Thai Netizen Network

Digital Weekly: 26 พ.ย.-1 ธ.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ โดน ม.116 และ พ.ร.บ.คอมฯ/ นายกฯ เตรียมนำงบประมูล 4 จีเข้างบกลาง/ Privacy International เผย ไมโครซอฟท์มีบทบาทในการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกในไทยในคดี พ.ร.บ.คอมฯ/ ธนาคารกรุงไทยระบบล่มทั้งอินเทอร์เน็ตและเอทีเอ็ม/ ไลน์ตั้งทีมวิจัยและพัฒนาแอปและบริการในไทย/ ไอทียูประกาศลำดับการพัฒนาด้าน ICT ไทยลำดับ 74 ดีขึ้นเพราะการประมูล 3 จี ฯลฯ

Privacy International เผย ไมโครซอฟท์มีบทบาทในการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกในไทยในคดี พ.ร.บ.คอมฯ

Privacy International เผย ไมโครซอฟท์มีบทบาทในการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกในไทยในคดี พ.ร.บ.คอมฯ

26 พฤศจิกายน 2558

นายกฯ เตรียมนำงบประมูล 4G เข้างบกลาง

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเผย จะนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 4 จีไปไว้ในงบประมาณของรัฐบาล (งบกลาง) โดยยังไม่ได้พิจารณาว่าจะนำไปใช้ในโครงการใด แต่ยืนยันจะใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ที่สุด ซึ่งเบื้องต้นอาจนำงบประมาณส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย หรือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนน รถไฟ และรถไฟฟ้า

ที่มา: Voice TV

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ เปิดตัวเครื่องมือจัดการปัญหาน้ำท่วม ใช้การเชื่อมโยงฐานข้อมูล

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดตัวเครื่องมือในการจัดการปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง (Flood & Drought Management Tools) ที่พัฒนาร่วมกับสมาคมน้ำนานาชาติ (International Water Association-IWA) ประเทศเดนมาร์ก และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โดยระบบใช้การเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน และสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลภูมิอากาศของโลกกับฐานข้อมูลน้ำของประเทศไทยได้ โดยจะนำร่องทดสอบการใช้งานในพื้นที่ลุ่มน้ำ 3 แห่งคือ ลุ่มน้ำโวลต้า ทะเลสาบวิคตอเรีย และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประเทศไทย

ที่มา: เดลินิวส์

27 พฤศจิกายน 2558

โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ โดน ม.116 และ พ.ร.บ.คอมฯ

เจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบและตำรวจนอกเครื่องแบบราว 20 นาย ไปที่บ้านของนางแจ่ม (นามสมมติ) จากเหตุที่เธอโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 พ.ย. เมื่อไม่พบตัว เจ้าหน้าที่ได้ยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของที่ทำงานไป หลังถูกสอบสวนเจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและรหัสเข้าโซเชียลมีเดียของเธอไปด้วย ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาว่าเธอได้ “กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นที่ไม่ใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ใช่แสดงความเห็นโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา14 (1), (2) และ(3) นางแจ่มได้ให้การยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริงแต่ไม่ได้มีเจตนาจะให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ตำรวจสน.พระโขนงนำตัวนางแจ่มไปฝากขังที่ศาลทหาร ศาลให้ประกันตัวด้วยเงินสด 100,000 บาท

ที่มา: บล็อกศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ไลน์ตั้งทีมวิจัยและพัฒนาแอปและบริการในไทยแล้ว

บริษัท ไลน์ ตั้งทีมวิจัยและพัฒนาบริการและแอปพลิเคชันมือถือในประเทศไทย โดยทีมนี้เป็นทีมแรกของไลน์ที่ตั้งอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น ทีมดังกล่าวมีหน้าที่พัฒนาแอปมือถือและบริการต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการท้องถิ่น โดยไลน์มีแผนออกแอปมือถือตัวใหม่ในต้นปี 2559 อนึ่ง ไลน์มีผู้ใช้ในประเทศไทย 33 ล้านคน ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ไลน์สูงสุดอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่บริษัทแม่ของไลน์ตั้งอยู่

ที่มา: Bangkok Post

ดีแทคเตรียมเครือข่ายมือถือรับเส้นทางปั่น Bike for Dad

ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เผย บริษัทเตรียมความพร้อมของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อสนับสนุนกิจกรรม “ปั่นเพื่อพ่อ” (Bike for Dad) ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยได้เตรียมส่งรถโมบายล์เพิ่มขยายช่องสัญญาณติดตั้งอุปกรณ์เสริมเครือข่าย เตรียมพร้อมการบริหารจัดการโครงข่ายรองรับพื้นที่การใช้งานที่หนาแน่น และเพิ่มขยายช่องสัญญาณ

ที่มา: เดลินิวส์

เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีพิพาท “ดีแทค-กสท” ดีแทคนำเสาและอุปกรณ์ให้ผู้ประกอบการ 3 จีอื่นร่วมใช้งานได้แล้ว

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เผยว่า ศาลปกครองสูงสุดได้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง ที่เคยห้ามไม่ให้ดีแทคนำเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานไปให้ผู้ประกอบการ 2100 เมกะเฮิร์ตซ์รายอื่นร่วมใช้งาน หลัง กสท โทรคมนาคม ได้ยื่นคำร้องไว้ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ด้านดีแทคเผย การเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนี้จะทำให้ดีแทคสามารถขยายโครงข่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

30 พฤศจิกายน 2558

Privacy International เผย ไมโครซอฟท์มีบทบาทในการละเมิดเสรีภาพการแสดงออกในไทยในคดี พ.ร.บ.คอมฯ

องค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันเนล (Privacy International) เผยรายงานเชิงสืบสวนซึ่งพบว่า ไมโครซอฟท์มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยเมื่อปี 2557 กรณีดังกล่าวเป็นคดีที่โบรกเกอร์คนหนึ่งถูกฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ฐานเป็นผู้ปล่อยข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เขาถูกกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวทำให้หุ้นตก จากการตรวจสอบ ไพรเวซีฯ พบว่าไมโครซอฟเข้ามามีบทบาทในคดีนี้จากการส่งมอบหมายเลขไอพี ซึ่งต่อมากลายเป็นเอกสารสำคัญที่ถูกใช้เป็นหลักฐานเอาผิดจำเลย ไพรเวซีฯ ระบุว่า ไมโครซอฟท์ให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของผู้ใช้กับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่รู้ว่าอยู่แล้วว่าการสอบสวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรืออาชญากรรมร้ายแรง แต่เป็นเพียง “ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นเท่านั้น

อ่าน สรุปรายงานภาษาไทย
อ่าน รายงานต้นฉบับภาษาอังกฤษ 

ที่มา: Privacy International, เครือข่ายพลเมืองเน็ต

กระทรวงไอซีทีเผยผลประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมฯ ครั้งที่ 15

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยผลประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ASEAN Telecommunications and IT Ministers Meeting – TELMIN) ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการให้ความสำคัญเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียน 2020 (ASEAN ICT Masterplan 2020 : AIM 2020) ไทยยังได้ผลักดันด้านความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และให้มีการนำกรอบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (Intra-ASEAN Secure Transaction Framework) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการมาใช้ ส่วนในการหารือทวิภาคีระหว่างคู่เจรจา 4 ประเทศ สรุปได้ดังนี้

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

ธนาคารกรุงไทยระบบล่มทั้งอินเทอร์เน็ตและเอทีเอ็ม

ธนาคารกรุงไทยรายงานว่า บริการเอทีเอ็มและธนาคารออนไลน์ (KTB netbank) มีปัญหาเพราะผู้ใช้เข้าใช้งานจำนวนมากจนทำให้ระบบล่ม ด้านผู้ใช้จำนวนมากรายงานว่ามีระบบมีปัญหาตั้งแต่สิบโมง ธนาคารระบุว่าระบบกลับมาใช้งานได้เป็นปกติเมื่อช่วงบ่ายสี่โมงครึ่ง ปัญหาร้ายแรงที่สุดคือลูกค้าบางส่วนกดเงินออกจากบัญชีแล้วแต่กลับถูกหักเงินออกจากบัญชีโดยไม่ได้รับเงิน ล่าสุดทางธนาคารออกมาระบุว่ากรณีเช่นนี้ทางธนาคารจะรับผิดชอบทั้งหมด

ที่มา: Blognone

1 ธันวาคม 2558

ครม.เห็นชอบแผนผลักดัน IPv6 ระยะที่ 2 (ปี 2559-2561)

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบและเห็นชอบแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2559-2561) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงไอซีทีเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและบริหารจัดการ รวมทั้งรับผิดชอบการขอหมายเลข IPv6 จาก Asia Pacific Network Information Centre (APNIC) ให้กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในการดำเนินการเรื่องนี้ กระทรวงไอซีทีต้องรับความเห็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงาน ก.พ., สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาด้วย

ที่มา: สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 1 ธันวาคม 2558

ไทยขอรับเป็นเจ้าภาพจัดงาน ITU Telecom World 2016

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ประเทศไทยเสนอรับเป็นเจ้าภาพจัดงานนิทรรศการด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารระดับโลกปี 2559 (ITU Telecom World 2016) ตามที่กระทรวงไอซีทีเสนอ โดยมีกระทรวงไอซีทีและคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดูแล งานดังกล่าวจะจัดแสดงผลงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานรัฐบาลและผู้ประกอบการจากหลายประเทศ มีงานประชุมเชิงวิชาการและกิจกรรมการสร้างเครือข่าย เงื่อนไขที่ประเทศเจ้าภาพจะต้องดำเนินการ มีอาทิ เรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน การยกเว้นการจัดเก็บภาษีอากรและศุลกากร พิธีการและการรักษาความปลอดภัย โรงแรมที่พัก การจัดการด้านขนส่ง งานเลี้ยงรับรอง การจัดประชุม ศูนย์ข่าวประชาสัมพันธ์ ห้องสำนักงานสำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เป็นต้น

ที่มา: สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 1 ธันวาคม 2558

ไอทียูประกาศลำดับการพัฒนาด้าน ICT ไทยลำดับ 74 ดีขึ้นเพราะการประมูล 3 จี

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผย สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ประกาศผลรายงานตัวชี้วัดการพัฒนาด้านไอซีทีของแต่ละประเทศทั่วโลกปี 2557 (ICT Development Index 2015) ประเทศไทยขยับมาอยู่ในอันดับที่ 74 ของโลก จากลำดับที่ 81 ในปี 2556 อันเป็นผลจากการที่มีการเปิดให้บริการ 3 จีบนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ในปี 2556 ฐากรระบุด้วยว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 จีทั้งในย่านความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์จะทำให้มั่นใจว่าในปี 2558 ลำดับการพัฒนาด้านไอซีทีของไทยเลื่อนอันดับสูงขึ้นกว่านี้

ที่มา: เดลินิวส์

เร่งขยายโครงข่ายบรอดแบนด์-ไวไฟฟรี สู่ชุมชน 10,000 แห่งทั่วประเทศ

ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผยความคืบหน้าโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนที่จะให้บริการบรอดแบนด์และไวไฟฟรี ซึ่งเป็นโครงการในระยะเร่งด่วนว่า โครงการขณะนี้อยู่ระหว่างการนำบรอดแบนด์สู่ชุมชน 10,000 แห่งทั่วประเทศ และจะครอบคลุมศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีของชุมชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบล และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ โดยจะขยายสู่ชุมชนและหมู่บ้านทั่วประเทศภายในระยะเวลา 2 ปี

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)

Exit mobile version