2016.01.27 17:12
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: ครม. อนุมัติงบ 20,000 ล้านโครงการอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ รมว.ไอซีทียัน ไม่ใช่ซิงเกิลเกตเวย์/ ปอท.จัดซื้อระบบติดตามการใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ พันทิป/ พบช่องโหว่แอป “ดาวเหนือ” ของกกต./ สปท.เห็นชอบแก้ไขร่างพ.ร.บ.กสทช./ จำคุกคดี 112 ‘ปิยะ’ โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่น หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ในคดีคือภาพแคปเจอร์ 1 ภาพ/ สำนักข่าวไทยพับลิก้าร้องเรียน คกก.ข้อมูลข่าวสารราชการ ระบุศูนย์ข่าวกองทัพบกไม่เปิดเผยข้อมูลโครงการอุทยานราชภักดิ์ ฯลฯ
19 มกราคม 2559
ปอท.จัดซื้อระบบติดตามการใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ พันทิป วงเงิน 12.8 ล้าน
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกาศจัดซื้อระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์อัตโนมัติ งบประมาณ 12,806,400 บาท ซึ่งจะติดตามและจัดเก็บข้อมูลจากบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และพันทิป รวมถึงยังสามารถทำงานร่วมกับฐานข้อมูลหมายจับและจากบุคคลทำประวัติจากสถานีตำรวจได้ ปอท.ให้เหตุผลของการจัดซื้อครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมพยานหลักฐานอัตโนมัติ สำหรับป้องกันอาชญากรรมที่ใช้ช่องทางสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ การล่วงละเมิดทางเพศ การล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต ฉ้อโกงทรัพย์ การจารกรรมข้อมูลทางธุรกิจ อ่านรายละเอียดว่าข้อมูลในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และพันทิปอะไรบ้างที่จะถูกจัดเก็บหาก ปอท.มีเครื่องมือนี้
ที่มา: ประกาศประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ตามโครงการพัฒนาระบบติดตามข้อมูลสังคมออนไลน์อัตโนมัติ โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding), เครือข่ายพลเมืองเน็ต, Blognone, Telecom Asia
ครม. อนุมัติงบ 20,000 ล้านบาทโครงการอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ รมว.ไอซีทียืนยัน ไม่ใช่ซิงเกิลเกตเวย์
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนการดำเนินงาน “โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ที่เสนอโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แผนดังกล่าวแบ่งเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่
1.ขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทุกหมู่บ้านสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยความเร็วเทียบเท่า 4 จี (งบประมาณ 15,000 ล้านบาท)
2. เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub ให้มีโครงข่ายเชื่อมต่อโดยตรงกับศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของโลก ลดต้นทุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ส่งเสริมการเข้ามาลงทุนของผู้ให้บริการเนื้อหารายใหญ่ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคอาเซียน (งบประมาณ 5,000 ล้านบาท)
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กิจกรรมที่ 2 (โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ) ไม่ใช่โครงการซิงเกิลเกตเวย์ตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด
ที่มา: ประชาไท, Blognone, Voice TV
สปท.มีมติเห็นชอบแก้ไขร่างพ.ร.บ.กสทช.
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติ 128 ต่อ11 เสียง งดออกเสียง 17 เห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำหนดการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ร่าง พ.ร.บ.กสทช.) และเตรียมที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป อ่านความเห็นของคำนูณ สิทธิสมาน และวันชัย สอนสิริต่อร่าง พ.ร.บ.กสทช.
ที่มา: สำนักข่าว ISN
20 มกราคม 2559
จำคุกคดี 112 ‘ปิยะ’ โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่น ทนายชี้คดีแรกศาลอาญาลงโทษหนักเท่าศาลทหาร หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ในคดีคือภาพแคปเจอร์ 1 ภาพ
ศาลอาญา รัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ปิยะ (สงวนนามสกุล) โบรกเกอร์วัย 46 ปีตกเป็นจำเลย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2550 มาตรา 14(3) (5) โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก “พงศธร บันทอน” โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 9 ปีจากความผิด 1 กรรม แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความของปิยะระบุ คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับกับมาตรา 112 คดีแรกที่ศาลาอาญาลงโทษจำคุกหนักใกล้เคียงกับศาลทหาร
ศศินันท์ระบุถึงพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ของคดีนี้ด้วยว่า หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ในคดีมีเพียงภาพถ่ายหน้าจอคอมพิวเตอร์ซึ่งผ่านการตัดต่อเอามารวมกันและพิมพ์ออกมาใส่กระดาษ และพยานบุคคลที่สำคัญ 1 ปากซึ่งศาลรับฟัง ขณะที่พนักงานสอบสวนของปอท.และพยานปากอื่นๆ ไม่มีใครสามารถยืนยันว่ามีบัญชีเฟซบุ๊กนี้อยู่จริงเนื่องจากบัญชีไม่สามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าพนักงานสอบสวนได้ขอไอพีแอดเดรสของบัญชีดังกล่าวไปยังผู้ให้บริการเฟซบุ๊กแล้วแต่ก็ได้รับการปฏิเสธ อ่านข้อสังเกตสำคัญว่าด้วยโทษและหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ของคดีนี้
ที่มา: ประชาไท [1], [2], Blognone
21 มกราคม 2559
พบช่องโหว่แอปอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งของ กกต.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดตัวแอปพลิเคชัน “ดาวเหนือ” ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการค้นหารายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้งและแผนที่เดินทางไปใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้ง โดยผู้ใช้ต้องกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนลงไปในแอป ทว่าต่อมาได้มีผู้พบปัญหาสำคัญในแอปดังกล่าว โดยพบว่าข้อมูลที่แอปดึงออกมาผ่านเว็บเซอร์วิส (ตัวกลางในการส่งข้อมูล) ซึ่งไม่มีการเข้ารหัส (https) มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของเจ้าของบัตรประชาชนติดมาด้วย ซึ่งแม้ว่าไม่ได้แสดงผลในแอป แต่หากมีผู้ล่วงรู้ถึงช่องโหว่ อาจเข้าไปดึงข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้จากเว็บเซอร์วิสได้ หลังทราบข่าว สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งระบุว่า ขณะนี้ กกต.กำลังปรับปรุงระบบความปลอดภัยของแอปดังกล่าวและว่า ในตอนนี้ยังไม่มีรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนแต่อย่างใด
ที่มา: ประชาไท [1], [2]
สำนักข่าวไทยพับลิก้าร้องเรียน คกก.ข้อมูลข่าวสารราชการ ระบุศูนย์ข่าวกองทัพบกไม่เปิดเผยข้อมูลโครงการอุทยานราชภักดิ์
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ว่าศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของกองทัพบก (ทบ.) ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดยดำเนินการจัดหาข้อมูลที่ผู้ร้องเรียนยื่นคำร้องขอล่าช้าเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน หลังไทยพับลิก้ายื่นคำร้องขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ตามมาตรา 11 ไปเมื่อเดือน พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา รายงานของไทยพับลิก้าระบุว่า ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่เปิดเผยโดยอ้างว่าเป็น “ข้อมูลปกปิด” ผู้ร้องเรียนสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา บุคคลสำคัญในรัฐบาลและการกระทรวงกลาโหมต่างระบุตรงกันว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
ที่มา: ไทยพับลิก้า
สมาคมช่างภาพฯ แถลงขอโทษ กรณีสื่อมวลชนถ่ายรูปเคลื่อนศพดาราดัง ปอ ทฤษฎี
สุรชัย วิเศษโสภา นายกสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยแถลงขออภัยในกรณีสื่อมวลชนทำหน้าที่ไม่เหมาะสมในระหว่างถ่ายภาพทำข่าวการเคลื่อนย้ายศพนักแสดง ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กระทบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต สุรชัยเผยว่าได้เรียกสื่อมวลชน 7-8 คนดังกล่าวมาตักเตือนแล้ว ส่วนเรื่องการลงโทษเป็นอำนาจของของต้นสังกัดและครอบครัวผู้เสียหายเนื่องจากสมาคมไม่มีตัวบทกฎหมายที่จะเอาผิด เขาระบุด้วยว่า ปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมสื่อมวลชน เนื่องจากมีสื่อมากมาย ทั้งเคเบิลทีวี หนังสือพิมพ์ วิทยุ โซเชียลมีเดีย
ที่มา: เดลินิวส์, สำนักข่าวไทย
22 มกราคม 2559
กสทช.หารือแบงก์ชาติตั้งคณะทำงานดูแล mobile payment
สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลระบบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile payment) ด้านก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคมเผยว่า ปัจจุบัน mobile payment ในประเทศไทยอยู่ภายในกรอบการดูแลของ ธปท. ภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 ซึ่งอยู่ในส่วนของบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคหากเกิดความเสียหายจากการใช้บริการดังกล่าว
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
ซิป้าเตรียมนำร่องสมาร์ต ซิตี้ ที่ภูเก็ต งบ 100 ล้าน หวังเห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 59
จีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) เผย หลังได้รับมอบหมายจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ต ซิตี้) ว่า จะนำร่องโครงการดังกล่าวที่จังหวัดภูเก็ตภายใต้งบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งได้วางเป้าหมายให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2559 โดยจะเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสื่อสารโทรคมนาคมและการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้พร้อม นอกจากนี้ กระทรวงไอซีทีของไทยจะลงนามในบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือในโอกาสเดินทางไปเยี่ยมและศึกษาสมาร์ท ซิตี้ ของเมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
กรมการขนส่งทางบก สั่งรถจดทะเบียนใหม่ ต้องติด GPS ทุกคัน
สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกระบุ กรมการขนส่งทางบกจัดทำโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” เพื่อยกกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะ โครงการจะติดตามและควบคุมพฤติกรรมการบริหารของผู้ประกอบการและพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงาน โดยเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้ากับศูนย์บริการจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบกแบบเรียลไทม์ กรมฯ จะกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท รถตู้ รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ 10 ล้อขึ้นไปที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ต้องติดตั้ง GPS ทุกคัน ส่วนของรถที่จดทะเบียนไว้ก่อนวันดังกล่าว จะต้องติดตั้ง เชื่อมโยงข้อมูล หรือแก้ไขเครื่องบันทึกข้อมูลตามระยะเวลาที่กำหนดจึงจะสามารถดำเนินการต่ออายุทะเบียนรถได้
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
25 มกราคม 2559
ชายชาวเยอรมันแจ้งความว่าโดนปลอมเฟซ แอบอ้างโพสต์หมิ่นเบื้องสูง
ชาวชาวเยอรมันนามแมนเฟรด ปีเตอร์ อายุ 52 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดชลบุรี นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองปรือ จังหวัดชลบุรี ว่ามีผู้ไม่หวังดีสร้างเฟซบุ๊กปลอมโดยใช้ชื่อ Pieter Mangal และภาพถ่ายของตนโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบัน เขาจึงได้เดินทางมาแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าตนเองบริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับคนที่นำรูปตนเองมาทำเฟซบุ๊กปลอมมาดำเนินคดีตามกฏหมาย พร้อมให้เงินรางวัล 30,000 บาท ในการจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
ที่มา: เดลินิวส์
Tags: 4G, Army Information Service Center (AISC), Bank of Thailand, broadband, Computer-related Crime Act, Department of Land Transport, digital economy, digital forensics, electronic transaction, Facebook, fake account, freedom of expression, freedom of information, government procurement, hard infrastructure, human rights, international internet gateway, lese majeste, Ministry of Information and Communication Technology, mobile payment, National Broadcasting and Telecommunications Commission, National Broadcasting and Telecommunications Commission Bill, National Reform Steering Assembly, Office of the Election Commission of Thailand, Official Information Act 1997, open government, open government data, Pantip, Phuket, Pieter Mangal, press ethics, privacy, Rajabhakti Park, single gateway, smart city, social media, social media monitoring, Software Industry Promotion Agency, Technology Crime Suppression Division, telecom, Thai Publica, transparency, Twitter, ปิยะ, พงศธร บันทอน, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551, อุทยานราชภักดิ์