2015.11.30 23:02
องค์กรไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนล (Privacy International) เผยรายงานเชิงสืบสวนซึ่งพบว่า ไมโครซอฟท์ บริษัทไอทีสัญชาติสหรัฐ มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย พร้อมระบุว่า นี่เป็นตัวอย่างที่น่าตกใจว่าบริษัทตะวันตกไม่เพียงแต่ทำงานร่วมกับรัฐบาลที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน แต่ยังสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเองด้วย
รายงาน “เป็นผู้ตรวจสอบหรือสมรู้ร่วมคิด? รัฐบาลไทยบีบให้ธุรกิจอเมริกันสมรู้ร่วมคิดในการดำเนินคดีกับเสรีภาพการแสดงออก” (Compliant or complicit? Thai Government made American industry complicit in speech prosecution) โดยอีวา บลัม-ดูมองเตท์ (Eva Blum-Dumontet) เจ้าหน้าที่วิจัยขององค์กร ซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์ไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนลเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า โบรกเกอร์ชาวไทยรายหนึ่งได้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเผยแพร่ข่าวลือที่เกี่ยวกับพระอาการป่วยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งเมื่อปี 2552 รัฐบาลกล่าวหาว่าข่าวลือนี้เป็นสาเหตุทำให้หุ้นไทยตก เขาถูกแจ้งข้อหากระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโพสต์ “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” ไพรเวซีฯ ระบุว่า วลี “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” เป็นคำที่กว้างเกินไปและถูกนำมาใช้เอาผิดในคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออกที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์หลายคดี
รายงานระบุว่า คดีนี้แสดงให้เห็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงของกระบวนการสืบสวนอาชญากรรมในประเทศไทย ปัญหาข้อแรกคือ การตัดสินเอาผิดจำเลยในคดีนี้ตั้งอยู่บนความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับหมายเลขไอพีหรือหมายเลขซึ่งบ่งชี้อุปกรณ์ที่กำลังเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต โดยในทางเทคนิคแล้ว หมายเลขดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยันตัวอุปกรณ์ได้ เนื่องจากมันไม่ใช่หมายเลขประจำตัวอุปกรณ์และอุปกรณ์หลายอันก็สามารถมีหมายเลขไอพีเดียวกันได้ นอกจากนี้ ในทางทฤษฎีแล้วอุปกรณ์ที่ว่าก็สามารถถูกใช้โดยใครก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีนี้ คอมพิวเตอร์ที่ออฟฟิศของจำเลยไม่มีรหัสผ่านป้องกัน
ข้อสอง จากการสืบสวน คดีนี้แสดงให้เห็นว่าไมโครซอฟท์มีบทบาทสำคัญ โดยเป็นผู้มอบเอกสารหลักที่ใช้เอาผิดโบรกเกอร์คนดังกล่าว
ไพรเวซีฯ ระบุต่อว่า คดีนี้มีเอกสารสำคัญ 3 ฉบับ และหนึ่งในนั้นคือจดหมายจากไมโครซอฟท์ ซึ่งเปิดเผยหมายเลขไอพีที่เกี่ยวข้องกับบัญชีอีเมลซึ่งเชื่อมกับการเผยแพร่ข้อความหมิ่นข้างต้น แม้ว่าจดหมายจะไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรมากไปกว่าการเปิดเผยหมายเลขไอพีซึ่งใช้ในการเข้าถึงบัญชีอีเมล แต่ข้อมูลดังกล่าวก็เป็นหลักฐานหลักที่ใช้เอาผิดจำเลย มันถูกใช้เป็นหลักฐานเพื่อค้านข้อต่อสู้ของชายคนนี้
รายงานเขียนไว้ว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ในเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งระบุถึงข้อกังวลถึงการนำเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้อ้างเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง จึงเป็นเรื่องน่าวิตกอยางยิ่งที่ไมโครซอฟท์ส่งมอบหลักฐานที่ใช้เอาผิดใครสักคนภายใต้กฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลและรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ
ไพรเวซีฯ ระบุว่า องค์กรได้พยายามติดต่อไปยังไมโครซอฟท์ประเทศไทยเพื่อสอบถามว่าข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่บริษัทจะส่งมอบข้อมูลให้หรือไม่ ไพรเวซีไม่ได้รับคำตอบจากไมโครซอฟท์ประเทศไทย องค์กรจึงสอบถามไปยังไมโครซอฟท์สหรัฐอเมริกา หลังจากการส่งอีเมลไปมาและขอข้อมูลหลายครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 ถึงกุมภาพันธ์ 2558 ไพรเวซีก็ไม่ได้รับข้อมูลใดๆ จนเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่เพิ่งผ่านมา ที่ไพรเวซีฯ ได้รับจดหมายตอบจากไมโครซอฟท์ (ดูจดหมายของไมโครซอฟท์)
จดหมายระบุว่า บริษัทเพียงแต่ทำตามคำขอที่ถูกกฎหมาย และคำขอดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย ทั้งยังเป็นคำขอข้อมูลที่เจาะจงผู้ใช้ พร้อมระบุด้วยว่า บริษัทให้ความร่วมมือในการสืบสวนบัญชีอีเมลที่ถูกแจ้งว่าใช้ในการละเมิดกฎหมายไทย จากการแพร่กระจายข้อมูลเท็จซึ่งส่งผลลบต่อตลาดหุ้น
รายงานให้ความเห็นว่า เป็นที่รู้กันว่าคำร้องขอข้อมูลข้ามพรมแดนนั้นเป็นไปเพื่อหาตัวผู้ก่อการร้ายหรืออาชญากรที่มีการจัดตั้งในคดีร้ายแรง อีวา บลัม-ดูมองเตท์ ผู้เขียนรายงานกล่าวว่า การ “เผยแพร่ข้อความเท็จ” เรียกว่าเป็นอาชญากรรมตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ในกรณีนี้ไม่โครซอฟท์ส่งมอบข้อมูลอ่อนไหวของผู้ใช้ให้กับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่รู้ว่าการสืบสวนในคดีนี้ไม่เกี่ยวกับการก่อการร้ายหรืออาชญากรรมร้ายแรง แต่เป็นเพียงคดีของ “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” ที่ทำให้หุ้นตก และคิดว่าบริษัทกำลังช่วยเหลือการสืบสวนในเรื่องดังกล่าว ทั้งที่จริงแล้วบริษัทกำลังช่วยเหลือการฟ้องร้องคดีที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต่างหาก
เธอกล่าวด้วยว่า “เมื่อสิบปีที่แล้ว รัฐบาลจีนได้ขอข้อมูลหมายเลขไอพีที่เกี่ยวข้องกับบัญชีอีเมลนิรนามจากบริษัทยาฮู (Yahoo!) บัญชีอีเมลนี้ถูกใช้ส่งรายการคำสั่งเซ็นเซอร์จากเว็บไซต์ Asia Democracy Forum ก่อนวันครบรอบเหตุการณ์ประท้วงที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ยาฮูทำตามคำขอและเปิดเผยหมายเลขไอพีซึ่งผูกอยู่กับหนังสือพิมพ์ที่ชื่อหูหนาน (Hunan) ชี่เต๋า (Shi Tao) นักข่าวซึ่งทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์แห่งนั้นถูกจับกุมและจำคุก 10 ปี ในตอนนั้น ยาฮูถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการทำตามคำขอของรัฐบาลจีน ข้อแก้ตัวของยาฮูคือ บริษัทไม่ได้ตระหนักถึงเหตุผลที่แท้จริงของการดำเนินคดีต่อชี่เต๋า”
“มันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างสิ้นเชิงหลังจากที่ 10 ปีผ่านไป บรรษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาอีกแห่งจะทำตามคำขอตามกฎหมายอย่างไม่ลืมหูลืมตาจากระบอบที่ปกครองอย่างกดขี่”
อีวาระบุว่า เธอเห็นด้วยกับการที่บรรษัทต่างๆ ทำตามกฎหมายของแต่ละรัฐ ทว่าการกระทำเช่นนั้นต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ซึ่งในคดีนี้ สิทธิดังกล่าวคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
บริษัทเน็ตยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ กับแนวทางต่อประเทศไทย
ท้ายรายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า บริษัทที่ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตในสหรัฐฯ มีแนวทางต่างกันไปในการดำเนินการเกี่ยวกับประเทศไทย ในปี 2557 รายงานความโปร่งใสของกูเกิลเปิดเผยว่า บริษัทได้ปฏิเสธทุกคำขอข้อมูลผู้ใช้จากรัฐบาลไทย ในทางตรงข้าม รายงานความโปร่งใสของไมโครซอฟท์เผยให้เห็นว่าบริษัทให้ข้อมูลร้อยละ 89 ของคำขอของรัฐบาลในครึ่งแรกของปี 2557 และในครึ่งหลังของปีเดียวกัน รายงานระบุว่าไมโครซอฟท์ปฏิเสธคำขอร้อยละ 30 ของคำขอทั้งหมดที่ได้รับ
รายงานระบุว่า เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยพยายามเข้าหาบริษัทอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ของตะวันตก ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กสทช. ได้เชิญผู้แทนจากเฟซบุ๊กมาพูดคุยประเด็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและขอให้บริษัทช่วยรัฐบาลในการจัดการกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นฯ เฟซบุ๊กปฏิเสธคำเชิญดังกล่าวโดยอ้างว่าตัวแทนของบริษัทไม่ว่าง
รายงานทิ้งท้ายว่า บริษัทเอกชนมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบริษัทเหล่านี้ได้รับคำร้องขอภายใต้กฎหมายให้ส่งมอบข้อมูล ทั้งๆ ที่กฎหมายนั้นๆ เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิความเป็นส่วนตัว หรือสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไพรเวซีอินเทอร์เนชันแนลเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้ปฏิเสธคำขอดังกล่าวจากรัฐบาลทหารของไทย และให้สร้างกฎที่ชัดเจนที่จะกำกับว่าบริษัทจะให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลอย่างไรและเมื่อใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนั้นจะเป็นรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่
ปอท.ระบุ ไมโครซอฟท์ให้ความร่วมมือดี ต่างจากเฟซบุ๊ก-กูเกิล
เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล ได้เคยให้ข้อมูลไว้เช่นกันระหว่างบรรยายสาธารณะว่าด้วยหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์และการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางดิจิทัลหัวข้อ “พยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ในรัฐ” เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2558 ว่า ที่ผ่านมา หากเจ้าหน้าที่ขอข้อมูลไปยังผู้ให้บริการต่างชาติ ไมโครซอฟท์ให้ความร่วมมือค่อนข้างดี เมื่อเปรียบเทียบกับเฟซบุ๊กและกูเกิล
เขากล่าวด้วยว่า บริษัทลูกของเฟซบุ๊กและกูเกิลที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยใช้เทคนิคจดทะเบียนเป็นบริษัทด้านการตลาด ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายไทยจึงไม่สามารถบังคับให้ 2 บริษัทนี้เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการกับเจ้าหน้าที่ได้
ที่มา
- Privacy International investigation exposes the role of Microsoft in Thailand human rights abuse case
- Compliant or complicit? Thai Government made American industry complicit in speech prosecution by Eva Blum-Dumontet
Tags: Computer-related Crime Act, Facebook, freedom of expression, Google, human rights, lese majeste, Microsoft, privacy, Privacy International, transparency report