Thai Netizen Network

งานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานเสรีภาพเน็ต 2015 เขาคุยอะไรกัน

ค่ำวานนี้ (28 ต.ค.58) ฟรีดอมเฮาส์จัดแถลงข่าวเปิดตัวรายงานเสรีภาพเน็ตประจำปี 2558 (Freedom on the Net 2015) ณ สำนักงานกูเกิลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เครือข่ายพลเมืองเน็ตสรุปบางประเด็นที่มีการพูดถึงในงานมาให้อ่านกัน

ช่วงต้นของงาน สมาชิกวุฒิสภา ไบรอัน ชวาตซ์ (Brian Schatz) คณะอนุกรรมการการสื่อสาร เทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตของสหรัฐอเมริกา ขึ้นกล่าวบนเวที โดยระบุว่า ขณะที่จำนวนผู้ใช้เน็ตเพิ่มสูงขึ้น การปิดกั้นเนื้อหาและการสอดแนมออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ รัฐบาลในหลายประเทศก็กำลังกดดันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและบริษัทเอกชนให้ลบเนื้อหาจำนวนมากที่รัฐเห็นว่าไม่เหมาะสมออกจากอินเทอร์เน็ต

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงการสอดแนมเพื่อความมั่นคงของชาติกับความเป็นส่วนตัว เราต้องไม่หลงติดกับดักความคิดที่ว่า ทั้งสองสิ่งนี่อยู่ตรงข้ามกัน ชวาตซ์บอกว่า ในทางปฏิบัติแล้ว 2 สิ่งนี้สามารถอยู่คู่กันได้ โดยการสอดแนมต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นไปตามหลักนิติธรรมและกระบวนการทางกฎหมาย มิฉะนั้นแล้ว สิ่งที่รัฐทำจะกลายเป็นการกระทำอย่างลับๆ

ทิศทางเสรีภาพเน็ต 2015

ด้านซอนยา เคลลี (Sanja Kelly) ผู้อำนวยการโครงการของฟรีดอมเฮาส์มาพูดถึงภาพรวมของรายงานในครั้งนี้ โดยระบุว่า จากคนจำนวนกว่า 3 พันล้านคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 61 อยู่ในประเทศที่ปิดกั้นไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทหาร หรือผู้ปกครอง

ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2014 คนกว่าร้อยละ 47 อาศัยอยู่ในประเทศที่บุคคลถูกโจมตีหรือฆ่าจากกิจกรรมที่พวกเขาทำออนไลน์

ร้อยละ 58 อาศัยอยู่ในประเทศที่บล็อกเกอร์หรือผู้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารถูกจำคุกจากการแชร์เนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมือง สังคม และศาสนา

ร้อยละ 47 อาศัยอยู่ในประเทศที่มีการลงโทษผู้ที่ออกมากล่าวโทษรัฐบาลหรือธุรกิจในเรื่องการคอร์รัปชั่น หรือมิฉะนั้นความพยายามดังกล่าวก็ต้องถูกเก็บกดไว้

เธอยังได้ยกตัวอย่างว่า ตำรวจในบางประเทศใช้วิธีการแบบ “ดั้งเดิม” นั่นคือ มาพร้อมกับปืนในมือและเดินไปเคาะประตูบ้านเพื่อให้บุคคลลบเนื้อหาบางอย่างออกจากอินเทอร์เน็ต เนื่องจากวิธีการแบบ “ดั้งเดิม” เหล่านี้ใช้ได้ผล

ในบางประเทศ เช่น ตุรกี บางคนถูกคุมขังเพียงเพราะเขาถูกพบว่ามีเครื่องมือเข้ารหัสอยู่ในคอมพิวเตอร์และเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า “ในเมื่อคุณไม่มีอะไรต้องซ่อน คุณจะใช้เครื่องมือเข้ารหัสทำไม”

ขณะที่ในอิหร่าน นักวาดการ์ตูนคนหนึ่งถูกสั่งจำคุก 12 ปี หลังจากการ์ตูนล้อเลียนรัฐบาลของเธอถูกแชร์ไปในเฟซบุ๊ก

เคลลีระบุด้วยว่า กระแสในตอนนี้ รัฐบาลหลายประเทศพยายามจะควบคุมและออกกฎหมายมาจำกัดการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เข้ารหัสมากขึ้น ส่วนประเด็นที่หลายประเทศหยิบยกขึ้นมาพูดมากขึ้นคือเรื่องสิทธิที่จะถูกลืม (The Right to be Forgotten) และความเป็นกลางทางเครือข่าย (Net Neutrality)

เธอปิดท้ายว่า ท่ามกลางเหตุการณ์ละเมิดสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้น เธอยังคงมีความหวังและมองโลกในแง่ดี เนื่องจากที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมบนพื้นที่อินเทอร์เน็ตมากขึ้นในหลายประเทศ และภาคเอกชนเองก็ดูจะก้าวเข้ามามีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชนบนอินเทอร์เน็ตด้วย

ฟังความเห็นจากฮิวแมนไรท์วอทช์และบก.นิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์

ด้านอีลีน โดนาโฮ (Eileen Donahoe) ตัวแทนจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Right Watch) กล่าวในงานว่า สิ่งที่เธอเห็นได้จากรายงานเสรีภาพเน็ตในปีนี้คือ ความพร่าเลือนระหว่างพรมแดนออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะจากหลายเหตุการณ์ที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกฆ่าหรือจับกุมจากกิจกรรมที่พวกเขาทำบนพื้นที่อินเทอร์เน็ต เธอเห็นด้วยว่า รัฐบาลกำลังพยายามจะใช้ธุรกิจและภาคเอกชนให้ช่วยในการสอดแนมมากขึ้น นอกจากนี้ เธอยังเห็นการขยายตัวของการสอดแนมมวลชนในหลายประเทศ

เธอย้ำถึงความสำคัญของความเป็นส่วนตัวในตอนท้ายด้วยว่า หากคุณรู้สึกว่าตัวเองถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา คุณก็จะรู้สึกกลัวและไม่รู้สึกมีอิสระที่จะพูด หรือไม่สามารถจะเดินทางไปที่ไหน หรือไปพบใครได้อย่างมีอิสระอีกต่อไป

ด้านแกดี แอปสไตน์ (Gady Epstein) บรรณาธิการนิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์ (The Economist) ซึ่งมาร่วมเป็นวิทยากรในงานดังกล่าวพูดถึงการระบบการสอดแนมในจีนว่า ในปัจจุบัน หลายประเทศกำลังพยายามนำเข้าเทคโนโลยีและวิธีการสอดแนมของจีน ไม่ว่าจะเป็นประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อียิปต์ หรือเอธิโอเปีย

อย่างไรก็ตาม จีนเป็นประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากมีตลาดอินเทอร์เน็ตภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริการอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศ จีนมีเฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิลในเวอร์ชั่นของตัวเอง นี่เป็นความท้าทายสำหรับประเทศเผด็จการอื่นๆ ที่ต้องการสอดแนมประชาชน เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีความพร้อมและศักยภาพอย่างที่จีนมี

สุดท้าย เมื่อมีคำถามจากผู้ร่วมงานว่าวิทยากรมองบทบาทของธุรกิจเอกชนกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้เน็ตอย่างไร ตัวแทนจากฮิวแมนไรท์วอทช์ตอบว่า ธุรกิจยังไม่รู้ว่าตัวเองมีพลังและความรับผิดชอบมากแค่ไหน ในยุคที่การเคลื่อนไหวของข้อมูลการสื่อสารข้ามพรมแดนประเทศมีจำนวนมาก และข้อมูลเหล่านี้ถูกควบคุมโดยเอกชน ภารกิจที่ว่าจะตกอยู่กับเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่างจากความเข้าใจเดิมๆ ที่เข้าใจกันว่าหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเป็นของรัฐบาลเท่านั้น

ด้านบรรณาธิการนิตยสาร ดิ อิโคโนมิสต์กล่าวว่า เราเห็นบางธุรกิจ เช่น เฟซบุ๊ก อยากจะเข้าไปลงทุนในประเทศอย่างจีน ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนอินเทอร์เน็ต ธุรกิจจำเป็นต้องเลือกระหว่างโอกาสใหม่ๆ กับการยังคงธำรงรักษาหลักการบางอย่างไว้

ในเรื่องนี้ ผู้อำนวยการโครงการจากฟรีดอมเฮาส์ให้ความเห็นว่า ทั้งนี้ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับโมเดลธุรกิจ โมเดลธุรกิจบางอย่างนั้นยืนอยู่บนความเชื่อมั่นของลูกค้า ถ้าบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจแบบนี้เข้าไปในประเทศอย่างจีนหรือรัสเซีย โมเดลธุรกิจแบบนี้ก็จะพัง

อ่านรายงานเสรีภาพเน็ตประจำปี 2558 ได้ที่ https://freedomhouse.org/report/freedom-net/freedom-net-2015

อ่านรายงานส่วนของประเทศไทย https://freedomhouse.org/report/freedom-net/2015/thailand

ชมย้อนหลัง งานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานเสรีภาพเน็ตประจำปี 2558

บทความที่เกี่ยวข้อง

Exit mobile version