Thai Netizen Network

ซิงเกิลเกตเวย์ “เป็นไปไม่ได้” ในทางกายภาพ

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศจัดเสวนาซิงเกิลเกิตเวย์ ผู้เชี่ยวชาญชี้ โครงการนี้ทำจริงไม่ได้ ทำลายเศรษฐกิจดิจิทัล

7 ต.ค. 2558 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) จัดเสวนาเรื่อง “Thailand’s Single Digital Gateway” ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย โดยตัวแทนจากกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร (ไอซีที) ยกเลิกการมาร่วมแสดงความเห็นในเวที หลังจากทราบว่าหัวข้อที่จะพูดคุยคือเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ ไม่ใช่เรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่เข้าใจในตอนแรก

ยิ่งชีพ-ปริญญา-สุภิญญา-ประสงค์ (ซ้ายไปขวา)”

ในเวที ปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นเนล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (cybersecurity) ชี้ว่า โครงการซิงเกิลเกตเวย์ที่จะจำกัดช่องทางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสู่ต่างประเทศให้เหลือช่องทางเดียวนั้น เป็น “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” โดยเฉพาะในทางกายภาพ

เขากล่าวด้วยว่า การต้องการควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีดังกล่าวยังใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากทุกวันนี้มีเทคโนโลยีในการหลบเลี่ยงมากมายเพื่อเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้น ปริญญายกตัวอย่างว่า ตอนที่ตนไปประเทศจีน ตนสามารถใช้บริการออนไลน์ทุกอย่างได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือกูเกิล (รัฐบาลจีนปิดกั้นบริการออนไลน์ทั้งสอง) เนื่องจากใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

“เราต้องการใครสักคนที่จะให้ความรู้กับรัฐบาลว่า สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้”

ปริญญากล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการควบคุมอินเทอร์เน็ตก็มีวิธีอื่นให้เลือกใช้ เพราะนอกจากจะปิดกั้นข้อมูลข่าวสารไม่ได้ผลแล้ว การทำซิงเกิลเกตเวย์เป็นสิ่งตรงข้ามกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลโดยสิ้นเชิง

ด้านประสงค์ เรืองศิริกูลชัย กรรมการบริหารสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตนขอมาพูดเรื่องนี้ในนามส่วนตัว โดยเห็นว่า การจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์จะเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เขายกตัวอย่างกรณีของประเทศลาว ที่พยายามจัดตั้งประตูเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศประตูเดียวที่ชื่อ “ออกประตูเดียว” ว่า รัฐบาลลาวพยายามดำเนินการดังกล่าวมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จเพราะบริษัทเอกชนไม่ยอมให้ทำเช่นนั้น

ประสงค์ยังเปรียบเทียบแนวคิดซิงเกิลเกตเวย์ของไทยกับวิธีการจำกัดจำนวนเกตเวย์ของประเทศจีนว่า แม้แต่รัฐบาลจีนก็ยังไม่อยากเสี่ยงกับการที่เกตเวย์ใดเกตเวย์หนึ่งล่ม สิ่งที่จีนทำจึงจัดตั้งเกตเวย์ 3 เกตเวย์ด้วย ได้แก่ ที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางเจา ไม่ใช่เกตเวย์เดียว

ในเชิงเศรษฐกิจ เขากล่าวว่า การทำซิงเกิลเกตเวย์จะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ และตรงข้ามกับที่ผ่านมาที่รัฐบาลพยายามโปรโมทนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล เขาย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น และต่อสายเคเบิลใต้น้ำออกจากประเทศให้มากขึ้นต่างหาก เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในอาเซียนแทนที่สิงคโปร์ เนื่องด้วยภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกว่า

ประสงค์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศในตอนท้ายที่ถามว่า เนื้อหาใดกันที่ทำให้รัฐบาลมีแนวคิดเช่นนี้ โดยกล่าวว่า ตนคิดว่าเนื้อหาที่รัฐต้องการปิดกั้นคือเนื้อหาที่ยั่วยุเยาวชน เนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 และเนื้อหาเชิญชวนนัดแนะให้มีการชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาล

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ให้ความเห็นว่า ในการควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตนั้น ปัจจุบันรัฐบาลมีเครื่องมือที่ทำเช่นนั้นได้อยู่แล้ว โดยใช้เฉพาะการใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในการปิดกั้นเว็บไซต์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจเห็นว่าการใช้มาตรการดังกล่าวอาจดำเนินการได้ไม่เร็วพอ เนื่องจากการจะปิดกั้นเว็บไซต์ได้ต้องอาศัยหมายศาล ซึ่งเมื่อศาลอนุญาต รัฐก็ต้องสั่งไปที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ทุกรายให้ทำตาม และบางครั้งก็ประสบปัญหาว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบางรายไม่ทำตาม นอกจากนี้ รัฐยังประสบปัญหาว่าผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศเช่น เฟซบุ๊ก หรือยูทูบ ไม่ให้ความร่วมมือในการส่งข้อมูลผู้ใช้มาให้ หากบริษัทเหล่านี้เห็นว่าคำขอดังกล่าวละเมิดเงื่อนไขความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ดังนั้น การจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์จึงเป็นวิธีที่เอื้อให้รัฐปิดกั้นเว็บไซต์ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ยิ่งชีพยังเห็นด้วยว่า เนื้อหาที่รัฐต้องการปิดกั้นจนเป็นที่มาของแนวคิดซิงเกิลเกตเวย์คือเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความเห็นเรื่องแนวคิดการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ว่า นอกจากเรื่องการพยายามควบคุมข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตแล้ว อีกจุดประสงค์หนึ่งคือการพยายามต่ออนาคตให้กับรัฐวิสาหกิจอย่าง กสท โทรคมนาคม (CAT) และทีโอที (TOT)

ซึ่งการทำดังกล่าวขัดกับปรัชญาของ กสทช. ที่สนับสนุนการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งสองดูแลช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ก็จะทำลายบรรยากาศการแข่งขันและจะทำร้ายอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งระบบ (อ่านความเห็นฉบับเต็มของสุภิญญาในงานดังกล่าวได้ ที่นี่)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Exit mobile version