“ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership – TPP) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ จะมีผลกระทบต่ออินเทอร์เน็ต การเข้าถึงความรู้ และความเป็นส่วนตัวอย่างไร มาฟังกัน
เช้าวันนี้ (13 ต.ค.58) มีการจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership – TPP) หรือทีพีพี ในชื่องานว่า “ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิก ‘ทีพีพี’ หรือไม่?” จัดโดยสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและภาคีเครือข่าย ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
ทีพีพีและผลกระทบต่อลิขสิทธิ์ (copyright)
ช่วงหนึ่งของงาน มีการพูดถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในความตกลงดังกล่าวโดยอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต อาทิตย์พูดถึงประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ (ลิขสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินทางปัญญา) ที่จะได้รับผลกระทบจากความตกลงทีพีพี โดยหากรัฐบาลไทยเข้าร่วมในความตกลงนี้ ก็ย่อมจะกระทบต่อผู้ใช้เน็ตชาวไทยทุกคนด้วย
อาทิตย์กล่าวว่า “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership – TPP) หรือทีพีพี จะขยายอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้ยาวนานขึ้น โดยงานที่สร้างสรรค์โดยบุคคลจะขยายการคุ้มครองลิขสิทธิจาก 50 ปีเป็น 70 ปีหลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต ขณะที่ในกรณีผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล จะขยายอายุความคุ้มครองจาก 50 ปีหลังจากที่งานนั้นถูกสร้างสรรค์ขึ้น เป็น 70 ปี แล้วแต่เงื่อนไข (แล้วแต่เงื่อนไขในที่นี้คือ ถ้าสร้างสรรค์งานแล้วยังไม่ได้เผยแพร่ จะคุ้มครองลิขสิทธิ์ 70 ปีหลังการเผยแพร่ แต่ถ้ายังไม่มีการเผยแพร่ภายใน 25 ปี ให้นับการคุ้มครอง 70 ปีนับแต่วันที่มีการสร้างสรรค์ หรือพูดได้ว่า ในกรณีนิติบุคคล อายุลิขสิทธิ์อาจนานได้ถึง 95 ปี)
อาทิตย์กล่าวว่า การขยายอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานให้ยาวนานออกไปจะส่งผลต่อการเข้าถึงความรู้ เขายกตัวอย่างบรรดา “งานกำพร้า” เช่น งานวิชาการที่ไม่สามารถหาเจ้าของผู้สร้างสรรค์งานได้แล้วว่า การไม่สามารถหาเจ้าของได้ทำให้มีเพียงทางเดียวเท่านั้นที่จะสามารถนำงานวิชาการนั้นมาใช้ นั่นก็คือ การรอให้งานดังกล่าวหมดอายุลิขสิทธิ์ลง และในกรณีทีพีพี การรอคอยนั้นก็จะยิ่งนานขึ้นไปอีก อันจะส่งผลให้การเข้าถึงความรู้และการต่อยอดองค์ความรู้จากเดิมทำได้ช้าลง
อาทิตย์กล่าวต่อว่า ประเทศนิวซีแลนด์และญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ใน 12 ประเทศแรกเริ่มที่เจรจาความตกลงทีพีพีไม่เห็นด้วยในเรื่องการขยายอายุการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยสองประเทศนี้มองว่าการขยายอายุดังกล่าว สุดท้ายแล้วผลประโยชน์จะไม่ได้ตกอยู่กับศิลปินหรือผู้สร้างสรรค์งาน แต่จะไปอยู่กับบริษัทจัดเก็บรายได้ (เช่น บริษัทธุรกิจเพลง บริษัทโฆษณา) มากกว่า
อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เนื่องจากนิวซีแลนด์และญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม 12 ประเทศแรกที่ร่วมเจรจาทีพีพี ทำให้สองประเทศนี้สามารถเจรจาเพื่อให้ยกเว้นการบังคับใช้เนื้อหาส่วนนี้ในประเทศตนได้ แต่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 12 ประเทศข้างต้น ไทยจึงเลือกได้แค่จะรับหรือไม่รับความตกลงทีพีพีเท่านั้น
การใช้งานโดยชอบธรรม (fair use)
อาทิตย์กล่าวว่า เนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ในทีพีพีส่วนใหญ่นำมาจากกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกา (Digital Millennium Copyright Act – DMCA ซึ่งมีข้อครหามากว่าไม่ยืดหยุ่นและล้าสมัย) แต่ไม่ได้นำข้อยกเว้นของการใช้งานโดยชอบธรรม (fair use) ใน DMCA มาด้วย เขาเป็นห่วงว่า จุดนี้จะทำให้งานเชิงล้อเลียน (parody) เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ทำไม่ได้
อาทิตย์ยกตัวอย่างงานเชิงล้อเลียนเพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพ เช่น นักเขียนการ์ตูนการเมืองต้องการนำโลโก้ของกูเกิลมาเขียนการ์ตูนล้อเลียนเพื่อต้องการวิพากษ์วิจารณ์บริษัท โดยปกติแล้วการนำงานมาล้อเลียนเช่นนี้จะตกอยู่ภายใต้กฎการใช้งานโดยชอบธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ภายใต้ความตกลงทีพีพี การกระทำแบบนี้จะทำไม่ได้
เทียบ ความตกลงทีพีพีกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2558
อาทิตย์ได้พูดถึงพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2558 ของไทยที่เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อไม่นานมานี้ว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวได้เพิ่มเติมเนื้อหา “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” (Rights Management Information) และ “มาตรการทางเทคโนโลยี” (Technological Measures) เข้ามา โดยกำหนดให้ผู้ใดทำการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ หลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี หรือให้บริการเพื่อก่อให้เกิดการหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ
อนึ่ง ข้อมูลการบริหารสิทธิหรือมาตรการทางเทคโนโลยีคือ เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่จะจำกัดการใช้งานงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เช่น ซอฟต์แวร์ในดีวีดีที่จำกัดโซนการเล่น ทำให้แผ่นดีวีดีที่เราซื้อในสหรัฐฯ ไม่สามารถนำมาเล่นในประเทศไทยได้ เป็นต้น
อาทิตย์ชี้ว่า ซอฟต์แวร์หรือมาตรการทางเทคโนโลยีเช่นนี้ทำได้มากกว่าการบริหารสิทธิ แต่มันสามารถเก็บข้อมูลผู้ใช้ สามารถตรวจดูได้ว่าในอุปกรณ์ของผู้ใช้มีซอฟต์แวร์อื่นใดบ้าง และนี่เป็นปัญหาว่า แล้วผู้บริษัทที่ได้ข้อมูลเหล่านั้นไปจะทำอะไรกับมัน
อย่างไรก็ตาม อาทิตย์กล่าวว่า ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ่ของไทยมีข้อยกเว้นไว้ว่า หากมาตรการบริหารสิทธินั้นกระทบหรือละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ ผู้ใช้ก็สามารถระงับการทำงานของมาตรการนั้นได้ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ความตกลงทีพีพีจะยกเลิกข้อยกเว้นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคข้อนี้ออกไป
“กฎหมายไทยให้ความคุ้มครองเรา แต่ทีพีพีอาจเอาความคุ้มครองนี้ออก”
ผลกระทบอื่นๆ
อาทิตย์ยังได้กล่าวถึงผลกระทบอื่นๆ ของเนื้อหาเรื่องลิขสิทธิ์ที่อยู่ในความตกลงทีพีพีไว้ ดังต่อไปนี้
- เครื่องจักรทุกอย่างในปัจจุบันถูกควบคุมโดยซอฟต์แวร์ ซึ่งซอฟต์แวร์ทั่วไปจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้ว ความตกลงทีพีพีกำหนดไว้ว่า หากมีความพยายามแก้ไขหรือดัดแปลงซอฟต์แวร์เหล่านั้น ผู้กระทำก็จะมีความผิดตามไปด้วย ซึ่งในความเป็นจริง การซ่อมเครื่องจักร บางครั้งมีความจำเป็นที่ช่างจะต้องเข้าไปแก้ไขตัวซอฟต์แวร์ โดยหากการทำเช่นนี้ถือว่ามีความผิด ในอนาคต บริษัทอาจไม่สามารถซ่อมเครื่องจักรเองได้ แต่ต้องซ่อมกับผู้ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของแล้วเท่านั้น
- ความตกลงทีพีพียังบังคับให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP ต้องรับผิดไปด้วยหากถูกตรวจพบว่ามีเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ เว้นเสียแต่ว่าผู้ให้บริการได้ดำเนินการเพื่อเป็นการป้องกันแล้ว การที่ผู้บริการจะต้องรับผิดตามไปด้วยเป็นการบังคับ “อย่างกลายๆ” ให้ผู้ให้บริการต้องตรวจตราเนื้อหาของผู้ใช้ ซึ่งนี่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
- ความตกลงทีพีพียังมีเรื่องการคุ้มครองความลับทางการค้า ซึ่งเขียนไว้กว้าง ทั้งยังกำหนดให้ผู้ที่เปิดเผยข้องมูลความลับทางการค้าต้องโทษอาญา ซึ่งข้อกำหนดนี้ไม่ได้ยกเว้นให้กับนักข่าวหรือผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากล (whistleblower) ส่งผลให้การเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลทำไม่ได้ หากข้อมูลนั้นถือเป็นความลับทางการค้าหรือถูกตีความว่าเป็นความลับทางการค้า หรือหากนำข้อมูลนี้มาเปิดโปง คนเหล่านี้ก็จะต้องรับผิดทางอาญา
ในงานแถลงข่าวยังมีการพูดถึงผลกระทบของความตกลงทีพีพีต่อเรื่องต่างๆ อาทิ ผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการสาธารณสุข ความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรกรรมของไทย ผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงความตกลงทีพีพีในตอนท้ายว่า เราไม่ควรพูดว่าจะเข้าร่วมความตกลงทีพีพีหรือไม่ จนกว่าเราจะศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด
“เนื่องจากความตกลงทีพีพีจะส่งผลกระทบกว้างขวางในหลายเรื่อง และที่ผ่านมา ผู้ที่ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ก็มักจะให้ข้อมูลแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ฉะนั้น หากรัฐบาลยังไม่ข้อมูลไม่ครบ อย่าเพิ่งตัดสินใจ” เธอกล่าว
อนึ่ง ที่ผ่านมา ข้อตกลงทีพีพียังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าไม่มีความโปร่งใส กระบวนการทั้งหมดในการร่างไม่เปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วม และทั้งหมดทำอย่างเป็นความลับ — และที่แย่กว่านั้นในกรณีของประเทศไทยก็คือ เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศริเริ่ม จึงไม่มีสิทธิเจรจาต่อรองใดๆ ประเทศไทยเลือกได้แค่ว่า จะเข้าร่วมหรือไม่เท่านั้น แก้ไขเงื่อนไขสนธิสัญญาใดๆ ไม่ได้เลย
โดยเมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดา สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน เม็กซิโก เปรู ชิลี เพิ่งบรรลุข้อตกลงดังกล่าว
อ่านเพิ่มเติม
- ข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงทางการค้า TPP โดยมูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ [หมายเหตุ เครือข่ายพลเมืองเน็ตเคยแปลเอกสารข้างต้นไว้แล้ว (ข้อตกลงการค้า TPP คืออะไร? มาเกี่ยวอะไรกับอินเทอร์เน็ต โดจิน และคอสเพลย์?) แต่เนื้อหาใน TPP ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ฉะนั้นเนื้อหาที่เราแปลไว้จึงไม่อัปเดตเท่าต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เขียนโดย EFF]