สรุปการสัมมนาเรื่อง “วิพากษ์กฎหมายสื่อฉบับใหม่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง”

2009.03.27 00:18

สรุปการสัมมนาเรื่อง “วิพากษ์กฎหมายสื่อฉบับใหม่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง”

จัดโดย ศูนย์รณรงค์นโยบายสื่อมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะกรรมการณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 16 สิงหาคม 2550

วิพากษ์กฎหมายสื่อฉบับใหม่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

หลังการทำรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ได้มีการออกมาตรการควบคุมสื่อมวลชนในหลายรูปแบบ เช่น การปิดสถานีวิทยุชุมชน การปิดเว็บไซด์ทางการเมือง และการขอความร่วมมือจากสื่อในการรายงานข่าวในลักษณะต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการแทรกแซงการทำงานของนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน และประชาชน ขณะเดียวกันภายใต้รัฐบาลปัจจุบันได้มีกระบวนการผลักดันการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่ออีกหลายฉบับ เช่น

  1. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ (ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ที่ผ่านมา)
  2. พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ (ฉบับแก้ไข)
  3. ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. …
  4. ร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. …
  5. ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. …
  6. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ พ.ศ. …
  7. ร่างพระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ. …
  8. ร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. …

ท่ามกลางกระบวนการผลักดันอย่างรวดเร็วและขาดการมีส่วนร่วมในการไตร่ตรองจากสาธารณะอย่างรอบคอบ จึงก่อให้เกิดข้อวิตกหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาระในกฎหมายหลายประการที่มีนัยยะในการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าทิศทางที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนี้กำลังนำพาสังคมไทยไปมิใช่วาระในการปฏิรูปสื่อแต่เป็นวาระในการครอบงำสื่อโดยอำนาจรัฐ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) จึงร่วมกับ ศูนย์รณรงค์นโยบายสื่อมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนา เรื่อง “วิพากษ์กฎหมายสื่อฉบับใหม่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง” ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ เวลา ๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบจากกฎหมาย รวมทั้งระดมความคิดเห็นและหาทางออก

วิทยากรและผู้เข้าร่วมการสัมมนา

สำหรับผู้เข้าร่วมการสัมมนามีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน ๙๗ คน ประกอบด้วยแกนนำสื่อภาคประชาชนและนักวิชาการที่ติดตามผลักดันการปฏิรูปสื่อ นักวิชาชีพและผู้ปฏิบัติการ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกฎหมายฉบับต่างๆ อาทิ ผู้ผลิตและผู้ดำเนินรายการวิทยุชุมชนในพื้นที่ ผู้ที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ ผู้กำกับ กลุ่มที่รวมตัวนามเครือข่ายเสรีภาพของภาพยนตร์ และกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่รวมตัวกันในนามเครือข่ายต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย รวมถึงนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่สนใจ

ส่วนวิทยากรที่ได้รับเชิญจำนวน ๑๖ ท่าน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแต่ละฉบับ ซึ่งประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักกฎหมาย สมาชิกสภานิติบัญญัติ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผู้ผลิตสื่ออิสระ ตัวแทนเครือข่ายสื่อภาคประชาชน และตัวแทนเครือข่ายสื่อด้านต่างๆ

กระบวนการสัมมนา

ขั้นตอนและกระบวนการสัมมนาอาศัยผลการวิจัยที่เปรียบเทียบร่างกฎหมายใหม่กับกฎหมายฉบับเดิมเป็นฐานคิดเริ่มต้นของการสัมมนา ประกอบด้วยกฎหมายและร่างกฎหมายรวมสี่ฉบับ อันได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. … ร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. … ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. … และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ จากนั้นให้วิทยากรที่ได้รับเชิญจำนวน ๑๖ ท่านและผู้เข้าร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อสาระที่ปรากฏในกฎหมาย โดยเน้นวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบในด้านสิทธิเสรีภาพที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและสื่อมวลชน

สาระสำคัญจากการสัมมนา

พรบ. การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย แต่อย่างไรก็ตามมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนไปกว่าร้อยละ ๙๐ เจ้าพนักงานสามารถมีอำนาจหลายด้านโดนไม่ต้องขออำนาจศาล รวมถึงการระบุโทษจากการกระทำความผิดมีมากมาตรา และมีข้อกังวลในเรื่องการตีความมาก

กระบวนการผ่านกฎหมายฉบับนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว การดำเนินการผลักดันอยู่ในช่วงสองเดือนหลังจากการรัฐประหาร และสังคมรู้สึกถึงความไม่มั่นคงและปลอดภัยในสิทธิเสรีภาพ มีฐานคิดหรือเจตคติทางลบต่อโลกและสังคมในอินเทอร์เน็ตว่าเป็นสิ่งที่สะสมความชั่วร้าย

การกระทำผิดโดยทั่วไปมักถูกจัดว่าเป็นอาชญากรรม แต่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพการสื่อสารนั้นไม่ควรจัดอยู่ในกรอบของอาชญากรรม ในกรณีนี้หากรัฐจะออกมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ก็จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นมาควบคุมเพิ่มเติม เนื่องจากในกรณีนี้กระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยตรง จึงควรหาขอบข่ายเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตว่าควรอยู่ในระดับใด

อีกทั้งมาตรฐานเช่นแนวคิดกติกาสากล เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกบางประเทศ ระบุในมาตรา ๑๘ และ ๑๙ รองรับว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพแห่งความคิด สิทธิในการแสดงออก รองรับสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร การเข้าไปแทรกสอดการสื่อสารของบุคคลนั้นจะทำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าในบางประเทศมีสถิติการจับกุมผู้กระทำผิดทางคอมพิวเตอร์มากที่สุดคือประเทศจีน รองลงมาคือ เวียดนาม เบลลาริสต์ จอร์แดน ลิเบีย

หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ควรพิจารณาในแง่พัฒนาการในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกัน แต่รัฐธรรมนูญของไทยปัจจุบันเป็นเพียงชุดกฎหมายว่าด้วยรัฐกับประชาชน โดยรัฐจะทำเรื่อง content management โดยมีวิธีการบังคับที่แนบเนียนทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเองในด้านเนื้อหา

ร่าง พรบ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. … (ช่วง พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๕๕๐)

สำหรับ กฎหมายภาพยนตร์ อาจถือว่าถูกควบคุมสิทธิเสรีภาพมากที่สุด เจตคติเดิมของรัฐมองว่า การสร้างภาพยนตร์ต้องไม่เป็นการบ่อนทำลาย รัฐจึงทำหน้าที่ควบคุมและเผยแพร่โดยไม่มีการส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีกลไกกำกับดูแล

จากการตรวจพิจารณาแต่เดิมมาตรฐานขึ้นอยู่กับ connection และ corruption หากมีความจำเป็นต้องมีคณะกรรมการตรวจพิจารณาควรมีแนวทางที่ทำให้เป็นอิสระ มีกติกาที่แยกแยะระหว่างศีลธรรมอันดีกับศิลปะ ประการสำคัญในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิมยังมีความซ้ำซ้อนระหว่าง พรบ.ภาพยนตร์ ๒๔๗๓ และ พรบ. ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ ๒๕๓๐ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากกฎหมายทั้งสองฉบับ

การออก พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. … ฉบับนี้ มีการนำระบบ rating มาใช้ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกคนพอใจเนื่องจากคาดว่าดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นเพียงการโยกย้ายอำนาจจากเดิมที่ต้องขึ้นตรงกับตำรวจ ต้องไปอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีการตั้งคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์ โดยให้รัฐเป็นกรรมการดูแล มีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงกลาโหม เป็นผู้พิจารณาว่ามีสิ่งใดที่ขัดต่อศีลธรรมและความมั่นคง ตัวอย่างการกำกับดูแลของต่างประเทศ เช่นในประเทศอังกฤษจะมาดูว่าอยู่ในเรท (Rate) หรือประเภทไหน แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ให้หรือไม่ให้อนุญาตจัดสร้างหรือจัดฉายเผยแพร่ได้

แนวทางที่ดีของหลายประเทศคือให้มีองค์กรของรัฐ มีเงินทุนจากกลุ่มบริษัทภาพยนตร์ สร้างกติกาและมีการดูแลกำกับกันเอง หรืออาจให้เอกชนมีมาตรการกำกับดูแลกันเองโดยอิงกับกฎหมายอื่น และสาระที่ขาดหายไปจากร่างกฎหมายฉบับนี้คือเรื่องของการพัฒนากิจการภาพยนตร์ ซึ่งสามารถเก็บภาษีร้อยละ ๓-๕ เพื่อนำมาเข้ากองทุนอุตสาหกรรมหนังไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาพยนตร์โดยตรงได้

พรบ.การพิมพ์ จาก ๒๔๘๔ ถึง ๒๕๕๐

พรบ. การพิมพ์ ๒๔๘๔ ที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีเนื้อหาที่ควบคุมสิทธิเสรีภาพในหลายมาตราขัดต่อสิทธิเสรีภาพและมีบทลงโทษทางอาญา ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เวลาใครถูกฟ้องก็จะโดน ทั้งสื่ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ก็ตาม ข้อเสนอในขณะนี้คือ การปรับแก้กระบวนยุติธรรมในเรื่องฟ้องร้องหมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การพิจารณาผลกระทบของประมวลกฎหมายอาญา ลดอำนาจรัฐ เพิ่มการกำกับดูแลกัน และเพิ่มการกำกับดูแลด้วยกลไกทางสังคม

ในระยะเวลาที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้เรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายในบางมาตรา อาทิ มาตรา ๓๖ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสั่งปิดโรงพิมพ์ พรบ. การพิมพ์ กระทั่งปัจจุบันมีการออก พรบ. จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐

กฎหมายการพิมพ์ฉบับนี้ ได้ลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออกไปเกือบทั้งหมด เน้นเรื่องเปิดและปิดสื่อ ตัวบรรณาธิการและเจ้าของ คุณสมบัติค่อนข้างจะเปิดกว้าง ในเรื่องการเป็นเจ้าของก็ไม่ได้กำหนด ว่านักการเมืองไม่สามารถเป็นเจ้าของสื่อได้

การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบดีกว่ารัฐเข้ามาตรวจสอบ และเรื่องการลงโทษทางอาญานั้นอาจถือได้ว่าไม่มีความจำเป็น

ร่าง พรบ. ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง

กฎหมายเดิมที่ใช้ควบคุมสื่อวิทยุโทรทัศน์คือ พรบ.วิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งควบคุมเรื่องเทคนิคการกระจายเสียงมาก ต่อมาสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย มีการร่างรายละเอียดเพื่อควบคุมเนื้อหาเพิ่มเติม เช่นเดียวกับรัฐบาลชุดต่อๆ มาที่มีการประกาศเพิ่มเติม โดยใช้แนวคิดเดียวกันในการควบคุม คือ เพื่อความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของราชอาณาจักร

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ยังระบุให้รัฐยังคงเป็นเจ้าของสื่อ แต่มีการแบ่งกิจการ 3 ประเภทชัดเจนขึ้น และข้อเสนอกิจการในชุมชนที่เสนอให้ชุมชนประกอบกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ และไม่ควรมีโฆษณา แต่สามารถประชาสัมพันธ์กิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับประกอบกิจการสาธารณะต้องเป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไร บริหารจัดการโดยจดทะเบียนเป็นในลักษณะนิติบุคคล

หากพิจารณาเช่นนี้หลังบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ หากมีวิทยุชุมชนสถานีใดไม่ได้รับใบอนุญาตก็จะโดนจำคุกหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจะเป็นโทษอาญาที่มีความผิดหนัก หรือปรับก็ถือว่าสูงมาก

สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการกำกับดูแลวิทยุโทรทัศน์ในขณะนี้คือ การยุบรวมองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กำกับดูแลตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ก็เป็นที่น่าพิจารณาเมื่อมีการระบุให้กรมประชาสัมพันธ์เข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลในช่วงแรกในลักษณะชั่วคราว อีกทั้งการที่ระบุว่าที่มาของรายได้มาจากการประชาสัมพันธ์หากเป็นหน่วยงานรัฐก็สามารถใช้ช่องนี้เข้ามาแทรกแซงได้ และในเรื่องปัญหาในเรื่องโครงข่ายก็ไม่ชัดเจน และจะนำไปสู่การผูกขาดโดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่

สรุปผลการดำเนินงาน

การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ผลกระทบจากกฎหมายการควบคุมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน รวมถึงระดมความคิดเห็นและหาแนวทางในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในสื่อเพื่อปฏิรูปสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการออกกฎหมายสื่อของรัฐบาล รวมถึงเกิดแนวทางในการผลักดันการออกกฎหมายสื่อที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

ผลจากการสัมมนาที่เกิดขึ้นทั้งในแง่เนื้อหาสาระและความสนใจของผู้เข้าร่วมนั้น อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากหากพิจารณาในด้านเนื้อหาพบว่ามีการนำเสนอวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายในหลายแง่มุมทั้งจากวิทยากรและผู้เข้าร่วม อีกทั้งในด้านความสนใจของผู้เข้าร่วมต่อการสัมมนามีสูงมากจากการประเมินกลุ่มเป้าหมายเดิมระบุไว้เพียง ๕๐ คน แต่จากการแจ้งจดหมายเชิญและประชาสัมพันธ์ทั่วไป กลับทำให้มีผู้เข้าร่วมมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดเกือบหนึ่งเท่าตัว แม้จะก่อให้เกิดปัญหาการจัดการในบางส่วนเช่นเอกสารประกอบและอาหาร แต่อย่างไรสามารถแก้ไขได้เป็นที่เรียบร้อย.

ภาคผนวก

รายชื่อวิทยากร

  1. รศ.ดร.ยุบล เบญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
  3. คุณสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพอื่การปฎิรูปสื่อ (คปส.)
  4. อ.พรรษาสิริ กุหลาบ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
  5. คุณจีรนุช เปรมชัยพร สำนักข่าวประชาไท
  6. คุณปรเมศวร์ มินศิริ อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย
  7. คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศ
  8. อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  9. ดร.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  10. รศ.รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม หัวหน้าภาควิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง
  11. คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต มูลนิธิหนังไทย
  12. คุณพิมพกา โตวีระ ผู้กำกับภาพยนตร์ / เครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพภาพยนตร์
  13. คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
  14. รศ.ดร.พีระ จิรโสภณ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  15. รศ.ดร.สุรัตน์ เมธีกุล ประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อมวลชนฯ (ส.ส.ม.ท.)
  16. รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิรัฐกิจ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  17. คุณสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติ
  18. คุณเถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
  19. คุณมนตรี อิ่มเอก เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ