Digital Weekly: 23-31 ต.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

2015.10.31 20:32

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: ประชุมสภากลาโหม เน้นหารือมาตรการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์/ ฟรีดอมเฮาส์เผยรายงานเสรีภาพเน็ต 2558 จัดไทยอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี”/ เว็บไซต์รัฐถูกโจมตีระลอก 2/ แฮกเกอร์ขู่เรียกค่าไถ่ 4 แบงก์พาณิชย์ไทย/ บริษัทเอกชนฟ้องหมิ่นประมาท พ.ร.บ.คอมฯ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 32 ราย ทำบริษัทเสียชื่อเสียง/ ประยุทธ์เผย 4 จีอาจประมูลเฉพาะคลื่น ส่วนโครงข่ายให้ทีโอที-กสท.ดูแลเหมือนเดิม/ กสทช.อนุมัติ ทีโอทีใช้คลื่น 2300 ทำบรอดแบนด์ แอลทีอี ต่อไปอีก 10 ปี/ รองผบก.ปอท.เร่งให้ความรู้พ.ร.บ.คอมฯ ระบุ “ไลค์ เม้นท์ แชร์ โพสต์ครั้งเดียวก็เสี่ยงคุกได้” ฯลฯ

ฟรีดอมเฮาส์เผยรายงานเสรีภาพเน็ต 2558 จัดไทยอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” คะแนนแย่สุดนับตั้งแต่ปี 2554

ฟรีดอมเฮาส์เผยรายงานเสรีภาพเน็ต 2558 จัดไทยอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” คะแนนแย่สุดนับตั้งแต่ปี 2554

23 ตุลาคม 2558

รมว.ไอซีทีโพสต์ทวิตเตอร์ยืนยัน ระบบจัดเก็บข้อมูลรัฐได้มาตรฐาน

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีโพสต์ทวิตเตอร์ถึงกรณีที่มีข่าวโจมตีเว็บไซต์ กสท โทรคมนาคม และเว็บไซต์หน่วยงานรัฐว่า ข้อมูลที่หน่วยงานรัฐเก็บรักษาไว้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ และข้อมูลในส่วนที่ให้บริการนั้นมีการสำรองข้อมูลไว้เป็นระยะอยู่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้หน่วยงานรัฐประสานงานกันเพื่อเว็บไซต์สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องด้วย

ที่มา: Blognone

รองผบก.ปอท.เร่งให้ความรู้พ.ร.บ.คอมฯ ระบุ “ไลค์ เม้นท์ แชร์ โพสต์ครั้งเดียวก็เสี่ยงคุกได้”

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จัดกิจกรรม “โพสต์ต้องคิด…คลิกเสี่ยงคุก!” ภายใต้ “โครงการออนไลน์ใสสะอาด เรารักในหลวง” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจกฎหมายในการใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และเพื่อให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.สมพร แดงดี รองผู้บังคับการปอท.ระบุว่า ต่อจากนี้ ปอท.จะดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์อย่างจริงจัง และหมดเวลาที่ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย พร้อมระบุด้วยว่า “การกระทำผิดด้วยการกดไลค์ คอมเม้นท์ แชร์ หรือโพสต์ เพียงครั้งเดียวก็สามารถทำให้ติดคุกได้” ปอท.ยังได้รวบรวมและเผยแพร่ “10 พฤติกรรมที่ประชาชนมักกระทำผิดพร้อมโทษที่จะได้รับ” ไว้ด้วย

ที่มา: คม ชัด ลึก

26 ตุลาคม 2558

ประชุมสภากลาโหม เน้นหารือมาตรการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์

พล.ต.คงชีพ ตันตระวานิช โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหมว่า ที่ประชุมได้พูดถึงการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ อาทิ การเจาะระบบข้อมูล การรบกวนไม่ให้เข้าถึงเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นใน อาจขยายตัวนำมาซึ่งความเสียหายในระบบเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน และการบิน ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้ให้หน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพเพิ่มความเข้มข้นในระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทางราชการ พร้อมกับกำหนดมาตรการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ โดยบรรจุเรื่องนี้อยู่ในแผนปฏิรูปกระทรวงกลาโหมและกองทัพ พล.ต.คงชีพยืนยันว่า กองทัพไม่ได้ทำสงครามหรือไม่ได้ไปรุกรานใคร นี่เป็นมาตรการเชิงป้องกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

บริษัทเอกชนฟ้องหมิ่นประมาท พ.ร.บ.คอมฯ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 32 ราย ทำบริษัทเสียชื่อเสียง

ตัวแทนบริษัทโพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจโชคชัย ให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก 32 ราย ที่เผยแพร่ข้อมูลซึ่งบริษัทระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จผ่านเฟซบุ๊กเพจ “หุ้น Polar” ด้วยข้อหาฐานความผิดหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา (กฏหมายอาญามาตรา 326, 328) ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ [พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1)] รวมถึงข้อหาเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ [พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5)] ตัวแทนบริษัทระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการติดต่อจากคนบางกลุ่มเพื่อเรียกร้องเงิน หากบริษัทไม่ยอมจ่ายคนกลุ่มนี้ขู่ว่าจะไปดิสเครดิตในสื่อสังคมออนไลน์ เบื้องต้นพนักงานสอบสวนรับแจ้งความและจะดำเนินการสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษในขั้นตอนต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

27 ตุลาคม 2558

นายกระบุ ซิงเกิลเกตเวย์อยู่ระหว่างหารือประเทศเพื่อนบ้าน จุดประสงค์เพื่อการค้าการลงทุนที่ปลอดภัย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงแนวคิดจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ว่า อยู่ระหว่างศึกษา รวมทั้งหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน จุดประสงค์หลักคือเพื่อป้องกันการเจาะข้อมูล ทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศมีความปลอดภัย อันจะส่งผลให้การค้าการลงทุนมีความปลอดภัย การตัดสินใจดำเนินการหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการศึกษา รวมถึงต้องมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและต้องถามความคิดเห็นประชาชน

ที่มา: ไทยรัฐ

ประยุทธ์ย้ำ กองสงครามไซเบอร์จำเป็น มีไว้รับมือสงครามไซเบอร์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการจัดตั้งกองสองครามไซเบอร์มีความจำเป็น โดยหน่วยงานดังกล่าวจะดูแลด้านความมั่นคง ป้องกันสงครามไซเบอร์ โดยมีกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบและกองทัพเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมยกตัวอย่างการส่งสัญญาณคลื่นรบกวนคลื่นวิทยุสื่อสาร หรือการนำโดรนและสัญญาณดาวเทียมมาใช้สอดแนมในแต่ละพื้นที่ ว่ากองทัพจะต้องมีเครื่องมือในการป้องกันดูแลเรื่องเหล่านี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้เหตุผลเดียวกันว่า หน่วยงานดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันภัยคุกคามด้านไซเบอร์ โดยจะเป็นหน่วยงานในกองทัพ เกี่ยวพันกับกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย

ที่มา: ประชาไท, มติชนออนไลน์

ประยุทธ์เผย 4 จีอาจประมูลเฉพาะคลื่น ส่วนโครงข่ายให้ทีโอที-กสท.ดูแลเหมือนเดิม ไม่ให้กระทบกับพนักงาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีของทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม กับการประมูล 4 จีบนคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ว่า หากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำคลื่นความถี่และอุปกรณ์ทั้งหมดคืนมา จะทำให้พนักงานทีโอทีและกสท.ได้รับความเดือดร้อน จึงต้องเข้าไปดูแล “จะเอาไปประมูลทั้งหมดไม่ได้ อาจประมูลเฉพาะคลื่น แต่โครงข่ายต้องให้ทั้งสองบริษัทดูแลต่อ” อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้ให้นโยบายหรือกำชับอะไรเป็นพิเศษ แต่อยากให้ทุกฝ่ายหารือกันให้ได้ข้อสรุป

ที่มา: สำนักข่าวไทย

ประยุทธ์ระบุ ไม่มีเฟซบุ๊กเป็นของตนเองและจะไม่เปิดเพจอย่างเป็นทางการ

กรณีที่มีบัญชีเฟซบุ๊กในชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจำนวนหลายบัญชีนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่ามาจากแฟนคลับและคนที่หวังดีทำให้ ส่วนตัวไม่มีบัญชีเฟซบุ๊กเป็นของตัวเองและจะไม่เปิดเพจอย่างเป็นทางการ แม้ผู้สื่อข่าวจะแนะนำว่า การเปิดเพจและมีคนกดไลค์มากก็เป็นการวัดเรตติ้งได้

ที่มา: ประชาไท

‘ชัย ราชวัตร’ แจ้งความ ปอท. ถูกหมิ่นประมาทผ่านเฟซบุ๊ก

สมชัย กตัญญุตานันท์ หรือ “ชัย ราชวัตร” นักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเข้าแจ้งความต่อตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หลังถูกหมิ่นประมาทผ่านทางเฟซบุ๊กว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมือง โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์รูปตนใส่เสื้อสีเหลือง นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงาน ในภาพมีข้อความว่า “ประเทศไทยต้องแบ่งชนชั้นวรรณะเท่านั้นจึงจะสงบได้ ไม่จำเป็นต้องปรองดอง ชัย ราชวัตร อดีตม็อบ กปปส. วันที่ 24 มีนาคม 2558” เบื้องต้น ปอท.รับแจ้งความและลงบันทึกประจำวันในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาด้วยการกระจายภาพ เสียง และข่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย และ ปอท.จะสืบค้นข้อมูลผู้ที่ใช้ชื่อบัญชีดังกล่าวเพื่อติดตามมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: ไทยรัฐ, ประชาไท

28 ตุลาคม 2558

ฟรีดอมเฮาส์เผยรายงานเสรีภาพเน็ต 2558 จัดไทยอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” คะแนนแย่สุดนับตั้งแต่ปี 2554

ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) เผยแพร่รายงานเสรีภาพเน็ตประจำปี 2558  (Freedom on the net 2015) จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ “ไม่เสรี” เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยได้คะแนน 63 คะแนนเต็ม 100 (ยิ่งได้คะแนนมากยิ่งไม่เสรี) ตกลงจากปีที่แล้วที่ได้ 62 คะแนนและนับเป็นคะแนนแย่ที่สุดตั้งแต่มีการสำรวจดัชนีนี้มาตั้งแต่ปี 2554 รายงานระบุ 3 ประเด็นหลักที่มีความเปลี่ยนแปลงในไทย ได้แก่ ศาลทหารตัดสินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นโทษหนักถึง 60 ปี (สารภาพแล้วลดโทษเหลือ 30 ปี) การกักตัวคนจำนวนกว่า 400 คนในค่ายทหารและเข้าตรวจสอบข้อมูลเครือข่ายสังคมออนไลน์ของแต่ละคน กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่ทำลายความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออก

อ่าน รายงานเสรีภาพเน็ต 2558 (ส่วนของประเทศไทย)

ที่มา: Blognone, ประชาไท, Freedom House

แฮกเกอร์ขู่เรียกค่าไถ่ 4 แบงก์พาณิชย์ไทย

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Nation อ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยนามผู้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมไอทีว่า ธนาคารพาณิชย์จำนวน 4 แห่งของไทยได้รับอีเมลข่มขู่จากกลุ่มแฮกเกอร์ที่เรียกตนเองว่า “Armada Collective” เพื่อเรียกค่าไถ่เป็นจำนวนเงิน 20 บิตคอยน์ (ประมาณ 2 แสนบาท) แลกกับการไม่โจมตีระบบของธนาคาร ซึ่งหากธนาคารไม่ยอมทำตามก็จะมีการโจมตีและเพิ่มเงินที่เรียกค่าไถ่ให้สูงขึ้น The Nation ยังอ้างผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารแห่งหนึ่งด้วยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบของธนาคารแต่อย่างใด ด้านปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการธุรกิจด้านการอบรมความปลอดภัยไซเบอร์ให้ความเห็นในรายการครอบครัวข่าว 3 ว่า เชื่อว่ากรณีดังกล่าวเป็นเพียงแค่การข่มขู่เท่านั้น

ปริญญาเสนอด้วยว่า ภาครัฐควรเร่งจัดตั้งหน่วยงานรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อเป็นองค์กรกลางในการดูแลเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ

ที่มา: The Nation, ครอบครัวข่าว 3

กระทรวงไอซีทีเผย ยังไม่เจอมือแฮกเกอร์เจาะข้อมูล กสท.

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีมีแฮกเกอร์โจมตีระบบงานที่เกี่ยวกับการให้บริการประชาชนของ บริษัท กสท โทรคมนาคม ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุกลุ่มบุคคลได้ เนื่องจากผู้กระทำผิดไม่ได้อยู่ในไทยและมีข้อจำกัดเรื่องของกฎหมาย ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม อุตตมกล่าวด้วยว่า กระทรวงเตรียมพร้อมรับมือและมีมาตรการป้องกันดูแล โดยได้ประสานความร่วมมือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

ที่มา: เดลินิวส์

29 ตุลาคม 2558

รมว.กระทรวงศึกษาธิการเดือด เว็บโดนแฮก สั่งตรวจสอบแบบกัดติดไม่ปล่อย ด้าน รมว.แรงงานยัน เว็บขัดข้องเป็นปกติ ไม่ได้ถูกแฮก

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่เว็บไซต์ของกระทรวงฯ โดนแฮก (รูปภาพรัฐมนตรีถูกเปลี่ยน ข้อมูลภารกิจงานของรัฐมนตรีออกถูกลบออก พร้อมแสดงข้อความ Hacked By KlaKil /TurkHack Team.Net/) ว่า ตนได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาที่ตนโดยด่วน และว่าเรื่องนี้ “ปล่อยไปไม่ได้” ขณะนี้ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่าจะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่แฮกเว็บไซต์หรือไม่ พล.อ.ดาว์พงษ์เผยด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ จะตั้งคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ เป็นประธาน

ขณะที่พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่มีการอ้างว่ากลุ่มแฮกเกอร์ Anonymous เข้าแฮกหน้าเว็บกระทรวงแรงงานว่า เว็บไม่ได้โดนแฮกแต่อย่างใด เพียงแต่เว็บของกระทรวงแรงงานบางครั้งเกิดข้อขัดข้องเท่านั้น

ที่มา: มติชนออนไลน์, ผู้จัดการออนไลน์

กสทช.อนุมัติ ทีโอทีใช้คลื่น 2300 ทำบรอดแบนด์ แอลทีอีต่อไปอีก 10 ปี

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผย กสทช.อนุมัติให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สามารถอัพเกรดเทคโนโลยีคลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซเพื่อทำบรอดแบนด์ แอลทีอี ไปจนถึงวันที่ 3 ส.ค. 2568 ตามที่ได้รับใบอนุญาตแต่เดิม โดยเห็นชอบให้ทำการอัพเกรดได้ 60 เมกะเฮิร์ตซ จากที่มีอยู่จำนวน 64 เมกะเฮิร์ตซ ทั้งนี้ ทีโอทีสามารถดำเนินแผนตามที่เสนอได้ทันที แต่หากทีโอทีใช้ไม่หมดก็ขอให้คืนมายัง กสทช.เพื่อจัดสรรคลื่นต่อไป ฐากรระบุว่า การอนุมัติดังกล่าวนั้นไม่ได้เข้าข่ายการเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชน เนื่องจากทีโอทีใช้คลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซ์ในการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลในพื้นที่ชนบทเอง ไม่ได้ให้สัมปทานกับเอกชนเหมือนคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์

ที่มา: เดลินิวส์

ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์เข้าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ 4 ราย กสทช.ออกเงื่อนไขกันฮั้วประมูล และความคืบหน้าอื่นๆ

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูล 4 จีบนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซจำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ตจำกัด3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดยจะดำเนินการเคาะประมูลจริงในวันที่ 12 พ.ย. 58

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับการประมูล 4 จีด้วยว่า

  • วันประมูล
    11 พ.ย. 58 – ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตมีอายุ 18 ปี
    12 พ.ย. 58 – เคาะประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ใบอนุญาตมีอายุ 15 ปี
  • กสทช. ได้เตรียมพร้อมเงื่อนไขที่ป้องกันการฮั้วประมูล และหากตรวจสอบพบมีการสมยอมราคา กสทช.จะเสนอยกเลิกการประมูลทันที และจะดำเนินคดีอาญากับผู้ฮั้วประมูลตลอดจนจะพิจารณาถึงการเป็นขาดคุณสมบัติในการรับใบอนุญาตเดิม
  • เพื่อความโปร่งใส กสทช.ได้เชิญองค์กรทั้งในและต่างประเทศมาร่วมสังเกตการณ์ อาทิ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู), ตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูต 6 ชาติ (นอร์เวย์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา และจีน), คณะกรรมการต่อต้านการคอรัปชั่น, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) เป็นต้น
  • การประมูลคราวนี้จะสามารถนำรายได้เข้ารัฐได้ประมาณ 73,000 ล้านบาท รวมถึงมีเม็ดเงินของผู้ให้บริการลงทุนเพื่อให้บริการประมาณ 150,000 ล้านบาท
  • หลังการประมูลครั้งนี้ ประชาชนจะได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในอัตราที่ถูกลง และจะมีแพ็กเกจราคาถูกสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่ถึง 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน

ที่มา: เดลินิวส์ (1), (2)

เว็บไซต์รัฐถูกโจมตีระลอก 2

23 ต.ค.58

กลุ่มแฮกเกอร์ “Anonymous” ออกแถลงการณ์ต่อต้านนโยบายซิงเกิลเกตเวย์ฉบับที่ 2 พร้อมกำหนดเป้าหมายการโจมตีเว็บไซต์รัฐบาลไทยระลอกใหม่ อาทิ เว็บไซต์สำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ฯลฯ ซึ่งคืนวันที่ 23 ต.ค. เว็บไซต์กระทรวงพลังงานและเว็บไซต์รัฐบาลไทย ไม่สามารถใช้การได้ โดยเฉพาะเว็บไซต์รัฐบาลไทย หรือ thaigov.go.th ใช้การไม่ได้นาน 12 ชั่วโมง (ที่มา: Voice TV)

ทวิตเตอร์ ZeroFlops ออกมาระบุว่าเว็บกองทัพภาคที่ 3 รั่วออกมา โดยแสดงภาพเป็นชื่อฐานข้อมูล แต่ไม่ได้โพสต์ตัวฐานข้อมูลแต่อย่างใด และลบทวีตนี้ออกไปภายหลัง (Blognone)

29 ต.ค.58

เว็บไซต์ข่าว Blognone รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 12:19 น. ผู้ใช้งาน Twitter (@racpong) โพสต์ภาพระบุว่าเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ถูกกลุ่มแฮกเกอร์ที่ชื่อ ” Al-rqmi.TM” แฮกหน้าแรกของเว็บไซต์ นอกจากนี้พบเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถเข้าใช้งานได้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่พบกลุ่มใดอ้างการโจมตีเว็บของกระทรวงศึกษาธิการ (ที่มา: Blognone)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: