Thai Netizen Network

Digital Weekly: 27 ม.ค. – 10 ก.พ. 2559 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบ 2 สัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: กมธ.สื่อ ขอ ‘กูเกิล’ ลัดขั้นตอน เซ็นเซอร์เนื้อหา ไม่ต้องรอคำสั่งศาล/ “ไลน์” ออกแถลงการณ์ หลังมีข่าวรบ.จะโน้มน้าวให้ถอดเนื้อหาอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย-สปท.ระบุ อาจใช้มาตรการภาษีกดดัน/ รวบ อดีตสข.เพื่อไทยส่งเพลงล้อ ‘ประยุทธ์’ ให้เพื่อนทางไลน์ ชี้ผิด พ.ร.บ.คอม มาตรา 14 (5)/ เลขาธิการสภาความมั่นคงนั่งประธานบอร์ด กสท โทรคมนาคม/ รัฐบาลเร่งผลักดันแอป G-News แจ้งข่าวภาครัฐ ลดข่าวลือโซเชียลมีเดีย ฯลฯ

“ไลน์”ออกแถลงการณ์ หลังมีข่าวรบ.จะโน้มน้าวให้ถอดเนื้อหาอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย (1 ก.พ.59)

“ไลน์”ออกแถลงการณ์ หลังมีข่าวรบ.จะโน้มน้าวให้ถอดเนื้อหาอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย (1 ก.พ.59)

28 มกราคม 2559

กมธ.สื่อ ขอ ‘กูเกิล’ ลัดขั้นตอน เซ็นเซอร์เนื้อหา ไม่ต้องรอคำสั่งศาล

เว็บไซต์ของสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนเผยแพร่เอกสาร “สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 11” ซึ่งเปิดเผยรายละเอียดการพูดคุยระหว่างคณะกรรมาธิการฯ กับแมตต์ ซูเคอร์มานน์ (Matt Sucherman) รองประธานและที่ปรึกษากฎหมายส่วนกิจการสากลของกูเกิลเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 59 เนื้อหาในเอกสารระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ ขอให้กูเกิลถอดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบต่อความมั่นคง มุ่งทำลายสถาบัน ละเมิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนออก และในกรณีเร่งด่วน อยากให้กูเกิลถอดเว็บไซต์ออกโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล นอกจากนี้ หากกูเกิลมีปัญหาในการประกอบธุรกิจของและอยากให้ช่วยเหลือ ขอให้เสนอมา โดยคณะกรรมาธิการฯ พร้อมพิจารณาและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ด้านกูเกิลกล่าวต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า บริษัทมีนโยบายที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก การถอดเนื้อหาผิดกฎหมายจำต้องได้รับการร้องขอจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้น กูเกิลไม่อาจพิจารณาหรือตัดสินใจเองได้ อีกทั้งกระบวนการดังกล่าวต้องมีขั้นตอนอันเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล

ที่มา: เอกสาร สรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 11, ประชาไท

รวบ อดีตสข.เพื่อไทยส่งเพลงล้อ ‘ประยุทธ์’ ให้เพื่อนทางไลน์ ชี้ผิด พ.ร.บ.คอม มาตรา 14 (5)

เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงข่าวการจับกุมตัวนายณรงค์ รุ่งธนวงษ์ อดีตสมาชิกสภาเขตบางเขน พรรคเพื่อไทยปี 2553 พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือจำนวน 1 เครื่องในข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา14 (5) หลังจากส่งต่อคลิปเพลง ‘เพื่อลุงที่รักของเรา’ ซึ่งมีข้อความล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณรงค์ให้การรับสารภาพว่า ตนได้รับคลิปดังกล่าวมาจากทางกลุ่มไลน์ เมื่อเปิดดูเห็นว่าเป็นเพลงล้อเลียนนายกรัฐมนตรี ด้วยความสนุกสนาน จึงส่งต่อเพลงดังกล่าวไปยังกลุ่มเพื่อนและญาติพี่น้องในไลน์ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

ที่มา: เนชั่น ทีวี

แฮกเกอร์ถล่ม 20 เว็บไซต์กรมราชทัณฑ์

บางกอกโพสต์รายงานว่า แฮกเกอร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม Anonymous ได้โจมตีเว็บไซต์จำนวน 20 เว็บของกรมราชทัณฑ์ โดยในเพจเฟซบุ๊ก “Anonymous for Justice” แฮกเกอร์ดังกล่าวได้โพสต์ภาพหน้าจอที่ระบุสถานะเว็บไซต์หลักของกรมราชทัณฑ์ว่ามีสถานะออฟไลน์ พร้อมโพสต์แฮชแท็ก #BoycottThailand #KohTao #LukeMiller #WeStandWithLaura เว็บดังกล่าวได้รับการแก้ไขให้ออนไลน์ในเวลาต่อมาไม่นาน ก่อนที่อีก 19 เว็บไซต์จะกลับมาใช้งานได้ตามปกติภายหลัง

ที่มา: Bangkok Post

29 มกราคม 2559

เลขาธิการสภาความมั่นคงนั่งประธานบอร์ด กสท โทรคมนาคม

ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ. กสท โทรคมนาคมรับรองการแต่งตั้งกรรมการใหม่ 3 คน ทดแทนกรรมการที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ กรรมการใหม่ประกอบด้วย พลเอกทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการ, ไพรสัณฑ์ วงศ์สมิทธิ์ จากบริษัทที่ปรึกษาการเงินอิสระ และวินัย ดำรงค์มงคลกุล รองอัยการสูงสุด โดยกรรมการทั้ง 3 คนจะพ้นตำแหน่งในปี 2560 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เลือกทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นรองประธาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

1 กุมภาพันธ์ 2559

“ไลน์”ออกแถลงการณ์ หลังมีข่าวรบ.จะโน้มน้าวให้ถอดเนื้อหาอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย-สปท.ระบุ อาจใช้มาตรการภาษีกดดัน

ไลน์ ประเทศไทย ออกแถลงการณ์กรณีที่พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) เผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า รัฐบาลจะพยายามโน้มน้าวให้ไลน์และเฟซบุ๊กถอดเนื้อหาที่คิดว่าจะเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งศาล และเตรียมหารือกับผู้บริหารในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า ไลน์ ประเทศไทย ได้รับทราบเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว แต่บริษัทยังไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการจากหน่วยงานใด ซึ่งหากทางไลน์ประเทศไทย ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ บริษัทก็พร้อมให้ความร่วมมือและพิจารณาเพื่อหามาตรการที่เหมาะสม ไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศไทย พร้อมยังคงยึดมั่นในมาตรฐานการรักษาข้อมูลของผู้ใช้

ถัดมา พล.ต.ต.พิสิษฐ์ ให้สัมภาษณ์รายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ต่อกรณีดังกล่าว โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลอาจมาตรการทางภาษีเพื่อต่อรองกับไลน์ เช่น การเก็บภาษีจากโฆษณา ฟังคลิปให้สัมภาษณ์

ที่มา: มติชนออนไลน์, ประชาไท

กสทช.มีแผนจัดสรรคลื่น 2300 และ 2600 เมกะเฮิร์ตซ์

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผย คลื่นความถี่ที่จะได้รับคืนจาก บริษัท อสมท จำกัด (คลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์) และบริษัท ทีโอที จำกัด (คลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซ์) จะเสนอเป็นแผนประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมในช่วงปีนี้และปี 2560 ซึ่งระหว่างนี้เจรจาเบื้องต้นกับสองหน่วยงานแล้วและทั้งสองหน่วยงานยินดีคืนคลื่นให้หน่วยงานละ 40 เมกะเฮิร์ตซ์ ในการนี้ กสทช.ต้องมีมาตรการเยียวยาให้หน่วยงานดังกล่าว ซึ่งขณะนี้กฎหมายใหม่ของกสทช.อยู่ในขั้นตอนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา หากกฎหมายผ่านจะทำให้กสทช.มีอำนาจชดเชยค่าคลื่นได้ ส่วนในปี 2561 จะมีคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด อีก 45 เมกะเฮิร์ตซ์

ที่มา: แนวหน้า

6 กุมภาพันธ์ 2559

รัฐบาลเร่งผลักดันแอป G-News แจ้งข่าวภาครัฐ ลดข่าวลือโซเชียลมีเดีย

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานแอป “G-News” (แอปแจ้งข้อมูลข่าวสารภาครัฐ) โดยเชื่อว่า แอปดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาข่าวลือผ่านโซเชียลมีเดีย เนื่องจากข้อมูลในแอปเป็นข้อมูลส่งตรงจากภาครัฐ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังให้กระทรวงฯ ผลักดันบริการ “GovChannel” หรือศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะระบบ “ภาษีไปไหน” ที่จะรายงานข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ ช่วยสร้างความโปร่งใส

ที่มา: สำนักข่าวไทย

8 กุมภาพันธ์ 2559

รัฐบาลเห็นชอบร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย (ปี 2559-2561)

ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเห็นชอบ “ร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย (ปี 2559-2561)” ซึ่งร่างโดยกระทรวงสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) โดยในช่วง 1 ปี 6 เดือนแรก รัฐบาลมีโครงการขยายไวไฟฟรี 10,000 จุดทั่วประเทศ, ขยายความจุของเคเบิลใต้น้ำเป็น 2 เท่า, พัฒนาเมืองอัจฉริยะนำร่องที่ภูเก็ตและเชียงใหม่, พัฒนาระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลนำร่อง 4 จังหวัด, อบรมทักษะดิจิทัลให้ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ 4,000 คน, จัดทำบริการภาครัฐในรูปแบบสมาร์ตเซอร์วิสจำนวน 79 บริการ และอื่นๆ รวมถึงแอปสอนภาษาอังกฤษแก่ประชาชนที่นายกรัฐมนตรีสั่งการเร่งด่วน ภายใน 1 เดือน เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศให้มีขนาดความจุรวมไม่น้อยกว่า 4,000 Gbps และเห็นชอบการพัฒนาศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) ของภาครัฐสู่ระบบคลาวด์ รวมทั้งสนับสนุนให้เอกชนพัฒนาบริการบนคลาวด์แก่ภาครัฐด้วย

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

9 กุมภาพันธ์ 2559

ทนายกลุ่ม ปชต.ใหม่เข้ารับทราบข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน หลังไม่ให้ตำรวจที่ไม่มีหมายค้นรถ

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในคณะทำงานคดี 14 ขบวนประชาธิปไตยใหม่ เข้ารับทราบข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน หลังปฏิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นรถตนเองเพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายค้นและไม่สามารถตอบได้ว่าต้องการสิ่งใดในโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ ศิริกาญจน์ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาแแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา ม.172 และ 174 (แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ) แต่พนักงานสอบสวนไม่อาจชี้แจงได้ว่าข้อความใดที่ศิริกาญจน์ได้แจ้งความไปแล้วเป็นเท็จ พนักงานสอบสวนจะนัดหมายให้ศิริกาญจน์มารับทราบข้อกล่าวหาและให้การในคดีนี้ภายหลัง

ที่มา: ประชาไท

Exit mobile version