ผู้ช่วยรมว.ไอซีทีเผยความคืบหน้าชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ ยังอยู่ในชั้นกฤษฎีกา ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ผ่านกฤษฎีกาแล้วและอยู่ระหว่างนำมาทบทวนใหม่ ส่วนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ในสนช.และอยู่ระหว่างนำกลับมาทบทวนเช่นกัน พร้อมระบุ กฎหมายดิจิทัลต้องเป็นสากล ต้องเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม ส่วนการเข้าถึงการสื่อสารประชาชนใน พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ฯ ยังไงก็ต้องขอหมายศาล
17 ต.ค.58 – พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เผยความคืบหน้าชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลในงานสัมมนาวิชาการ “ตามติดกฎหมายดิจิทัล” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (เปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) อยู่ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยอยู่ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายวาระที่ 2 อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้ยังถูกพักไว้เพื่อรอให้กฎหมายฉบับอื่นๆ ชัดเจนก่อน
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยกระทรวงไอซีทีได้นำกลับมาทบทวนอีกครั้ง พันธ์ศักดิ์ระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลน่าจะประกาศใช้ได้ภายในสนช.ชุดนี้
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และร่างพระราชบัญญัติสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการตรวจแก้ของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และกำลังจะเข้าคณะรัฐมนตรีวาระที่ 2 อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีให้กระทรวงไอซีทีนำกลับมาทบทวนอีกครั้งเช่นกัน
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับแก้ไข) และร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ผ่านการตรวจแก้ของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และอยู่ในระหว่างการนำกลับมาทบทวนโดยกระทรวงไอซีที ยังไม่ได้เข้า สนช.แต่อย่างใด
ส่วนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นร่างกฎหมายที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้น ขณะนี้ยังคงอยู่ในการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อเครือขายพลเมืองเน็ตถามถึงความเปลี่ยนแปลงในมาตรา 35 (3) ของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเดิมกำหนดให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลสื่อสารทุกอย่างของประชาชนได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่นั้น พันธ์ศักดิ์กล่าวว่า จากการพูดคุยกันในรัฐบาล การขอเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวอย่างไรเสียก็ต้องผ่านกระบวนการศาล
“ตอนนี้เข้าใจว่าทางรัฐบาลบอกว่า ทุกอย่างต้องผ่านศาลอยู่ดี ต้องมีบุคคลที่สาม” พร้อมกล่าวว่า ตนอยากให้รอดูว่าสุดท้ายแล้วมาตรานี้จะออกมาเป็นอย่างไร
พันธ์ศักดิ์ปิดท้ายว่า กฎหมายดิจิทัลต้องเป็นสากลเนื่องจากประเทศไทยแข่งขันอยู่ในเวทีโลก ความเชื่อมั่นของนานาชาติเป็นเรื่องสำคัญมาก เขายังเน้นย้ำความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ให้คนเหล่านี้เข้ามาร่วมพูดคุยและเสนอแนะด้วย
“ตอนนี้ที่กระทรวงสนใจคือ มีเรื่องอะไรที่ประชาชนกังวลบ้าง เพราะอะไร มีวิธีการแก้ไขไหม ทางออกคืออะไร ถ้ามีประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะ ก็จะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น
“ต้องขอความกรุณาด้วย ช่วยบอกว่าถ้าไม่เป็นอย่างนี้แล้วสิ่งที่อยากได้เป็นแบบไหน” พันธ์ศักดิ์กล่าว
หมายเหตุ งานสัมมนาวิชาการ “ตามติดกฎหมายดิจิทัล” ในครั้งนี้ร่วมจัดโดย ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ องค์กร EngageMedia และมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต)
เอกสารเพิ่มเติม
- ดาวน์โหลดชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล