เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 58 มีการอบรมหัวข้อ “เสรีภาพสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบมีกรอบหรือไม่?” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
เสรีภาพสื่อและความเป็นประชาธิปไตย
อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวในช่วงต้นของการอบรมว่า “เสรีภาพสื่อสะท้อนเสรีภาพประชาชน”
เธอระบุว่า เมื่อพูดถึงเสรีภาพสื่อ เราต้องย้อนมาดูบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในประเทศ เพราะความเป็นประชาธิปไตยจะทำให้สื่อสามารถรายงานข่าวได้อย่างรอบด้าน ไม่ต้องกลัวการถูกข่มขู่ และสามารถถูกตรวจสอบได้โดยกลไกที่เป็นอิสระ
แต่ในปัจจุบัน ที่สังคมเต็มไปด้วยอคติเกลียดชัง สื่อถูกท้าทายอย่างมากในการทำตามหลักวิชาชีพ สื่อทั่วโลกยังต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่คุกคาม ทั้งจากการใช้อำนาจทางการเมือง อำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางศาล จนทำให้สื่อหลายสำนักต้องลดบทบาทตัวเองลง เช่น สื่อที่ทำข่าวเจาะ หรือสื่อที่ทำงานในพื้นที่ขัดแย้ง
เมื่อพูดในเรื่องความรับผิดชอบของสื่อ อังคณากล่าวว่า ความรับผิดชอบทางกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะสิทธิมนุษยชนนั้นกว้างไกลไปกว่าที่ข้อกฎหมายระบุไว้ เธอกล่าวด้วยว่า ในบริบทที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ เราคงไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับสื่อโดยวาทกรรมเดิมๆ เช่น เสรีภาพต้องมาคู่กับความรับผิดชอบ แต่เราต้องมองให้ไกลไปถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศด้วย
เสรีภาพเราจะยุติเมื่อไปกระทบสิทธิคนอื่น
ส่วนสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.กล่าวเรื่องเสรีภาพกับความรับผิดชอบของสื่อว่า เส้นแบ่งระหว่างสองสิ่งนี้ไม่มีสูตรตายตัว เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สังคมจึงจำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างเปิดเผยและถกเถียงกันอย่างมีเหตุผลตลอดเวลา เพื่อหาจุดสมดุล
แต่เธอย้ำว่า ปรัชญาของสื่อคือสื่อต้องมีเสรีภาพ สื่อที่ไม่มีเสรีภาพย่อมไม่ใช่สื่อโดยตัวมันเอง อย่างไรก็ตาม เสรีภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ แต่ทั้งนี้ คนที่มากำหนดความรับผิดชอบของสื่อคือใคร คือสื่อเอง ประชาชน หรือรัฐ เธอยังถามคำถามด้วยว่า แล้วใครจะมาเป็นผู้ลงโทษ สื่อลงโทษโดยสื่อด้วยกันเอง หรือใช้กลไกสังคม หรือใช้กฎหมาย
ในตอนท้าย เธอกล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงคำนิยามของเส้นแบ่งของสองสิ่งนี้ ก็มีคำพูดที่ว่า “เสรีภาพของคนหนึ่งจะยุติ เมื่อสิทธิของอีกคนเกิดขึ้นมา” นั่นคือเรามีเสรีภาพ แต่เสรีภาพเราจะยุติเมื่อไปกระทบสิทธิของคนอื่น
สิทธิเสรีภาพสื่อ: มุมมองจากต่างประเทศ
ต่อมามีการบรรยายหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพสื่อ: มุมมองจากต่างประเทศ” โดย Michael Chia-Chang Yu ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวสากล (International Federation of Journalists – IFJ) ของไต้หวันได้กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์สื่อในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า
เจ้าของสื่อในภูมิภาคนี้มีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ธุรกิจเอกชน กลุ่มทุนกลุ่มเล็กๆ ในช่วง 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมา สื่อส่วนใหญ่ในภูมิภาคมีรัฐบาลเป็นเจ้าของ ซึ่งเมื่อรัฐบาลเป็นเจ้าของสื่อก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการนำเสนอข่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ การที่สื่อมีเจ้าของคือเอกชนที่ต้องการเพียงแสวงหากำไร จึงเป็นได้ว่าสื่อดังกล่าวจะไม่เคารพเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร
เขามองด้วยว่าความพยายามและความต้องการเข้ามาครอบครองสื่อของกลุ่มทุนจะทำให้สิทธิเสรีภาพสื่อเผชิญความยากลำบากยิ่งขึ้นในอนาคต ซึ่งการมีสื่อสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะเราต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเข้ามามีอิทธิพลของกลุ่มทุน
Yu กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนทำงานด้านข่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวหรือพนักงานที่ทำงานในสำนักข่าว หากคนเหล่านี้ได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดี พวกเขาก็จะสามารถนำเสนอข่าวได้อย่างมีอิสระ
ทว่าจากสถิติ พบว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีนี้ มีคนทำงานด้านข่าว 25 คนถูกฆ่า และมี 10 คนหายสาบสูญไป “เมื่อก่อนเราเห็นนักข่าวในมอสโกหรือในเม็กซิโกถูกฆ่าขณะออกไปซื้อขนมปัง เพราะเขารายงานข่าวเปิดโปงรัฐบาล แต่เราเห็นเรื่องเหล่านี้มากขึ้นในเอเชีย” เขาบอกว่า ที่ผ่านมานักข่าวในแถบตะวันออกกลางต้องเผชิญกับอันตราย แต่ตอนนี้ นักข่าวในเอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญกับอันตรายยิ่งกว่า ซึ่งในการปกป้องคุ้มครองนักข่าว Yu ระบุว่า การส่งเสริมให้มีสมาคมนักข่าวจะช่วยในเรื่องนี้ได้
ถัดมา Virak OU นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนจากกัมพูชากล่าวว่า ความท้าทายของนักข่าวในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ เวลานักข่าวต้องการจะสื่อสารในเรื่องสำคัญ เป็นการยากที่นักข่าวจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องที่อ่อนไหว
“สื่อต้องนำเสนอความเป็นจริง แล้วผู้คนที่รับสารจะตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง” – Virak OU
ในกัมพูชา คุณไม่สามารถพึ่งศาลหรือรัฐสภาได้ ฉะนั้น สิ่งเดียวที่คุณหวังพึ่งพาได้คือตรรกะ เหตุผล และความจริง ซึ่งอย่างหลังเป็นเหตุผลว่าทำไมสื่อถึงมีความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนในเวลาเช่นนี้
เขาเล่าว่า ในกัมพูชารัฐบาลได้ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์แก่พรรคฝ่ายตรงข้าม ตนไม่รู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่สำหรับคนที่ไม่สนับสนุนพรรคใดเลย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่เรามองเห็นจากเรื่องนี้ นั่นก็คือใครกันที่เป็นผู้มีสิทธิให้ใบอนุญาตแก่คนอื่น ก็พรรคที่ครองอำนาจอยู่นั่นไง
เขากล่าวว่า พรรคใดๆ ก็ตามในโลกที่ครองอำนาจมีแนวโน้มที่จะจำกัดเสียงของคนที่ออกมาแสดงความเห็นต่างจากตน ในกัมพูชา หลังกระทรวงการสื่อสาร ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น “กระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ” ได้ปิดตัวลง ก็มีการเกิดขึ้นขององค์กรกำกับดูแลสื่อที่เป็นอิสระ ซึ่งการมีองค์กรเช่นนี้เป็นเรื่องดีและเป็นสิ่งสำคัญมาก
Aye Chan Naing ผู้อำนวยการบริหารและหัวหน้าบรรณาธิการ ดีวีบี มัลติมีเดีย กรุ๊ป (DVB Multimedia Group) ซึ่งเป็นสื่ออิสระในประเทศเมียนมาร์ระบุว่า ในเมียนมาร์ เสรีภาพสื่อมีความสัมพันธ์กับการเป็นเจ้าของสื่อ
เขากล่าวว่า ในการวิจัยที่องค์กรไม่แสวงหากำไรในเมียนมาร์ทำร่วมกับกลุ่มสำนักข่าว เพื่อดูการนำเสนอข่าวการเลือกตั้งในเมียนมาร์ พบว่า
สื่อที่รัฐบาลเป็นเจ้าของเน้นรายงานข่าวของฝ่ายรัฐบาล และรายงานข่าวของพรรคฝ่ายตรงข้ามน้อยมาก ขณะที่สื่อของกองทัพนำเสนอข่าวคราวของกองทัพและไม่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับพรรคฝ่ายตรงข้ามเลย ส่วนสำนักข่าวดีวีบีของ Naing เอกนั้น นำเสนอข่าวจากหลายฝ่าย โดยนำเสนอข่าวของฝ่ายรัฐบาลประมาณร้อยละ 38 ของทั้งหมด
เขาสรุปว่า ผลสำรวจดังกล่าวสรุปได้ว่า สื่อส่วนใหญ่เลือกข้างทางการเมือง และมีสื่อจำนวนน้อยที่นำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง สื่อส่วนใหญ่ยังนำเสนอข่าวโดยไม่ตั้งคำถามด้วย
ส่วนการเสพสื่อใหม่บนอินเทอร์เน็ตนั้น เขาพบว่า มีความเปลี่ยนแปลงในช่องทางการเสพสื่ออย่างเห็นได้ชัด ในปี 2013 คนพม่าส่วนใหญ่เสพสื่อในโทรทัศน์เป็นจำนวนมากที่สูง ตามมาด้วยวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อมาในปี 2014 จำนวนผู้เสพสื่อทางอินเทอร์เน็ตกลับเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในขณะที่การเสพสื่ออื่นๆ ยังคงเท่าเดิม
ด้านสฤณี อาชวานันทกุล จากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าและประธานเครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุว่า ในประเทศไทย คำว่า “ความรับผิดชอบ” ของสื่อกินความกว้างมากเกินไป เช่น ในความหมายของนายกรัฐมนตรี ความรับผิดชอบของสื่อคือการช่วยสนับสนุนรัฐบาล สฤณีกล่าวว่า คำว่าความรับผิดชอบของสื่อในตอนนี้มักถูกใช้เพื่อทำลายเสรีภาพของสื่อ และเสนอให้เราไปใช้คำว่าจรรยาบรรณสื่อ (ethics) มากกว่า
เธอกล่าวว่า เธอเชื่อว่าผู้ที่ทำงานเป็นสื่อทุกคนรู้อยู่แล้วว่าจรรยาบรรณสื่ออยู่ที่ไหน เพียงแต่จะนำมาใช้หรือไม่เท่านั้น โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือตัวบรรณาธิการ
เธอกล่าวด้วยว่า สื่อเองก็อาจต้องโทษตัวเองเหมือนกัน ทุกวันนี้เราเห็นการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ หรือการที่สื่อเลี่ยงไปนำเสนอข่าวที่ไร้สาระมากขึ้น ทั้งนี้อาจด้วยแรงกดดันจากรัฐบาลหรือการลดต่ำลงของกำไร ทว่าแทนที่สื่อจะเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่ สื่อกลับเลี่ยงไปใช้วิธีแก้ปัญหาที่ง่ายกว่าดังที่เห็นแทน
ในตอนท้าย สฤณียังกล่าวถึงสถานการณ์เกี่ยวกับสื่อในประเทศไทยตอนนี้ด้วยว่า นอกจากสื่อดั้งเดิมแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลยังต้องการเข้ามาควบคุมสื่อออนไลน์ด้วย เห็นได้จากการออก ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล การมีแนวคิดจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ และการที่มีการพบว่าที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐเคยซื้อซอฟต์แวร์สอดแนมจากบริษัท แฮ็กกิงทีม (Hacking Team) เป็นต้น ทว่ารัฐบาลก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย เพราะอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นพื้นที่ที่ยากแก่การควบคุม