Thai Netizen Network

“วันหน้าเราจะครองอินเทอร์เน็ต” เยาวชนใช้ช่วงเปิดไมค์ร้องให้ IGF เปิดกว้างต่อคนรุ่นใหม่

พินดา พิสิฐบุตร รายงาน

ทิ้งท้ายเวทีการอภิบาลอินเทอร์เน็ตโลก (IGF 2015) ฟรีดอมเฮาส์อ่านแถลงการณ์เสนอให้ต่ออายุเวที IGF เยาวชนระบุ IGF ยังเปิดให้เยาวชนมีส่วนร่วมไม่มากพอ ตัวแทนแอฟริการะบุ ขออย่าพูดแทนประเทศกำลังพัฒนา “แอฟริกาก็มีเสียงเหมือนกัน”

ตัวแทนคณะผู้แทนฟรีดอมเฮาส์อ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม ช่วงเปิดไมโครโฟนก่อนพิธีปิด IGF 2015

13 พ.ย.58 – สิ้นสุดเวทีระดับโลกว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Governance Forum – IGF) ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9-13 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ประเทศบราซิล

ในช่วงเปิดไมโครโฟนให้มีการแสดงความเห็นก่อนพิธีปิดงานประชุม Demba Kandeh นักข่าว บล็อกเกอร์ และนักวิจัยจากประเทศแกมเบีย ตัวแทนคณะผู้แทนฟรีดอมเฮาส์ออกมาอ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม ซึ่งมีเนื้อหาว่า คณะผู้แทนฟรีดอมเฮาส์เชื่อว่าเวทีว่าด้วยการอภิบาลอินเทอร์เน็ต (IGF) เป็นเวทีที่เหมาะสมสำหรับการถกเถียงเรื่องอนาคตของอินเทอร์เน็ต การทำให้อินเทอร์เน็ตเปิดกว้าง เป็นสากล และปลอดภัย จำเป็นที่จะต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

แถลงการณ์ระบุว่า การจัดทำรายงานเสรีภาพเน็ตปี 2015 (Freedom of the Net) โดยฟรีดอมเฮาส์ซึ่งทำการวิเคราะห์ประเทศจำนวน 65 ประเทศพบว่า สถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตได้ลดต่ำลงทั่วโลกเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน

คณะผู้แทนเสนอว่า ให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติขยายวาระการจัดงาน IGF ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคมปีนี้ และให้เพิ่มพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมให้มากขึ้น ข้อมูลจากภาคประชาสังคมมีความสำคัญ มันทำให้นักเทคโนโลยี ภาคธุรกิจ และรัฐบาลเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตว่าถูกใช้งานอย่างไร ภาคประชาสังคมยิ่งมีบทบาทสำคัญขึ้นไปอีกเมื่อพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศกำลังพัฒนาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทั้งออนไลน์และออฟไลน์

คณะผู้แทนยังเรียกร้องให้มีมาตรฐานที่เป็นสากลในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน วิธีการที่ใช้ในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตควรเป็นไปตามมาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น ตามข้อ 19 และข้อ 20 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ที่การันตีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นส่วนตัว และสิทธิในการชุมนุม

“We need to be heard”

ถัดมา เยาวชนผู้ร่วมงานคนหนึ่งได้กล่าวในช่วงเปิดไมโครโฟนว่า งาน IGF ในครั้งนี้ไม่เอื้อให้เยาวชนมีส่วนร่วมนัก โดยเฉพาะในเวทีต่างๆ บางครั้งเยาวชนพยายามลุกขึ้นถามคำถาม แต่ผู้เข้าร่วมก็ไม่ได้ใส่ใจและบางครั้งก็ไม่ตอบคำถามของพวกเขา เมื่อวันก่อนหน้านี้ มีเวทีที่พูดถึงเรื่องของเยาวชน ทว่าเวทีไม่ได้เปิดให้เยาวชนนั่งเป็นผู้ร่วมอภิปรายเลย “เมื่อเราบ่น เขาบอกว่าให้ไปบนระบายในเฟซบุ๊กสิ”

เธอกล่าวว่า “พวกเราคืออนาคตของ IGF เรามีหลายสิ่งที่อยากจะพูด แต่เราต้องเก็บเงียบเอาไว้ เราไม่ได้มาเพื่อให้พวกคุณเห็นเราเดินไปมาตามทางเดิน เรามาที่นี่เพื่อให้คนจะได้ยินเสียงของเรา”

เยาวชนอีกคน ซึ่งเป็นสมาชิกเยาวชนเวทีการอภิบาลอินเทอร์เน็ตกล่าวคล้ายกัน พร้อมเสนอเพิ่มเติมว่า รูปแบบเวทีครั้งนี้ไม่ควรจัดในรูปเดียว คือการมีแผงโต๊ะของผู้อภิปราย แต่ควรมีรูปแบบการเสวนาโต๊ะกลมและเวทีโต้วาทีด้วย นอกจากนี้ งานควรมีกิจกรรมเสริมสร้างทักษะและความรู้ความเข้าใจในการอภิบาลอินเทอร์เน็ตมากกว่านี้ เธอกล่าวว่า การเชื่อมโยงเยาวชนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกก็สำคัญเช่นกัน เธอจบประโยคไว้ว่า เรามาร่วมเวที IGF ในครั้งนี้ “เพราะเราใส่ใจ”

สมาชิกกลุ่มเยาวชนอีกคนจากประเทศปากีสถานเห็นคล้ายกันว่าควรมีการเพิ่มบทบาทเยาวชนในเวที IGF “พรุ่งนี้หรือวันข้างหน้า เราจะเข้าครอบครองอินเทอร์เน็ต เราจะมาแทนที่พวกคุณ แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น เราต้องการประสบการณ์และความรู้ที่พวกคุณมี”

“Africa too has a voice”

ด้านตัวแทนภาคประชาสังคมจากแอฟริกาตะวันออกกล่าวว่า ในเวที IGF ครั้งนี้ มีหลายคนที่พยายามจะพูดแทนประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เรื่อง zero rating สิ่งที่เธอเรียกร้องคือการมีกลุ่มอภิปรายที่มีสมดุลกว่านี้ โดยเมื่อวันก่อนหน้าในห้องประชุมใหญ่มีการพูดถึง zero rating ผู้อภิปรายทั้ง 15 คนไม่มีเลยสักคนที่เป็นตัวแทนจากแอฟริกา ทั้งๆ ที่ในงานนี้มีตัวแทนจากแอฟริกาหลายคนที่มีความรู้ความเข้าใจและสามารถพูดเป็นตัวแทนของแอฟริกาได้

“ได้โปรดอย่าพูดแทนเรา แอฟริกาก็มีเสียงเหมือนกัน”

ผู้ร่วมงานอีกคนกล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นของงานประชุม มีผู้ประท้วงได้ถูกนำตัวออกจากห้องอภิปราย ขณะกำลังประท้วงโครงการ internet.org ของเฟซบุ๊ก เขากล่าวว่า เรามาที่เพื่อพูดเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่เสรีและเปิดกว้าง ถ้าคุณไม่สามารถพูดหรือแสดงความเห็น เราจะได้อะไรจากการอภิปรายในเวทีนี้

ด้วยกำหนดการที่จัดให้ช่วงเปิดไมค์มีเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง และเมื่อจำนวนผู้ต้องการกล่าวก่อนพิธีปิดต่อแถวเพื่อพูดมากขึ้น Hartmut Glaser คณะอำนวยการอินเทอร์เน็ตแห่งบราซิล หนึ่งในผู้จัดงานและผู้ดำเนินรายการพิธีปิด IGF จึงระบุให้แต่ละคนพูดไม่เกิน 1 นาที “เรามีกำหนดการที่วางไว้แล้ว เราได้เชิญตัวแทนรัฐบาลหลายคนซึ่งมานั่งอยู่ในห้องนี้ เรามีข้อจำกัดด้านเวลา”

“เราไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนว่าจะได้มาเห็นคนจำนวนมากมายืนต่อแถวยาวเพื่อแสดงความเห็นต่อเวที IGF ด้วยเวลาที่จำกัด ได้โปรดหยุดเดินมาต่อแถว”

เมื่อไม่เป็นผล Glaser จึงเลือกคนเพียงอีกคนเดียวของแต่ละแถวเป็นผู้พูดคนสุดท้าย

Carlos Brito ผู้อำนวยการฝ่ายขับเคลื่อนขององค์กร R3D จากประเทศเม็กซิโกกล่าวในช่วงเปิดไมค์เป็นคนสุดท้ายว่า งาน IGF ครั้งหน้าจะจัดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโก “ขอผมเล่าให้คุณฟังหน่อยว่าสถานที่แบบไหนที่คุณกำลังจะไปในปีหน้า”

เขากล่าวว่า เม็กซิโกเป็นประเทศที่ผู้กระทำผิดร้อยละ 90 ได้รับการนิรโทษกรรม มีการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติ มันเป็นที่ที่ใน 15 ปีที่ผ่านมา มีนักข่าวมากกว่าหนึ่งร้อยคนถูกฆ่าตาย และมี 21 คนสูญหาย ภายในปีนี้ปีเดียวนักข่าว 8 คนถูกคร่าชีวิต

“เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศที่ซื้อเครื่องมือสอดแนมจากบริษัทแฮกกิงทีม (Hacking Team) ซึ่งผู้ซื้อคือรัฐบาลที่ได้ส่งตัวแทนมานั่งอยู่ในทีนี้ด้วย”

Carlos กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมในเม็กซิโกที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตกำลังตื่นขึ้น และพวกเขายินดีที่จะได้ต้อนรับพวกคุณ

“นี่เป็นหนึ่งในบทเรียนที่เราจะนำไปปรับปรุงสำหรับการจัด IGF ในเม็กซิโกปีหน้า นั่นคือการขยายเวลาช่วงเปิดให้แสดงความคิดเห็นพิธีปิดการประชุม” พิธีกรบนเวทีกล่าวก่อนจบช่วงเปิดไมค์

Exit mobile version