สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: ประธานสนช.เตือน โพสต์ชวนโหวต No ร่างรธน. โดยใช้ข้อมูลเท็จ เสี่ยงผิดกฏหมายประชามติ-พ.ร.บ.คอม/ สปท.เห็นชอบข้อเสนอให้ตำรวจปิดเว็บแทนไอซีที จัดเทคโนโลยีวิเคราะห์พฤติกรรมออนไลน์โดยเฉพาะ/ กระทรวงไอซีทีเตรียมเสนอชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 8 ฉบับเข้าครม.ภายใน 15 เม.ย./ LINE ถอดสติ๊กเกอร์ “ล่อแหลม” ออกจากแอป/ กกต.เปิดตัวแอป “ตาสับปะรด” ให้ประชาชนแจ้งทุจริตออกเสียงประชามติ/ สวทช.เตรียมติดตั้งระบบกล้องซีซีทีวีในภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ฯลฯ
24 มีนาคม 2559
สวทช.เตรียมติดตั้งระบบกล้องซีซีทีวีในภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ
อรพรรณี หยวน ผู้จัดการโปรแกรมวิจัยนวัตกรรมการบริการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเผย ในการร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) ที่จังหวัดภูเก็ต สวทช.จะดูแลเรื่องการติดตั้งเครือข่ายกล้องซีซีทีวีเพื่อสร้างระบบความปลอดภัยให้กับเมือง โดยปัจจุบันได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และซีซีทีวี คอนเซอร์เตียม (CCTV Consortium) จำลองเมืองอัจฉริยะ โดยได้ติดตั้งระบบประมวลผลข้อมูลจากกล้องซีซีทีวีภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ระบบดังกล่าวสามารถแจ้งเหตุได้อย่างอัตโนมัติทั้งเพลิงไหม้ การทะเลาะวิวาท การแจ้งจำนวนช่องว่างในลานจอดรถ การจดจำป้ายทะเบียน รวมถึงการนับคนในห้องประชุมได้
ที่มา: เดลินิวส์
กกต.เปิดตัวแอป “ตาสับปะรด” ให้ประชาชนแจ้งทุจริตออกเสียงประชามติ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดตัวแอป “ตาสับปะรด” ให้ประชาชนแจ้งทุจริตออกเสียงประชามติ วิธีการใช้แอปเพื่อส่งข้อมูลเมื่อพบเห็นการทุจริตคือ กรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ระบบจะให้ใส่ข้อมูลสถานที่ วันเวลาที่เกิดเหตุ และรายละเอียด ข้อมูลจะถูกส่งมายัง กกต.กลาง และ กกต.จังหวัด เพื่อให้ กกต.จังหวัดที่เป็นเจ้าของพื้นที่ได้ไปตรวจสอบ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งระบุว่า ข้อมูลและรายละเอียดของผู้แจ้งจะถูกเก็บเป็นความลับ ระบบยังมีการกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับแจ้งเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งหรือส่งข้อมูลเท็จ แอปดังกล่าวจะเริ่มให้ดาวน์โหลด 11 เม.ย.นี้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ มีการพบว่าแอป “ดาวเหนือ” ของกกต. ซึ่งช่วยในการค้นหารายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง มีช่องโหว่ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ ภายหลังกกต.ได้ออกมาระบุว่า ได้แก้ไขช่องโหว่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
ที่มา: ไทยรัฐ
กรมการขนส่งทางบกสั่ง Uber Moto หยุดให้บริการ
กรมการขนส่งทางบกขอให้ Uber ผู้ใช้บริการแอปพลิเคชั่น Uber Moto บริการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแอป ยุติการให้บริการ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันไม่รองรับบริการดังกล่าว กรมการขนส่งทางบกระบุว่า ผู้ขับขี่ของ Uber Moto ไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ไม่ได้วิ่งในเส้นทางหรือท้องที่ที่ได้รับอนุญาต และไม่ใช่กลุ่มรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับการจัดระเบียบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนึ่ง กรมการขนส่งทางบกได้สั่งให้ Grab Bike ยุติบริการไปก่อนหน้านี้แล้ว
ที่มา: Voice TV
27 มีนาคม 2559
พบเว็บไซต์เผยเลขหนังสือเดินทาง-ข้อมูลส่วนตัวชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย
พบเว็บไซต์เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงเลขหนังสือเดินทางของชาวต่างชาติในไทย เว็บดังกล่าวระบุชื่อเว็บว่า “ระบบชุมชนบุคคลต่างชาติ” มีตราสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมข้อความ “ตรวจคนเข้าเมือง” และระบุชื่อจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ส่วนหัวของเว็บไซต์ ใช้ชื่อโดเมนลงท้ายด้วย .in.th (ขอปกปิดชื่อและที่อยู่เว็บไซต์) ข้อมูลส่วนบุคคลที่เปิดเผยจากระบบมีได้แก่ ชื่อเพศ สัญชาติ เลขที่หนังสือเดินทาง วันเดือนปีเกิด วันที่เข้ามา กำหนดออก อาชีพ หน่วยงาน (ที่ทำงาน) และที่อยู่ ระบบสามารถค้นหาได้ทั้งจากที่อยู่ ชื่อตัว เลขหนังสือเดินทาง ที่ทำงาน และสัญชาติ จากการทดสอบเบื้องต้น ข้อมูลที่มีส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่อยู่ในภาคใต้ ที่ส่วนท้ายของเว็บไซต์มีข้อความระบุว่า “พัฒนาระบบโดย Youngcyber Digital Technology” เว็บไซต์ดังกล่าวถูกลบออกไปหลังพบการรั่วไหล ผู้พัฒนาเว็บได้เข้ามาชี้แจงในเพจเฟซบุ๊กของ Thai Netizen Network ว่าเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงของการพัฒนา และยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของผู้พัฒนาเอง เนื่องจากไม่คิดว่าจะมีผู้มาค้นเจอเว็บ
ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Thai Netizen Network, ประชาไท
28 มีนาคม 2559
เว็บด่านควบคุมโรคติดต่อทำข้อมูลส่วนตัว-ข้อมูลอ่อนไหวของผู้เดินทางเข้าไทยรั่วไหล
พบข้อมูลส่วนตัวซึ่งรวมถึงข้อมูลทางการแพทย์ของผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เผยแพร่บนเว็บไซต์ฐานข้อมูลโรคติดต่อระหว่างประเทศของกลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลในฐานข้อมูลดังกล่าวได้แก่ ชื่อ สกุล เลขหนังสือเดินทาง สัญชาติ เพศ อายุ ที่อยู่ในประเทศไทย (ที่พัก/โรงแรม) และข้อมูลการเดินทางเช่น ประเทศที่พำนักอยู่ในเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศต้นทาง เลขเที่ยวบิน เลขที่นั่ง บางรายมีข้อมูลการสื่อสารเช่น หมายเลขโทรศัพท์และอีเมล ขณะที่ข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกเผยแพร่ได้แก่ วันที่ฉีดวัคซีนไข้เหลือง และสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศที่มีโรคระบาดจะมีข้อมูลอุณหภูมิร่างกายด้วย ข่าวการรั่วไหลดังกล่าวมาจากเฟซบุ๊กของผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายหนึ่ง เมื่อเวลาประมาณ 17:30 น.ของวันที่ 28 มี.ค. 2559 ปัจจุบันฐานข้อมูลดังกล่าวถูกปิดไปแล้ว
ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Thai Netizen Network
วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยถูกคุมตัว 3 วันหลังโพสต์แสดงความเห็นเรื่องการควบคุมตัวอดีตส.ส.เพื่อไทย
วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยถูกคุมตัวที่มลฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 3 วัน และถูกปล่อยตัวเมื่อ 31 มี.ค. 2559 ก่อนหน้าที่จะถูกคุมตัว เขาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า มีทหารยกกำลังมาที่บ้าน อ้างว่าจะขอควบคุมตัวไปโดยอำนาจตามมาตรา 44 จากกรณีที่เขาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเรื่องการควบคุมตัววรชัย เหมะ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.สมุทรปราการ ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ทั้งนี้ วัฒนาถูกเรียกปรับทัศนคติมาแล้วรวมอย่างน้อย 4 ครั้ง
ที่มา: เว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม ( iLaw)
29 มีนาคม 2559
คสช.ออกคำสั่ง 13/2559 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว-ค้นที่รโหฐานได้ไม่ต้องมีหมายค้น
คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งที่ 13/2559 เรื่อง “การป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” มีเนื้อหาให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายแต่งตั้ง “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” ซึ่งมีอำนาจเรียกบุคคลที่กระทําความผิดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทําความผิดมารายงานตัว, จับกุม, ควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน, เข้าตรวจค้น โดยสามารถค้นที่รโหฐานได้ไม่ต้องมีหมายค้นและไม่จำกัดเวลา, ยึดหรืออายัดทรัพย์ได้ เจ้าพนักงานดังกล่าวจะเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม ป.วิอาญา ไม่อยู่ในข้อบังคับของกฎหมายปกครอง (บุคคลใดฟ้องศาลปกครองไม่ได้) และได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (อ่าน คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559)
ที่มา: คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559, โพสต์ทูเดย์
30 มีนาคม 2559
กระทรวงไอซีทีเตรียมเสนอชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 8 ฉบับเข้าครม.ภายใน 15 เม.ย. 59
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เตรียมเสนอร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล 8 ฉบับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์นี้ (ภายในประมาณวันที่ 15 เม.ย. 2559) โดยระหว่างประมาณวันที่ 4-8 เม.ย. 2559 กระทรวงฯ จะเสนอร่างพ.ร.บ. 3 ฉบับ ซึ่งได้แก่ ร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ร่างพ.ร.บ.กสทช.) ฉบับแก้ไข, ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับแก้ไข), และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เข้าสู่ที่ประชุมครม.ก่อน รายงานจากวอยซ์ทีวีระบุว่า กระทรวงไอซีทียืนยันว่า ร่างกฎหมายทั้งหมดจะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนบนโลกออนไลน์หรือเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ที่มา: Voice TV
31 มีนาคม 2559
กสทช. เคาะวันประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์รอบใหม่ 24 มิ.ย. ราคาเริ่มต้นเท่าที่แจสชนะประมูล
ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) อนุมัติร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอ ดังนี้
- จัดประมูลวันที่ 24 มิถุนายน 2559
- ราคาเริ่มต้น 75,654 ล้านบาท เท่ากับราคาที่ JAS ผู้ชนะประมูลคราวที่แล้วเสนอราคาไว้
- เงินประกันร้อยละ 5 ของราคาเริ่มต้น (3,783 ล้านบาท)
- ถ้าไม่มาชำระเงินและวางหลักประกัน จะต้องจ่าย 15,131 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของราคาเริ่มต้น
- ถ้าผู้ชนะอันดับหนึ่งไม่มาชำระเงินค่าประมูล จะอนุญาตให้อันดับสองมาจ่ายแทนได้
- ไม่อนุญาตให้ JAS เข้าประมูล
ต่อมาวันที่ 5 เม.ย. คณะกรรมการกสทช.มีมติไม่อนุญาตให้ทรูเข้าร่วมประมูลคลื่นครั้งใหม่เช่นกัน
หลังจากที่มีการประกาศดังกล่าว เอไอเอสได้ทำหนังสือถึงกสทช.ขอรับการจัดสรรคลื่นที่ระดับราคาดังกล่าวโดยไม่ต้องประมูล สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า กสทช.ควรสอบถามไปยังผู้ให้บริการรายอื่นว่ายินดีที่จะจ่ายราคาสูงกว่าที่เอไอเอสเสนอหรือไม่ หากมี กสทช.ควรจัดประมูลโดยเร็ว แต่หากไม่มี กสทช.ควรตอบรับข้อเสนอนี้ของเอไอเอส ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ เลขาธิการกสทช.ออกมาระบุว่า ข้อเสนอของเอไอเอสอยู่นอกอำนาจของกสทช. และต้องส่งเรื่องให้ คสช. พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 โดย กสทช. จะส่งความเห็นทางกฎหมาย และบทวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียให้ คสช. พิจารณาภายในวันที่ 8 เม.ย.นี้ อ่านความเห็นของประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.เกี่ยวกับเรื่องนี้
ที่มา: Blognone (1), (2), @TakornNBTC, Bangkok Post
กลุ่มรถไฟฟ้าบีทีเอสเข้าถือหุ้น LINE Pay เปลี่ยนชื่อเป็น Rabbit LINE Pay บริการชำระเงินออนไลน์และออฟไลน์
LINE Pay และบัตร Rabbit Pay ของบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม (บริษัทในเครือรถไฟฟ้าบีทีเอส) เซ็นสัญญาร่วมทุน และเปลี่ยนชื่อบริการ LINE Pay เป็น “Rabbit LINE Pay” บริการใหม่นี้เป็นบริการชำระเงินแบบทั้งออนไลน์ (บริการ LINE Pay เดิม) และแบบออฟไลน์ (บัตรแรบบิท) ทั้งสองบริษัทระบุว่า ความร่วมมือกันครั้งนี้เป็นหนึ่งการผลักดันให้ไทยเข้าสู่สังคมปลอดเงินสด (cashless society) Rabbit LINE Pay จะเปิดตัวบริการแรกในไตรมาสที่ 3 และเปิดบริการเต็มตัวในพื้นที่กรุงเทพช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2559
ที่มา: Blognone
2 เมษายน 2559
ประธานสนช.เตือน โพสต์ชวนโหวต No ร่างรธน. โดยใช้ข้อมูลเท็จ เสี่ยงผิดกฏหมายประชามติ-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า หากรณรงค์โดยใช้เนื้อหาอันเป็นเท็จอาจก็จะผิดกฎหมายประชามติและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 โดยเป็นดุลพินิจของศาล อย่างไรก็ตาม ยังต้องดูที่เจตนา หากเป็นการวิเคราะห์เหตุผลข้อดีข้อเสียก็สามารถทำได้
4 เมษายน 2559
สปท.เห็นชอบข้อเสนอให้ตำรวจปิดเว็บแทนไอซีที เพิ่มเจ้าหน้าที่ จัดหาเทคโนโลยีสืบค้นและวิเคราะห์พฤติกรรมออนไลน์โดยเฉพาะ
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ครั้งที่ 17/2559 เห็นชอบ “ข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์” ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ข้อเสนอแนะดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้
- ให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เป็นหน่วยงานหลักดูแลงานป้องกันและปราบปราม รวมถึงปิดกั้นเว็บไซต์ และให้สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ของกระทรวงไอซีทีทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์ภาพรวมเท่านั้น
- เพิ่มกลุ่มงานเฝ้าระวัง งานวิจัยและพัฒนา และกำหนดให้มีงานด้านการปราบปรามการกระทำความผิดที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันหลักของประเทศไว้เป็นการเฉพาะ
- แยกภารกิจเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูล กับการใช้คอมพิวเตอร์กระทำความผิดออกจากกัน
- ให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสืบค้นหาข้อมูลที่ไม่เหมาะสมและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มงานเฝ้าระวัง
- สร้างสื่ออินโฟกราฟิกเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ ร่วมมือกับภาคประชาชน เช่น การร่วมมือกับศูนย์ไทยฮอตไลน์ของมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และองค์กรอื่นๆ เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังภัย
กำหนดเวลาการปฏิรูปไว้ 3 ระยะ ครอบคลุมระยะเวลา 19 เดือน ระยะแรกเน้นการปรับโครงสร้างหน่วยงาน ระยะสองเน้นการจัดหาทรัพยากรเทคโนโลยีและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม (โดยจะเป็นการเกลี่ยตำแหน่งภายในกองบัญชาการสอบสวนกลางที่มีจำนวน 2,000 อัตรามา เพื่อไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเพิ่มตำแหน่งในภาพรวม) และระยะที่สามเป็นการประเมินผล
อ่าน “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์” 24 มีนาคม 2559 ฉบับเต็ม
ที่มา: รายงานของคณะกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลืื่อนปฏิรูปประเทศ เรื่อง “ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์” 24 มีนาคม 2559, บันทึกการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 17/2559 วันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2559 เวลา 09:31-16.24 น., เพจเฟซบุ๊ก Thai Netizen Network
เฟซบุ๊กใช้ปัญญาประดิษฐ์คิดคำบรรยายภาพช่วยผู้พิการ “เห็นภาพ” ที่โพสต์
เฟซบุ๊กเปิดตัวคุณสมบัติ “automatic alternative text” เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้กลไกการจดจำวัตถุบนภาพ (object recognition technology) สร้างเป็นกลุ่มคำและอ่านออกมาเป็นข้อความเสียงเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ที่พิการทางสายตาให้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ โดยผู้ใช้ผู้พิการจะได้ยินกลุ่มคำซึ่งระบบวิเคราะห์ว่ามีอยู่ในรูปภาพนั้นๆ (เช่น “ภาพนี้อาจมีคนอยู่สามคน กำลังยิ้ม กลางแจ้ง”) ระบบนี้พร้อมใช้แล้วในบางประเทศ อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ บนระบบปฏิบัติการ iOS ภาษาที่สนับสนุนคือภาษาอังกฤษ ชมวิดีโอนำเสนอจากเฟซบุ๊ก
ที่มา: Blognone
5 เมษายน 2559
ครม.เห็นชอบ ‘แผนเศรษฐกิจดิจิทัล’ ระยะ 3 ปี ให้กระทรวงไอซีทีเป็นหน่วยงานหลัก
ครม.มีมติเห็นชอบต่อร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2559 – 2561) ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอ โดยให้กระทรวงไอซีทีเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และให้ทุกหน่วยงานรัฐนำแผนงานที่กระทรวงไอซีทีจัดทำขึ้นไปประกอบการทำแผนปฏิบัติราชการ ครม.ยังได้ให้สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สนับสนุนงบประมาณ บุคลากร การทบทวนโครงสร้างของส่วนราชการ การปรับปรุงกฎระเบียบ การกำหนดตัวชี้วัดตามแผนดังกล่าว
ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าวประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษญฐกิจและสังคมดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ที่มา: สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 5 เม.ย. 2559
7 เมษายน 2559
LINE ถอดสติ๊กเกอร์ “ล่อแหลม” ชุดหนึ่งออกจากแอป
บริษัท ไลน์ ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปแชต LINE ถอนสติ๊กเกอร์ชุดหนึ่งประกอบด้วยรูปภาพ 40 รูปซึ่งเนื้อหาที่ล่อแหลมออกจากแอป บริษัทชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กว่า สติ๊กเกอร์ดังกล่าว “อาจส่งผลกระทบในด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมในประเทศไทย” และอาจสร้าง “ความกังวลใจของผู้ใช้งาน” และขออภัยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สติกเกอร์ชุดดังกล่าวมีและเผยแพร่โดยเจ้าของซึ่งใช้ชื่อ Anna Laurent ด้านสำนักข่าว Reuters ระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบสวนที่มาของสติกเกอร์ชุดนี้
ที่มา: แถลงการณ์จาก LINE, Blognone, ประชาไท, Reuters, The Guardian