Thai Netizen Network

Digital Weekly: 19-25 ก.พ. 2559 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: หนึ่งในข้อเรียกร้องแอมเนสตี้ฯ ต่อรัฐไทย ต้องไม่ลงโทษคนกดไลก์-กดแชร์/ สนช.เห็นชอบโครงการบรอดแบนด์ 30,000 หมู่บ้านแล้ว ให้ทีโอที-กสท.ติดตั้ง/ Uber เปิดบริการรถจักรยานยนต์รับจ้างในไทย/ กทปส.เปิดรับสมัครทุน โดรนแพทย์ฉุกเฉิน, วิจัย IoT, Mobile Big Data กับการประเมินคะแนนเครดิตอยู่ในเกณฑ์ได้ทุน/ ครม.อนุมัติจัดระเบียบนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ฯลฯ

หนึ่งในข้อเรียกร้องแอมเนสตี้ฯ ต่อรัฐไทย ต้องไม่ลงโทษคนกดไลก์-กดแชร์ (24 ก.พ. 59)

หนึ่งในข้อเรียกร้องแอมเนสตี้ฯ ต่อรัฐไทย ต้องไม่ลงโทษคนกดไลก์-กดแชร์ (24 ก.พ. 59)

19 กุมภาพันธ์ 2559

สนช.เห็นชอบแล้ว โครงการวางบรอดแบนด์ 30,000 หมู่บ้าน ให้ทีโอที-กสท.เป็นผู้ติดตั้ง

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบโครงการยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ (ในส่วนการวางโครงข่ายอินเตอร์ความเร็วสูงไปยัง 30,000 หมู่บ้าน ภายใต้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท) เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา เพื่อจัดทำเป็น พ.ร.บ.งบประประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม พ.ศ.2559 ทั้งนี้ บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม จะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ (ทีโอทีติดตั้งโครงข่ายภาคเหนือและอีสาน ที่เหลือเป็นของ กสท ในสัดส่วน 55:45) เป้าหมายที่กระทรวงฯ วางไว้คือภายในระยะ 12 เดือน

อุตตมให้ความเห็นต่อ 2 หน่วยงานนี้ด้วยว่า ส่วนตัวประเมินว่าทั้ง 2 หน่วยงานปรับตัวดี จะสามารถพลิกผลการดำเนินงานจากขาดทุนมหาศาลเป็นกำไรได้ แม้จะไม่มีรายได้จากสัญญาสัมปทานการให้บริการคลื่นความถี่จากเอกชนแล้วก็ตาม โดยจะหารือแผนธุรกิจกับสองหน่วยงานอีกครั้งในวันที่ 10 มี.ค.ที่จะถึงนี้

ที่มา: เดลินิวส์, ประชาชาติธุรกิจ

กทปส.เปิดรับสมัครทุน โดรนแพทย์ฉุกเฉิน, วิจัย IoT, Mobile Big Data กับการประเมินคะแนนเครดิตอยู่ในเกณฑ์ได้ทุน

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดรับการสนับสนุนกองทุนในโครงการประเภท 2 ปี 58 ครั้งที่ 1 ภายใต้กรอบวงเงิน 789.66 ล้านบาท ตัวอย่างโครงการที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินทุนสนับสนุนได้แก่ โครงการอากาศยานไร้นักบินเพื่องานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน, โครงการวิจัยนำข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนไทยมาใช้สร้างนวัตกรรมการวิเคราะห์ระบบให้คะแนนเครดิต (Mobile Big Data Based Credit Scoring), โครงการวิจัยนวัตกรรมต้นแบบ Internet of Things (IoT), โครงการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, โครงการส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อประโยชน์สาธารณะ และอื่นๆ อ่านรายละเอียดเต็ม เปิดรับสมัครตั้งแต่ 23 ก.พ. – 24 พ.ค. 2559

ที่มา: เว็บไซต์กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

บก.ปอศ. บุกจับร้านซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ชี้ปี 58 มูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เข้าตรวจค้นร้านจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ภายในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค พบเครื่องคอมพิวเตอร์บรรจุซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทไมโครซอฟท์ ร้านค้าดังกล่าวจะถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ ปลาทอง รองผู้บังคับการ บก.ปอศ. ระบุว่า ปีที่ผ่านมา บก.ปอศ. พบมูลค่าความเสียหายจากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์และผิดกฎหมายมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2557 พ.ต.อ.กิตติศักดิ์กล่าวด้วยว่า สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์ (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์) บทลงโทษ รวมถึงผลกระทบต่อธุรกิจและความปลอดภัยไซเบอร์ เช่น เช่น มัลแวร์ ที่ติดมากับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ให้มากขึ้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

3 เว็บธนาคารไทยปรับปรุง HTTPS ไม่มีใครมีช่องโหว่ร้ายแรงแล้ว

เว็บไซต์ธนาคาร 3 เว็บไซต์ ได้แก่ เว็บไซต์ธนาคารออนไลน์ของไทยพาณิชย์ (scbeasy.com), เว็บไซต์ธนาคารออนไลน์ของกรุงไทย (ktbnetbank.com), และเว็บไซต์บัตรเครดิตกรุงไทย (click.ktc.co.th) ได้ปรับปรุงระบบความปลอดภัยจนไม่มีช่องโหว่ร้ายแรงแล้ว หลังจากที่เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา มีรายงานพบช่องโหว่ร้ายแรงในการตั้งค่า TLS ของเว็บไซต์ทั้งสาม

ที่มา: Blognone

20 กุมภาพันธ์ 2559

Facebook Messenger เปิดให้ผู้ใช้ล็อกอินหลายบัญชี

แอปแชต “เฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์” (Facebook Messenger) เปิดให้ผู้ใช้ทุกรายสามารถล็อกอินหลายบัญชีได้แล้ว แอปดังกล่าวจะสามารถรับข้อความของทุกบัญชีได้ แต่จะสามารถเห็นข้อความในแต่ละบัญชีได้เฉพาะผู้ใช้ที่กำลังเข้าใช้งานอยู่เท่านั้น

ที่มา: Blognone

21 กุมภาพันธ์ 2559

เว็บไอที Blognone เปิดผลสำรวจมาตรการรักษาความปลอดภัยของเว็บไซต์ไทยปี 2559

Blognone เว็บไซต์ข่าวไอทีสำรวจการใช้งาน https ของเว็บไซต์ไทยจำนวน 67 เว็บไซต์ระหว่างวันที่ 4-9 ก.พ. 59 โดยแบ่งกลุ่มเว็บไซต์ที่สำรวจเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ เว็บไซต์ข้อมูลข่าวสาร, เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ, เว็บไซต์ธนาคาร (แบ่งเป็นประเภทข้อมูลธนาคาร และเว็บไซต์ธุรกรรมออนไลน์), เว็บไซต์เครือข่ายสังคม และเว็บไซต์หน่วยงานราชการ พบว่าเว็บไซต์ในกลุ่มธนาคารที่เป็นธุรกรรมออนไลน์มีการเข้ารหัสทั้งหมด ขณะที่เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซบางเว็บเช่น lazada.co.th ไม่รองรับการเข้ารหัส https เลย ขณะที่บางเว็บ เช่น thaiticketmajor.com, itruemart.com ที่สามารถเข้าหน้าเว็บด้วย https ได้ แต่ไม่สามารถค้นหาเลือกซื้อสินค้าได้จนกว่าจะกดยินยอมให้โหลดสคริปต์ที่ไม่ปลอดภัย ส่วนเว็บไซต์ประเภทอื่นๆ มีระดับการเข้ารหัสที่แตกต่างกันไป สามารถดูข้อมูลได้จากตารางผลการสำรวจ

ในปี 2557 เครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ทำสำรวจมาตรการรักษาความปลอดภัยและการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวผู้ให้บริการออนไลน์ไทยเช่นกัน ดูผลการสำรวจ

ที่มา: Blognone

23 กุมภาพันธ์ 2559

ครม.อนุมัติจัดระเบียบนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้จัดระเบียบนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) โดยได้อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตาม “มาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร” หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติ (29 ก.ค. 2557) ได้ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาเพิ่มเติมถึงความจำเป็นในการออกประกาศควบคุมการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อป้องกันการนำมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ร่างประกาศฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ กำหนดคำนิยามของ “เครื่องพิมพ์สามมิติ” และกำหนดให้ต้องมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า รายงานการนำเข้า การครอบครอง และการจำหน่ายต่อกรมการค้าต่างประเทศ รวมทั้งต้องจดแจ้งการนำเข้าและนำแบบรับจดแจ้งไปแสดงต่อกรมศุลกากรด้วย อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 23 กุมภาพันธ์ 2559 ข้อ 1

ที่มา: สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 23 กุมภาพันธ์ 2559, เพจเฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต

Uber เปิดให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง UberMoto ในไทย

Uber เปิดบริการแอปเรียกรถจักรยานยนต์รับจ้างสำหรับประเทศไทยในชื่อ “UberMOTO” โดยช่วงแรกจะให้บริการในพื้นที่สาธร สยาม และ สีลม และจะขยายพื้นที่ให้บริการไปยังพื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพ เรื่องความปลอดภัย Uber ระบุว่า บริการมีระบบติดตามด้วยจีพีเอส ระบบให้ความเห็นจากฝ่ายผู้ขับและผู้โดยสาร และฟังก์ชันการแชร์รายละเอียดการเดินทางกับครอบครัวและเพื่อน Uber ยังร่วมมือกับกองบังคับการตำรวจจราจรและชมรมคนห่วงหัว แจกหมวกนิรภัยและตาข่ายคลุมผมให้กับผู้ใช้บริการ พร้อมกำหนดว่าบริการนี้จะรับผู้โดยสาร 1 คนต่อ 1 คัน อนึ่ง ก่อนหน้านี้ แอปเรียกรถ GrabTaxi ได้เปิดให้บริการ “GrabBike” บริการรถจักรยานยนต์เพื่อรับส่งผู้โดยสารหรือเอกสารและพัสดุไปแล้วเช่นกัน

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์อูเบอร์

24 กุมภาพันธ์ 2559

หนึ่งในข้อเรียกร้องแอมเนสตี้ฯ ต่อรัฐไทย ต้องไม่ลงโทษคนกดไลก์-กดแชร์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิทั่วโลก ประจำปี 2558-2559 เผย รัฐบาลหลายประเทศละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจนในปี 2558 ทั้งยังเตือนถึงแนวโน้มที่น่ากังวลว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ มุ่งโจมตีและคุกคามนักกิจกรรม นักกฎหมาย และบุคคลอื่นที่ทำงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แอมเนสตี้ฯ ยังได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ซึ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต แอมเนสตี้ฯ ได้เรียกร้องให้รัฐไทยอนุญาตให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ และไม่ลงโทษผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรม ซึ่งรวมถึงการกด ‘ไลก์’ และการแชร์ข้อมูลออนไลน์

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยออกใบแถลงข่าวแสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าวว่า รายงานดังกล่าวไม่พูดถึงพัฒนาการเชิงบวกของประเทศไทย รวมทั้งละเลยที่จะพูดถึงความท้าทายเรื่องความจำเป็นในการรักษาสมดุลระหว่างเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก กับความจำเป็นในการป้องกันความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น

ที่มา: ประชาไท

ศาลทหารนัดสืบพยานคดีอัญชัญ ม.112 เหตุอัปโหลดไฟล์เสียงลงยูทูบและเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก

ศาลทหารกรุงเทพสืบพยานคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพของอัญชัญ (สงวนนามสกุล) ข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งและผู้ประกอบธุรกิจขายตรงบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีถูกกล่าวหาว่าอัปโหลดคลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงเว็บไซต์ยูทูบ และเผยแพร่คลิปดังกล่าวบนเฟซบุ๊กส่วนตัว อัญชัญถูกตั้งข้อหารวม 29 กรรม ศาลได้สั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับโดยตลอดโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้อาจกระทบกระเทือนจิตใจคนในวงกว้าง ทั้งนี้ อัญชัญถูกทหารพร้อมอาวุธห้านายบุกเข้าจับกุมที่บ้านพัก ก่อนจะถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2558 ก่อนที่ต่อมาจะถูกนำมาขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง ปัจจุบันอัญชัญถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมากว่า 1 ปีโดยที่ยังไม่มีการสืบพยาน

ที่มา: เพจเฟซบุ๊กของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

Exit mobile version