Digital Weekly: 11-18 ก.พ. 2559 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

2016.02.19 20:02

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: กระทรวงต่างประเทศออกกฎใหม่ต่อวีซ่าผู้สื่อข่าวต่างชาติ ห้ามก่อเหตุร้าย ภัยสังคม ภัยความมั่นคง/ กรรมการกสทช.เตือน วิทยุโทรทัศน์ไทยก็เสี่ยงภัยไซเบอร์/ ศาลยกคำร้องคัดค้านฝากขังครั้งที่ 6 คดีฐนกรโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง/ กระทรวงไอซีทีจัดประชุมชี้แจงและรับฟังความเห็นร่างแผนพัฒนาดิจิทัลฯ/ สนช. เปิดตัวแอปพจนานุกรมศัพท์และสำนวนรัฐธรรมนูญ/ ไลน์เตรียมขยายธุรกิจ ตั้งเป้าเป็นมากกว่าแอปแชท  ฯลฯ

กระทรวงต่างประเทศออกกฎใหม่ต่อวีซ่าผู้สื่อข่าวต่างชาติ ห้ามก่อเหตุร้าย ภัยสังคม ภัยความมั่นคง (18 ก.พ. 2559)

กระทรวงต่างประเทศออกกฎใหม่ต่อวีซ่าผู้สื่อข่าวต่างชาติ ห้ามก่อเหตุร้าย ภัยสังคม ภัยความมั่นคง (18 ก.พ. 2559) เครดิตภาพ: ดัดแปลงจากภาพใน Free Press.net

11 กุมภาพันธ์ 2559

ศาลยกคำร้องคัดค้านฝากขังครั้งที่ 6 คดีฐนกรโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง

ศาลยกคำร้องคัดค้านฝากขังครั้งที่ 6 ของทนายจำเลย ในคดีที่ฐนกร ศิริไพบูลย์ ตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 จากการกดไลก์ภาพที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, การโพสต์แผนผังราชภักดิ์ และโพสต์ข้อความประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2558 หนึ่งในคำร้องคัดค้านการฝากขังของทนายจำเลยระบุว่า นี่เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก “สุนัขทรงเลี้ยง” ไม่ได้อยู่ในความมุ่งหมายในการคุ้มครองตามมาตรา 112 และการโพสต์แผนผังการทุจริตของอุทยานราชภักดิ์เป็นเพียงการหมิ่นประมาทบุคคล ไม่ใช่ข้อกล่าวหาตามมาตรา 116

ที่มา: บล็อกของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สแตนเชียร์ฟุตบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์ปี 2558 ถูกตัดต่อภาพส่งต่อโซเชียลมีเดีย

มีการเผยแพร่ภาพตัดต่อแปรอักษรบนสแตนเชียร์ธรรมศาสตร์ ของงานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ปี 2558 โดยมีการเพิ่มคำว่า “ไอ้หน้า..” (อวัยวะเพศหญิง) ต่อท้ายข้อความ “ขอประชาธิปไตย เมื่อไหร่จะคืน” และถูกส่งต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลังเกิดเหตุ เพจองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โพสต์ชี้แจงว่าเป็นรูปตัดต่อและนำวีดีโอคลิปการแปรอักษรในครั้งนั้นทั้งหมดมาแสดง อนึ่ง ในงานฟุตบอลประเพณีปีที่ผ่านมา ขบวนเชียร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวนมาก และเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนงานฟุตบอลประเพณีปี 2559 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาพูดคุยกับคณะผู้จัด อีกทั้งสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กล่าวด้วยว่า หากนักศึกษาทำขบวนล้อการเมืองนอกข้อตกลงร่วมทหาร อาจเปลี่ยนคณะทำงานในปีหน้า

ที่มา: ประชาไท

ทีโอที-กสท. เตรียมรับงานศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผยความคืบหน้าโครงการศูนย์ข้อมูลแห่งชาติว่า จะมีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เป็นผู้ดูแล โดยมีทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการ เบื้องต้นจะใช้เงิน 1,000 ล้านบาท และจะเปิดบริการในไตรมาส 3 ปีหน้า อุตตมกล่าวด้วยว่า โครงการนี้ศูนย์ข้อมูลภาครัฐนี้จะไม่พูดถึงโครงการเก่าที่คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมชุดเก่า (สมัยที่พรชัย รุจิประภา เป็นรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที) คิดเอาไว้ ส่วนข้อมูลที่จะจัดเก็บในศูนย์ข้อมูลนั้น พบว่า ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหรือข้อมูลอ่อนไหวมีร้อยละ 8, ข้อมูลสำคัญมีร้อยละ 60, ข้อมูลทั่วไปมีร้อยละ 32 โดยข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงหรือข้อมูลอ่อนไหวและข้อมูลสำคัญจะอยู่ในการดูแลของหน่วยงานรัฐ ขณะที่ข้อมูลทั่วไปจะอยู่ในการดูแลของเอกชน

ที่มา: Bangkok Post, เดลินิวส์, ประชาชาติธุรกิจ

12 กุมภาพันธ์ 2559

กระทรวงไอซีทีจัดประชุมชี้แจงและรับฟังความเห็นร่างแผนพัฒนาดิจิทัลฯ

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดประชุมชี้แจงสาระสำคัญและรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ (ดูเอกสารนำเสนอการประชุม) คณะทำงานจะรับฟังความเห็นต่อแผนเพื่อปรับปรุง ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และนำร่าง พ.ร.บ.ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เข้าสู่การพิจารณาของสภาในเดือนมีนาคม 2559

ที่มา: เว็บไซต์ Digital Economy Thailand , Blognone

สพธอ. เปิดตัวระบบป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ให้หน่วยงานรัฐ

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เปิดตัวระบบการป้องกันและติดตามรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ สำหรับองค์กรและหน่วยงานของรัฐ (ThaiCERT GMS) โดยมีส่วนกลางของสพธอ.เป็นผู้ดูแล และปีนี้ สพธอ.จะรับหน่วยงานราชการเข้ามาดูแลในระบบนี้เพิ่มเติมและตั้งเป้าว่าจะขยายไปทุกกรมกองให้ได้มากที่สุด สุรางคณา วายุภาพ ผอ.สพธอ.เผยด้วยว่า 2 ปีที่ผ่านมา ภัยคุกคามทางไซเบอร์ร้อยละ 80 เป็นการโจมตีระบบหน่วยงานรัฐ ซึ่งปีนี้จะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ประกอบการเฝ้าระวังภัยไซเบอร์ให้กับ 80 หน่วยงาน 240 เว็บไซต์

ที่มา: Blognone, เดลินิวส์

16 กุมภาพันธ์ 2559

ดีแทคเผยผลสำรวจเด็กไทยกับการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เผยผลสำรวจว่าด้วยความปลอดภัยของการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเยาวชน โดยปี 59 นี้ดีแทคได้สำรวจเด็ก 1,336 คน อายุระหว่าง 12-18 ปี ซึ่งอยู่ในหัวเมืองหลัก พบว่า

  • 33% ของเด็กไทย มีประสบการณ์ของการเป็นทั้งผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งหรือก่อกวนบนโลกออนไลน์จากคนที่ไม่รู้จัก และหรือจากคนที่รู้จัก ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่แกล้งอยู่ในโลกของความเป็นจริง ในขณะเดียวกันเด็กเหล่านี้ก็เป็นผู้กลั่นแกล้งคนอื่นบนโลกออนไลน์โดยปิดบัง ไม่เปิดเผยชื่อจริงในการใช้อินเทอร์เน็ตด้วย
  • 35% ของเด็กไทย จะถูกสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกับเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เช่น เกมอันตราย หรือเว็บอนาจาร ที่เต็มไปด้วยคำก้าวร้าวและหยาบคาย ซึ่งจะเข้าไปดูและเกิดพฤติกรรมเลียบแบบ
  • 59% ของเด็กไทย จะรู้สึกว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาหรือเผชิญหน้ากับความเลวร้ายบนโลกออนไลน์นี้ได้ด้วยตัวเอง หรือจะปรึกษาเพื่อนเป็นอันดับแรก

ที่มา: เดลินิวส์

17 กุมภาพันธ์ 2559

กรรมการกสทช.เตือน วิทยุโทรทัศน์ไทยก็เสี่ยงภัยไซเบอร์

ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยในงานสัมมนาหัวข้อหัวข้อความมั่นคงปลอดภัยในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์บนโลกอินเทอร์เน็ต ระบุ ภัยคุกคามไซเบอร์ไม่ได้มาจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว แต่ยังมาในส่วนของทีวีและวิทยุด้วย โดยปัจจุบันวิทยุโทรทัศน์ได้กลายไปเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดและออกอากาศบนโครงข่ายเดียวกัน ภายใต้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลในไทย 4 ราย คือ ช่อง 5, อสมท.,ไทยพีบีเอส และกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งหากถูกโจมตีหรือเกิดการเจาะระบบก็จะทำให้เกิดปัญหา ผู้ประกอบการโครงข่ายทั้งหมดจึงจำเป็นต้องมีระบบที่ป้องกันการโจมตีโครงข่าย

ที่มา: เดลินิวส์

ไปรษณีย์ไทยเปิดบริการขนส่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง รับการเติบโตอีคอมเมิร์ซ

วราภรณ์ ใช้เทียมวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ระบุ ปณท เปิดบริการรับส่งสินค้าที่จะเก็บเงินกับผู้รับปลายทาง หลังบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมากจากการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บริการใหม่นี้จะมีการนัดหมายวันและเวลากับผู้รับปลายทางก่อนการนำจ่าย มีระบบติดตามสถานะสินค้า ผู้ประกอบการสามารถเตรียมการฝากส่ง ณ สำนักงานหรือที่อยู่ของตนเองผ่านระบบไปรษณีย์ไทย ซึ่งระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลรายการสินค้าให้ผู้ประกอบการเตรียมการฝากส่งสินค้าล่วงหน้าได้ วราภรณ์ระบุถึงข้อดีของระบบใหม่นี้ว่า การเก็บเงินปลายทางจะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากลูกค้าส่วนมากอยากเห็นสินค้าก่อนจ่ายเงิน

ที่มา: เดลินิวส์

18 กุมภาพันธ์ 2559

กระทรวงต่างประเทศออกกฎใหม่ต่อวีซ่าผู้สื่อข่าวต่างชาติ ห้ามก่อเหตุร้าย ภัยสังคม ภัยความมั่นคง

กระทรวงการต่างประเทศออกแนวทางใหม่ (แนวทางปรับปรุงการพิจารณาการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M ให้แก่สื่อมวลชนต่างประเทศ) ในการออกวีซ่าให้กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ทำงานในไทย ผู้ขอวีซ่าต้องแสดงผลงานเขียนในรอบ 1 ปี มีสังกัดชัดเจน ทำงานเต็มเวลา ไม่ประกอบอาชีพอื่น ไม่มีผลงานหรือพฤติกรรมที่เป็นภัยสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายต่อความสงบสุข ความมั่นคงราชอาณาจักร หรือถูกออกหมายจับ เป็นต้น แนวทางใหม่นี้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 59 เป็นต้นไป ในวันเดียวกัน สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลว่าแนวทางดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการรายงานข่าว

ที่มา: บีบีซีไทย, ประชาไท

สนช. เปิดตัวแอปพจนานุกรมศัพท์และสำนวนรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดตัวแอป “พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ศัพท์และสำนวนรัฐธรรมนูญ” ซึ่งรวมคำศัพท์และสำนวนในรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 ประมาณ 4,000 คำ โดยเป็นพจนานุกรมไทย <-> อังกฤษ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฯ ระบุ แอปดังกล่าวช่วยเพิ่มความสะดวกในการค้นหาคำศัพท์และสำนวนรัฐธรรมนูญ เพื่อประชาชนจะได้นำไปศึกษาทำความเข้าใจนำไปสู่การตัดสินใจลงประชามติต่อไป แอปมีให้ดาวน์โหลดบนระบบปฏิบัติการ iOS (พิมพ์คำค้นหาในแอปสโตร์ว่า “ศัพท์และสำนวนรัฐธรรมนูญ”) และบนเว็บไซต์ m.senate.go.th

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา

ไลน์เตรียมขยายธุรกิจ ตั้งเป้าเป็นมากกว่าแอปแชต

อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทยเผยแผนธุรกิจปี 59 ของบริษัทว่า ไลน์ตั้งเป้าว่าจะเป็นมากกว่าแอปแชต โดยจะมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าธุรกิจด้วยโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เขากล่าวด้วยว่า ไลน์จะพัฒนาบริการใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มของตนเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างธุรกิจเหล่านี้กับลูกค้า อนึ่ง ธุรกิจของไลน์ในปัจจุบันมีอยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. ธุรกิจเกม (ไลน์เกม) 2. ธุรกิจคอนเทนต์ (ไลน์ทีวี, ไลน์มิวสิก, ไลน์สติ๊กเกอร์) 3. ธุรกิจองค์กร เช่น ไลน์ออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์ (LINE Official Account) และไลน์แอด (LINE@) 4. ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น ไลน์ กิฟต์ช็อป และ 5. ธุรกิจเพย์เมนต์ ได้แก่ ไลน์เพย์ (LINE Pay)

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

รมว.ต้อนรับทูตอเมริกา ร่วมหารือนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลไทย-ความเป็นส่วนตัว-ความปลอดภัยไซเบอร์

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้การต้อนรับกลิน ที. เดวีส (Mr. Glyn T. Davies) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยและผู้แทนจากสถานทูต ในการเข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสการเข้ารับตำแหน่งใหม่ ข่าวระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมพูดคุยเรื่องแผนขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย อาทิ แผนแม่บทดิจิทัลไทยแลนด์ ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ กระทรวงไอซีที

ไทยหารือร่วมญี่ปุ่น ประสานความร่วมมือรักษาความมั่นคงไซเบอร์

มาลี วงศาโรจน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที ) หารือแนวทางการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือภายใต้แถลงการณ์ร่วมฯ ระหว่างไทยและญี่ปุ่น เรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการป้องกันโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลสำคัญ (Critical Information Infrastructure Protection – CIIP) กับ Kunihiro Tsutsui รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (Ministry of Internal Affairs and Communications – MIC) ประเทศญี่ปุ่น และผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ กระทรวงไอซีที

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: