2018.09.21 10:00
(รับฟังความคิดเห็นวันที่ 5-20 กันยายน 2561)
เครือข่ายพลเมืองเน็ต 20 กันยายน 2561
1. ความเป็นอิสระของคณะกรรมการและสำนักงาน
เพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การถือหุ้นหรือลงทุนของสำนักงาน เสนอแก้ไขมาตรา 7 วรรค 1 (4) จากร่างปัจจุบันที่ระบุว่า
- (4) ถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน หรือเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสำนักงาน
เป็น
- (4) ถือหุ้น เข้าเป็นหุ้นส่วน หรือเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสำนักงาน และไม่ทำให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งหรือกระทบการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา 6 (6) และมาตรา 6 (7) ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
2. การ(ไม่)สนับสนุนการรวมตัวของคนทำงาน การคุ้มครองแรงงาน และการประกันสังคม
กฎหมายการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ มักเขียนลอกแบบตามกันเรื่องการไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายเกี่ยวกับการรวมตัวกันของคนทำงาน การคุ้มครองแรงงาน และการประกันสังคม ซึ่งส่งผลให้สิทธิแรงงานและระบบการประกันสังคมอ่อนแอลง
ร่างพ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ ก็คัดลอกมาแบบเดียวกัน ในวรรค 3 ของมาตรา 5 ซึ่งระบุว่า
- กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน
แม้จะมีการกำหนดว่าพนักงานจะต้องได้รับ “ประโยชน์ตอบแทน” ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ “ประโยชน์ตอบแทน” ดังกล่าว ก็ไม่ใช่สิทธิ เช่นไม่รวมถึงการรวมตัวในลักษณะแรงงานสัมพันธ์ และการยกเว้นไม่เอากฎหมายมาใช้บังคับก็ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกลไกคุ้มครองตามกฎหมายนั้นๆ ได้
ประเด็นนี้ไม่เพียงเฉพาะร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น แต่ฝากให้ผู้จะมีส่วนในการร่างกฎหมายต่างๆ ในอนาคต ทั้งจากกระทรวง จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานอื่น พิจารณาถึงความจำเป็นในการยกเว้นไม่เอากฎหมายหลักประกันสิทธิและการส่งเสริมคนทำงานเหล่านี้มาใช้บังคับ โดยหากมีความจำเป็นเฉพาะเรื่องใดก็ให้พิจารณายกเว้นเป็นรายมาตราของแต่ละกฎหมายตามความเหมาะสม ไม่ใช่ยกเว้นไปทั้งฉบับ
รัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ระบุว่า
- มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
[..]บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม
รัฐธรรมนูญ หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ระบุไว้ว่า
- มาตรา 74 รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน
รัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักการพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายจะต้องสนับสนุน กฎหมายใดที่มีโอกาสร่างใหม่หรือแก้ไขปรับปรุง ก็ควรสนับสนุนให้ไปในทิศทางที่ส่งเสริมหลักการพื้นฐานดังกล่าวนี้
เอกสารดาวน์โหลด
- ความคิดเห็นต่อ ร่างพ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. (ก.ย. 2561)
PDF | OpenDocument - ร่างพ.ร.บ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. (รับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 5-20 กันยายน 2561)
- ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (รับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 5-20 กันยายน 2561)