณอยากจะโพสข้อความนั้นก่อนที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนหรือไม่

ข้อมูลแย่ๆ ลามในโลกอินเตอร์เน็ตอย่างรวดเร็วไม่ต่างกับไฟป่า และเมื่อมีการส่งต่อไปซ้ำๆ คุณก็จะพบว่ามันบิดเบือนไปเรื่อยๆ เหมือนเวลาเล่นเกมปากต่อปากในงานปาร์ตี้ คุณจะจำเนื้อความที่ฟังมาทีแรกไม่ได้ทั้งหมด และเมื่อพูดต่อไป มันก็ย่อมจะไม่เหมือนที่ได้ฟังมา (แน่นอน คุณอาจจะบอกว่านี่เป็นเหตุผลที่คุณจะไม่ใส่ใจเรื่องความถูกต้องแม่นยำของสิ่งที่คุณโพส แต่อันที่จริง คุณรับผิดชอบเฉพาะสิ่งที่คุณโพสเองเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับว่าคนเอาสิ่งที่คุณโพสไปทำอะไร)

นอกจากนั้น จงแน่ใจว่าข้อความของคุณชัดเจนและมีตรรกะ การเขียนย่อหน้าที่ไม่มีข้อผิดพลาดเลยทั้งด้านไวยากรณ์และการสะกดคำนั้นเป็นไปได้ แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าเนื้อความมันไม่สมเหตุสมผล เรื่องนี้มักจะเกิดขึ้นเวลาที่คุณอยากใช้คำยาวๆ หลายคำที่คุณเองก็ไม่เข้าใจจริงๆ เพียงเพื่อให้คนอ่านฮือฮา เชื่อเถอะว่าคุณทำไม่ได้หรอก เขียนให้ง่ายเข้าไว้ดีกว่า

อย่าโพสกระทู้ล่อเป้า

สุดท้าย คุณควรทำตัวเป็นมิตรและสุภาพ อย่าใช้ถ้อยคำก้าวร้าว และอย่าเขียนแบบหาเรื่องเพียงเพราะว่าคุณอยากจะมีเรื่อง

ถาม: สังคมอินเตอร์เน็ตยอมรับการสบถหรือไม่

จะยอมรับก็เฉพาะบริเวณที่ขยะถูกมองเป็นงานศิลปะเท่านั้น เช่น ในกระดานข่าว USENET กลุ่ม alt.tasteless ปกติแล้วถ้าคุณรู้สึกว่าต้องสบถสาบาน ก่นด่าอะไรสักอย่างจริงๆ มันจะดีกว่าถ้าคุณเลือกใช้คำเปรียบเปรยที่ฟังดูครื้นเครงกว่า เช่น “เช็ดดดด” และ “ยี้” หรือคุณอาจจะใช้ดอกจันแทน เช่น แ**ง

การพูดเลี่ยงอาจจะเหมาะกว่าเมื่อสื่อสารบนอินเตอร์เน็ต คุณจะไม่ทำให้ใครรู้สึกว่าถูกคุกคามโดยไม่จำเป็น แล้วทุกคนก็เข้าใจความหมายของคุณด้วย

กฎข้อที่หก แบ่งปันความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ

หลังจากข้อแนะนำเชิงลบ ท้ายสุดฉันอยากเสนอข้อแนะนำเชิงบวกบ้าง

ความมหาศาลคือจุดแข็งของไซเบอร์สเปซ มีผู้เชี่ยวชาญมากมายที่อ่านคำถามบนอินเตอร์เน็ต และถึงแม้ว่าจะมีส่วนน้อยมากในจำนวนนั้นที่ตอบคำถาม ความรู้โดยรวมของโลกก็เพิ่มขึ้นอยู่ดี อินเตอร์เน็ตเองก็ก่อตั้งและเติบโต เพราะนักวิทยาศาสตร์อยากจะแบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน และพวกเราที่เหลือก็ค่อยๆ เริ่มมีบทบาทหลังจากนั้น ดังนั้นคุณก็ทำในส่วนของคุณไป แม้ว่ามารยาทเน็ตจะมีข้อห้ามยาวเหยียด คุณก็มีความรู้ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น อย่ากลัวที่จะแบ่งปันในสิ่งที่คุณรู้

ถ้าคุณคาดหวังว่าจะได้คำตอบเยอะๆ หรือถ้าโพสคำถามลงในกระดานสนทนาที่คุณไม่ได้เข้าไปดูบ่อยๆ มันเป็นธรรมเนียมที่คุณจะขอให้คนตอบคำถามผ่านอีเมล์ของคุณโดยตรง แล้วเมื่อคุณได้คำตอบมากพอสมควรแล้ว คุณก็ควรรวบรวมคำตอบ แล้วเอาไปโพสสรุปไว้ในกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอีกที เมื่อทำแบบนั้นทุกคนก็จะได้ประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญที่สละเวลามาเขียนตอบคุณ

ถ้าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญเอง คุณสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น หลายคนรู้สึกว่าสามารถโพสแหล่งที่มาและบรรณานุกรม ตั้งแต่รายการจากแหล่งที่มาถูกกฎหมายออนไลน์ ถึงรายการในหนังสือ UNIX ซึ่งเป็นที่นิยม ถ้าคุณเป็นคนที่มีส่วนร่วมสูงในกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ไม่มี FAQ (คำถามที่พบบ่อย) ก็ควรเขียน FAQ ขึ้นมาซะ ถ้าคุณกำลังวิจัยในเรื่องที่คนอื่นอาจกำลังสนใจอยู่เช่นกัน คุณก็ควรโพสมันลงไปด้วย

การแบ่งปันความรู้เป็นเรื่องสนุก มันเป็นธรรมเนียมของการใช้อินเตอร์เน็ตมายาวนาน นอกจากนั้นยังทำให้โลกดีขึ้นด้วย

กฎข้อที่เจ็ด ช่วยกันควบคุมสงครามการใส่อารมณ์

คนเรามักจะทำ “สงครามเกรียน” (flame wars) คือสงครามอารมณ์ในเน็ต เวลาที่ต้องการแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงโดยไม่ยับยั้งชั่งใจหรือพยายามควบคุมอารมณ์ มักจะมีประโยคท้าทาย เช่น “แน่จริงก็บอกมาสิว่าคุณคิดยังไงกันแน่”

ใช่หรือไม่ว่า มารยาทเน็ตต่อต้าน “เกรียน”? …ไม่ใช่เลย การทำตัวเกรียนในอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องที่มีกันมายาวนาน (และมารยาทเน็ตก็ไม่เคยไปยุ่งกับเรื่องนั้น) แล้วบางครั้งมันก็เป็นเรื่องสนุก ทั้งคนอ่านและคนเขียน อีกทั้งบางที บางคนก็สมควรแล้วที่จะโดนเกรียน

แต่มารยาทเน็ตต่อต้านสงครามเกรียนที่ไม่รู้จักจบสิ้น – ถ้อยคำแสดงความโกรธที่มาเป็นชุดๆ ส่วนใหญ่มาจากคนสองสามคนที่ตอบโต้กันไปมา แต่อาจครอบงำโทนของทั้งกระทู้ ปลุกปั่นอารมณ์และทำลายมิตรภาพดีๆ ของชุมชน มันไม่ยุติธรรมต่อสมาชิกคนอื่น และถึงแม้ว่าบางทีสงครามเกรียนจะก่อให้เกิดความครึกครื้น แต่คนที่ไม่เกี่ยวก็จะเบื่ออย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังไม่ยุติธรรมที่ใครจะใช้แบนด์วิธแบบผูกขาดกันอยู่ไม่กี่คน

กฎข้อที่แปด เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น

คุณคงไม่เคยคิดที่จะไปรื้อค้นโต๊ะทำงานของเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น คุณก็คงไม่ไปเปิดอ่านอีเมล์ของคนอื่นเช่นกัน

แต่โชคไม่ดีที่หลายคนทำอย่างนั้น นี่เป็นเรื่องยาว แต่โดยสรุปฉันอยากจะเล่าเรื่องเตือนใจเรื่องหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า

กรณีนักข่าวต่างประเทศช่างสอดรู้สอดเห็น

ในปี 1993 นักข่าวต่างประเทศผู้เป็นที่เคารพนับถือคนหนึ่งในสำนักข่าวลอสแองเจลิส ไทม์ส์ สาขามอสโคว์ โดนจับฐานแอบอ่านอีเมล์ของเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมงานเริ่มสงสัยเขา ตั้งแต่เห็นระบบบันทึกว่ามีคนล็อกอินเข้ามาเช็คอีเมล์ตอนที่พวกเขาไม่อยู่ ดังนั้นพวกเขาจึงจัดฉากดัดหลังขึ้น ด้วยการส่งข้อมูลเท็จผ่านข้อความจากสำนักข่าวอีกแห่ง นักข่าวคนนั้นเปิดอ่าน แล้วก็ไปถามเพื่อนเกี่ยวกับข้อมูลเท็จ เท่านั้นล่ะ เขาก็ถูกโยกย้ายกลับลอสแองเจลิสทันที

การไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นไม่ได้เป็นแค่มารยาทเน็ตที่เลวทรามเท่านั้น มันยังอาจทำให้คุณเสียงานด้วย

กฎข้อที่เก้า อย่าใช้อำนาจในทางไม่สร้างสรรค์

บางคนในไซเบอร์สเปซมีอำนาจมากกว่าคนอื่น เกมออนไลน์ทุกเกมมีพ่อมด ทุกสำนักงานมีผู้เชี่ยวชาญ และทุกระบบมีผู้ดูแลระบบ

การรู้มากกว่าคนอื่นหรือมีอำนาจมากกว่า ไม่ได้แปลว่าคุณมีสิทธิที่จะเอาเปรียบคนอื่นได้ เช่น ผู้ดูแลระบบไม่ควรอ่านอีเมล์ส่วนตัวของคนอื่น

กฎข้อที่สิบ ให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น

ทุกคนเคยเป็นมือใหม่มาก่อน และไม่ใช่ทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้ ดังนั้นบางคนจึงทำผิดพลาดในแง่มารยาทเน็ต ตั้งแต่ผิดพลาดเล็กน้อยหรือเกรียนเรื่องตัวสะกด ตั้งคำถามงี่เง่าหรือตอบคำถามยาวโดยไม่จำเป็น จงใจเย็นเข้าไว้ ถ้าใครทำผิดพลาดเล็กน้อยที่พอให้อภัยได้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไร แม้ว่าคุณจะรู้สึกโกรธมาก ก็ลองคิดให้ดีก่อนตอบโต้ การที่คุณมีมารยาทดี ไม่ได้แปลว่าคุณมีสิทธิไปไล่จับผิดคนอื่น

ถ้าคุณตัดสินใจจะบอกคนที่ทำผิดมารยาทเน็ต ก็จงบอกอย่างสุภาพและเป็นส่วนตัว ดีกว่าไปป่าวประกาศให้คนอื่นรับรู้ด้วย จงให้โอกาสในความไม่รู้ของคน และอย่าถือตัวหรือหยิ่งว่าคุณรู้ดีกว่า แน่นอนว่าการเกรียนเรื่องตัวสะกดย่อมมีการสะกดผิดในนั้น การประณามว่าผู้อื่นไม่มีมารยาทตรงๆ ก็มักจะเป็นตัวอย่างของมารยาทที่ไม่ดีเช่นกัน.

Tags: