หลังรัฐประหาร 57 คสช. คุมเน็ตด้วยวิธีใด?

2015.12.24 14:01

ทำไม คสช.อยากควบคุมโลกไซเบอร์? แล้วทำด้วยวิธีไหน? “เศรษฐกิจดิจิทัล” ถูกยกขึ้นมาบังหน้าหรือไม่? คสช.ต้องมีอะไรบ้าง หากอยากคุมเน็ตได้แบบจีน? อ่านสรุปเสวนา “ระบอบการกำกับดูแลโลกไซเบอร์ไทย นับแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 57”

cyber-regulation-thailand

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.58 เครือข่ายพลเมืองเน็ตจัดเสวนา “ระบอบการกำกับดูแลโลกไซเบอร์ไทย นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ชั้น 11 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวิทยากรได้แก่ ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กิตติพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค และมีอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต เป็นพิธีกร

ทำไม คสช.อยากควบคุมโลกไซเบอร์

“ที่ผ่านมา กปปส.ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือทำให้เสียงข้างน้อย สามารถทำให้รัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากอยู่ไม่ได้”

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดถึงความสำคัญของอินเทอร์เน็ตต่อกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เขากล่าวว่า จากพลังของเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เคยถูกนำมาใช้เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างในกรณีกลุ่ม กปปส. หรือตัวอย่างที่โลกได้เห็นมาแล้วจากเหตุการณ์การลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง (Arab Spring) ที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือจนทำให้เผด็จการทหารอยู่ไม่ได้ เหล่านี้เป็นบทเรียนที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยเกิดความกลัว ผนวกกับการที่ไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่จัดว่าค่อนข้างสูง ทหารจึงเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเข้ามากำกับควบคุมพื้นที่บนอินเทอร์เน็ต

เขากล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว การกำกับควบคุมพื้นที่อินเทอร์เน็ตมีหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่

  • รูปแบบแรก ใช้ในยุคแรกของการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตถูกกำกับโดยปราศจากรัฐ และให้การพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นตัวกำกับ
  • รูปแบบที่สอง การให้ผู้ประกอบการเอกชนกำกับดูแลกันเอง โดยมีกลไกตลาดเป็นแรงจูงใจ เห็นได้จาก “เงื่อนไขการใช้งาน” บริการออนไลน์ต่างๆ ที่ผู้บริการแต่ละรายกำหนดขึ้นมาเอง อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้ประกอบการจะกำหนดเงื่อนไขอะไรขึ้นมาก็ได้ เพราะหากผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขเหล่านั้นก็จะหันไปใช้บริการจากผู้ประกอบการเจ้าอื่นแทน
  • รูปแบบที่สาม การกำกับร่วมกับระหว่างรัฐกับเอกชน รวมถึงการพยายามทำให้สังคมเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลด้วย
  • รูปแบบสุดท้ายคือ การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตแบบรวมศูนย์อยู่ที่รัฐ รัฐเป็นทั้งผู้ออกกฎและบังคับใช้กฎหมาย โมเดลสุดท้ายนี้มีประเทศจีนเป็นต้นแบบ

ทศพลกล่าวว่า รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือกที่จะใช้การกำกับอินเทอร์เน็ตในรูปแบบสุดท้าย นั่นคือแบบรวมศูนย์อยู่ที่รัฐ

อย่างไรก็ตาม การรวมศูนย์การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตของไทยและจีนแตกต่างกัน จีนออกแบบระบบที่รวมศูนย์เช่นนี้มาตั้งแต่แรกของการมีอินเทอร์เน็ตในประเทศ ขณะที่ประเทศไทย ในช่วงแรกอินเทอร์เน็ตถูกกำกับดูแลโดยเอกชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ก่อนที่จะมาถูกเปลี่ยนเป็นการกำกับดูแลแบบรวมศูนย์หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ทศพลตั้งคำถามว่า ภายใต้บริบทที่ต่างกันเช่นนี้ ความพยายามกำกับควบคุมอินเทอร์เน็ตของรัฐไทยจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการที่รัฐบาลพยายามเข้าหารือกับบริษัทเอกชนอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล แสดงให้เห็นว่าในการกำกับดูแลดังกล่าว รัฐไทยไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับบริษัทเอกชน

คสช. คุมอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีไหน

ทศพลกล่าวถึงวิธีการควบคุมแบบรวมศูนย์ของ คสช.ว่า มีทั้งการใช้การสอดแนม ใช้สายลับ ใช้วิธีเจรจาผลประโยชน์กับผู้ประกอบการเอกชน การใช้กฎหมาย ใช้วิธีแบบการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) ใช้สงครามไซเบอร์ และใช้วิธีชนะใจประชาชน

เรื่องการสอดแนมนั้น เห็นได้ตั้งแต่ความพยายามในการควบคุมการจราจรของข้อมูลที่ส่งผ่านระหว่างประเทศ มีการตั้งชุดจับตาการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ชาวไทย มีการปิดกั้นเว็บไซต์และดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และแนวคิดการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์

ส่วนการใช้วิธีการแบบสายลับ อาทิ การให้เจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้าไปในกรุ๊ปในเฟซบุ๊กเพื่อจับตาผู้ใช้ การใช้เครือข่ายประชาชนช่วยเฝ้าระวัง เช่น โครงการลูกเสือไซเบอร์ โครงการร้านเน็ตใสสะอาด และมีการให้รางวัลผู้ที่พบเห็นการโพสต์เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย

มีการเจรจาผลประโยชน์กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) และบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านไอซีที

ส่วนการใช้กฎหมาย ได้แก่ การใช้กฎหมายความมั่นคง เช่น มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557, กฎอัยการศึก, คำสั่งคสช. มีความพยายามออกกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้ศาลทหารในการจัดการกับพลเรือน โดยเฉพาะในคดีที่มีการฟ้องร้องกันด้วย กฎหมายอาญามาตรา 112, 113, 116

ส่วนวิธีการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) มีทั้งการรับสมัครแฮกเกอร์มาทำงานกับหน่วยงานรัฐ การซื้อซอฟต์แวร์สอดแนมจากบริษัท แฮ็กกิงทีม (Hacking Team) การทำฟิชชิ่งเพื่อเก็บข้อมูลของประชาชน (ก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ที่พบว่ามีแอปพลิเคชั่นของตำรวจแอบเก็บข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก) ทศพลกล่าวว่า การพยายามขโมยข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ตัวบุคคลดังกล่าว (เช่น เป็นข้อมูลที่บ่งชี้ได้ว่าใครเป็นแอดมินเพจใด) เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน เขาตั้งคำถามด้วยว่า การกระทำดังกล่าวกระทำโดยมีหมายศาลหรือไม่ ถ้ากระทำก่อนแล้วค่อยขอหมายศาลก็เป็นการกระทำที่มีปัญหา แต่ถ้าศาลอนุญาต ก็มีคำถามต่อมาว่าศาลใดเป็นผู้อนุญาต แล้วทำไมถึงอนุญาตให้กระทำการเช่นนั้นได้

การใช้วิธีก่อสงครามไซเบอร์ (cyber warfare) เช่น การสร้างหน่วยรบไซเบอร์ของกองทัพ การโจมตีเพจเฟซบุ๊กของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR)

ส่วนวิธีการสุดท้ายคือ การใช้ “ไม้อ่อน” เพื่อพยายามชนะใจประชาชน เช่น การพยายามโฆษณาชวนเชื่อ (สติ๊กเกอร์ไลน์ “คืนความสุข” ของกองทัพ) มีการสร้างเพจเฟซบุ๊กจำนวนมากเพื่อโพสต์เนื้อหานิยมชมชอบรัฐบาล มีการจ้างเจ้าหน้าที่ควบคุมทิศทางการนำเสนอข่าว การพยายามเข้ามาแทรกแซงการประมูลคลื่น รวมทั้งการพยายามขีพเส้นว่า เรื่องใดที่ประชาชนพูดได้ และเรื่องใดที่ห้ามพูด

ยก “เศรษฐกิจดิจิทัล” ขึ้นมาบังหน้า?

ทศพลกล่าวว่า ในขณะที่รัฐบาลนี้บอกว่าตนต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล แต่การกระทำทั้งหมดที่ว่ามาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาล คสช.ไม่เข้าใจว่าเศรษฐกิจดิจิทัลคืออะไร

“สาระสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลคือต้องการกระตุ้นให้คนมาใช้อินเทอร์เน็ตมากๆ แต่ตอนนี้คนไทยไม่กล้า กลัวว่าถ้าโพสต์แบบนี้ไปจะโดนมาตรา 112 มันทำให้เกิดวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการเกิดเศรษฐกิจดิจิทัล”

“อินเทอร์เน็ตควรจะเป็นพื้นที่ที่คนรู้สึกสบายใจที่เข้าไปใช้ ไม่ใช่พอใจใช้ ต้องเหมือนเตรียมพร้อมจะไปรบ แล้วจะถูกฟ้อง…มันกระทบกับเศรษฐกิจดิจิทัล หรือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์”

ทศพลกล่าวด้วยว่า การควบคุมอินเทอร์เน็ตแบบรวมศูนย์ดังกล่าวของ คสช.ยังทำให้ความไว้ใจ (trust) ในการใช้อินเทอร์เน็ตถูกกระทบโดยตรง กลุ่มคนอีกกลุ่มที่จะเดือดร้อนมากคือกลุ่มธุรกิจไอที และบรรยากาศการควบคุมอินเทอร์เน็ตแบบนี้จะไม่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจไอที ต่างจากสิงคโปร์และฮ่องกงโดยสิ้นเชิง

สุดท้ายเขากล่าวว่า จากทั้งหมดที่ว่ามา ตนเชื่อคสช.ยกคำว่าเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นมา เพื่อต้องการทำอย่างอื่นมากกว่า

หลังรปห. รัฐใช้กฎหมายความมั่นคงควบ พ.ร.บ.คอมฯ จัดการผู้ใช้เน็ต

ด้านสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตต่อการควบคุมอินเทอร์เน็ตหลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 ว่า

ในช่วงหลังรัฐประหาร  เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามเอาผิดกับผู้แสดงความคิดเห็นในโลกอินเทอร์เน็ต โดยนำกฎหมายด้านความมั่นคงซึ่งมีโทษสูง เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 มาใช้ แทนที่จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 เพียงอย่างเดียว รวมทั้งยังทำให้คดีเหล่านี้ถูกพิจารณาในศาลทหารไม่ใช่ศาลพลเรือน เธอเห็นว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลต้องการให้คดีเหล่านี้เป็นเรื่องร้ายแรง ทำให้ประชาชนคนอื่นเกิดความหวาดกลัว จนกระทั่งต่อไปนี้จะกดไลก์ไม่อาจไม่กล้า

ซึ่งในประเด็นศาลทหารนี้ ปัญหาของศาลทหารคือ กระบวนการพิจารณาคดีของศาลทหารจะมีศาลเพียงชั้นเดียว จำเลยไม่สามารถอุทธรณ์ได้ มีผู้พิพากษาเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่จบนิติศาสตร์ส่วนผู้พิพากษาอีกสองคนเป็นทหาร นอกจากนี้ ศาลทหารยังมีประเด็นเรื่องสิทธิของจำเลย

เธอกล่าวด้วยว่า การควบคุมโลกออนไลน์ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นไม่ได้มาจากรัฐบาลหรือทหารฝ่ายเดียว แต่เป็นประชาชนด้วยกันเองด้วย

ส่วนทิศทางการควบคุมอินเทอร์เน็ตไทยในอนาคต สาวตรีมองว่า ตนคิดว่าประเทศไทยจะยังมีการควบคุมอินเทอร์เน็ตแบบนี้ต่อไปอีกนาน จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและจนกว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเมื่อมองในระดับโลก ตนคิดว่าการควบคุมอินเทอร์เน็ตโดยรัฐก็จะเข้มงวดขึ้นด้วย เพราะมีประเด็นเรื่องการก่อการร้าย และในอนาคต รัฐไทยก็อาจจะนำข้ออ้างเรื่องการก่อการร้ายมาใช้ควบคุมอินเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐไทยก็ดูจะมีความชอบธรรมมากกว่าเสียอีก เพราะเรื่องการก่อการร้ายกำลังเป็นกระแสในโลกปัจจุบัน

สุดท้าย สาวตรีได้ฝากข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  • ควรมีศาลชำนาญการพิเศษในเรื่องไอทีโดยเฉพาะ และมีผู้พิพากษาสมทบที่มีความรู้เรื่องนี้
  • กฎหมายอาญาต้องบัญญัติให้ชัดเจน และต้องตรวจสอบการใช้ดุลพินิจได้
  • ควรมีการปรับแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อระบบเท่านั้น ไม่รวมเรื่องเนื้อหา
  • รัฐบาลต้องทบทวนดูอีกครั้งว่า มีความจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หรือไม่ เพราะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ก็คือการกระทำผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ในระดับร้ายแรง ซึ่งสามารถเพิ่มเนื้อหาเข้าไปใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่มีอยู่แล้วได้ หรือหากจะมี พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ ก็ควรเป็นเรื่องของการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อป้องกันและดูแลความปลอดภัยไซเบอร์มากกว่า
  • ควรมีองค์กรที่เข้มแข็งจะมาคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของประชาชน
  • ต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดให้นำผู้ที่ทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อที่รัฐประหารจะได้ไม่เกิดขึ้นอีกเหมือนดังที่หลายประเทศทำมาแล้ว
  • ต้องมีการปฏิรูปกองทัพ โดยลดบทบาททางการเมืองและลดงบประมาณของกองทัพลง เพื่อให้ทหารกลายเป็นทหารอาชีพจริงๆ แต่คำถามคือรัฐบาลพลเรือนที่จะเข้ามาจะกล้าทำหรือไม่
  • ควรมีการตั้งองค์กรตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย สาวตรีย้ำว่าวคำว่า “ประชาธิปไตย” ในที่นี้ต้องเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไหนความหมายไทยๆ โดยยกตัวอย่างว่าในประเทศเยอรมนีก็มีองค์กรเช่นนี้
  • ในเรื่องพยานหลักฐานดิจิทัล กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญาต้องเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยเข้าถึงพยานหลักฐานดิจิทัลปฐมภูมิได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเก็บข้อมูล ฝ่ายจำเลยมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นเพื่อค้นหาพยานหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์เช่นกัน

พยานหลักฐานดิจิทัล: โยนภาระพิสูจน์ความบริสุทธิ์บางส่วนให้จำเลย?

สาวตรีกล่าวถึงเรื่องพยานหลักฐานดิจิทัลต่อว่า เนื่องจากคดีที่เกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานดิจิทัลเป็นคดีที่ไม่มีประจักษ์พยาน ตัวพยานหลักฐานจึงอยู่ในการรับรู้ของจำเลยมากกว่า กระแสของโลกในตอนนี้จึงมีการผลักภาระในการพิสูจน์บางส่วนไปอยู่ที่ฝ่ายจำเลย (พิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์) ด้วยกระแสที่เป็นแบบนี้ ยิ่งทำให้การที่ทั้งสองฝ่ายเข้าถึงพยานหลักฐานดิจิทัลได้เท่าเทียมกันยิ่งมีความสำคัญ

กิตติพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค หนึ่งในวิทยากรเสริมว่า อย่างไรก็ตาม หากจำเลยสามารถเข้าถึงพยานหลักฐานได้ ก็มีความท้าทายเราจะสามารถทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าพยานหลักฐานนั้นจะไม่มีการปนเปื้อน (เรื่องของการรักษา chain of custody)

หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาตั้งข้อสังเกตชวนให้คิดต่อ โดยระบุว่า การที่กระแสโลกปัจจุบันผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์บางส่วนไปให้จำเลย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนหลักการของกฎหมายอาญาที่ให้ภาระการพิสูจน์ความผิดต้องตกอยู่กับโจทก์เท่านั้น ว่าพยานหลักฐานดิจิทัลเป็นเรื่องทางเทคนิคที่มีความซับซ้อน การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในคดีที่เกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานดิจิทัลไม่ใช่เรื่องที่ชาวบ้านทั่วไปจะทำได้ ปัญหานี้จะจัดการอย่างไร

ทศพลเสริมในประเด็นพยานหลักฐานดิจิทัลด้วยว่า หากภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต้องตกอยู่กับจำเลย ก็อาจทำให้คนหวาดกลัวและไม่สบายใจที่จะใช้อินเทอร์เน็ต ตนคิดว่าสิ่งนี้จะกระทบกับเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งมีอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐานอย่างแน่นอน

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต พิธีกรกล่าวเสริมว่า ในการช่วยโจทก์หรือจำเลยพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลนั้น จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้อยู่จำนวหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือ ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากไม่อยากมาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีบางคดีเพราะเกรงว่าจะไปกระทบกับหน้าที่การงาน หลายคนจึงขอปฏิเสธที่จะมีชื่อปรากฎอยู่ในคดีเหล่านี้

คสช.ต้องมีอะไรบ้าง หากอยากคุมเน็ตได้แบบจีน

กิตติพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค หนึ่งในวิทยากรกล่าวว่า ถ้าจะกล่าวเฉพาะในทางเทคนิค หากรัฐบาลต้องการควบคุมพื้นที่อินเทอร์เน็ตได้อย่างสมบูรณ์ รัฐก็ต้องมีขีดความสามารถดังต่อไปนี้

  • มีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งเป็นเงื่อนไขแรกที่ต้องมี กิตติพงษ์กล่าวว่า ความพยายามจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์เป็นความพยายามหนึ่งในการสร้างขีดความสามารถนี้
  • มีความสามารถในการคัดกรองข้อมูลที่ได้มา
  • มีความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลที่หามาได้ ซึ่งต้องอาศัยพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับการเก็บข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมหาศาลบนอินเทอร์เน็ต
  • มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล
  • มีทรัพยากรบุคคลที่พร้อม มีความรู้และทักษะที่จำเป็น ซึ่งกิตติพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันระเบียบของหน่วยงานรัฐไทยยังไม่สามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาทำงานด้วยได้

กิตติพงษ์กล่าวหา หากรัฐไทยมีขีดความสามารถทางเทคนิคข้างต้นครบ เราก็สามารถเป็นอย่างประเทศจีน ซึ่งควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างเบ็ดเสร็จได้ อย่างไรก็ตาม แม้เราจะใช้งบประมาณลงทุนมหาศาลเพื่อสร้าง “กำแพงไฟร์วอลล์อันยิ่งใหญ่” (The Great Firewall) เหมือนจีน แต่กำแพงนั้นก็มีช่องโหว่และสามารถใช้การหลบเลี่ยงได้เสมอ เหมือนที่หลายคนใช้เครื่องมือหลบเลี่ยงเพื่อเข้าถึงแอปที่ถูกปิดกั้นในจีนอย่างเฟซบุ๊ก “ถ้าผมเป็นรัฐบาลเผด็จการ สิ่งที่ผมจะถามคือมันคุ้มหรือเปล่า แล้วถ้าจะทำอย่างนี้เราจะต้องเสียอะไรไปบ้าง” กิตติพงษ์กล่าว

อาทิตย์เสริมว่า ในกรณีของจีน จีนเป็นทั้งผู้ผลิตเทคโนโลยีเอง มีจำนวนคนมหาศาล ต่างกับไทย นอกจากนี้ ตนคิดว่าจีนได้พัฒนามาจนถึงจุดที่ว่าสามารถคัดกรองได้แล้วว่า คนกลุ่มใดรัฐควรต้องจับตา และคนกลุ่มไหนที่รัฐไม่ควรเข้าไปยุ่ง การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนทำให้จีนมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายการสอดแนมและควบคุมอินเทอร์เน็ตกับคนกลุ่มที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องด้วย

วงเสวนายังได้ตั้งคำถามถึงความปลอดภัยไซเบอร์หากประเทศมีอินเทอร์เน็ตเกตเวย์เดียว กิตติพงษ์กล่าวว่า หากซิงเกิลเกตเวย์โดนแฮ็ก ข้อมูลของคนทั้งประเทศก็จะไม่ปลอดภัย นี่จะทำร้ายระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเพราะมันจะทำให้ความปลอดภัยในการทำธุรกกรรมออนไลน์เป็นศูนย์ และผู้ประกอบการก็จะไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องย้ายไปลงทุนต่างประเทศ

“การลงทุนครั้งนี้จะเป็นการลงทุนเพื่อทำเครื่องมือให้แฮ็กเกอร์เข้ามาใช้หรือเปล่า” อาทิตย์ พิธีกรกล่าวสรุปคำพูดข้างต้นของวิทยากรก่อนจบการเสวนา

ชมคลิปบันทึกการเสวนา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Tags: , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: