Thai Netizen Network

เตือนจับตาสถานการณ์เน็ตปี 59 | สอดแนม สภาปฏิรูปสื่อออนไลน์ กระทรวงความมั่นคง กม.เศรษฐกิจดิจิทัล

“ไม่มีอินเทอร์เน็ตทางเศรษฐกิจ ทางสังคม หรือทางอื่นๆ อินเทอร์เน็ตก็คืออินเทอร์เน็ต ทุกอย่างอยู่ที่เดียวกัน หากจะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลก็ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนด้วย”

สฤณี อาชวานันทกุล ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมืองกล่าวสรุปงานสัมมนาประจำปีมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) : “สถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยปี 2558” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.58 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมวินด์เซอร์ สวีท แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

เธอเสริมประโยคข้างต้นโดยยกตัวอย่างเรื่องนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยระบุว่า ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นฐาน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวให้กับลูกค้าอย่างน้อยในระดับหนึ่ง มิฉะนั้นนั้นเศรษฐกิจก็เดินหน้าได้ยาก

งานสัมมนาครั้งนี้มีเวทีอภิปรายทั้งหมด 3 เวทีด้วยกัน ได้แก่ การพูดคุยเรื่องอุปสรรคในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ต (obstacle to access) การเปิดเผยข้อมูลและอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (open data and obstacle to freedom of information) และการละเมิดสิทธิพลเมืองต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (user rights violation)

สฤณีกล่าวว่า เมื่อมองอย่างเผินๆ 3 หัวข้ออาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่จริงๆ แล้วทั้ง 3 เรื่องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างยิ่ง เราไม่อาจมองแค่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว แต่ต้องมองว่าด้วยว่าการเข้าถึงนั้นเป็นการเข้าถึงแบบไหน เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์และสำคัญหรือไม่ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้นช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐให้โปร่งใสหรือไม่ บรรยากาศของการเข้าถึงเป็นอย่างไร มันเต็มไปด้วยความหวาดกลัวแม้กระทั่งว่ากดไลก์ก็ยังไม่กล้าหรือไม่

ซึ่งในประเด็นหลัง เครือข่ายพลเมืองเน็ตใช้เวทีดังกล่าวออกแถลงการณ์ที่ชื่อ “รัฐบาลต้องสนับสนุนการตรวจสอบของประชาชน” ต่อเหตุการณ์ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งถูกจับกุมหลังจากที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เผยแพร่ผัง “เปิดปมการทุจริตอุทยานราชภักดิ์” แถลงการณ์ยังระบุถึงความเห็นของเครือข่ายต่อการปราบปรามผู้เห็นต่าง การคุกคามการตรวจสอบด้วยข้อหา “หมิ่นประมาท” ความตื่นตัวของพลเมือง และการยืนยันในจุดเดิมที่ว่า “การคลิกไลก์ไม่ใช่อาชญากรรม”

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า การแชร์คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นซึ่งจะนำไปสู่การค้นหาข้อเท็จจริงร่วมกัน, มาตรา 14 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้กับข้อหาหมิ่นประมาท และในภาวะที่ไม่มีฝ่ายค้าน จำเป็นต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล (อ่านแถลงการณ์)

สำหรับสถานการณ์เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตของไทยในปีนี้นั้น รายงาน เสรีภาพอินเทอร์เน็ต 2558* (Freedom on the Net 2015) ขององค์กรฟรีดอมเฮาส์ ระบุให้ปี 2558 ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ “ไม่เสรี” ซ้ำเป็นปีที่สองติดต่อกัน

ส่วนทิศทางสถานการณ์เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตในปีหน้า สฤณีระบุว่ามี 4 เรื่องที่ทั้งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อมวลชนต้องช่วยกันติดตามกันอย่างต่อเนื่อง นั้นคือ เรื่องชุดกฎหมายดิจิทัล เรื่องการสอดแนมโดยภาครัฐ เรื่องการจัดตั้งกระทรวงความมั่นคง และเรื่องสภาปฏิรูปประเทศที่มีการแต่งตั้งอนุกรรมการมาทำงานด้านการปฏิรูปสื่อด้านต่างๆ ซึ่งมีสื่อออนไลน์ร่วมอยู่ด้วย เธอกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าติดตามว่าข้อเสนอเกี่ยวกับสื่อออนไลน์จะเป็นอย่างไร

อนึ่ง ในรอบปี 2558 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงในนโยบายของรัฐบาลเกิดขึ้นหลายอย่าง หลายเหตุการณ์ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์อินเทอร์เน็ตและสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย งานประชุมครั้งนี้เป็นเวทีหนึ่งที่จะได้มีการพูดคุยและอภิปรายถึงสถานการณ์สิทธิและเสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยในรอบปี ทั้งในประเด็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การกำกับดูแลเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงร่วมมองไปในอนาคตข้างหน้า ว่าในปี 2559 เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปรับปรุงสถานการณ์อินเทอร์เน็ตและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศ มีอุปสรรคและความท้าทายใดที่รออยู่ และเราได้เรียนรู้อะไรจากบ้างจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา

คลิปบันทึกการเสวนา

*รายงาน เสรีภาพอินเทอร์เน็ต 2558 แปลเป็นภาษาไทยแล้วและจะออกเผยแพร่ในเร็วๆ นี้

Related News

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

Exit mobile version