“จุดประสงค์ของการทำซิงเกิลเกตเวย์คือการพยายามต่ออนาคตให้กับรัฐวิสาหกิจอย่าง กสท โทรคมนาคม (CAT) และทีโอที” สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความเห็นในเวที “Thailand’s Single Digital Gateway” ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ต่อกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์เพื่อควบคุมเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต
งานดังกล่าวจัดขึ้นวานนี้ (7 ต.ค.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondent’s Club of Thailand – FCCT) โดยตัวแทนจากกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) ยกเลิกการมาร่วมแสดงความเห็นในเวที หลังจากทราบว่าหัวข้อที่จะพูดคุยคือเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ ไม่ใช่เรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่เข้าใจในตอนแรก
โจนาธาน เฮด ประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยและผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทยกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สมาคมฯ จะได้ตัวแทนจากรัฐบาลมาพูดในที่นี้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นที่โต้แย้งกันอย่างมาก “เราได้ทราบว่า ทางกระทรวงไอซีทีไม่ต้องการพูดถึงเรื่องซิงเกิลเกตเวย์อีก แต่ยินดีที่จะพูดถึงคำว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมากกว่า”
ในฐานะตัวแทนจาก กสทช. สุภิญญากล่าวว่า โครงการซิงเกิลเกตเวย์ขัดแย้งกับปรัชญาของ กสทช. ที่สนับสนุนการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และการที่จะให้บริษัท กสท โทรคมนาคมและทีโอที (หากสององค์กรนี้มีการควบรวมกัน) ดูแลช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ก็จะทำลายบรรยากาศการแข่งขันและจะทำร้ายอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งระบบ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ารัฐบาลจะให้ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดูแลช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศดังกล่าว ดังที่ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. ได้เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย
สุภิญญากล่าวว่า การทำเช่นนี้จะตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการเป็นศูนย์กลางทางด้านดิจิทัลหรือดิจิทัล “ฮับ” (digital hub) ที่รัฐบาลต้องการจะทำ
เธอยังเห็นด้วยว่า โครงการดังกล่าวไม่น่าจะทำได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. 17 ราย ใบอนุญาตมีอายุ 15-20 ปี หากจะมีการทำซิงเกิลเกตเวย์ อาจหมายถึง ที่ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องหยุดให้บริการ ซึ่งก็คงเป็นฝันร้าย หรือไม่เช่นนั้น ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องมาอยู่ใต้เกตเวย์หนึ่งของรัฐ ซึ่งจะเป็นภาระที่เอกชนต้องจ่ายให้กับเกตเวย์รัฐ
สุภิญญาตอบคำถามผู้เข้าร่วมที่ถามว่ามีวิธีอื่นไหมที่จะรักษาความมั่นคงโดยไม่กระทบเศรษฐกิจของประเทศว่า อันดับแรกเราต้องนิยามคำว่า “ภัยต่อความมั่นคงของชาติ” เสียก่อน เพราะหากนิยามวลีดังกล่าวยังกว้างมากเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ลำบากที่จะหาแนวทางสร้างสมดุลดังกล่าวได้
สุภิญญาฝากคำแนะนำไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลอาจไปศึกษาแนวทางดังกล่าวจะประเทศเกาหลีใต้และเยอรมนี เนื่องจากรัฐบาลสองประเทศนี้สามารถกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต โดยที่ยังสามารถรักษาสิทธิมนุษยชนไว้ได้
เธอทิ้งท้ายไว้ว่า ที่จริงแล้ว สิ่งที่รัฐควรทำคือการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digital literacy) และทุ่มเทงบประมาณเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าวมากกว่าการใช้วิธีที่สุดขั้วเช่นนี้