Thai Netizen Network

Digital Weekly: 18 เม.ย.-12 พ.ค. 59 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบหลายสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลรอบหลายสัปดาห์: เครือข่ายพลเมืองเน็ตล่าชื่อผ่าน Change.org จี้เฟซบุ๊กตอบ ให้ข้อมูล-ร่วมมือรัฐบาลไทยหรือไม่/ จับแอดมินเพจล้อเลียนนายก 8 คน/ เฟซบุ๊กตอบรับคำขอรัฐบาล แบนเพจ ‘กูkult’ ในไทย อ้างข้อจำกัดทางกฎหมาย/ กกต. ประเดิมแจ้งความ ‘กองทุนในจังหวัดขอนแก่น’ โพสต์เฟซบุ๊ก ผิดพ.ร.บ.ประชามติ/ สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการร่างพ.ร.บ.คอม-ร่างพ.ร.บ.พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล/ แบบฟอร์มสนง.ตรวจคนเข้าเมืองถามข้อมูลโซเชียลมีเดีย กูเกิลแฮงก์เอาต์ บัญชีธนาคาร ชาวต่างชาติที่ขอต่อวีซ่า ฯลฯ

18 เมษายน 2559

แบบฟอร์มของสนง.ตรวจคนเข้าเมืองถามข้อมูลโซเชียลมีเดีย กูเกิลแฮงก์เอาต์ บัญชีธนาคารชาวต่างชาติที่ขอต่อวีซ่า

พบแบบฟอร์มของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สอบถามบัญชีโซเชียลมีเดีย บัญชีธนาคาร เลขทะเบียนรถ และสถานที่เดินทางไปบ่อย เช่น คลับ ร้านอาหาร ร้านค้า โรงพยาบาล จากชาวต่างชาติที่ต้องการต่ออายุวีซ่า ทั้งที่สำนักงานศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะและที่สำนักงานอาคารจัตุรัสจามจุรี พล.ต.ต.ชัชวาลย์ วชิรปาณีกูล รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ฝ่ายปราบปราม ซึ่งเป็นผู้ออกแบบแบบฟอร์มดังกล่าว ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษว่า ทางตำรวจจะไม่บังคับให้ชาวต่างชาติกรอกข้อมูลเหล่านั้นลงในฟอร์มและจะไม่เข้าไปยุ่งกับสื่อสังคม ถ้าชาวต่างชาติไม่ได้ทำอะไรผิด พล.ต.ต.ชัชวาลย์กล่าวด้วยว่า ตนสนับสนุนให้เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองเก็บข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา โดยข้อมูลจะนำไปเชื่อมกับข้อมูลอื่นๆ ในระบบ เพื่อให้สามารถติดตามชาวต่างชาติได้หากมีปัญหาหรือมีการกระทำความผิด

ทั้งนี้ มาตรา 37 ของพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ระบุให้คนต่างด้าวต้องแจ้งที่อยู่ที่พักอาศัยต่อเจ้าพนักงานตำรวจภายใน 24 ชั่วโมง และมาตรา 38 ระบุให้เจ้าบ้านหรือผู้จัดการโรงแรมแจ้งที่อยู่ของคนต่างด้าวที่เข้าพักอาศัยต่อเจ้าพนักงาน แต่ไม่ได้ระบุถึงข้อมูลบัญชีธนาคาร เลขทะเบียนรถ ฯลฯ ดังที่แบบฟอร์มใหม่นี้มีช่องให้กรอก

ที่มา: Khoasod English

ธปท.บังคับธนาคารพาณิชย์ออกบัตรเดบิต-เอทีเอ็มระบบชิปการ์ดแทนแถบแม่เหล็ก 16 พ.ค.นี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป ธนาคารพาณิชย์จะต้องออกบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มที่ใช้ระบบชิปการ์ดแทนระบบแถบแม่เหล็กซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฉบับล่าสุด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยทางการเงิน เนื่องจากระบบชิปการ์ดจะทำให้การโจรกรรมข้อมูลผ่านบัตรเอทีเอ็มทำได้ยากขึ้น นิศารัตน์ ไตรรัตน์วรกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. ระบุว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (specialised financial institutions – SFI) ก็จำเป็นต้องปรับมาใช้ระบบชิปการ์ดเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้มีการกำหนดวันบังคับที่แน่นอน มีการประมาณการณ์ว่าร้อยละ 80 ของตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศจะสามารถรองรับระบบชิปการ์ดได้ภายในวันที่ 16 พฤษภาคม โดยภายในปี 2563 ระบบชิปการ์ดจะมาแทนระบบแถบแม่เหล็กทั้งหมดภายใต้ข้อตกลงระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและอุตสาหกรรมธนาคาร

ที่มา: Bangkok Post, Blognone

19 เมษายน 2559

รัฐเปิดตัวเว็บ “ภาษีไปไหน” แสดงตัวเลขการใช้งบประมาณภาครัฐ

กรมบัญชีกลาง, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เปิดตัวเว็บไซต์ “ภาษีไปไหน” ซึ่งเป็นระบบแสดงตัวเลขการใช้งบประมาณในแต่ละโครงการของแต่ละหน่วยงานต่อสาธารณะ

ที่มา: Blognone

21 เมษายน 2559

สมาคมและชมรมด้านรวมตัวตั้ง “สมาพันธ์ดิจิทัลไทย” ช่วยกันแก้ปัญหากฎหมาย-ลิขสิทธิ์-พ.ร.บ.คอม-ภาษี

ผู้แทนของสมาคมและชมรมด้านไอทีและธุรกิจดิจิทัลจำนวน 8 สมาคมและ 1 ชมรม ลงนามจัดตั้ง “สมาพันธ์ดิจิทัลไทย” (Thai Digital Confederation) เพื่อเป็นเครือข่ายการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวถึงที่มาการจัดตั้งสมาพันธ์ฯ ว่า เป็นไปเพื่อช่วยกันติดตามปัญหาที่ภาคธุรกิจไอทีประสบ เช่น บุคลากรหายาก, ปัญหาด้านกฎหมาย, ลิขสิทธิ์, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, ภาษี ทั้งนี้ สมาคมและชมรมดังกล่าวประกอบด้วย สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) (DAAT), สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย (TISPA), สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA), สมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส (OSEDA), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP), สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (TWA), สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (TPA), สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (TECA), และชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC)

ที่มา: ไทยรัฐ

27 เมษายน 2559

กกต. ประเดิม แจ้งความ ‘กองทุนในจังหวัดขอนแก่น’ โพสต์เฟซบุ๊ก ผิดพ.ร.บ.ประชามติ

สมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งความดำเนินคดีกับกองทุนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรค 2 สมชัยระบุว่า กองทุนดังกล่าวโพสต์ข้อความรุนแรง หยาบคาย ก้าวร้าว มีเจตนาที่จะชักจูงให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญผ่านเฟซบุ๊ก โดยการแจ้งความครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างเพื่อให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างสร้างสรรค์ สมชัยระบุว่า การโพสต์ข้อความว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนเหตุผลทางวิชาการ ไม่มีลักษณะถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย และไม่โน้มน้าว ไม่ชักจูง ปลุกระดม ข่มขู่ผู้อื่น โดยหวังผลให้ออกเสียงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งหากประชาชนพบเห็นถ้อยคำที่มีลักษณะดังกล่าว สามารถนำหลักฐานมาแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องแจ้งต่อกกต.

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

จับแอดมินเพจล้อเลียนนายก 8 คน แจ้งข้อหาม.116-พ.ร.บ.คอมฯ

เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจเลียนนายกรัฐมนตรี “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งในกรุงเทพและขอนแก่นจำนวน 8 คน ซึ่งต่อมาถูกแจ้งความมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ถัดมาวันที่ 10 พ.ค. 2559 ศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัวบุคคลทั้งแปด แต่หลังจากเรือนจำปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อายัดตัวณัฏฐิกา วรธัยวิชญ์ และหฤษฏ์ มหาทน ผู้ดูแลเพจอีก 2 ใน 8 คน และตั้งข้อหาเพิ่มตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยศาลทหารให้ฝากขังและไม่อนุญาติให้ประกันตัว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ หฤษฏ์เคยให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อความในกล่องข้อความส่วนตัว (inbox) ในเฟซบุ๊กของเขาได้โดยไม่จำเป็นต้องถามรหัสผ่านจากเขา ในภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข่าวกับบีบีซีว่า ตำรวจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จริง และเป็นการได้ข้อมูลมาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เพราะเป็นรายละเอียดในการสืบสวน

ที่มา: ประชาไทเพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายต้านการบ่อนทำลายชาติศาสนาพระมหากษัตริย์-แอดมินเพจสมาคมต่อต้านสิ่งงมงาย แจ้งจับ 20 เฟซ-ยูทูบ หมิ่นเบื้องสูง

สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ และเกียรติศักดิ์ หรือบี (สงวนนามสกุล) แอดมินเพจเฟซบุ๊ก “FuckGhost ฟักโกสต์ : สมาคมต่อต้านสิ่งงมงาย” เข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า พบการเผยแพร่ภาพและข้อความหมิ่นเบื้องสูงทางเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊กกว่า 20 แห่ง เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันกระทำการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตามมาตรา 83 , และเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ตำรวจรับลงบันทึกประจำวันไว้ก่อนประสานไปกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

ที่มา: มติชนออนไลน์

28 เมษายน 2559

สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการ ‘ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์’

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. ซึ่งปรับปรุงจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ด้วยคะแนน 160 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 15 คนเพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป อ่านข้อสังเกตของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ต่อร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสียงข้างมาก 159 ต่อ 4 คะแนน รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในรายละเอียดจำนวน 23 คน ให้มีเวลาการทำงาน 60 วันก่อนส่งกลับไปมาให้ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

ที่มา: โพสต์ทูเดย์

3 พฤษภาคม 2559

เตือน มีเพจแอบอ้างของเพจ “Facebook Security”

เครือข่ายพลเมืองเน็ตโพสต์เตือนภัย เพจ “Facebook Security” แอบอ้างเป็นเพจความปลอดภัยของเฟซบุ๊ก ขู่ผู้ใช้ว่าบัญชีจะถูกปิดเพื่อล่อลวงให้ผู้ใช้คลิกลิงก์ จากนั้นจะหลอกถามข้อมูลส่วนบุคคลและรหัสผ่าน อนึ่ง เพจจริงของ Facebook Security อยู่ที่ https://www.facebook.com/security การดูว่าเพจดังกล่าวเป็นเพจจริงหรือไม่ให้สังเกตเครื่องหมายถูกในวงกลมสีฟ้าหลังชื่อเพจ

ที่มา: เฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต

5 พฤษภาคม 2559

เฟซบุ๊กตอบรับคำขอรัฐบาล แบนเพจ ‘กูkult’ ในไทย อ้างข้อจำกัดทางกฎหมาย

เพจเฟซบุ๊ก ‘กูkult’ ซึ่งมักโพสต์ภาพเชิงล้อเลียนเสียดสีสังคม การเมือง และสถาบันกษัติริย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ในเมืองไทย โดยเฟซบุ๊กแจ้งว่า “ไม่มีเนื้อหาอยู่ในไทย คุณไม่สามารถดูเนื้อหานี้ได้เนื่องจากกฎหมายในท้องถิ่นจำกัดความสามารถของเราในการแสดงเนื้อหานั้น” ขณะที่ผู้ใช้ที่อยู่นอกประเทศไทยสามารถเข้าถึงเพจดังกล่าวได้ตามปกติ

ที่มา: ประชาไท

6 พฤษภาคม 2559

ศาลทหารอนุมัติหมายจับ “แม่จ่านิว” ผิดม. 112

ศาลทหารอนุมัติหมายจับพัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559 มาตรา 14 (3) พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติกรรมที่กระทำความผิดว่า บุรินทร์ อินติน หนึ่งในผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจเลียนนายกรัฐมนตรี “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ไปก่อนหน้านี้ ได้ลงข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่พัฒน์นรีไม่ได้ห้ามปราม ตำหนิ หรือต่อว่าให้หยุดการกระทำดังกล่าว จึงถือว่ามีส่วนร่วมกับนายบุรินทร์ในการโพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนและถูกนำตัวไปขังไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้องเป็นเวลา 1 คืน

ต่อมาวันที่ 8 พ.ค. ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวพัฒน์นรี โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศและห้ามยั่วยุปลุกปั่น

ที่มา: ประชาไท, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายพลเมืองเน็ตล่าชื่อผ่าน Change จี้เฟซบุ๊กตอบ ให้ข้อมูล-ร่วมมือรัฐบาลไทยหรือไม่

เครือข่ายพลเมืองเน็ตสร้างแคมเปญ “Facebook ให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับรัฐบาลไทยหรือไม่” ชวนร่วมลงชื่อบนเว็บไซต์ change.org ตั้งคำถามไปยังเฟซบุ๊กว่า ได้ให้ข้อมูลหรือร่วมมือกับรัฐบาลไทยหรือไม่ หลังมีการจับกุมผู้ดูแลหน้าเฟซบุ๊ก “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” จำนวน 8 คนในเดือนเมษายน 2559 โดย 2 ใน 8 คนให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อความในกล่องข้อความส่วนตัว (inbox) ในเฟซบุ๊กของตนได้โดยไม่จำเป็นต้องถามรหัสผ่านจากตน และในเดือนพฤษภาคม 2559 มีเพจเฟซบุ๊ก (เพจ “กู Kult”) ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากเมืองไทย โดยระบบแจ้งว่าเนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายท้องถิ่น เครือข่ายพลเมืองเน็ตตั้งคำถามด้วยว่า เมื่อเฟซบุ๊กอ้างถึง “กฎหมายท้องถิ่น” เฟซบุ๊กกำลังอ้างถึงกฎหมายใด

ที่มา: ประชาไท

8 พฤษภาคม 2559

ฝากขังนายแบบโคลัมเบียโพสต์หมิ่นประมาทสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบ

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) คุมตัวดิเอโก กอนซาเลซ (Diego Gonzale) นายแบบสัญชาติโคลัมเบีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2559 ฐานโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทสมาคมอุตสาหกรรมถ่ายแบบและผู้ประกอบการไทย และส่งอีเมล์ข้อความหมิ่นประมาทหน่วยงานดังกล่าวไปยังสถานทูต 8 แห่ง รวมทั้งหน่วยงานราชการและองค์การยูนิเซฟ ทำให้หน่วยงานดังกล่าวเสื่อมเสียชื่อเสียง ดิเอโกจะถูกนำตัวไปฝากขังผัดแรก วันที่ 8-19 พ.ค.2559

ที่มา: TNN 24

10 พฤษภาคม 2559

ไทยเซิร์ตแจ้งเตือน อาจถูกสวมรอยบนเฟซบุ๊กหากเปิดอ่านแจ้งเตือนจากเพื่อน

ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ได้รับแจ้งว่ามีการแพร่กระจายมัลแวร์ผ่านเฟซบุ๊ก ลักษณะคือผู้ใช้จะได้รับแจ้งเตือนว่าถูกพาดพิงโดยบุคคลที่สาม หากผู้ใช้คลิกเข้าไปดูข้อความแจ้งเตือนดังกล่าวก็จะถูกนำพาไปยังเว็บไซต์อื่นทันทีโดยไม่มีการแจ้งเตือน เว็บไซต์ปลายทางที่ถูกนำพาไปจะให้ดาวน์โหลดไฟล์มัลแวร์มาติดตั้ง ไทยเซิร์ตพบว่าผู้สร้างมัลแวร์นำระบบแจ้งเตือนคอมเมนต์ของเฟซบุ๊กมาใช้เป็นหนึ่งในวิธีการแพร่กระจาย อ่านรายละเอียด

ที่มา: ไทยเซิร์ต

รัฐเผย ใช้ระบบ E-bidding ป้องกันฮั้วประมูลได้ ประหยัดงบไปแล้ว 30,000 ล้าน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า หลังรัฐบาลนำระบบจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภัณฑ์มาใช้กับส่วนราชการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2558 และเมื่อหน่วยงานภาครัฐดำเนินการครบทั้งหมดทุกแห่งสิ้นเดือน ก.ย. 2558 พบว่า การจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบประมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (E-Market) และ Price Performance ทำให้หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างเกือบ 30,000 ล้านบาท เพราะป้องกันการฮั้วประมูลได้

ที่มา: ประชาไท

11 พฤษภาคม 2559

เสธ.ทบ.เผย กองทัพบกมีหน่วยงานดูแลเว็บไซต์หมิ่น-เว็บบิดเบือน

พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบกเผยในงานวันสถาปนาศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร (ศทท.) ว่า กองทัพบกมีการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบที่มาที่ไปของเว็บไซต์ กองทัพบกยังมี “อีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานความมั่นคง” ทำหน้าที่ดูแลเว็บไซต์หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์และเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาบิดเบือน หรือยุยงปลุกปั่น พล.อ.พิสิทธิ์ระบุด้วยว่า เว็บไซต์โจมตีการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีจำนวนน้อยลงเนื่องจากรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ที่มา: เดลินิวส์

Exit mobile version