2015.10.03 23:13
สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: เผยเอกสารข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีให้จัดตั้ง “single gateway”/ ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ รวมอาชญากรรมไซเบอร์-มีมติทบทวนร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 2 ฉบับ พบเนื้อหาบางส่วนยังมีปัญหา/ เฟซบุ๊กล่มทั่วโลก/ ปอท. จัดสัมมนา “ปกป้องสถาบันฯ รู้เท่าทันภัยไซเบอร์” แสวงหาความร่วมมือร้านอินเทอร์เน็ต/ ประยุทธ์เป็นตัวแทนไทยรับรางวัลส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจากไอทียู ฯลฯ
17 กันยายน 2558
เฟซบุ๊กเปิดสำนักงานในไทย ดูแลการตลาดออนไลน์
เฟซบุ๊กจัดงานเปิดตัวสำนักงาน Facebook ในไทยอย่างเป็นทางการ โดยแดน เนียรี รองประธานเฟซบุ๊กภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระบุเหตุผลในการเปิดสำนักงานในประเทศไทยว่า ไทยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวนมากและบริษัทเล็งเห็นว่าประเทศไทยนั้นมีสถิติการตลาดออนไลน์ที่น่าสนใจ ทั้งนี้ พันธกิจหลักของเฟซบุ๊กประเทศไทยคือดูแลธุรกิจโฆษณาทั้งของบริษัทและเอสเอ็มอีทั้งใน Instagram และ Facebook เนียรีตอบคำถามที่ว่า การมีสำนักงานในไทยทำให้เฟซบุ๊กต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยหรือไม่นั้น ว่าบริษัทจะพยายามจะดูแลเนื้อหาในเว็บไซต์ให้เป็นไปตามหลักสากลและไม่ขัดกับกฎหมายของประเทศ
ที่มา: Blognone
18 กันยายน 2558
กระทรวงไอซีทีจัดทำข้อมูลผ่านแอปช่วยประชาชนรับมือภัยแล้ง
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงฯ จัดทำข้อมูลกลางให้บริการประชาชน โดยระยะแรกให้จัดทำช่องทางสื่อสารกับประชาชนในเรื่องภัยแล้งผ่านแอปพลิเคชั่น GAC ที่สามารถแสดงถึงข้อมูลสำคัญ อาทิ สถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำฝน ผลกระทบภัยแล้ง และพื้นที่ปลูกข้าว รวมทั้งข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ภัยแล้งปีถัด
ที่มา: เดลินิวส์
22 กันยายน 2558
เผยเอกสาร “ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี” ให้จัดตั้ง “single gateway”
เว็บไซต์ Blognone เปิดเผยเอกสารข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 27 ส.ค.58 ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงยุติธรรมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังที่ระบุอยู่ในข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2558) จัดตั้ง single gateway ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีงบประมาณ 2558 โดยก่อนหน้านี้ เอกสารมติรัฐมนตรีวันที่ 21 ก.ค.58 ระบุเหตุผลของการสร้างทางออกอินเทอร์เน็ตทางเดียวทั้งประเทศนี้ว่า “เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเตอร์เน็ต” โดยหากติดข้อกฎหมายใดก็ให้เร่งดำเนินการออกกฎหมายต่อไป
ที่มา: Blognone, เอกสารมติคณะรัฐมนตรี เว็บไซต์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ รวมถึงอาชญากรรมไซเบอร์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ (MOU between ASEAN and China in the Field of Non – Traditional Security Issues) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non – Traditional Security Issues) ซึ่งรวมถึงอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ โดยรูปแบบความร่วมมือจะกระทำผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการฝึกอบรม ความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย และการวิจัยร่วมกัน
ที่มา: สรุปประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ก.ย.58
23 กันยายน 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติทบทวนร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 2 ฉบับ เนื่องจากเนื้อหาบางส่วนยังมีปัญหา
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการทบทวนร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 2 ฉบับได้แก่ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่า เนื่องจากอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เห็นว่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเนื้อหาสาระในหลายประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและมีบางหน่วยงานได้ทักท้วงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ไม่ได้รับการแก้ไขจึงได้มีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
24 กันยายน 2558
เริ่มแคมเปญออนไลน์ ลงชื่อสนับสนุนต่อต้าน single gateway
นักวาดการ์ตูนนาม @phuphu ริเริ่มแคมเปญ “ต่อต้านการตั้งซิงเกิลเกตเวย์” (Go against Thai govt to use a Single Internet Gateway.) บนเว็บไซต์ Change.org โดย 10 วันนับตั้งแต่วันจัดตั้งแคมเปญบน (24 ก.ย.58) จนถึงปัจจุบัน (3 ต.ค.58) มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 144,000 ราย
ที่มา: แคมเปญ “ต่อต้านการตั้งซิงเกิลเกตเวย์” บนเว็บไซต์ change.org, Blognone
รมว.ไอซีทียืนยัน ซิงเกลเกตเวย์ใช้เพื่อเศรษฐกิจ ไม่ใช่ความมั่นคง
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผยว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงไอซีทีเร่งดำเนินโครงการการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายช่องทางเดียวหรือ “ซิงเกิลเกตเวย์” นั้น โครงการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อช่วยเหลือในด้านของเศรษฐกิจประเทศ โดยจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เน้นในการใช้งานด้านความมั่นคงอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ และกระทรวงไอซีทีจะไม่บังคับว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดเข้ามาร่วมบ้าง แต่จะให้เป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละราย
ที่มา: เดลินิวส์
ประธาน กทค.แจงกรณีซิงเกิลเกตเวย์ ให้ CAT เป็น ‘ฮับ’ แข่งเพื่อนบ้าน
พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. เผยถึง แท้จริงแล้วเป้าหมายของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องซิงเกิลเกตเวย์คือต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจดิจิทัลในภูมิภาค สร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาใช้ช่องทางเชื่อมต่อของไทยแทนที่จะใช้ของต่างประเทศ และจะเหมาะสมกว่าหากเรียกซิงเกิลเกตเวย์ว่าเป็น “ฮับ” หรือศูนย์กลางดิจิทัล พ.อ.เศรษฐพงศ์ระบุด้วยว่า บริษัท กสท โทรคมนาคม จะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ “ฮับ” นี้
ที่มา: เฟซบุ๊กบีบีซีไทย
เฟซบุ๊กล่มทั่วโลก
เวลาประมาณ 23.30 น. ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยไม่สามารถเข้าใช้งานเฟซบุ๊กได้ในทุกแพลตฟอร์ม โดยหน้าเว็บปรากฏข้อความว่า ระบบขัดข้อง และอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข โดยนอกจากประเทศไทยแล้ว พบว่าผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรก็ไม่สามารถใช้งานเฟซบุ๊กได้เช่นกัน ต่อมาเว็บไซต์ดิอินดิเพนเดนท์ของอังกฤษได้รายงานว่า เฟซบุ๊กล่มทั่วโลก เฟซบุ๊กกลับมาใช้งานได้ปกติเวลา 23.44 น.
ที่มา: ประชาไท
25 กันยายน 2558
กสทช.รับหนังสือไอซีทีคืนคลื่น 5 เมกะเฮิร์ตซนำรวมประมูล 4 จี
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.เผยว่า สำนักงานกสทช.ได้รับหนังสือจากอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ยืนยันการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซตามสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัทกสท โทรคมนาคม จำกัด กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) ให้กับสำนักงานกสทช.นำไปรวมกับกับคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซที่มีอยู่ 25 เมกะเฮิร์ตซ รวมเป็น 30 เมกะเฮิร์ตซ ส่งผลให้การประมูลที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พ.ย. 58 มีจำนวน 2 ใบอนุญาตโดยแต่ละใบจะมีความกว้างแถบคลื่นความถี่ 15 เมกะเฮิร์ตซ
ที่มา: เดลินิวส์
26 กันยายน 2558
โฆษกสำนักงานตำรวจชวนประชาชนช่วยดูแลความมั่นคงของชาติ พบใช้สื่อออนไลน์ใหม่เหมาะสมแจ้ง 191
พลตำรวจโทประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุ ประชาชนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์สามารถให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านสังคมและหน่วยงานของทางภาครัฐในเรื่องของการดูแลความมั่นคงได้ ด้วยการช่วยกันสอดส่องดูแลกรณีที่มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม อาทิ ภาพไม่เหมาะสม หรือการใช้ความรุนแรง โดยขอให้บันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ แล้วส่งไปที่สายด่วน 191 หรือ 1599 หรืออาจส่งไปตามช่องทางที่หน่วยงานของภาครัฐเปิดรับข้อมูล เพื่อช่วยกันดูแลความมั่นคงของประเทศ
ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
27 กันยายน 2558
ประยุทธ์เป็นตัวแทนไทยรับรางวัลส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลจากไอทียู
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลัง ปี ค.ศ. 2015 และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และได้ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ในโอกาสฉลองครบรอบ 150 ปี สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และเป็นตัวแทนประเทศไทยรับรางวัลส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (ITU Global Sustainable Digital Development Award)
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
29 กันยายน 2558
กระทรวงไอซีที เผยแพร่รายงานการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ระบุ เครื่องมือเข้ารหัสทำให้รัฐตรวจสอบ-ปิดกั้นเว็บทำได้ช้า
เว็บไซต์กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) เผยแพร่รายงานการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 12 กันยายน 2557 – 30 มิถุนายน 2558 ครั้งที่ 7-9 รายงานระบุถึงการดำเนินการเพื่อเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า กระทรวงได้ดำเนินการโดยใช้
1.มาตรการทางกฎหมาย เช่น การปิดกั้นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมพร้อมส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการต่อ รายงานระบุถึงอุปสรรคด้วยว่า เครื่องมือเข้ารหัสข้อมูลในปัจจุบันทำให้การตรวจสอบหรือปิดกั้นเว็บไซต์ไม่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว นอกจากนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต้องดําเนินการตามมาตรา 20 ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ก่อนส่งคําสั่งศาลอาญา อีกทั้งปัญหาเกี่ยวกับการติดต่อประสานงานกับผู้ให้บริการในต่างประเทศ ที่มิใช่ผู้ให้บริการที่อยู่ภายใต้บังคับ แหํง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ในต่างประเทศ
2.มาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเมื่อพบเว็บไซต์หมิ่นสถาบันได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง มีการจัดโครงการลงนามถวายพระพรออนไลน์โดยกระทรวงแรงงาน สํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหมนําเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาผลิตข้อมูลในรูปแบบตํางๆ เช่น จัดทําเว็บไซต์เทิดพระเกียรติ จัดทําวีดิทัศน์เพื่อเผยแพร่ต่อเครือข่ายเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ของกระทรวงกลาโหม
3.มาตรการทางสังคมจิตวิทยา โดยหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ จัดประชุมวิชาการ และการจัดพิธีบําเพ็ญพระราชกุศล อย่างต่อเนื่อง
ที่มา: ประชาไท
ปอท. จัดสัมมนา “ปกป้องสถาบันฯ รู้เท่าทันภัยไซเบอร์” แสวงหาความร่วมมือร้านอินเทอร์เน็ต
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จัดสัมมนาหัวข้อ “ปกป้องสถาบันฯ รู้เท่าทันภัยไซเบอร์” ให้กับผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตและผู้สนใจทั่วไป โดยจัดขึ้นใน 4 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพ สงขลา ขอนแก่น และเชียงใหม่ วัตถุประสงค์ของงานคือเพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผิดประกอบการและผู้ใช้บริการร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ตตระหนักและเห็นความสำคัญของการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และแสวงหาความร่วมมือให้ช่วยสอดคล้องและแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ที่มา: ที่มา: เว็บไซต์โครงการ, Blognone
30 กันยายน 2558
เว็บไซต์กระทรวงไอซีที-หน่วยงานราชการหลายแห่งใช้งานไม่ได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังถูกกลุ่มต้าน single gateway ถล่ม
ในช่วงค่ำของวัน เว็บไซต์หน่วยงานราชการหลายแห่งล่มในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเริ่มจากเว็บไซต์กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ, เว็บไซต์กสท, เว็บไซต์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, เว็บไซต์สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และเว็บไซต์ทีโอทีตามลำดับ หลังจากนั้นพบว่าเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ล่มเช่น นอกจากนี้ พบว่า เว็บกองบัญชาการกองทัพไทยก็ใช้งานไม่ได้เช่นกัน โดยปรากฏข้อความ “ขอระงับการใช้ชั่วคราว” ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ในช่วงเย็นของวันมีการส่งข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ให้กลุ่มผู้ต่อต้านโครงการซิงเกิลเกตเวย์ร่วมถล่มเว็บไซต์เชิงสัญลักษณ์ ด้วยวิธีการ DDoS โดยเป้าหมายแรกคือเว็บไซต์กระทรวงไอซีที
ที่มา: ประชาไท
เอกชน 4 ราย ยื่นซองเข้าร่วมประมูล 4 จีคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยจำนวนผู้ประกอบการเอกชนที่ยื่นซองเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ว่ามีทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ 1. บริษัทแจสโมบาย บรอดแบนด์ (บริษัทในเครือของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล) 2. บริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค) 3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก (เครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส หรือเอไอเอส) และ 4. บริษัท ทรูมูฟเอช ยุนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (เครือบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น) จากจำนวน 7 รายที่มาขอรับเอกสารประมูล
ที่มา: เดลินิวส์
1 ตุลาคม 2558
ปอท. ชี้ก่อกวนเว็บหน่วยงานราชการ ผิด พ.ร.บ. คอมฯ
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ รักษาราชการแทนที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านสืบสวนทางเทคโนโลยีและนิติวิทยาศาสตร์เผย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กำลังตรวจสอบความเสียหายกรณีเว็บไซต์หน่วยงานราชการหลายแห่งใช้งานไม่ได้จากการถูกผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโจมตีด้วยวิธีการ DDoS โดยจะดำเนินการเอาผิดผู้ที่เข้ามาก่อกวนทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 10 เนื่องจากเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการทำงานของภาครัฐ
ที่มา: คมชัดลึก
ทรูมูฟเอชร่วมกับเฟซบุ๊กเปิดบริการเล่นอินเทอร์เน็ตฟรี “แบบมีเงื่อนไข”
บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับเฟซบุ๊กเปิดบริการ “Free Basics” หรือการใช้เฟซบุ๊กกับเว็บไซต์ในประเทศไทยที่ร่วมกับโครงการนี้ประมาณ 20 เว็บไซต์โดยไม่เสียค่าบริการ โดยบริการดังกล่าวจะใช้งานได้บนซิมทรูมูฟเอชเท่านั้น แต่หากมีการกดไปยังลิงก์ที่นอกเหนือจากเว็บไซต์ที่กำหนดไว้ ตัวระบบจะมีการแจ้งเตือนว่าต้องมีค่าใช้จ่าย แอนนา ไนเกรน ตัวแทนเฟซบุ๊กประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเฟซบุ๊กระบุว่า โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 ในเอเชีย ต่อจาก อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังกลา เทศ และฟิลิปปินส์ ที่เฟซบุ๊กได้ดำเนินโครงการนี้ เนื้อหาในโครงการนี้แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ สังคม การศึกษา สุขภาพ และหางาน อาทิ Facebook, Sanook, Dek-D, Pantip, ถามครู, วิกิพีเดีย, Bing, หาหมอ, UNICEF– Facts for Life และ Job Thai เป็นต้น
ที่มา: เดลินิวส์
กระทรวงไอซีทียังไม่เอาผิดกลุ่มโจมตี DDoS เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต้านซิงเกิลเกตเวย์
อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวถึงกรณีที่เว็บไซต์ของกระทรวงไอซีทีไม่สามารถเข้าใช้งานได้ตามปกติเมื่อช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับซิงเกิลเกตเวย์ ตนมองว่ายังไม่ถึงขั้นตั้งใจโจมตีเว็บหน่วยงานรัฐ ด้านทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีทีกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหากมีผลกระทบกับการให้บริการหรือความเสียหายกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีสิทธิ์ที่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ แต่ตอนนี้ยังไม่พบผู้ร้องเรียนถึงผลกระทบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงจะไม่ดำเนินการใดๆ กับกลุ่มแสดงสัญลักษณ์
ที่มา: เดลินิวส์
2 ตุลาคม 2558
นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธเดินหน้าซิงเกิลเกตเวย์ ชี้เป็นเพียงขั้นตอนการศึกษา
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีใหัสัมภาษณ์ปฏิเสธว่ายังไม่ได้สั่งให้ดำเนินโครงการจัดตั้งซิงเกิลเกตเวย์ เผยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการรักษาความมั่นคง และสนับสนุนการค้าการลงทุน ระบุอย่าพูดให้เกิดความเสียหาย
ที่มา: Voice TV
ผอ.ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบกมั่นใจ ป้องกันเว็บโดนถล่มได้
พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหารในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพเผยถึงมาตรการการป้องกันเว็บไซต์ของกองทัพบก ภายหลังกลุ่มผู้คัดค้านโครงการซิงเกิลเกตเวย์รุมถล่มเว็บกระทรวงไอซีทีและหน่วยงานของรัฐบาลหลายเว็บไซต์ว่า ยังแต่ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะเชื่อมั่นว่ากองทัพบกสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ เพราะมีเครื่องมือด้านเทคนิคและจัดเจ้าหน้าที่ดูแล 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: มติชนออนไลน์
Tags: 4G, application, Committee to Protect Journalist, Computer-related Crime Act, Facebook, freedom of expression, freedom of information, hard infrastructure, innovation, Internet censorship, ITU, Ministry of Information and Communication Technology, national security, single gateway, social media, spectrum, telecom