Thai Netizen Network

Digital Weekly: 30 ธ.ค. 2558 – 13 ม.ค. 2559 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบ 2 สัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: เว็บสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ-เว็บในเครือศาลยุติธรรมถูกแฮ็ก อ้างชื่อแฮกเกอร์พม่าและ Anonymous โยงคดีเกาะเต่า/ รัฐบาลหารือการระงับเนื้อหาหมิ่นสถาบันฯ เผยประสานงานกูเกิล/ กระทรวงไอซีที ดันแผนเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าบอร์ดปลายเดือนนี้/ กทค.ประชุมเรื่อง กองทัพฟ้องแผนแม่บท กสทช./ เน็ตฟลิกซ์ บริการชมวิดีโอออนไลน์เปิดให้บริการในไทยแล้ว ฯลฯ

กลุ่มแฮกเกอร์ Anonymous ถล่มเว็บไซต์ในเครือศาลยุติธรรม ประท้วงคดีเกาะเต่า (13 ม.ค.59)

กลุ่มแฮกเกอร์ Anonymous ถล่มเว็บไซต์ในเครือศาลยุติธรรม ประท้วงคดีเกาะเต่า (13 ม.ค.59)

5 มกราคม 2559

หลายเว็บในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกแฮ็ก อ้างชื่อแฮกเกอร์พม่าโยงคดีเกาะเต่า

เว็บไซต์ในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งกองบังคับการตำรวจนครบาล กองบังคับการอำนวยการ ศูนย์บริการออกหนังสือรับรองความประพฤติ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร เป็นต้น ถูกกลุ่มบลิงก์ แฮกเกอร์ (Blink Hacker Group) เจาะเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมกับขึ้นข้อความว่า “กฎหมายที่ล้มเหลว เราต้องการความยุติธรรม Greetz Myanmar Black Hats” ก่อนที่เว็บไซต์ดังกล่าวจะทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเวลาต่อมา ผู้จัดการออนไลน์ระบุว่า การอ้างแฮกเกอร์ชาวเมียนมานั้นอาจเกี่ยวข้องกับการที่ศาลจังหวัดเกาะสมุยตัดสินประหาร 2 แรงงานพม่าในคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า

ในวันถัดมา (6 ม.ค.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า ผู้ก่อเหตุไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลชั้นความลับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และว่าไม่ใช่ความบกพร่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเว็บไซต์นี้เป็นเว็บสาธารณะที่แม้จะมีระบบป้องกันก็อาจมีช่องโหว่ในการเข้าเว็บไซต์ได้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ส่วนความผิดเบื้องต้นของผู้ก่อเหตุ คือผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550  มาตรา 5 (การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ผู้อื่นโดยมิชอบ) และมาตรา 9 (การแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ)

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย

กสทช.ย้ำ ปี 59 ทำงานโปร่งใส เน้นกำกับดูแลรวดเร็ว ระงับออกอากาศเนื้อหาหมิ่นสถาบันหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า กสทช. ได้ประกาศทิศทางการดำเนินงานปี 59 ต่อผู้บริหารสำนักงาน กสทช. ซึ่งทิศทางการดำเนินงานดังกล่าวมีหลายประเด็น อาทิ งานด้านการกำกับดูแลต้องมีความรวดเร็ว, งานด้านกระจายเสียงและโทรทัศน์จะมีการกำกับดูแลเนื้อหาอย่างจริงจังกรณีการออกอากาศเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือหมิ่นสถาบันจะต้องมีการระงับการออกอากาศทันที และจะมีการดำเนินคดีอาญาส่วนเนื้อหาที่ผิดกฎหมายอื่นๆ นอกจากนี้ ในปี 2559 จะเป็นปีแห่งความโปร่งใสในการทำงานของสำนักงาน กสทช. ด้วย

ที่มา: เดลินิวส์

กทค.กำหนดให้ผู้ชนะประมูล 4 จีต้องส่งแผนความรับผิดชอบต่อสังคม ดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี ทุกซิมต้องลงทะเบียนก่อนใช้งาน

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เผยหลังสิ้นสุดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 4 จีว่า ผู้ชนะการประมูล (แจสโมบาย, ทรู และเอไอเอส) ต้องเสนอแผนงานตามมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค โดยต้องจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น จัดทำโปรโมชันสำหรับผู้พิการ (ค่าบริการพิเศษ การจัดทำเอกสารด้วยตัวอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นต้น) โดยต้องส่งแผนต่อ กทค.ก่อนเริ่มให้บริการและต้องดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี พร้อมทั้งต้องกำหนดอัตราค่าบริการไม่เอาเปรียบ และกำหนดให้ทุกซิมที่จำหน่ายต้องลงทะเบียนก่อนเปิดใช้งาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

6 มกราคม 2559

กระทรวงไอซีที ดันแผนเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าบอร์ดปลายเดือนนี้

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผย กระทรวงไอซีทีอยู่ระหว่างสรุปแผนและรวบรวมโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าจะมีการประชุมช่วงปลายเดือน ม.ค.หรือ ไม่เกินต้นเดือน ก.พ.นี้ เรื่องจะนำเสนอหลักๆ คือ แผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม, แผนแม่บทสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโครงการศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ อุตตมยังเผยถึงความคืบหน้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล 8 ฉบับด้วยว่า คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปี 2559 นี้โดยจะเริ่มทยอยนำกฎหมาย 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในไตรมาสแรกปีนี้

ที่มา: เดลินิวส์

7 มกราคม 2559

รัฐบาลหารือการระงับเนื้อหาหมิ่นสถาบันฯ เผยประสานงานกูเกิล

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยหลังเป็นประธานการประชุมกรณีการปราบปรามผู้กระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในสื่อต่างๆ อย่างเร่งด่วน และขอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหา ด้านผู้แทนกระทรวงไอซีทีที่ร่วมประชุม (ข่าวไม่ระบุว่าเป็นใคร) ระบุ การระงับการเผยแพร่ข้อมูลจำเป็นต้องประสานกับผู้ให้บริการต่างประเทศผ่านฝ่ายต่างประเทศและความมั่นคง ขณะที่ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (ข่าวไม่ระบุว่าเป็นใคร) เผย แนวโน้มการกระทำความผิดในขณะนี้มักจะเชื่อมโยงกับผู้เคลื่อนไหวในต่างประเทศ การประสานดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต้องประสานกับประเทศนั้น นอกจากนี้ยังตั้งคณะกรรมการให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม หาแนวทางป้องกันการปลูกฝังความเชื่อที่ไม่เหมาะสมให้เยาวชนรุ่นใหม่

ที่มา: มติชนออนไลน์

เน็ตฟลิกซ์ บริการชมวิดีโอออนไลน์เปิดให้บริการในไทยแล้ว

เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ผู้ให้บริการวิดีโอออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตเปิดตัวให้บริการในไทยแล้ว ก่อนหน้านี้ เน็ตฟลิกซ์ได้ประกาศตั้งเป้าว่าจะเปิดบริการให้ทั่วถึงเกือบทุกประเทศในโลกให้ได้ภายในปลายปี 2559 สำหรับบริการในประเทศไทย เน็ตฟลิกซ์จะให้บริการทดลองใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 1 เดือน หลังจากนั้น ผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะไม่ใช้บริการต่อ หรือเลือกจ่ายเงินค่าบริการในระดับราคาที่แตกต่างกัน 3 ราคา ทว่าแม้จะเปิดให้บริการในไทย แต่เน็ตฟลิกซ์ก็ไม่ได้เพิ่มจำนวนเนื้อหาวิดีโอภาษาไทยเข้าไปในเว็บไซต์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด รวมทั้งตัวเว็บไซต์ แอป หรือคำบรรยายก็ไม่มีเป็นภาษาไทย อย่างไรก็ตาม รีด ฮาซซิงส์ ประธานบริหารของเน็ตฟลิกซ์ระบุว่า ในระยะยาว บริษัทจะเพิ่มเติมเนื้อหาและระบบสนับสนุนภาษาท้องถิ่นเข้ามา และว่าเป้าหมายของบริษัทคือให้เน็ตฟลิกซ์เป็นบริการที่เป็นที่นิยมในประเทศไทย

ที่มา: Bangkok Post

8 มกราคม 2559

คกก.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช.

คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอรายงานแผนการปฏิรูปเรื่อง แก้ไขเพิ่มเติม “ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรร คลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….”  ต่อที่ประชุม สปท. โดยประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.กสทช. ฉบับเดิม (ฉบับ พ.ศ. 2553) คือ

ส่วนประเด็นแก้ไขอื่นๆ ไม่ต่างจากฉบับที่ถูกเสนอโดยสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) (ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว) มากนัก

ที่มา: ประชาไท, เว็บไซต์สภาพขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ดีแทคเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐจัดสรรคลื่นความถี่อื่นๆ ออกมาให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ซิกเว่ เบรกเก ประธานบริหารเครือเทเลนอร์ (บริษัทแม่ของดีแทค) ระบุในงานแถลงข่าวของบริษัท เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐจัดสรรคลื่นความถี่อื่นๆ ออกมาให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยกล่าวว่า แม้คลื่นความถี่ที่มีสามารถรองรับการบริการในระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวแล้วจะไม่เพียงพอกับการใช้งานที่เติบโตมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐประกาศแผนการจัดสรรคลื่นความถี่อื่นๆ ในอนาคต อาทิ คลื่นความถี่ 700, 850 และ 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ให้ชัดเจน เพื่อทำให้ระบบการประมูลมีความชัดเจน และทำให้ผู้ให้บริการสามารถวางแผนธุรกิจได้ ด้านลาร์ส นอร์ลิ่งดีแทคไม่มีแผนจะถอนตัวออกจากตลาดไทย และบริษัทจะเปิดบริการ 4 จีบนคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิม

ที่มา: Blognone

11 มกราคม 2559

เอไอเอสประกาศให้บริการ 4 จีอย่างเป็นทางการ

เอไอเอสเปิดให้บริการ 4 จี (AIS 4G Advanced) กับลูกค้าทั่วไป โดยพื้นที่ที่สามารถใช้งานได้คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม อยุธยา เชียงใหม่ หัวหิน ชะอำ ภูเก็ต ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร สงขลา และ สุราษฎร์ธานี และจะขยายเพิ่มหลังจากนี้จนครบทั้งประเทศภายในสิ้นปี 2559 ตามแผนที่ประกาศไว้ ลูกค้า 3 จีเดิมสามารถใช้งานผ่านแพ็คเกจเดิมได้เลยโดยไม่ต้องสมัครเอไอเอสระบุว่า ส่วนแพ็คเกจใหม่ที่ต้องทำตามกฎของ กสทช. ที่ค่าบริการต้องถูกลงกว่าบริการ 3 จีนั้น ทางเอไอเอสจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้ง

ที่มา: Blognone, SMS แจ้งสิ้นสุดการทดลองให้บริการจากเอไอเอส

12 มกราคม 2559

กทค.มีวาระประชุม: กองทัพฟ้องแผนแม่บท กสทช.

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีวาระพิจารณาเรื่อง ขอรับนโยบายกรณีกองบัญชาการกองทัพไทยฟ้องสำนักงาน กสทช. และ กสทช. ในประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2558) และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ (พ.ศ. 2558) สืบเนื่องจากที่กองบัญชาการกองทัพไทยได้ยื่นฟ้องสำนักงาน กสทช. และ กสทช. ต่อศาลปกครองกลางในประเด็นพิพาทดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าการออกประกาศฉบับนี้ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้คลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของประเทศ จากการที่ประกาศกำหนดให้กิจการวิทยุสมัครเล่นเป็นกิจการรองในคลื่นความถี่ย่าน 50–54 เมกะเฮิร์ตซ์ กองบัญชาการกองทัพไทยต้องการขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกิจการวิทยุสมัครเล่นในคลื่นความถี่ย่านนี้ออกจากประกาศ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ศาลรับคำฟ้อง แต่ยังไม่ได้มีการประทับรับฟ้องไว้พิจารณา อ่านรายละเอียดเรื่องนี้

ที่มา: เว็บไซต์ NBTC Rights

กระทรวงไอซีทีหารือสมาคมโทรคมนาคมฯ ตั้งคณะทำงานร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หารือร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน โดยกระทรวงไอซีทีและสมาคมโทรคมนาคมฯ จะตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 6 ด้านของกระทรวงไอซีที ด้านศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมโทรคมนาคมฯ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การหารือครั้งนี้สมาคมโทรคมนาคมฯ ได้เสนอแนะข้อคิดเห็น 3 ข้อ คือ 1. ความโปร่งใสของข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศและการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน2.การดึงบุคลากรระดับประเทศ และระดับโลกให้มารวมตัวที่ประเทศไทย และ 3.ให้มีการลงทุนไอซีที คอนเทนต์ และดิจิตอลแพลตฟอร์ม เพื่อดึงให้ผู้ประกอบการระดับโลก เช่น อาลีบาบา หรืออเมซอน มาตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคในไทย

ที่มา: เดลินิวส์

ทีโอทีเปลี่ยนบทบาท เน้นให้บริการลูกค้าผู้มีรายได้น้อย

ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการทีโอทีเผย ทีโอทีกำลังเปลี่ยนบทบาทของตัวเองจากผู้ให้บริการ 3 จีในตลาดหลักไปเป็นผู้ให้บริการ 3 จีสำหรับลูกค้าผู้มีรายได้น้อย โดยมีเป้าหมายคือทำให้บรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงเข้าถึงคนจน ชิตกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทิศทางขององค์กรเป็นไปเพื่อให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจที่จะต้องให้บริการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ลูกค้าของทีโอทีจะเป็นผู้ยากจนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทีโอทียังมีแผนที่จะให้ลูกค้าเหล่านี้เข้าถึงบริการการเงินดิจิทัลได้โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร

ที่มา: Bangkok Post

13 มกราคม 2559

กลุ่มแฮกเกอร์ Anonymous ถล่มเว็บไซต์ในเครือศาลยุติธรรม ประท้วงคดีเกาะเต่า

เฟซบุ๊ค “We Are Anonymous” ประกาศถล่มเว็บไซต์เครือศาลยุติธรรม ประท้วงคำพิพากษาคดีเกาะเต่าและรณรงค์นักท่องเที่ยวเลิกเยือนไทย จนกว่าตำรวจจะเปลี่ยนวิธีการทำคดีที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่ม Anonymous ได้แสดงบัญชีเว็บไซต์เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรมรวมทั้งสิ้น 295 ยูอาร์แอล ต่อมาเมื่อเวลา 18.00 น. เว็บเกือบ 290 แห่งที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลแพ่ง ศาลอุทธรณ์ เว็บระบบเงินเดือนข้าราชการไม่สามารถเข้าใช้งานได้ ขณะที่เว็บศาลฎีกาไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้โดเมน coj.go.th

สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า การตรวจสอบพบว่าข้อมูลหน้าเว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรมใช้งานไม่ได้ตั้งแต่เวลา 22.00 น.ของวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยพบหน้าเว็บเพจหน้าแรกของสำนักงานศาลยุติธรรม กลายเป็นบนพื้นสีดำ และมีรูปสัญลักษณ์คล้ายหน้ากากสีขาว พร้อมข้อความภาษาอังกฤษ เขียนว่า “ BLINK HACKER GROUP” และ “ Failed Law We Want Justice ! # Boycott Thailand ” และจากการสืบค้นพบว่า “ BLINK HACKER GROUP ” เชื่อมโยงกลุ่มที่ใช้ชื่อ Anonymous Myanmar Hacker การตรวจสอบไอพีแอดเดรสพบว่ามีประมาณ 10 ไอพีแอดเดรสของผู้ที่เข้ามาบุกรุกระบบโครงข่ายหน้าเว็บไซต์ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ ทั้งนี้ ระบบปฏิบัติงานภายในระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับความเสียหายใดๆ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ประสานศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเลคทรอนิกส์ (สพธอ.) ให้ตรวจสอบหาการบุกรุกและช่องโหว่ระบบเครือข่าย สืบพงษ์กล่าวว่า การกระทำครั้งนี้ถือเป็นความผิดตาม มาตรา 10 (กระทำการโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานตามปกติ) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีโทษตาม และจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป

ที่มา: ประชาไท, สำนักข่าวไทย

ศาลให้ประกันตัวพร้อมยึดพาสปอร์ต อานดี้ ฮอลล์ คดีพ.ร.บ.คอมฯ หมิ่นประมาทบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด

อานดี้ ฮอลล์ นักกิจกรรมสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวอังกฤษเดินทางมาศาลเพื่อมอบตัวและวางเงินเพื่อประกันตัว ในกรณีถูกฟ้องโดยบริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการเผยแพร่รายงาน “Cheap has a High Price (สินค้าถูกมีราคาที่ต้องจ่ายสูง)” ซึ่งตนเองเป็นผู้ช่วยวิจัย ลงในเว็บไซต์ขององค์กรพัฒนาเอกชนในฟินแลนด์ ฮอลล์วางเงินประกัน 300,000 บาท โดยศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และให้ยึดหนังสือเดินทางไว้ พร้อมตั้งเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ ยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งฮอลล์จะร้องต่อสถานทูตอังกฤษในการติดต่อขอพาสปอร์ตคืนจากศาล อนึ่ง นอกจากคดีนี้ ฮอลล์ยังถูกบริษัท เนเชอรัล ฟรุท ฟ้องหมิ่นประมาท (คดีอาญา) จากการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีรา โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2558 เนเชอรัล ฟรุต และอัยการสูงสุดได้รับอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา หลังศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องไป และฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอีกสองคดี รวมเป็นเงิน 400 ล้านบาท

ที่มา: ประชาไท

อสมท ยินดีคืนคลื่น 2600 แลกเงินเยียวยา ด้าน กสทช.ตั้งเป้าประมูลปี 2560

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เผยหลังหารือกับผู้บริหาร บมจ.อสมธ.และ กสทช.ว่า อสมท ยินดีที่จะคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์บางส่วน แต่ยังต้องอาศัยการเจรจาและหารือร่วมกันกับคู่สัญญาของทางอสมท ทั้งยังต้องรอกระบวนการยกร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ที่จะให้อำนาจ กสทช. ในการเยียวยาการคืนคลื่นก่อนกำหนดเวลา นอกจากนี้ รัฐบาลจะพิจารณาการคืนคลื่นของรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วย ด้านศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ระบุ ในการนี้ อสมท จะต้องได้รับเงินเยียวยาการคืนคลื่น ซึ่งจะต้องมีคนกลางเข้ามาประเมินมูลค่าการเยียวยาด้วย ส่วนฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หากได้รับคลื่นคืนจาก อสมท กระบวนการเพื่อเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่น่าจะเริ่มได้ราวต้นปี 2560

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Exit mobile version