Cyber Strain: ความตึงเครียดบนสังคมไซเบอร์

2016.08.22 01:44

Cyber Strain

กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์

นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2004 โดยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่เฟซบุ๊ก (Facebook) เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดเครือข่ายหนึ่งของโลกได้ถือกำเนิดขึ้น เฟซบุ๊กในช่วงเริ่มต้นเป็นเพียงพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันระหว่างหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัย (Daniel Zeevi, 2013) แต่ต่อมาเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาจนมีบทบาทเชื่อมประสานให้ผู้คนทั้งที่ใกล้ชิดกันหรือห่างกันคนละมุมโลกสามารถติดต่อถึงกันได้อย่างง่ายดาย เครือข่ายสังคมออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วสำหรับการพบปะ นัดหมาย ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านสถานที่หรือเวลา

นอกจากการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัจจุบันเฟซบุ๊กยังเป็นอีกสื่อหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้คนในสังคม ทั้งในเชิงจิตวิทยาและสังคมวิทยา (Madalena David, 2011) ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมประการหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจคือ ผลกระทบจากความตึงเครียดของผู้คนในสังคมจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ บทความนี้มาจากการสังเกตพฤติกรรมและสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน ศึกษาประกอบกับทฤษฎีการกระทำความผิดในทางอาชญาวิทยา และตั้งใจนำเสนอในรูปแบบไม่เป็นเอกสารวิชาการนัก วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อตั้งประเด็นเชิญชวนให้แลกเปลี่ยนถกเถียง ร่วมกันขบคิดหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การใช้อินเทอร์เน็ตในทางสร้างสรรค์ต่อไป

ความตึงเครียดไซเบอร์ : ปฐมเหตุ

หลายครั้งที่เราเปิดคอมพิวเตอร์หรือหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าสู่สังคมออนไลน์ นอกจากจะได้พบปะกับหมู่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่สนิทกันแล้ว เรายังสามารถเห็นกิจกรรมอื่นๆ ของผู้คน ทั้งที่อยู่และไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อเพื่อน (friend list) ของเราอีกด้วย กิจกรรมเหล่านี้มีหลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่อารมณ์หรือความรู้สึกของสมาชิกบนเครือข่ายสังคมไซเบอร์ ในขณะที่เพื่อนคนหนึ่งกำลังถ่ายทอดความสนุกสนานจากการได้ไปท่องเที่ยว เพื่อนอีกคนหนึ่งอาจกำลังเศร้าโศกจากการที่สัตว์เลี้ยงของเขาป่วยหนักและกำลังจะตาย หรือในขณะที่เพื่อนคนหนึ่งกำลังโพสต์แสดงให้เพื่อนคนอื่นได้ทราบถึงความสำเร็จในชีวิตของเขา เพื่อนอีกคนอาจกำลังระบายความรู้สึกจากความล้มเหลวหรือผิดพลาดอย่างร้ายแรงในชีวิต ลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดสภาวะความแตกต่างหลากหลายทางเนื้อหาในระดับสูงบนพื้นที่ไซเบอร์

แม้ในอดีต การรับรู้ข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่มีความแตกต่างหลายหลายทางเนื้อหาในระดับสูง อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันจากการบริโภคข่าวสารในชีวิตประจำวัน ผ่านสื่อดั้งเดิม อันได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ (Voakes et  al.,1996: 585 อ้างใน Serena Carpenter, 2009) แต่จุดแตกต่างสำคัญก็คือ บนพื้นที่ไซเบอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร ที่รู้จักหรือสนิทสนมกัน หรือแม้ไม่รู้จักกันแต่ก็อาจเคยมีความสัมพันธ์บางประการ ด้วยลักษณะของเครือข่ายสังคมที่เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ ซึ่งต่างไปจากสื่อดั้งเดิม ที่ผู้ส่งสารหรือสิ่งที่รายงานมักจะไกลจากตัวผู้รับสาร มีลักษณะเป็นเพียงการรายงานข่าวสารประจำวันหรือเหตุการณ์ทั่วไป

นอกจากนี้ แม้ในสื่อเดิมจะมีความหลากหลายด้านเนื้อหา แต่ตัวผู้บริโภคเองยังคงมีอำนาจในการจัดเรียงลำดับการบริโภคข่าวสารได้ เช่น เลือกบริโภคข่าวดีที่สุด แล้วค่อยๆ ไล่ดระดับไปจนถึงข่าวร้ายที่สุด ทำให้สามารถค่อยๆ จัดการอารมณ์ในการรับรู้ข่าวสารได้ แต่สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้บนเครือข่ายสังคมไซเบอร์ เนื่องจากผู้รับสารไม่มีอำนาจในจัดการหรือคาดเดาเนื้อหาที่จะปรากฏได้ ลำดับของเนื้อหาบนเครือข่ายสังคมไซเบอร์นั้นปรากฏโดยสุ่ม ซึ่งอาจมีเนื้อหาที่สุดปลายขั้วอารมณ์สลับกลับไปมา ผู้รับสื่ออาจปรับอารมณ์ความรู้สึกไม่ทันและอาจเกิดอารมณ์ร่วมหรือคล้อยตามได้ง่าย รวมทั้งอาจนำไปสู่สภาวะสับสนทางอารมณ์

สภาวะที่การรับรู้ถูกเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วนี้อาจนำไปสู่ความรู้สึกตึงเครียด (strain) หงุดหงิด (moodiness) หดหู่ (depression) หรืออาการอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยที่ผู้รับสื่อเองก็อาจจะไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็วดังกล่าว และเกิดความไม่เข้าใจ อันอาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อตัวผู้รับสื่อในโลกของความเป็นจริง

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ติดอันดับผู้ใช้เครือข่ายสังคมไซเบอร์ที่สูงที่สุดประเทศหนึ่ง (Siam News Network, n.d.) โดยคาดการณ์ว่าในปี 2018 จะมีจำนวนผู้ใช้ชาวไทยถึง 21.6 ล้านคน (Statista, 2016) เนื้อหาที่ผู้ใช้เครือข่ายสังคมไซเบอร์ในประเทศไทยเผยแพร่ ผ่านการอัปโหลดภาพ การแสดงความคิดเห็น การกดถูกใจ (like) การอัปเดตสถานะ และการโพสต์บนหน้ากระดาน (Monlamai Vichienwanitchkul, 2015) มักแสดงถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้โพสต์ เช่นการมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ การได้รับประทานอาหารในร้านหรู การซื้อสินค้าราคาแพงและได้รับความนิยม การแสดงออกถึงความสำเร็จในชีวิต ฯลฯ การแสดงออกเหล่านี้ในด้านหนึ่งมักมีผู้คนเข้ามาร่วมแสดงความยินดี แต่อีกด้านหนึ่งซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ เนื้อหาดังกล่าวทำให้ผู้รับสารบางคนเกิดความอิจฉา อยากมี อยากได้ หรืออยากเป็นเช่นนั้นบ้าง ความรู้สึกเช่นนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ บนโลกของความเป็นจริงได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอาชญากรรม ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

จากปัญหาในสังคมจริง สู่สังคมไซเบอร์

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไซเบอร์หรือพื้นที่กายภาพ ทั้งสองพื้นที่ถือว่าเป็นพื้นที่ทางสังคมเช่นเดียวกัน ดังนั้นแนวคิดทฤษฎีที่อธิบายสังคมบนพื้นที่กายภาพ ก็ย่อมนำมาศึกษาสังคมบนพื้นที่ไซเบอร์ได้เช่นกัน ทฤษฎีหนึ่งที่การศึกษาอาชญากรรมผ่านทฤษฎีทางสังคมวิทยาและอาชญาวิทยาได้นำมาใช้และผู้เขียนขอนำมาอภิปรายโดยสรุปในที่นี้ก็คือ ทฤษฎีความตึงเครียด (Strain Theory)

ทฤษฎีความตึงเครียด เป็นทฤษฎีที่กล่าวถึงโดย Robert K. Merton มีรากฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีสภาวะไร้กฎเกณฑ์ (Anomie theory) ของ Emile Durkheim นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่อธิบายว่า อาชญากรรม รวมถึงการกระทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตายนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นเหตุให้สมาชิกในสังคมบางรายปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น และนำไปสู่ความหดหู่กดดันจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ในที่สุด (Stephen G. Tibbetts, 2015) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเช่น ในสภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนอย่างรวดเร็วจากความไม่แน่นอนของค่าเงิน หรือราคาหุ้นที่ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้นักลงทุนหรือนักธุรกิจบางรายอยู่สภาวะสิ้นเนื้อประดาตัวเพียงชั่วข้ามคืน บุคคลคนนั้นอาจมีความตึงเครียดเกิดขึ้น ในสภาวการณ์ดังกล่าวอาจง่ายต่อการตัดสินใจก่ออาชญากรรม หรือการตัดสินใจฆ่าตัวตายเนื่องจากหาทางออกไม่ได้ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งเช่นกัน (อาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ – victimless crime)

Merton ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนากลายเป็นทฤษฎีความตึงเครียด ซึ่งอธิบายว่าโดยทั่วไปแล้ว สมาชิกในทุกสังคมจะถูกกำหนดให้มีเป้าหมายในชีวิตซึ่งเป็นที่ยอมรับจากสังคม (conventional goals) โดยต้องมีวิธีการหรือแนวทางในการไปสู่เป้าหมายนั้นโดยวิธีการที่เป็นที่ยอมรับของสังคม (conventional means) ด้วยเช่นกัน จากลักษณะทางสังคมดังกล่าวจึงก่อให้เกิดความเครียดหรือความกดดันในการบรรลุถึงเป้าหมายที่สังคมได้วางไว้ อันนำไปสู่วิธีการในการปรับตัวของสมาชิกในสังคมที่มีต่อสภาพความกดดันเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ Merton จึงได้แบ่งพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมออกเป็น 5 กลุ่มประเภท (Stephen G. Tibbetts, 2015) กล่าวคือ

  1. Conformity ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยอมรับเป้าหมายที่สังคมวางไว้ และยอมรับในแนวทางที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมในการไปสู่เป้าหมายนั้น เช่น หากอยากร่ำรวยก็เลือกที่จะทำงานหนัก หรือหากอยากจะเรียนจบ ก็เลือกที่จะตั้งใจเรียน เป็นต้น
  2. Ritualism เป็นกลุ่มที่เลือกที่จะปฏิเสธเป้าหมายของสังคม แต่ยอมรับหรือทำตัวให้สอดคล้องกับแนวทางที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้อยากร่ำรวย หรือไม่ได้อยากมีชื่อเสียง ตามเป้าหมายทั่วไปที่สังคมได้วางไว้ แต่ก็เลือกที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใดๆ ทั้งต่อตนเองและต่อสังคม
  3. Innovation เป็นกลุ่มที่ยอมรับเป้าหมาย แต่ปฏิเสธแนวทางที่สังคมยอมรับ กลุ่มนี้จึงจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอาชญากรรม ยกตัวอย่างเช่น อยากร่ำรวยแต่ไม่อยากทำงานหนัก จึงเลือกที่จะประกอบอาชญากรรม เช่น ลักขโมย หรือนักศึกษาที่อยากเรียนจบ แต่ไม่อยากอ่านหนังสือ จึงเลือกที่จะทุจริตในการสอบเพื่อให้ตัวเองสอบผ่าน เป็นต้น
  4. Retreatism เป็นกลุ่มที่ปฏิเสธทั้งเป้าหมายและแนวทางที่สังคมยอมรับ เช่น คนที่ไม่ต้องการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายใดๆ ของสังคม รวมถึงไม่ต้องการประกอบอาชีพการงาน เลือกที่จะแยกตัวโดดเดี่ยวไร้บ้าน (homeless) หรือออกจากสังคมไปอยู่ในที่ที่ไม่ต้องมีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ เช่น อยู่ในป่าลึก หรือในอาคารร้างที่ห่างไกลผู้คน ไม่มีทั้งน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ เป็นต้น
  5. Rebellion เป็นกลุ่มที่เข้าใจทั้งเป้าหมายและแนวทางทั่วไปที่สังคมยอมรับ แต่เลือกที่จะไม่ดำเนินตามแนวทางนั้น และจะใช้แนวทางอื่นที่ตนเองเห็นสมควรแทน ซึ่งในกลุ่มนี้มักจะได้แก่พวกนักปฏิวัติ หรือพวกผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

ทฤษฎีความตึงเครียดที่ผู้เขียนได้กล่าวโดยสรุปนี้ เป็นทฤษฎีทางสังคมวิทยาที่อธิบายถึงสาเหตุของการกระทำความผิดหรือการเกิดอาชญากรรมบนพื้นที่ทางสังคมในโลกความเป็นจริงได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า สมาชิกของสังคมที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Innovation นั้น เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งหากนำทฤษฎีดังกล่าวมาอธิบายต่อลักษณะพฤติกรรมของมนุษย์บนสังคมไซเบอร์แล้ว จะให้ผลที่เหมือนหรือแตกต่างกันออกไปหรือไม่ อย่างไรนั้น ผู้เขียนจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป

เหตุจากพื้นที่ไซเบอร์ สู่ผลในโลกความจริง

สมาชิกในสังคมไซเบอร์ก็มีการกำหนดเป้าหมายหรือค่านิยมทางสังคมเช่นเดียวกันกับในสังคมบนพื้นที่จริง และต่างก็ต้องมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนตนเอง เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายหรือค่านิยมนั้น การที่ผู้ใช้แต่ละคนต่างก็มุ่งนำเสนอเฉพาะด้านดีๆ ของตนผ่านทางพื้นที่เสมือนดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่งย่อมก่อให้เกิดเป้าหมายหรือค่านิยมบนพื้นที่ไซเบอร์เช่นกัน โดยเป้าหมายทางสังคมจะถูกกำหนดร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการหรืออาจไม่ตั้งใจ จากการโพสต์ภาพกินอาหารดีๆ การใช้ชีวิตหรูหรา การเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เป็นการกำหนดค่านิยมว่าหากใครมีรูปแบบการใช้ชีวิตในลักษณะดังกล่าวก็จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บรรลุเป้าหมายหรือเป็นผู้ประสบความสำเร็จบนสังคมไซเบอร์

จากเป้าหมายหรือการสร้างค่านิยมทางสังคมดังกล่าว เมื่อนำมาพิจารณาโดยอาศัยทฤษฎีของ Merton จะเห็นได้ว่า สมาชิกที่อยู่ในสังคมไซเบอร์เอง ก็ย่อมสามารถถูกแบ่งออกได้เป็น 5 ลักษณะเช่นเดียวกัน โดยอาจมีบางกลุ่มที่ยอมรับในเป้าหมายหรือค่านิยมนั้นรวมทั้งยึดในวิธีการที่เป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายหรือค่านิยมดังกล่าว แต่ขณะเดียวกันกับที่สมาชิกอีกหลายคนของสังคมไม่อาจที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกันนั้น ก็ต้องแสวงหาวิธีการต่างๆ ที่อาจไม่เป็นที่ยอมรับได้ของสังคม ประกอบกับลักษณะพิเศษของเครือข่ายสังคมไซเบอร์บางอย่างที่เอื้อต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบน (deviant behavior) บางอย่างได้ง่าย เช่น การไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าสิ่งที่แต่ละคนโพสต์ลงไปนั้นมีความจริงแท้มากน้อยแค่ไหน บางคนจึงอาจจะเลือกวิธีการเช็คอินตามสถานที่ต่างๆ ทั้งที่ตนเองไม่ได้ไป ตามเก็บรูปภาพอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ปรากฏตามเว็บไซต์ต่างๆ แล้วนำมาโพสต์แสดงในหน้ากระดานของตนเองเหมือนหนึ่งว่าตนเองได้ไปสถานที่นั้น ได้รับประทานอาหารนั้น หรือได้แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายเช่นนั้น เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับหรือมีตัวตนบนพื้นที่เสมือนจริงเหล่านั้นแม้ว่าสิ่งที่โพสต์ลงไปเหล่านั้นจะเป็นเพียงข้อมูลลวงที่ตนเองสร้างขึ้นมาก็ตาม หรืออาจจะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมที่มีความร้ายแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกของสังคมในกลุ่ม Innovation ซึ่งตามทฤษฎีของ Merton แล้วจัดว่าเป็นกลุ่มที่ยอมรับในเป้าหมายทางค่านิยมของสังคมไซเบอร์ โดยเชื่อว่าคนที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นจะต้องมีความร่ำรวย ได้รับความยอมรับจากสังคม มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่หรูหรา แต่เนื่องจากในกลุ่มดังกล่าวเลือกที่จะปฏิเสธการปฏิบัติตามแนวทางที่สังคมยอมรับ ดังนั้นบุคคลในกลุ่มดังกล่าวจึงมีแนวโน้มที่จะใช้ช่องทางบนพื้นที่ไซเบอร์ในการกระทำความผิดลักษณะต่างๆ ซึ่งใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ได้แก่ การหลอกลวงบนพื้นที่ไซเบอร์ (cyber fraud) การคุกคามบนพื้นที่ไซเบอร์ (cyber harassment) การปลอมตัวเป็นคนอื่นบนพื้นที่ไซเบอร์ (cyber impersonating) หรือแม้แต่การลักลอบเจาะระบบคอมพิวเตอร์ (hack) เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้จากการสังเกตของตัวผู้เขียนเอง เห็นว่า ลักษณะของเป้าหมายหรือค่านิยมทางสังคมไซเบอร์ ยังมีข้อที่แตกต่างจากสังคมบนพื้นที่กายภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ โดยลักษณะของเนื้อหาที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสังคมไซเบอร์มีลักษณะพิเศษที่เรียกได้ว่า “มาเร็วไปเร็ว” ดังนั้น เป้าหมายหรือค่านิยมทางสังคมไซเบอร์บางอย่างก็อาจจะอยู่ในลักษณะที่มาเร็วไปเร็วเช่นกัน โดยอาจเป็นเพียงเป้าหมายทางค่านิยมที่คงอยู่เฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ และเมื่อถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานมากนัก) เป้าหมายทางสังคมนั้นก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพ้นสมัย ดังนั้นด้วยลักษณะของความไม่นิ่งและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของค่านิยมบนสังคมไซเบอร์นี่เอง ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการปรับตัวในทุกกลุ่มสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Conformity ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มในการก่ออาชญากรรมต่ำที่สุดหากว่าอยู่ในพื้นที่ทางสังคมจริง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีลักษณะในการยอมรับค่านิยมของสังคมและยินยอมปฏิบัติตามวิถีทางของสังคมในการบรรลุต่อเป้าหมายนั้น แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางเป้าหมายอย่างรวดเร็วดังเช่นลักษณะของค่านิยมบนสังคมไซเบอร์ ก็อาจส่งผลให้บุคคลในกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติตามวิถีทางที่ควรจะเป็นได้เสมอไป และอาจเปลี่ยนตัวเองให้มาก่ออาชญากรรม เนื่องจากไม่สามารถไปสู่เป้าหมายของสังคมที่มีความหลากหลายและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทัน นอกจากนี้ในลักษณะการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายดังกล่าว หากว่ารวดเร็วเกินไป จนทำให้สมาชิกบางคนในสังคมไซเบอร์อาจปรับตัวไม่ทัน ก็อาจเกิดปัญหาในเรื่องของความหดหู่ทางอารมณ์ อันนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะของ cyber anomie ได้อีกด้วย

บทส่งท้าย

ในทุกสังคมย่อมมีการแก่งแย่งแข่งขัน และในทุกการแก่งแย่งแข่งขัน ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความรู้สึกตึงเครียด ซึ่งการแข่งขันกันนั้นในด้านหนึ่งย่อมส่งผลดีในการก่อให้เกิดพัฒนาการทั้งต่อตนเองและต่อสังคมโดยภาพรวม แต่หากมีมากเกินไปก็ย่อมนำไปสู่สภาวะที่สมาชิกในสังคมบางรายอาจเกิดแนวโน้มในการกระทำที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม หรืออาจถึงขั้นกระทำความผิดเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายโดยไม่คำนึงถึงรูปแบบและวิธีการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียกำลังเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในสังคม โดยไม่เลือกว่าจะเป็นในสังคมเมือง หรือในสังคมชนบท ซึ่งเชื่อมต่อเครือข่ายผ่านทางอุปกรณ์สื่อสารที่หาได้ง่ายและราคาไม่สูงมากนักอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ยิ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้เกิดความรู้สึกแก่งแย่งแข่งขันกันในวงกว้าง และง่ายมากขึ้นกว่าในยุคก่อน

สิ่งใดที่สมาชิกในสังคมเมืองมี สมาชิกในสังคมชนบทที่ห่างไกลก็สามารถเห็นได้ในเกือบจะในทันทีหากว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตขยายขอบเขตไปถึง และย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่สมาชิกคนอื่นๆ ในสังคมอาจจะเกิดความรู้สึกอยากได้หรืออยากมีเช่นนั้นบ้าง โดยอาจไม่คำนึงถึงความสามารถหรือศักยภาพของตนเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะดังกล่าวเป็นความรู้สึกพื้นฐานที่เป็นสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ อันเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าอาจจะนำไปสู่ภาวะความตึงเครียดไซเบอร์ในกลุ่มผู้ใช้เครือข่ายสังคมไซเบอร์ได้ ซึ่งความตึงเครียดบนพื้นที่ไซเบอร์นี้แม้ว่าจะมีสาเหตุในลักษณะเดียวกันกับความตึงเครียดบนพื้นที่กายภาพก็ตาม แต่เนื่องจากลักษณะพิเศษของพื้นที่ไซเบอร์ ที่มีความไร้ขอบเขตพรมแดน ง่ายต่อการเข้าถึง และมีการกระจายตัวของข้อมูลข่าวสาร รวมถึงเนื้อหาในลักษณะต่างๆ ที่ค่อนข้างสูง ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าความตึงเครียดไซเบอร์นั้นมีความน่าเป็นห่วงมากกว่า และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการกระทำความผิดทั้งบนพื้นที่จริงและพื้นที่ไซเบอร์มากขึ้น ซึ่งหากไม่เร่งสร้างความตระหนักรู้ในสื่อไซเบอร์ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้เท่าทันถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวผู้ใช้สื่อสังคมไซเบอร์เองอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ในระยะยาวผู้เขียนเห็นว่าย่อมเกิดผลเสียต่อสังคมไทยอย่างแน่นอน

อ้างอิง

Tags: , , ,
%d bloggers like this: