Thai Netizen Network

Digital Weekly: 14-18 ม.ค. 2559 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์:  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล็งทบทวนนำ ′ซิงเกิลเกตเวย์′ มาใช้ หลังเว็บรัฐถูกแฮกบ่อย/ กมธ.ปฏิรูปสื่อเชิญกูเกิลเข้าพบ ด้านกูเกิลกังวลพ.ร.บ.คอมฯ คลุมเครือ/ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทรัพยากรคลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือรัฐ ประธาน กรธ.โต้ รัฐนั้นก็คือประชาชน/ สนช.เสนอเก็บภาษีโฆษณาออนไลน์จากผู้ลงโฆษณากับ ‘กูเกิล-เฟซบุ๊ก’/ ร่าง พ.ร.บ.คอม เตรียมเข้าครม. กุมภานี้-รื้อยกแผง “กฎหมายดิจิทัล” ตั้งทีมยกร่างใหม่นำโดยสุธรรม อยู่ในธรรม นำร่างเข้าสนช. เดือนมีนา ฯลฯ

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทรัพยากรคลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือรัฐ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.โต้ รัฐนั้นก็คือประชาชน (15 ม.ค.59)

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เขียนให้ทรัพยากรคลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือรัฐ ประธาน กรธ.โต้ “รัฐนั้นก็คือประชาชน” (15 ม.ค.59)

14 มกราคม 2559

Blink Hacker Group ปล่อยฐานข้อมูลที่แฮกจากเว็บศาลไทย

กลุ่ม Blink Hacker Group แฮ็กเกอร์ในกลุ่ม Anonymous ปล่อยฐานข้อมูลขนาด 1.09 กิกะไบต์ ซึ่งกลุ่มอ้างว่าได้มาจากการแฮกเว็บศาลฎีกาของไทยเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดการภายใน เช่น เงินเดือน เงินบำนาญ งบประมาณและการวางแผน และระบบคดีอาชญากรรม อนึ่ง กลุ่ม Blink Hacker Group ประกาศปฏิบัติการ #BoycottThailand และได้ถล่มเว็บไซต์ศาลไทยหลายแห่งด้วยการโจมตีแบบ DDos ไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงคำพิพากษาคดีเกาะเต่า

ที่มา: เว็บข่าวไอที Sofepedia, ประชาไท

15 มกราคม 2559

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล็งทบทวนนำ ′ซิงเกิลเกตเวย์′ มาใช้ หลังเว็บรัฐถูกแฮกบ่อย

พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุ ทราบตัวแฮกเกอร์ที่แฮกเว็บไซต์ของศาลยุติธรรมแล้ว โดยพบเป็นกลุ่มแฮกเกอร์จากต่างประเทศ ขณะนี้ ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อยู่ระหว่างรอสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ระหว่างรอสำนักงานศาลยุติธรรมเข้าแจ้งความร้องทุกข์ พล.ต.อ.เดชณรงค์กล่าวด้วยว่า อาจมีความจำเป็นต้องทบทวนแนวคิดการนำระบบซิงเกิลเกตเวย์มาใช้เพื่อดูแลความมั่นคง ด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเผย รัฐบาลจะลงทุนในเทคโนโลยีระดับสูงมาป้องกันเว็บไซต์หน่วยงานรัฐจากการเจาะระบบ บางกอกโพสต์ระบุว่า “เทคโนโลยีระดับสูง” ดังกล่าวนั้นหมายถึงซอฟต์แวร์

ที่มา: มติชนออนไลน์, Bangkok Post

กมธ.ปฏิรูปสื่อเชิญกูเกิลเข้าพบ กูเกิลกังวลพ.ร.บ.คอมฯคลุมเครือ

อภิชาต จงสกุล โฆษกกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน แถลงว่า กรรมาธิการฯ ได้เชิญตัวแทนบริษัทกูเกิลจากสหรัฐฯ และสิงคโปร์ที่ดูแลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกมาหารือและขอความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้สื่อออนไลน์ โดยกูเกิลระบุว่า ที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือเรื่องการป้องกันการเผยแพร่เว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายในไทยกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มาโดยตลอด ประชาชาติธุรกิจรายงานต่อว่า กูเกิลยังมีข้อกังวลต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ยังคงไม่ชัดเจนซึ่งอาจกระทบต่อการทำธุรกิจ โดยบริษัทจะทำหนังสือข้อกังวลดังกล่าวให้ กมธ.ต่อไป ส่วนกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า จะเร่งแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ทันสมัยและไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการดำเนินธุรกิจหรือกระทบสิทธิและเสรีภาพ ขณะที่สำนักข่าวไทยรายงานว่า กูเกิลจะดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ไปในทางที่ไม่เหมาะสม

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, สำนักข่าวไทย

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทรัพยากรคลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือรัฐ ประธาน กรธ.โต้ รัฐนั้นก็คือประชาชน

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงการปรับบทบัญญัติว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่ จาก “ทรัพยากรสื่อสารของชาติ” เป็น “ทรัพยากรของรัฐ” (“คลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรของอุปกรณ์สื่อสารที่ได้มาย่อมเป็นทรัพยากรของรัฐ มีไว้เพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน” -ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 71) และย้ายบทบัญญัติดังกล่าวจากหมวด “สิทธิเสรีภาพของประชาชน” ไปอยู่ในหมวด “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” ว่า คำว่า “รัฐ” ในที่นี้คือบุคคลที่อยู่ภายในรัฐ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองความเปลี่ยนแปลงนี้ว่ามีความแตกต่างอย่างมากในเชิงหลักการ เพราะต่อไปนี้รัฐสามารถอ้างได้ว่าคลื่นความถี่เป็นของรัฐ และรัฐมีสิทธิเต็มที่ที่จะจัดการ อ่านความเห็นของ ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง และคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ

ที่มา: มติชนออนไลน์, ประชาไท

17 มกราคม 2559

สนช.เสนอเก็บภาษีโฆษณาออนไลน์จากผู้ลงโฆษณากับ ‘กูเกิล-เฟซบุ๊ก’

คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้จัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ใช้บริการโฆษณาของบริษัทต่างประเทศ (เช่น กูเกิลและเฟซบุ๊ก) อาจได้เปรียบต้นทุนในเชิงภาษีมากกว่าการใช้บริการโฆษณาภายในประเทศ โดยหากจะจัดเก็บภาษีดังกล่าว กรมสรรพากรอาจต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องบางมาตรา คณะอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่า การทำเช่นนี้ยังจะทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านบาท และหากอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตก็จะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตาม

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

18 มกราคม 2559

ร่าง พ.ร.บ.คอม เตรียมเข้าครม. กุมภานี้-รื้อยกแผง “กฎหมายดิจิทัล” ตั้งทีมยกร่างใหม่นำโดยสุธรรม อยู่ในธรรม นำร่างเข้าสนช. เดือนมีนา

ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผย ทีมยกร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลชุดใหม่นำโดยรศ.สุธรรม อยู่ในธรรม อดีตกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กำลังเร่งทบทวนและปรับปรุงร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับใหม่ โดยจะนำร่างกฎหมายเข้าสู่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ ประเด็นที่ต้องปรับปรุงมี อาทิ ความเหมาะสมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, การบริหารจัดการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้านอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ระบุ จะนำร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เข้าคณะรัฐมนตรีให้ทันในต้น ก.พ. นี้ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการของ สนช.ต้นไตรมาส 2 ซึ่งจะมีการทำประชาพิจารณ์

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

กระทรวงไอซีทีหารือ กสทช.เล็งเสนอคสช.ปลดล็อกเงินกองทุน USO นำเงินมาขยายบรอดแบนด์ทั่วประเทศ

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผย กสทช.จะตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงไอซีทีเพื่อทำแผนขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (30 Mbps) ทั่วประเทศ โดยอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีระบุ เบื้องต้นกระทรวงไอซีทีจะรับผิดชอบพื้นที่นอกเหนือแผนขยายบริการโทรคมนาคมทั่วถึง (USO) โดยจะให้ทีโอทีและกสท โทรคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบหลัก อุตตมระบุด้วยว่า แผนขยายบริการโทรคมนาคมทั่วถึง (USO) ปี 2555-2559 ของ กสทช.ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับการดำเนินการ โดยการดำเนินการดังกล่าวอาจต้องเสนอคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เสนอ คสช. ปลดล็อกเงินก้อนดังกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมหลักฐานเตรียมฟ้อง พ.ร.บ.คอม หมิ่นสมเด็จช่วง ด้านสมเด็จฯ ไม่เอาความ ให้ถอนแจ้งความคนโพสต์

ชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามกรณีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ระบุว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ได้รวบรวมข้อมูลคำกล่าวหาและภาพบนสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ซึ่งกำลังจะได้รับนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 มาดำเนินการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 (1), (2) (นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน) อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ไม่เอาความ และได้ให้องค์กรทางพระพุทธศาสนาบางแห่งถอนแจ้งความด้วย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

Exit mobile version