2016.01.19 17:56
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล็งทบทวนนำ ′ซิงเกิลเกตเวย์′ มาใช้ หลังเว็บรัฐถูกแฮกบ่อย/ กมธ.ปฏิรูปสื่อเชิญกูเกิลเข้าพบ ด้านกูเกิลกังวลพ.ร.บ.คอมฯ คลุมเครือ/ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทรัพยากรคลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือรัฐ ประธาน กรธ.โต้ รัฐนั้นก็คือประชาชน/ สนช.เสนอเก็บภาษีโฆษณาออนไลน์จากผู้ลงโฆษณากับ ‘กูเกิล-เฟซบุ๊ก’/ ร่าง พ.ร.บ.คอม เตรียมเข้าครม. กุมภานี้-รื้อยกแผง “กฎหมายดิจิทัล” ตั้งทีมยกร่างใหม่นำโดยสุธรรม อยู่ในธรรม นำร่างเข้าสนช. เดือนมีนา ฯลฯ
14 มกราคม 2559
Blink Hacker Group ปล่อยฐานข้อมูลที่แฮกจากเว็บศาลไทย
กลุ่ม Blink Hacker Group แฮ็กเกอร์ในกลุ่ม Anonymous ปล่อยฐานข้อมูลขนาด 1.09 กิกะไบต์ ซึ่งกลุ่มอ้างว่าได้มาจากการแฮกเว็บศาลฎีกาของไทยเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับระบบการจัดการภายใน เช่น เงินเดือน เงินบำนาญ งบประมาณและการวางแผน และระบบคดีอาชญากรรม อนึ่ง กลุ่ม Blink Hacker Group ประกาศปฏิบัติการ #BoycottThailand และได้ถล่มเว็บไซต์ศาลไทยหลายแห่งด้วยการโจมตีแบบ DDos ไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงคำพิพากษาคดีเกาะเต่า
ที่มา: เว็บข่าวไอที Sofepedia, ประชาไท
15 มกราคม 2559
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล็งทบทวนนำ ′ซิงเกิลเกตเวย์′ มาใช้ หลังเว็บรัฐถูกแฮกบ่อย
พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุ ทราบตัวแฮกเกอร์ที่แฮกเว็บไซต์ของศาลยุติธรรมแล้ว โดยพบเป็นกลุ่มแฮกเกอร์จากต่างประเทศ ขณะนี้ ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อยู่ระหว่างรอสำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ระหว่างรอสำนักงานศาลยุติธรรมเข้าแจ้งความร้องทุกข์ พล.ต.อ.เดชณรงค์กล่าวด้วยว่า อาจมีความจำเป็นต้องทบทวนแนวคิดการนำระบบซิงเกิลเกตเวย์มาใช้เพื่อดูแลความมั่นคง ด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเผย รัฐบาลจะลงทุนในเทคโนโลยีระดับสูงมาป้องกันเว็บไซต์หน่วยงานรัฐจากการเจาะระบบ บางกอกโพสต์ระบุว่า “เทคโนโลยีระดับสูง” ดังกล่าวนั้นหมายถึงซอฟต์แวร์
ที่มา: มติชนออนไลน์, Bangkok Post
กมธ.ปฏิรูปสื่อเชิญกูเกิลเข้าพบ กูเกิลกังวลพ.ร.บ.คอมฯคลุมเครือ
อภิชาต จงสกุล โฆษกกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน แถลงว่า กรรมาธิการฯ ได้เชิญตัวแทนบริษัทกูเกิลจากสหรัฐฯ และสิงคโปร์ที่ดูแลภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกมาหารือและขอความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการใช้สื่อออนไลน์ โดยกูเกิลระบุว่า ที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือเรื่องการป้องกันการเผยแพร่เว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายในไทยกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) มาโดยตลอด ประชาชาติธุรกิจรายงานต่อว่า กูเกิลยังมีข้อกังวลต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ยังคงไม่ชัดเจนซึ่งอาจกระทบต่อการทำธุรกิจ โดยบริษัทจะทำหนังสือข้อกังวลดังกล่าวให้ กมธ.ต่อไป ส่วนกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า จะเร่งแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ทันสมัยและไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการดำเนินธุรกิจหรือกระทบสิทธิและเสรีภาพ ขณะที่สำนักข่าวไทยรายงานว่า กูเกิลจะดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ไปในทางที่ไม่เหมาะสม
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, สำนักข่าวไทย
ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทรัพยากรคลื่นความถี่กลับไปอยู่ในมือรัฐ ประธาน กรธ.โต้ รัฐนั้นก็คือประชาชน
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงการปรับบทบัญญัติว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่ จาก “ทรัพยากรสื่อสารของชาติ” เป็น “ทรัพยากรของรัฐ” (“คลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรของอุปกรณ์สื่อสารที่ได้มาย่อมเป็นทรัพยากรของรัฐ มีไว้เพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน” -ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 71) และย้ายบทบัญญัติดังกล่าวจากหมวด “สิทธิเสรีภาพของประชาชน” ไปอยู่ในหมวด “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” ว่า คำว่า “รัฐ” ในที่นี้คือบุคคลที่อยู่ภายในรัฐ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองความเปลี่ยนแปลงนี้ว่ามีความแตกต่างอย่างมากในเชิงหลักการ เพราะต่อไปนี้รัฐสามารถอ้างได้ว่าคลื่นความถี่เป็นของรัฐ และรัฐมีสิทธิเต็มที่ที่จะจัดการ อ่านความเห็นของ ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง และคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ
ที่มา: มติชนออนไลน์, ประชาไท
17 มกราคม 2559
สนช.เสนอเก็บภาษีโฆษณาออนไลน์จากผู้ลงโฆษณากับ ‘กูเกิล-เฟซบุ๊ก’
คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้จัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ใช้บริการโฆษณาของบริษัทต่างประเทศ (เช่น กูเกิลและเฟซบุ๊ก) อาจได้เปรียบต้นทุนในเชิงภาษีมากกว่าการใช้บริการโฆษณาภายในประเทศ โดยหากจะจัดเก็บภาษีดังกล่าว กรมสรรพากรอาจต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องบางมาตรา คณะอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่า การทำเช่นนี้ยังจะทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 2,000 – 3,000 ล้านบาท และหากอุตสาหกรรมนี้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตก็จะสามารถจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตาม
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)
18 มกราคม 2559
ร่าง พ.ร.บ.คอม เตรียมเข้าครม. กุมภานี้-รื้อยกแผง “กฎหมายดิจิทัล” ตั้งทีมยกร่างใหม่นำโดยสุธรรม อยู่ในธรรม นำร่างเข้าสนช. เดือนมีนา
ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผย ทีมยกร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลชุดใหม่นำโดยรศ.สุธรรม อยู่ในธรรม อดีตกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กำลังเร่งทบทวนและปรับปรุงร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับใหม่ โดยจะนำร่างกฎหมายเข้าสู่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ ประเด็นที่ต้องปรับปรุงมี อาทิ ความเหมาะสมของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, การบริหารจัดการกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้านอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ระบุ จะนำร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เข้าคณะรัฐมนตรีให้ทันในต้น ก.พ. นี้ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการของ สนช.ต้นไตรมาส 2 ซึ่งจะมีการทำประชาพิจารณ์
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
กระทรวงไอซีทีหารือ กสทช.เล็งเสนอคสช.ปลดล็อกเงินกองทุน USO นำเงินมาขยายบรอดแบนด์ทั่วประเทศ
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผย กสทช.จะตั้งคณะทำงานร่วมกับกระทรวงไอซีทีเพื่อทำแผนขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (30 Mbps) ทั่วประเทศ โดยอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีระบุ เบื้องต้นกระทรวงไอซีทีจะรับผิดชอบพื้นที่นอกเหนือแผนขยายบริการโทรคมนาคมทั่วถึง (USO) โดยจะให้ทีโอทีและกสท โทรคมนาคมเป็นผู้รับผิดชอบหลัก อุตตมระบุด้วยว่า แผนขยายบริการโทรคมนาคมทั่วถึง (USO) ปี 2555-2559 ของ กสทช.ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับการดำเนินการ โดยการดำเนินการดังกล่าวอาจต้องเสนอคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เสนอ คสช. ปลดล็อกเงินก้อนดังกล่าว
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รวมหลักฐานเตรียมฟ้อง พ.ร.บ.คอม หมิ่นสมเด็จช่วง ด้านสมเด็จฯ ไม่เอาความ ให้ถอนแจ้งความคนโพสต์
ชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามกรณีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ระบุว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ได้รวบรวมข้อมูลคำกล่าวหาและภาพบนสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ซึ่งกำลังจะได้รับนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 มาดำเนินการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 (1), (2) (นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน) อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ไม่เอาความ และได้ให้องค์กรทางพระพุทธศาสนาบางแห่งถอนแจ้งความด้วย
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
Tags: advertisement, Anonymous, Blink Hacker Group, blocking, broadband, censoring, Computer-related Crime Act, constitution, court, Court of Juctice, crime, cybersecurity, defamation, digital economy, Digital Economy Bills, Digital Weekly, Facebook, freedom of expression, fund, Google, hacking, hacktivism, hard infrastructure, Koh Toa Murderer, Ministry of Information and Communication Technology, National Broadcasting and Telecommunications Commission, online service, privacy, Royal Thai Police, single gateway, social media, spectrum, tax, telecom, USO, คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), คณะรักษาความสงบแห่งชาติ, คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), คำนูณ สิทธิสมาน, ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ), สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ