“ข้อมูลเท็จ” การฟ้องหมิ่นประมาท กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550

2016.06.18 20:31

computer-pink

จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน

หมิ่นประมาท เป็นคดีความประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมากบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นโดยการโพสข้อความที่อ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทบนเว็บบอร์ด (webboard) และเว็บไซต์เครือข่ายสังคม (social networking site) ต่างๆ ซึ่งบ่อยครั้งที่ฝ่ายโจทก์ผู้อ้างว่าเป็นฝ่ายเสียหายจากข้อความดังกล่าว จะฟ้องร้องจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 และมาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 14 (1)  พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (จากนี้จะเรียกอย่างย่อว่า “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550”) ก็มักจะถูกพ่วงเข้ามาในการฟ้องร้องด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่คล้ายกับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า ถ้ามีการกล่าวอ้างว่ามีการหมิ่นประมาทบนอินเทอร์เน็ตขึ้นเมื่อไร ความผิดที่ฝ่ายโจทก์จะใช้ฟ้องก็จะเป็นชุดมาตรา 326 มาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญา และ มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 แบบนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปของ มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 จะพบว่าต้นแบบของมาตรานี้ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับการหมิ่นประมาทที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด แต่การฟ้องคดีกับจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการนำเอา มาตรา 14 (1)  พ่วงเข้าไปด้วย เกิดจากปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการด้วยกัน คือ

  1. กระบวนการทางนิติบัญญัติซึ่งมีการเพิ่มเติมถ้อยคำว่า “ข้อมูลเท็จ” และ “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น …” เข้าไป ในช่วงท้ายๆ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 และ
  2. การตีความโดยฝ่ายโจทก์ผู้ซึ่งอ้างว่าตนได้รับความเสียหายจากข้อความที่มีการโพสบนอินเทอร์เน็ตให้ถ้อยคำว่า “ข้อมูลเท็จ” และ “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น …” มีลักษณะให้เป็นเรื่องความผิดฐานหมิ่นประมาทบนอินเทอร์เน็ต

ก่อให้เกิดคำถามว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราเข้าใจและบังคับใช้ มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ได้อย่างที่มันควรจะเป็นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม บทความนี้จะไม่ทำการวิพากษ์ของการใช้ มาตรา 14 (1) ในบริบทของความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่จะทำการวิเคราะห์และแสดงให้เห็นถึงที่มาของ มาตรา 14 (1) เท่านั้น

ทำไมเราต้องมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550?

เหตุที่เราจำเป็นที่จะต้องมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 เนื่องจากการกระทำบางอย่างที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นและต่อสาธารณะโดยการใช้คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และ/หรือระบบคอมพิวเตอร์ (รวมถึงอินเทอร์เน็ต) เป็นเครื่องมือ หรือกระทำต่อคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และ/หรือระบบคอมพิวเตอร์นั้น แนวคิดดั้งเดิมของกฎหมายอาญาซึ่งอิงกับโลกทางกายภาพเป็นหลักนั้นครอบคลุมไปไม่ถึง

ตัวอย่างเช่น การเจาะระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือที่รู้จักกันในนามว่า “hacking” (หรือในภาษากฎหมายเรียกว่า การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ) นั้นไม่มีมาตราใดในประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาอื่นใดกำหนดให้เป็นความผิด จะใช้ความผิดฐานบุกรุก (มาตรา 362 ประมวลกฎหมายอาญา) ไปปรับใช้ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีการบุกรุกทางกายภาพเกิดขึ้น และระบบหรือที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมา โดยอิงกับแนวคิดที่เกี่ยวเนื่องกับความเสียหายของคอมพิวเตอร์ ข้อมูลและ/หรือระบบคอมพิวเตอร์เพื่อกำหนดให้การเจาะระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นความผิดขึ้นมา ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในความผิดเฉพาะที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตหลายๆ ที่กำหนดไว้ใน มาตรา 5 และ มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550

ต้นแบบของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาจากไหน?

ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดจากอาชญากรรมที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และอาชญากรรมไซเบอร์มานานแล้ว ในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) Convention on Cybercrime ของ Council of Europe ได้มีผลบังคับใช้ โดย Convention on Cybercrime นี้เป็นกฎหมายแม่แบบ ที่กำหนดฐานความผิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต โดยประเทศสมาชิกที่ลงนามและให้สัตยาบันก็จะเอามาตราต่างๆ ที่อยู่ใน Convention on Cybercrime ซึ่งเป็นมาตราแม่แบบ มาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในประเทศ เพื่อกำหนดความผิดทางอาญากับการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และอาชญากรรมไซเบอร์ต่างๆ

ประเทศไทยเองแม้จะไม่ได้ลงนามหรือให้สัตยาบันกับ Convention on Cybercrime แต่ก็ได้นำหลักการและมาตราต่างๆ ที่อยู่ในนั้น มาเป็นต้นร่างในการบัญญัติกฎหมายทางอาญาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของตนด้วยเช่นกัน โดยทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ได้มีการร่าง “พระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” อย่างในปัจจุบัน) ขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยใช้ Convention on Cybercrime เป็นแม่แบบในการร่างกฎหมาย [1]

ความผิดที่เกี่ยวกับ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” ตาม Convention on Cybercrime และ ร่างพ.ร.บ.อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

ใน Art. 7 กำหนดให้การนำเข้าสู่ (input) เปลี่ยนแปลง (alternation) ลบ (deletion) หรือยับยั้ง (suppression หมายถึง การสกัดกั้นไว้ หรือ การปกปิดข้อมูล) ไว้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยมิชอบ (กล่าวคือ ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำได้) เป็นผลให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ไม่เป็นของจริงแท้ (not authentic) โดยมีเจตนาทำให้ข้อมูลนั้นถูกมองว่าเป็นข้อมูลจริงแท้ (authentic) เป็นความผิด [2] พูดง่ายๆ คือ ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม” นั้นเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ของจริงนั้นเอง โดยในเอกสาร Explanatory Note to Convention on Cybercrime ระบุเหตุผลที่ต้องมี Art.7  เพราะเพื่อให้มีความผิดในลักษณะเดียวกับการปลอมเอกสารที่เป็นกระดาษ จับต้องได้ เป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายว่าการปลอมแม้เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่จับต้องไม่ได้ก็เป็นความผิด [3]

Convention on Cybercrime Article 7

Article 7 ของ Convention on Cybercrime

ซึ่งจะเห็นได้ว่าของ Art.7 ของ Convention on Cybercrime ไม่ได้มีแนวในเรื่องของ “ข้อมูลเท็จ” เลย มีแต่เรื่อง “ข้อมูลปลอม” เท่านั้น และใน มาตรา 12 ของ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ Art.7 ของ Convention on Cybercrime เป็นแม่แบบก็กล่าวถึงแต่เรื่องข้อมูลปลอมเท่านั้น “ไม่มีเรื่องข้อมูลเท็จ” เลย

มาตรา 12 ของ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

มาตรา 12 ของ ร่างพระราชบัญญัติอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2546 [4]

ถ้าเช่นนั้น แนวคิดเรื่อง “ข้อมูลเท็จ” ดังที่ปรากฏใน มาตรา 14(1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 นั้นมีที่มาจากไหน?

“ปลอม” กับ “เท็จ” ต่างกันอย่างไร?

ก่อนที่จะไปถึงประเด็นเรื่องที่มาของ “ข้อมูลเท็จ” ใน มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ คำว่า “ปลอม” กับ “เท็จ” ซึ่งทั้งสองคำนี้แม้ว่าในภาษาพูดในชีวิตประจำวันของเราจะใช้อย่างใกล้เคียงกันมาก (หรือบางทีอาจใช้สลับไปสลับมาราวกับเป็นคำเดียวกัน) แต่ในบริบททางกฎหมายแล้ว “ปลอม” กับ “เท็จ” นั้นมีความหมายต่างกัน

คำว่า “ปลอม” (forgery) หมายถึง สิ่งนั้นไม่มี “ความจริงแท้” (authenticity) หรือ เอาสิ่งของเทียมมาทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นของแท้ [5] คือ พิจารณาความจริงแท้ของ “สิ่ง” หรือ “วัตถุ” นั้นเป็นสำคัญ โดยการทำปลอมนั้นอาจเกิดขึ้นจากการทำขึ้นโดยมิชอบหรือไม่มีอำนาจในการทำได้ [6] เช่น ทำเอกสารปลอม (มาตรา 264 ป.อาญา) ทำเงินตราปลอม (มาตรา 240 ป.อาญา) ฯลฯ

ในขณะคำว่า “เท็จ” (false) หมายถึง เนื้อหาที่ไม่เป็นความจริง หรือ ไม่ตรงกับความเป็นจริง (untrue) คือให้พิจารณาจาก “เนื้อหา” ของข้อความหรือคำกล่าวนั้นเป็นสำคัญ ไม่ได้พิจารณาที่ “สิ่ง” หรือ “วัตถุ” อย่างในกรณีของ “ปลอม” เช่น การแจ้งความเท็จ (มาตรา 137 ป.อาญา)

แนวคิด “ข้อมูลเท็จ” ในมาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาจากไหน?

จากเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. … บันทึกไว้ว่านอกจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ขอเสนอให้แก้ไขชื่อกฎหมายจากเดิม “พระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” เป็น “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” [7] แล้ว ยังได้ขอให้เพิ่มเติมเรื่อง “ข้อมูลเท็จ” เข้าไป

แก้ไขร่างมาตรา 12 ของปี 2546 เป็นร่างมาตรา 13(1) ในปี 2549

แก้ไขร่างมาตรา 12 ของปี 2546 เป็นร่างมาตรา 13 (1) ในปี 2549 [8]

ในบทสรุปสำหรับสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ต้องพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้ระบุไว้ชัดเจนถึงเหตุผลในการที่เห็นด้วยกับการใส่ถ้อยคำว่า “ข้อมูล” เท็จเข้าไป เนื่องจากเกรงว่า “ข้อมูลเท็จ” ที่เผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ตความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของรัฐ และความสงบสุขและศีลธรรมอันดี

เหตุผลที่เห็นด้วยกับการใส่ถ้อยคำว่า “ข้อมูลเท็จ” เข้าไป

เหตุผลที่เห็นด้วยกับการใส่ถ้อยคำว่า “ข้อมูลเท็จ” เข้าไป [9]

ซึ่งแนวคิดนี้ได้กลายมา มาตรา 13 ยังคงเรื่องข้อมูลปลอมไว้ใน 13 (1) และ ข้อมูลเท็จ ใน 13 (2) ซึ่งเจตนารมณ์เดิม คือ ป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนอินเทอร์เน็ต เพราะข้อมูลเหล่านั้นอาจแพร่กระจายไปในวงกว้างได้รวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ด้วยเหตุผลความมั่นคงของประเทศ และป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชนเป็นหลัก

เนื้อหามาตรา 13

เนื้อหามาตรา 13 ในร่างฉบับปี 2549 [10]

กล่าวโดยสรุปคือ แนวคิดในขณะนั้นทางฝ่ายนิติบัญญัติยังมองว่า “ข้อมูลปลอม” กับ “ข้อมูลเท็จ” วางอยู่บนฐานแนวคิดทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ดังจะเห็นได้ว่า มาตรา 13 (1) ซึ่งเป็นเรื่อง “ข้อมูลปลอม” บัญญัติไว้เพื่อป้องกันบุคคลที่สามหรือประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดจนเกิดความเสียหาย ส่วนมาตรา 13 (2) เรื่อง “ข้อมูลเท็จ” บัญญัติด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องการป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชน และ ความมั่นคงของประเทศ ซึ่งยังไม่ใช่แนวคิดที่จะนำเอาเรื่อง “ข้อมูลเท็จ” มาใช้เชื่อมโยงกับกรณีเรื่องหมิ่นประมาทบนอินเทอร์เน็ตเลย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สภานิติบัญญัติได้พิจารณาและรับหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ร่างแรกแล้ว มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขึ้นอีก ในช่วงเดือน เมษายน 2550 [11]

ในช่วงนี้เองที่ มาตรา 13 (1) (ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550) ได้มีการแก้ไขและเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเพิ่มเติมถ้อยคำว่า “ข้อมูลเท็จ” และ “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น …” ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มเติมแก้ไขเนื้อหาอย่างสำคัญในมาตรานี้

เนื้อหามาตรา 13 ในร่างฉบับปี 2549

เนื้อหามาตรา 13 ในร่างฉบับปี 2550 [12]

เป็นผลให้ มาตรา 14 (1) ถูกตีความให้ครอบคลุมถึงการหมิ่นประมาทบนอินเทอร์เน็ต อย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 และ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

เนื้อหา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550

เนื้อหา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550

การรวมกันของความผิดเรื่อง “ข้อมูลปลอม” และ “ข้อมูลเท็จ” ที่อยู่บนคนละแนวคิดกัน จนเป็น มาตรา 14 (1) อย่างที่เห็นในปัจจุบันจึงเกิดเป็น “สถานการณ์การตีความ” เพื่อให้สามารถพ่วงเข้าไปกับความผิดฐานหมิ่นประมาทซึ่งมีอยู่มาแต่เดิมในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 โดยโจทก์อาจจะอ้างไว้ก่อนว่าข้อความหรือเนื้อหาที่โพสต์บนอินเทอร์เน็ต เป็น “ข้อมูลเท็จ” ทำให้ตนเสียหาย

ซึ่ง “ข้อมูลเท็จ” นี้จำเลยจะต้องไปพิสูจน์ต่อไปในชั้นศาลว่าเป็น “ข้อมูลดังกล่าว” เป็นความจริง ซึ่งถ้าจำเลยสามารถพิสูจน์ได้ดังนี้ การกระทำของจำเลยก็อาจไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ข้อความนั้นเป็นความจริง แต่หากข้อความดังกล่าวเป็นการทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง จำเลยยังคงกระทำความผิตามกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทในมาตรา 326 และ มาตรา 328 ตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่ (เว้นแต่จะเข้าตามข้อยกเว้นตาม มาตรา 329 ป.อาญา)

คำถามและข้อคิดเห็นทิ้งท้าย

คำถามในประการแรกคือ มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ในตอนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมและพิจารณาผ่านออกมาเป็นกฎหมายนั้น จริงๆ แล้วผู้แก้ไขเพิ่มเติมมีเจตนารมณ์จะให้มาตรานี้ใช้กับกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยหรือไม่?

และคำถามประการที่สองคือ การตีความที่ให้ มาตรา 14 (1) นี้ พ่วงไปกับ มาตรา 326 ป.อาญา มีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร ในเมื่อ ป.อาญา มี มาตรา 328 สำหรับการหมิ่นประมาทที่เป็นการโฆษณาทางสื่อ หรือป่าวประกาศอยู่แล้ว จะเป็นการซ้ำซ้อนทางกฎหมายโดยไม่จำเป็นหรือไม่?

การกระทำความผิดใดที่มีกฎหมายอาญาเดิมบังคับใช้ได้อยู่แล้ว แม้จะเกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์ หรือ บนอินเทอร์เน็ต สิ่งที่น่าจะทำ คือเราควรเริ่มด้วยการไปดูกฎหมายที่มีอยู่ในเรื่องนั้นๆ ก่อนว่าปรับใช้ได้มากน้อยเท่าใด แล้วจึงค่อยมาดูความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เรามักกลับเริ่มดูมรา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ก่อน และพยายามตีความให้เข้ากับการกระทำที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายยิ่งห่างไกลจากเจตนารมณ์เดิมและทำให้เกิดความสับสนมากยิ่งขึ้นหรือไม่?

มีข้อสังเกตุที่เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ในคดี “ภูเก็ตหวาน” (คดีดำหมายเลข 2161/2557) ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาว่า “ทั้งเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328” [13] เท่ากับว่าศาล (อย่างน้อยก็ในศาลชั้นต้น) เห็นว่า มาตรา 14 (1) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 นั้นไม่ได้มีเจตนารมย์ที่มุ่งจะใช้บังคับกับกรณีหมิ่นประมาทบนอินเทอร์เน็ต การหมิ่นประมาทบนอินเทอร์เน็ตเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา (ผ่านสื่อ) ประเภทหนึ่งซึ่งมีการกำหนดฐานความผิดไว้ในมาตรา 328 ประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว อาจจะต้องรอดูคำพิพากษาในคดีอื่นๆที่มีข้อเท็จจริงคล้ายกัน ซึ่งถ้าหากศาลในคดีอื่นๆและในชั้นศาลฎีกาวางแนวทางเช่นเดียวกับศาลในคดีนี้ เราอาจจะได้ความชัดเจนแน่นอนมากยิ่งขึ้นว่า มาตรา 14 (1) พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550 ไม่ใช่เรื่องของ “หมิ่นประมาทบนอินเทอร์เน็ต”

อ้างอิง

  • [1] สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, แนวทางการจัดทำกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์, กรุงเทพฯ : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2546, หน้า 68
  • [2] Article 7 – Computer-related forgery “Each Party shall adopt such legislative and other measures as may be necessary to establish as criminal offences under its domestic law, when committed intentionally and without right, the input, alteration, deletion, or suppression of computer data, resulting in inauthentic data with the intent that it be considered or acted upon for legal purposes as if it were authentic, regardless whether or not the data is directly readable and intelligible. A Party may require an intent to defraud, or similar dishonest intent, before criminal liability attaches.” https://www.coe.int/en/web/conventions/full-list/-/conventions/treaty/185
  • [3] Council of Europe, Explanatory Note to Convention on Cybercrime, เข้าถึงเมื่อ 18 มิถุนายน 2559, หน้า 14
  • [4] สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, อ้างแล้ว, หน้า 91
  • [5] คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคความผิด (พิมพ์ครั้งที่ 6), กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539, หน้า205
  • [6] อ้างแล้ว, หน้า 223
  • [7] “โดยที่สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการกำหนดฐานความผิดสำหรับบุคคลที่กระทำความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยตรง มิได้มุ่งถึงกรณีที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อีกทั้งชื่อของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอมานั้นไม่สะท้อนถึงเจตนารมย์ของร่างกฎหมายนี้เท่าที่ควร จึงได้แก้ไขชื่อของร่างพระราชบัญญัติจาก “ร่างพระบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. …” เป็น “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. …” เพื่อให้เกิดความชัดเจน และสอดคล้องกับเจตนารมย์และสาระสำคัญของกฎหมาย” สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, เอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. … ระเบียบวาระการประชุม 6/2549 , กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 2549, หน้า 27
  • [8] อ้างแล้ว, หน้า 30
  • [9] อ้างแล้ว, หน้า 1
  • [10] อ้างแล้ว, หน้า 10
  • [11] สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พร้อมทั้งสรุปสาระสำคัญ ประวัติ ความเป็นมา กระบวนการและขั้นตอนในการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, กรุงเทพฯ : สำนักงานกฎหมาย สำนักเลขาธิการวุฒิสภา, 2550, หน้า 40
  • [12] อ้างแล้ว, หน้า 62
  • [13] iLaw, กองทัพเรือ vs สำนักข่าวภูเก็ตหวาน, http://freedom.ilaw.or.th/case/554, เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2559
Tags: , , ,
%d bloggers like this: