Thai Netizen Network

สแปมเมอร์ สแคมเมอร์ และโทรล : การชักใยบอตการเมือง

ในสามปีที่ผ่านมา บอทสังคมได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับการชักใยทางการเมืองและการหลอกลวงซึ่งขับด้วยข้อมูลบนเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ “ความช่วยเหลือจากช่างซ่อม” รูปโดย Christopher Isherwood

แปลจาก Spammers, Scammers, and Trolls: Political Bot Manipulation เขียนโดย Samuel Woolley นักศึกษาปริญญาเอก คณะการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตัน ซีแอตเทิล

การหลอกลวงที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

โซเชียลบอต หรือชุดคำสั่งเล็กๆ ที่สร้างเนื้อหาและทำตัวเลียนแบบผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่เริ่มมีการใช้เฟรนด์สเตอร์ (Friendster) และมายสเปซ (MySpace) เครือข่ายสังคมออนไลน์มีการใช้บัญชีปลอมเป็นประจำ โปรแกรมเมอร์ นักส่งข้อความรบกวน และผู้สนับสนุนทั้งหลายใช้บัญชีบุคคลอัตโนมัติเหล่านี้ในการสร้างคลิก (เพื่อ “ไลก์” และขายสินค้าและบริการต่างๆ) เพิ่มรายชื่อผู้ติดตาม (ความนิยมจอมปลอม) และเก็บรวบรวมข้อมูล (คัดแยก ยืม และขโมยข้อมูล) ตามการรายงานข่าวต่างๆ ทั้งนี้ ในเฟซบุ๊กมีมากกว่า 83 ล้านบัญชีที่ไม่ถูกต้อง และทวิตเตอร์มีประมาณ 20 ล้าน

วังวนแห่งการชักใยและการชี้นำไปในทางที่ผิด

สิ่งที่ค่อนข้างใหม่และกำลังเพิ่มขึ้นคือ การใช้โซเชียลบอตอย่างเจ้าเล่ห์โดยนักการเมือง นักเคลื่อนไหวกลุ่มรากหญ้า และกลุ่มลัทธิสุดโต่งต่างๆ บอต “การเมือง” เหล่านี้และข้อความที่พวกมันสร้างเป็นการเลือกปฏิบัติโดยโฆษณาชวนเชื่อทางคอมพิวเตอร์แบบใหม่ บอตการเมืองกลบเสียงของฝ่ายตรงข้าม ถอนกำลังของกลุ่มผู้เคลื่อนไหว และส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันด้วยการส่งข่าวขยะโดยเจาะจงกลุ่มเป้าหมายและวิธีการอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น ในเกาหลีใต้ ข้าราชการในหน่วยการสงครามโซเบอร์ กระทรวงกลาโหม ใช้บอตในการเผยแพร่ข้อความที่สนับสนุนประธานาธิบดี พัก กึน-ฮเย และพรรคพรมแดนใหม่ (แซนูรี 새누리당) รวมถึงบางข้อความที่โจมตีคู่แข่งทางการเมือง ถึงแม้ว่าการจะหยั่งรู้ผลกระทบที่แม่นยำเป็นเรื่องที่ยากแต่การเกิดขึ้นของกรณีเหล่านี้ได้เพิ่มความห่วงกังวลทั่วทั้งประเทศ: ประธานาธิบดีพักชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนต่างหนึ่งล้านเสียง ในซีเรีย เจ้าหน้าที่หน่วยงานข่าวกรองได้ใช้บอตเป็นผู้ติดตามเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับรัฐบาลและกีดกันฝ่ายตรงข้ามภายในบริบทของการก่อความไม่สงบ ในขณะเดียวกัน กลุ่มหัวรุนแรงรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (ISIS) ใช้บอตหลอกทวิตเตอร์และทำให้โลกคิดว่า ISIS มีผู้ติดตามกลุ่มใหญ่ในสื่อสังคมออนไลน์ ในขณะที่ความจริงแล้วเป็นข้อความ “ทวีตผี” ของกลุ่ม เพราะข้อความเหล่านั้นมาจากบัญชีที่ทำงานตามปกติ ทวิตเตอร์ซึ่งมุ่งเป้าการคัดกรองเพื่อควบคุมคำพูดที่สร้างความเกลียดชังทางสังคมจึงไม่สามารถตรวจจับการส่งข้อความโดยบอตเช่นนี้ได้

ในสามปีที่ผ่านมา บอตสังคมได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับการชักใยทางการเมืองและการหลอกลวงซึ่งขับด้วยข้อมูลบนเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ // ภาพโดย Christopher Isherwood

บอตการเมืองมีความสามารถที่จะสร้างวังวนแห่งการชักใยและการชี้นำไปในทางที่ผิดที่ไม่สิ้นสุด ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็สามารถซื้อและใช้งานบอตได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกันกับสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรง ดังเช่นที่บทความในนิวยอร์กไทมส์กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เพื่อนและอิทธิพลนั้นมีราคาถูกและสามารถหาซื้อได้ออนไลน์ พัฒนาการใหม่ในเทคโนโลยีของบอตสังคมทำให้บัญชีปลอมสามารถทำงานได้ในทางที่ซับซ้อนและในหลายแง่มุม ชิ้นส่วนซอฟต์แวร์เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะค้นหาและรวบรวมข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ โดยการรวบรวมบุคคลหรือผู้มีเอกลักษณ์ร่วมกับกลุ่มตามเว็บไซต์ต่างๆ แต่ยังใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์เหล่านั้นในการชักใย ตรวจจับ และกีดกันกลุ่มคนบางกลุ่ม

ผลลัพธ์คือ บอตการเมืองสามารถที่จะมีผลกระทบต่อการสร้างตัวตนออนไลน์ด้วยการทำให้การแบ่งแยกระหว่างผู้ใช้ตัวปลอมและตัวจริงไม่ชัดเจน คนหนุ่มสาวจะได้รับผลกระทบจากการส่งข้อความการเมืองโดยบัญชีบอตที่เป็นมิตรและดูเหมือนจริงอย่างไร

ความนิยมออนไลน์และอิทธิพลของนักการเมืองก็แปดเปื้อนเพราะการมีบอตเช่นกัน บทความ Politico เมื่อไม่นานมานี้รายงานว่าบอตได้ “แทรกซึมเกือบทุกบัญชีทางการเมืองทั้งของทำเนียบขาว สภาคองเกรซ และการหาเสียงเลือกตั้งปี 2016”

สุดท้ายนี้ แง่มุมต่างๆ ของความสามารถของผู้คนที่จะสร้างความเชื่อมโยงข้ามวัฒนธรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็ถูกวางเป็นเดิมพันเช่นกัน อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มทางศาลนาหรือวัฒนธรรมถูกกลบด้วยการโจมตีโดยบอตด้วยข้อความซึ่งสร้างความเกลียดชังซึ่งดูเหมือนกับว่ามาจากฝ่ายตรงข้าม

“วงจรสแปม”: (1) เว็บไซต์สแปม; (2) ผู้ส่งสแปม; (3) ซอฟต์แวร์สแปม (spamware); (4) คอมพิวเตอร์ที่ติดเชื้อ; (5) ไวรัสหรือโทรจัน; (6) เมลเซิร์ฟเวอร์; (7) ผู้ใช้; (8) การจราจรบนเว็บ // แผนภาพการส่งเมลขยะ โดย odder

นักกิจกรรม VS บอต

ในขณะที่การโต้ตอบการโจมตีบนสื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นจากบอตนั้นมีอยู่ นักคิดริเริ่มบางคนได้เริ่มทดลองการใช้เทคโนโลยีบอตอื่น ๆ ในบริบทการเมืองแล้ว ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีที่มูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation) ได้สร้างแอป “Block Together” ซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้รวบรวมและเผยแพร่รายชื่อผู้ใช้ที่ถูกปิดกั้นจากเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ของพวกเขา รวมถึงบอตซึ่งปะปนอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ “บอตเฝ้าระวัง” [เช่น @parliamentedits และ @congressedits] ช่วยสร้างความโปร่งใสด้วยการเฝ้าดูการแก้ไขวิกิพีเดียซึ่งมาจากหมายเลขไอพีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐบาล บอตต่อต้านการทำแท้งได้รับความสนใจจากนานาชาติเมื่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้รูปแบบของมันเองต่อต้านมัน และบังคับให้มันทวีตเนื้อเพลง “Never Gonna Give You Up” ของ Rick Astley นักร้องชาวอังกฤษ (แทนข้อความต่อต้านการทำแท้ง)

การใช้วิธีการของผู้ไม่เป็นที่ต้องการในโลกออนไลน์ต่อพวกเขาเองได้กลายมาเป็นวิธีการส่งเสริมประเด็นในสังคมหรือต่อสู้กับการชักใยทางการเมืองด้วยระบบอัตโนมัติ

หน้าจอของแอป Block Together ที่จะช่วยผู้ใช้บล็อคบัญชีทวิตเตอร์ที่ไม่พึงประสงค์

มองไปข้างหน้า

ประเภทของการโฆษณาชวนเชื่อทางคอมพิวเตอร์ซึ่งกระทำโดยบอตเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญที่สุดในสื่อสังคมออนไลน์ ซอฟต์แวร์ของบอตจะมีพัฒนาการต่อไป และการมีอยู่ของปัญญาประดิษฐ์บนสื่อสังคมออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้น เพราะอย่างนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเข้าใจว่ารัฐบาลใช้และมีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้เจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งวางโปรแกรมและใช้บอตเพื่อการใช้งานทางการเมืองอย่างไร ความเห็นของผู้สร้างบอตเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการต่อสู้กับประเภทของการเลือกปฏิบัติซึ่งขับนำโดยข้อมูลแบบใหม่

อ้างอิง

  1. “Facebook has more than 83 million illegitimate accounts,” ข่าว BBC (2 สิงหาคม ค.ศ. 2012): http://www.bbc.com/news/technology-19093078 ; Keith Wagstaff, “1 in 10 Twitter Accounts is Fake, Says Researchers,” NBC News (วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013): http://www.nbcnews.com/tech/internet/1-10-twitter-accounts-fake-say-researchers-f2D11655362
  2. Emma Woollacott, “Why Fake Twitter Accounts are a Political Problem,” New Statesman (28 พฤษภาคม ค.ศ. 2014): http://www.newstateman.com/sci-tech/2014/05/why-fake-twitter-accounts-are-political-problem ; Rachael Levy, “ISIS Tries to Outwit Social Networks,” Vocativ (วันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2014): http://www.vocatic.com/world/syria-world/isis-tries-outwit-social-networks/ ; David Zax, “Truthy Sleuths Track Twitter “Turfers,” Fast Company (26 ตุลาคม ค.ศ. 2010): http://www.fastcompany.com/1697973/truthy-sleuths-track-twitter-turfers
  3. Samuel Woolley และ Phillip N. Howard, “Social Media, revolution, and the Rise of the Political Bot,” ใน Routledge Handbook of Media, Conflict, and Security (New York: NY, forthcoming)
  4. Choe Sang-Hun, “South Korean Officials Accused of Political Meddling,” New York Times (19 ธันวาคม ค.ศ. 2013): http://www.nytimes.com/2013/12/20/world/asia/south-korean-cyberwarfare-unit-accused-of-political-meddling.html
  5. Norah Abokhodair, “Discovering the Twitter botnet,” Medium (23 ตุลาคม ค.ศ. 2013): http://norahak.wordpress.com/2013/10/23/discovering-the-twitter-botnet/
  6. J.M. Berger, “How ISIS games Twitter,” The Atlantic (16 มิถุนายน ค.ศ. 2014): http://www.atlantic.com/international/archive/2014/06/isis-iraq-twitter-social-media-strategy/372856/
  7. Ian Urbina, “I flirt, I Tweet. Follow me at #Socialbot,” New York Times (10 สิงหาคม ค.ศ. 2013): http://www.nytimes.com/2013/08/11/sunday-review/i-flirt-and-tweet-follow-me-at-socialbot.html
  8. Darren Samuelsohn, “Pols Have a #fakefollower Problem,” Politico (11 มิถุนายน ค.ศ. 2014): http://www.politico.com/story/2014/06/twitter-politicians-107672.html
  9. Amanda Hess, “Twitter Won’t Stop Harassment on Its Platforms, So Its Users Are Stepping In,” Slate (6 สิงหาคม ค.ศ. 2014): http://www.slate.com/blogs/future_tense/2014/08/06/twitter_harassment_user_created_apps_block_together_flamminga_and_the_block.html
  10. Patrick Macguire, “A New Twitterbot is Tracking Canadian Governments’s Wikipedia Edits,” Vice (14 มิถุนายน ค.ศ. 2014): http://www.vice.com/en_ca/read/a-new-twitterbot-is-tracking-the-canadian-governments-wikipedia-edits
  11. Rebecca Rose, “Anti-Abortion Twitter Bot Trolled to Death,” Jezebel (24 กันยายน ค.ศ. 2014): http://jezebel.com/anti-abortion-twitter-bot-trolled-to-death-1638910841

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อมูลและการเลือกปฏิบัติ: รวมความเรียง” (Data and Discrimination: Collected Essays) จัดทำโดย สถาบันโอเพนเทคโนโลยี มูลนิธินิวอเมริกา (New America Foundation) และแปลเป็นภาษาไทยโดย วิริยาณ์ พรสุริยะ ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง

ติดตามบทความชุดนี้ได้ทางแท็ก Data and Discrimination บนเว็บไซต์ thainetizen.org

Exit mobile version