สิ่งที่คุณยังไม่รู้ เกี่ยวกับ Big Data ใน Smart City

2016.02.23 15:25

smart-city-thailand

โดย พินดา พิสิฐบุตร @P_Pinda

ขณะที่เรากำลังตกใจกับการถูกสอดแนมทางอินเทอร์เน็ต (ร่างพ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ!​ ซิงเกิลเกตเวย์! ปอท.เตรียมซื้อระบบติดตามสังคมออนไลน์อัตโนมัติ!) ก็อย่าลืมว่าในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ยามที่เราชัตดาวน์โน้ตบุ๊ก เก็บแท็บเล็ต ปิดสมาร์ตโฟน ออฟไลน์ทุกสิ่งอย่าง และคิดว่าปลอดภัยจากการถูกจับตาทางออนไลน์เป็นแน่แท้ ถังขยะเทศบาลที่ตั้งอยู่ตรงป้ายรถเมล์ก็อาจจะแอบฟังเราอยู่ก็ได้ ใครจะไปรู้

ก็นี่ปี 2016 แล้ว เราเดินมาใกล้ยุคเมืองอัจฉริยะเข้าไปทุกที ขอสวัสดีและยินดีต้อนรับไว้ล่วงหน้าเลยก็แล้วกัน

แต่ช้าก่อน อะไรคือ “เมืองอัจฉริยะ” กันนะ

สวทช.จับมือกลุ่มภาคี ซีซีทีวี คอนซอร์เตียม จัดสัมมนา “Smart Society Smart Security-สร้างเมืองให้ปลอดภัยด้วยน้ำใจและเทคโนโลยี” หนุนนโยบายการสร้างเมืองให้เป็น “สมาร์ท ซิตี้” (15 ต.ค. 2558)

สุขุมพันธุ์ คุย กทม.เมืองซีซีทีวี 50,000 ตัว วางอนาคตเป็น “สมาร์ท ซิตี้” (21 พ.ย. 2558)

“ซิป้า” ดึง “เกาหลีใต้” ถ่ายทอดประสบการณ์ “สมาร์ท ซิตี้” พัฒนาเมืองไฮเทค (24 ม.ค. 2559)

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวผ่านพาดหัวข่าวในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา เราคงจะตกเทรนด์อย่างยิ่ง หากไม่รู้ว่าสมาร์ตซิตี้คืออะไร

ทำความรู้จักกับเมืองอัจฉริยะ

“เมืองอัจฉริยะ” หรือสมาร์ตซิตี้ (smart city) เป็นแนวคิดที่หมายถึงระบบที่เชื่อมโยงถึงกันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานของเมือง แนวคิดเบื้องหลังของเมืองอัจฉริยะคือการที่สภาพแวดล้อมสามารถรับรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับผู้อยู่อาศัย

ตัวอย่างแรกๆ ของเมืองอัจฉริยะคือระบบไฟจราจรที่เชื่อมโยงกัน ทำให้รถรู้ว่าควรจะหยุดตอนไหนและคนเดินถนนรู้ว่าควรข้ามถนนเมื่อไร ในที่สุดระบบสัญญาณจราจรก็พัฒนาเซ็นเซอร์​ (sensor) เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของรถยนต์ แทนที่จะใช้เพียงการจับเวลา

(ส่วนที่พูดถึงนิยามพื้นฐานเมืองอัจฉริยะต่อไปนี้แปลและเรียบเรียงมาจากบทความ Case Study: SMART ในเอกสารประกอบการประชุม Quantifying Society: An exploration of data exploitation in the data driven society จัดโดย Privacy International ร่วมกับ Asociación por los Derechos Civiles และ Derechos Digitales, 2-4 ก.พ. 2559)

ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงเมืองอัจฉริยะ เรามักหมายถึงระบบที่ใช้ข้อมูลของผู้อยู่อาศัยในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเซ็นเซอร์หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลที่ติดตั้งเอาไว้รอบเมือง ทุกครั้งที่เราออกไปบนท้องถนนโดยพกสมาร์ตโฟนไปด้วย เราก็ได้สร้างข้อมูลขึ้นมาแล้วแม้ว่าจะไม่ได้กำลังใช้สมาร์ตโฟนนั้นอยู่

โครงสร้างพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะจะนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลผล เราเดินทางมาจากไหนและกำลังจะไปที่ไหน ด้วยความเร็วเท่าไร ใช้รถเมล์หรือรถไฟ กำลังรถติดอยู่หรือไม่ เพื่อที่เมืองจะสามารถจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เมืองอัจฉริยะก็ยังมีระบบอย่างการสอดแนมด้วยกล้องวงจรปิด (CCTV) ระบบวิเคราะห์ใบหน้า ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์​ ระบบเหล่านี้สร้างข้อมูลขึ้นมาแม้ว่าเราจะไม่ได้กำลังพกพาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ แค่สัญจรอยู่บนท้องถนนเราก็ป้อนข้อมูลบางอย่างให้กับระบบแล้ว

ผู้ออกแบบเมืองอัจฉริยะระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้อยู่อาศัยเช่นนี้จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และปลอดภัยขึ้น เราจะประหยัดไฟได้มากขึ้นหากปิดไฟส่องสว่างเมื่อถนนโล่งและไม่มีคนสัญจร ระบบขนส่งในเมืองจะทำงานได้ดีขึ้นถ้ารู้จำนวนผู้โดยสารที่แน่นอนในแต่ละช่วงเวลา และเมืองจะให้บริการเราอย่างรู้ใจตรงกับความต้องการเฉพาะตัวของแต่ละคน

นอกจากนี้ เมืองอัจฉริยะยังเป็นโอกาสทองของ “ข้อมูลเปิด” (open data) ซึ่งชุดข้อมูลจะถูกนำมาเผยแพร่และนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์อื่นๆ

เมื่อมาถึงยุคของ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (Internet of Things – IoT) ที่อะไรๆ ก็เชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต มันจึงไม่ใช่แค่สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตเท่านั้นที่เป็นตัวป้อนข้อมูลให้กับเมืองอัจฉริยะ ทุกวันนี้ กระทั่งนาฬิกา (อย่าง Apple Watch) ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน มิเตอร์น้ำ ถังขยะ รถยนต์ และเซ็นเซอร์อื่นๆ ที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ในเมือง ก็สามารถส่งข้อมูลให้กับเมืองได้ด้วย แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านั้นสะท้อนพฤติกรรมของคนในเมือง ทั้งในระดับภาพรวมและลงลึกถึงระดับห้องนอน

ใครคือผู้มีบทบาทหลัก

ทั่วไปแล้ว เมืองอัจฉริยะเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยรัฐบาลประเทศต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรีของอินเดียตั้งเป้าว่าภายในปี​ 2565 อินเดียจะมีเมืองอัจฉริยะ 100 เมืองทั่วประเทศ รัฐบาลต่างชาติยังลงทุนกับเมืองอัจฉริยะด้วย เช่น รัฐบาลฝรั่งเศสที่ลงทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าวของรัฐบาลอินเดีย

รัฐบาลใช้บริการจากบริษัทเอกชนเพื่อทำให้โครงการเมืองอัจฉริยะเป็นจริง บริษัทชั้นนำที่พัฒนาระบบเมืองอัจฉริยะมีอาทิ ไอบีเอ็ม ซิสโก ออราเคิล ไมโครซอฟท์

ในหนังสือ Against Smart City (ต้านเมืองอัจฉริยะ) อดัม กรีนฟิลด์ (Adam Greenfield) ให้ความเห็นว่า ความคิดความเชื่อเรื่องเมืองอัจฉริยะเกิดมาจากธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งต้องการสร้างอุปทานหรือความต้องการเมืองอัจฉริยะขึ้นมา และไม่ได้มาจากกลุ่มคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการวางผังเมืองจริงๆ

บริษัทเอกชนอีกหลายบริษัทยังให้การสนับสนุนโครงการเมืองอัจฉริยะ เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะของเมืองไบรตันในสหราชอาณาจักร ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธุรกิจท้องถิ่นและบริษัทขนาดใหญ่อย่างอเมริกันเอ็กซ์เพรส โครงการเมืองอัจฉริยะอัมสเตอร์ดัมได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนมากกว่าร้อยบริษัท

บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี แต่อาจเป็นผู้รับข้อมูลปลายทาง

ก็ฟังดูดี แล้วมันจะมีปัญหาอะไรเล่า

เมืองอัจฉริยะมีแนวโน้มที่จะเก็บข้อมูลของเราโดยไม่ขอความยินยอม มันสร้างสภาพแวดล้อมที่เราอาจตกเป็นเป้าหมายของการสอดแนมเมื่อก้าวเท้าออกจากบ้าน อาจมีป้ายเตือนอยู่ริมถนนหรือบนรถประจำทางว่ามีกล้องวงจรปิดติดอยู่ ทว่าเราไม่มีโอกาสเลือกที่จะออกจากสถานการณ์นั้น (opt-out)

เมืองอัจฉริยะทำงานอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยังไม่มีการกำกับดูแล และบ่อยครั้งผู้คนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะติดตั้งอยู่

ตัวอย่างเช่น​ กรุงลอนดอนซึ่งเคยติดตั้ง “ถังขยะอัจฉริยะ” ในย่านการเงิน เพื่อใช้ข้อมูลเมทาดาตา (metadata) จากสมาร์ตโฟนมาประมวลเพื่อแสดงโฆษณาที่เหมาะสมให้กับคนที่สัญจรไปมาผ่านถังขยะ รายงานของผู้ผลิตเทคโนโลยีดังกล่าวระบุว่ามีการเก็บข้อมูลจากโทรศัพท์มากกว่า 4 ล้านเครื่อง เมื่อผู้คนทราบถึงเรื่องนี้ ระบบดังกล่าวจึงถูกถอดออก กรณีเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นในกรุงนิวยอร์ก

เมืองอัจฉริยะในประเทศไทย

อันที่จริง แนวคิดเมืองอัจฉริยะเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงมากว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว เช่น กรณีของภูเก็ต ที่ถูกเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องกับเชียงใหม่กับขอนแก่น ใน พ.ศ. 2546 ภายใต้แผนงาน “สมาร์ตไทยแลนด์” (Smart Thailand) ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

โครงการ “ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ” นี้กำลังจะถูกผลักดันใหม่อีกครั้งให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปลายปีนี้โดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยจะใช้งบประมาณประมาณ 97 ล้านบาท มีสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) รับผิดชอบโครงการ และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ได้เห็นชอบร่างแผนแม่บท “ดิจิทัลไทยแลนด์” (Digital Thailand) ซึ่งในแผนดังกล่าวระบุให้ภูเก็ตและเชียงใหม่เป็นเมืองนำร่องสำหรับโครงการเมืองอัจฉริยะ

รัฐบาลระบุว่าส่วนหนึ่งของโครงการ “ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ” ดังกล่าวคือการนำกล้อง CCTV มาใช้อย่างแพร่หลาย (ปัจจุบันภูเก็ตมีกล้องติดตั้งอยู่กว่า 2,000 ตัว) นำระบบฐานข้อมูลนักท่องเที่ยวมาใช้ร่วมกับระบบบริการเรือยอร์ช โดยเชื่อว่าระบบนี้จะทำให้สามารถเห็นภาพการจราจรทางทะเลโดยรวม รวมทั้งทราบจำนวนผู้โดยสารในแต่ละวัน รู้ว่าผู้โดยสารเป็นใคร มีการติดตั้งสมาร์ตไวไฟที่เก็บข้อมูลการจราจร (log file) ซึ่งจะทำงานร่วมกับฐานข้อมูลนักท่องเที่ยว

ผู้จัดการซิป้าสาขาภูเก็ตระบุว่า ทุกวันนี้มีจุดให้บริการเครือข่ายไวไฟจำนวนมากตามร้านค้าและร้านอาหารริมชายหาด แต่ “ปัญหา” ก็คือ มันไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้งานได้ เขายังเห็นว่า สิ่งที่ควรพัฒนาต่อบนระบบสมาร์ตไวไฟคือระบบฐานข้อมูลนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัด โดยผนวกรวมข้อมูลดังกล่าวเข้ากับระบบกล้อง CCTV รวมทั้งระบบควบคุมการท่องเที่ยวทางน้ำ เป็นต้น

สำหรับกรุงเทพ เมื่อปลายปี 2558 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเช่นกันว่า ในระยะยาว กรุงเทพมหานครมีแผนจะพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังมีโครงการเมืองอัจฉริยะในระดับเทศบาลเมืองด้วย คือ “บางแสน สมาร์ตชิตี้” ที่เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี โดยร่วมมือกับศูนย์วิจัยเมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนาเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ

ความเคลื่อนไหวเรื่องเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยในรอบใหม่นี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง มีงานเสวนาหารือและประกาศความร่วมมืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่นเมื่อมิถุนายน 2558 อินเทลและเนชั่นร่วมจัดเสวนา Thailand Smart City 2015 (บันทึกการเสวนา) และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และสมาคมสมองกลฝังตัวไทย ได้แถลงข่าวความร่วมมือและเปิดศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ “IOT City Innovation Center”

อีกโฉมหน้าของเมืองอัจฉริยะ

ในสหราชอาณาจักร องค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนล (Privacy International) ได้ศึกษาความปลอดภัยของเครือข่ายไวไฟสาธารณะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเมืองอัจฉริยะในกรุงลอนดอน ผลการศึกษาพบว่าไวไฟสาธารณะที่ให้บริการประชาชนเหล่านี้ยังขาดความปลอดภัย ในตอนหนึ่งของงานศึกษา ไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนลระบุว่า ความเชื่อที่ว่าโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้อาจไม่เป็นจริงเสมอไป บางครั้งโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเก็บข้อมูลของเราอาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และในบางกรณีก็กลับกลายมาเป็นตัวทำร้ายผู้ใช้ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลเอง ในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมืองอัจฉริยะ ยังมีคำถามว่า ผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนมีเหนือผู้ใช้หรือไม่ นอกจากนี้ อีกคำถามสำคัญที่เราต้องถามเมื่อพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะก็คือ ใครกันแน่ที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักจากมัน

นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาอีกหลายชิ้น (ดู The effect of CCTV on public safety: research roundup) ที่แสดงให้เห็นข้อกังขาของประสิทธิผลของกล้อง CCTV ผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ (unintended effect) จากการใช้งานกล้อง CCTV รวมทั้งเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่ได้กับต้นทุนทั้งความเป็นส่วนตัวและต้นทุนในการติดตั้งและดูแลรักษา นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอถึงขอบเขตใช้งานกล้อง CCTV ว่าควรมีข้อจำกัดแค่ไหน อย่างไรบ้าง (ดู Charter for a Democratic Use of Video-Surveillance ของ European Forum for Urban Security)

ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงเมืองอัจฉริยะ รัฐบาลและธุรกิจก็มักจะพูดถึงด้านที่สดใสของมันเท่านั้น แต่ยังไม่มีการถกเถียงกันในวงกว้างถึงประเด็นการกำกับดูแลและกฎหมาย ในเมืองอัจฉริยะที่ข้อมูลจำนวนมากของเราจะถูกเก็บและนำไปประมวลผลอยู่ตลอดเวลา

อย่าลืมว่าประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไป เรายังคงต้องจับตามองร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลการสื่อสาร (ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นและจัดเก็บอย่างมหาศาลในเมืองอัจฉริยะ) ทั้งหมดอย่างไม่มีขอบเขตและปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล และที่ผ่านมา เรามีการวิจัยศึกษาเรื่องผลกระทบและความเสี่ยงของเมืองอัจฉริยะกับความปลอดภัยสารสนเทศและความเป็นส่วนตัวน้อยมาก เหรียญมีสองด้านฉันใด เมืองอัจฉริยะก็มีอีกโฉมหน้าซึ่งยังไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเช่นเดียวกัน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะพลิกเหรียญอีกด้านขึ้นมาดู และคุยถึงมันอย่างจริงจังเสียที

อ้างอิง

  • บทความ Case Study: SMART ในเอกสารประชุม Quantifying Society: An exploration of data exploitation in the data driven society จัดโดย Privacy International ร่วมกับ Asociación por los Derechos Civiles และ Derechos Digitales, 2-4 ก.พ. 2559 (ยังไม่มีเผยแพร่ออนไลน์)
  • The effect of CCTV on public safety: research roundup
  • Charter for a Democratic Use of Video-Surveillance (by European Forum for Urban Security)

ความเคลื่อนไหวในประเทศไทย

Tags: , , , , , , , ,
%d bloggers like this: