Thai Netizen Network

Digital Weekly: 28 ส.ค.-4 ก.ย. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: สรอ.เตรียมตั้งสถาบันสอนไอทีเจ้าหน้าที่รัฐ มีเนื้อหา IPv6, Internet of Thing, Big Data/ กระทรวงคมนาคมประกาศกฎคุมโดรน/ ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ สำนักข่าวภูเก็ตหวาน/ กองทัพฯ เตรียมจัดแข่งแฮก-ป้องกันระบบ/ กรมการขนส่งทางบกจับมือนครชัยแอร์เปิดตัวแอปเรียกแท็กซี่/ นักกฎหมายเผย หลังพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์บังคับใช้ 1 เดือน เว็บไซต์ดูหนัง-ฟังเพลงฟรีโดนฟ้องจำนวนมาก/ กระทรวงไอซีทีเร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ IPv6 ฯลฯ

ศาลภูเก็ตยกฟ้องคดีหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ สำนักข่าวภูเก็ตหวาน (1 ก.ย.58) - ภาพจากไอลอว์

ศาลภูเก็ตยกฟ้องคดีหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ สำนักข่าวภูเก็ตหวาน (1 ก.ย.58) [ภาพจากไอลอว์]

28 สิงหาคม 2558

กระทรวงคมนาคมประกาศกฎควบคุมการใช้งานโดรน

กระทรวงคมนาคมออกประกาศกฎการใช้งานโดรน (drone) หรือ “หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558” โดยประกาศแบ่งประเภทโดรนหรือ “อากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก” (ไม่รวมเครื่องบินเล็ก) เป็น 2 ประเภทใหญ่คือ ประเภท 1 ใช้เป็นงานอดิเรกหรือการกีฬา แบ่งย่อยเป็น (1.ก) หนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม และ (1.ข) หนักเกิน 2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ต้องขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ ส่วนประเภท 2 ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น (รายงานข่าว รายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ วิจัยและพัฒนาอากาศยาน ฯลฯ) ต้องขึ้นทะเบียนเช่นเดียวกัน ดูรายละเอียดสรุปของประกาศ และดูประกาศฉบับเต็ม

ที่มา: Blognone

กสทช.เปิดรับซองประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ มารับแล้ว 5 บริษัทจาก 4 ค่าย

กสทช.เปิดให้รับเอกสารประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์เป็นวันแรก โดยมีผู้มาขอรับเอกสารแล้ว 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เครือข่าย AIS 3G), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (เครือข่าย DTAC TriNet), บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด (โครงข่าย DTAC WiFi), บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชัน จำกัด (ผู้ดูแลกองทุน TrueGIF), บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด (โครงข่าย 3BB ในเครือ JAS) โดยการยื่นซองประมูลจะมีขึ้นวันที่ 30 ก.ย.นี้ ก่อนที่จะเริ่มการประมูลอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 พ.ย. 58

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ กสทช., Blognone

29 สิงหาคม 2558

ชาวเน็ตเผยเอกสารราคากลางจ้างเหมาบำรุงรักษา CCTV กทม. ติงอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล 4 TB ราคา 8 แสน

เพจเฟซบุ๊ก CSI LA เผยเอกสารที่ระบุว่าเป็นเอกสารตารางวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและราคากลาง (ราคาอ้างอิง) ในการจัดซื้อในโครงการ “งานจ้างเหมาบำรุงรักษาระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เข้าศูนย์บริหารจัดการ พื้นที่ 2” ของกองพัฒนาระบบจราจร สำนักการการจราจรและขนส่ง โดยมีการตั้งข้อสังเกตถึงราคากลางที่สูงเกินไปของอุปกรณ์บางชิ้น เช่น อุปกรณ์เก็บข้อมูลภายนอกขนาดไม่น้อยกว่า 4 เทระไบต์ (TB) มีราคาต่อหน่วยถึงชุดละ 800,000 บาท ด้านอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาชี้แจงว่า ยังไม่เห็นใบประเมินราคาดังกล่าว แต่ปกติแล้วอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลของกล้อง CCTV ต่างจากกล้องทั่วไปมากเพราะต้องบันทึกข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมงและส่งข้อมูลอย่างรวดเร็ว จึงมีราคาสูง

ที่มา: ประชาไท, มติชนออนไลน์

สพธอ.จัดแข่งเจาะระบบคอมพิวเตอร์

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จัดงานแข่งขันความมั่นคงความปลอดภัยด้านระบบสารสนเทศ “Thailand CTF 2015” ซึ่งเป็นการแข่งขันเจาะระบบคอมพิวเตอร์ ผู้เข้าแข่งต้องใช้ความสามารถในการพัฒนาโปรแกรมเพื่อเข้าถึงระบบป้องกันของฝ่ายตรงกันข้าม ผู้ชนะจะได้เดินทางไปแข่งขันงาน Cyber Sea Game ที่อินโดนีเซีย และงาน SECCONCTF 2015 ที่ญี่ปุ่นต่อไป ดูรายละเอียดการแข่งขัน

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ สพธอ.

31 สิงหาคม 2558

สรอ.เตรียมตั้งสถาบันสอนไอทีเจ้าหน้าที่รัฐ มีเนื้อหา IPv6, Internet of Thing, Big Data

ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เผย สรอ.เตรียมจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้เทคโนโลยีไอทีภาครัฐ (Digital Government Academy) ขึ้น โดยจะเน้นสร้างสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ทางด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-government) ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ช่วงแรกจะเปิดสอนเนื้อหาเกี่ยวกับ IPv6 และจะขยายเนื้อหาไปในส่วนอื่นๆ อาทิ Big Data และ Internet of Things นอกจากนี้ สรอ.ยังเตรียมจัด TED Talk ในรูปแบบของภาครัฐ เพื่อเสริมความรู้และการสร้างแรงบันดาลใจทางเทคโนโลยีให้เจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ อ้างจากอีเมลประชาสัมพันธ์ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

กสทช.จัดประชาพิจารณ์ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ขอนแก่น ทรูติงราคาตั้งต้นแพงกว่าประเทศอื่น 4 เท่า

กสทช.จัดเวทีประชาพิจารณ์การประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ จ.ขอนแก่น โดยมีตัวแทนจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และภาคประชาชนเข้าร่วม ในการเสนอข้อคิดเห็น ตัวแทนจากแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การประมูล ขณะที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เสนอให้แบ่งคลื่นประมูลใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์และแต่ละรายเข้าประมูลได้ไม่เกิน 2 ใบอนุญาต (10 เมกะเฮิร์ตซ์) ด้าน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความเห็นว่าควรลดราคาตั้งต้น

ในงานนี้ ตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที ได้มายื่นหนังสือคัดค้านการประมูลพร้อมรายชื่อผู้สนับสนุน 4,300 ชื่อ ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เผยในกรณีนี้ว่า กสทช.ไม่สามารถระงับการประมูลตามที่สหภาพทีโอทีเสนอคัดค้านได้ เพราะผิด พ.ร.บ.กสทช.

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

1 กันยายน 2558

ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ สำนักข่าวภูเก็ตหวาน

ศาลจังหวัดภูเก็ตยกฟ้องคดีที่กองทัพเรือดำเนินคดีกับบริษัทบิ๊ก ไอส์แลนด์ เจ้าของเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน, อลัน มอริสัน บรรณาธิการของเว็บไซต์และ ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าว ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 จากการเผยแพร่รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ระบุว่าบุคลากรของกองทัพเรือไทยบางคนอาจได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ส่วนสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งเป็นต้นเรื่อง ทางกองทัพเรือดำเนินการฟ้องร้องแล้ว แต่คดียังอยู่ที่สำนักงานอัยการเนื่องจากผู้กระทำผิดอยู่นอกราชอาณาจักร สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุว่า คำตัดสินนี้เป็นชัยชนะของเสรีภาพสื่อ และการที่ศาลยังระบุว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ไม่สามารถใช้ในความผิดหมิ่นประมาทได้เป็นพัฒนาการที่จะมีนัยสำคัญต่อคดีจำนวนมากที่ถูกฟ้องด้วยกฎหมายนี้

ที่มา: ประชาไท, เฟซบุ๊กไอลอว์

2 กันยายน 2558

กระทรวงไอซีทีเร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ IPv6

ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ระบุว่ากระทรวงฯ ได้รับมอบหมายให้ผลักดันและติดตามผลการดำเนินงานเปลี่ยนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 4 (IPv4) ไปสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 6 (IPv6) โดยกระทรวงฯ ได้กำหนดเป้าหมายให้ภายในปี 2563 เครือข่ายหน่วยงานของรัฐ โครงข่ายการศึกษาของรัฐทุกสถาบัน และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายสามารถให้บริการ IPv6 ได้ ส่วนแผนระยะสั้น (2559-2561) กำหนดเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐมีเว็บไซต์หลัก บริการอีเมล และบริการดีเอ็นเอส ที่รองรับการเข้าถึงผ่าน IPv6 อย่างน้อยร้อยละ 75 ของบริการทั้งหมด และกำหนดให้ประเทศไทยมีอัตราการใช้งาน IPv6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 แผนนี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

ที่มา: เดลินิวส์

3 กันยายน 2558

กรมการขนส่งทางบกจับมือนครชัยแอร์เปิดตัวแอปเรียกแท็กซี่

กรมการขนส่งทางบกร่วมกับนครชัยแอร์เปิดบริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอปที่ชื่อ “All Thai Taxi” หลังเปิดทดลองให้บริการไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในการเรียกใช้บริการ ผู้ใช้ต้องติดตั้งแอปและลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ จากนั้นระบุจุดรับและปลายทาง การชำระเงินทำได้ผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มที่ผูกไว้กับบัญชี และเงินสด ค่าบริการเริ่มต้น 35 บาท รถยนต์ที่ให้บริการคือรถ Toyota Prius สีเหลือง เบื้องต้นมีทั้งสิ้น 150 คันและจะเพิ่มอีกเป็น 500 คันภายในสิ้นปีนี้ โดยรถมีจุดจอดหรือจุดพักรถบริเวณปั้มน้ำมันบางจากและปั้มน้ำมันเชลล์ประมาณ 100 จุดในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล

ที่มา: Blognone, ประชาชาติธุรกิจ

กองทัพฯ เตรียมจัดแข่งแฮก-ป้องกันระบบ รับมือภัยคุกคามไซเบอร์

เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร (ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก) กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบกเผยแพร่กำหนดการกิจกรรมแข่งขันทักษะด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ ประจำปี 2558 ( Army Cyber Operations Contest 2015 ) ซึ่งจะมีขึ้นในวันพุธที่ 9 ก.ย. การแข่งขันจะมีทั้งเชิงรุก คือตรวจสอบช่องโหว่เพื่อทำการหาวิธีการเจาะระบบของอีกฝ่าย และเชิงรับคือป้องกันและขัดขวางการเจาะระบบและการโจมตีของฝ่ายอื่น ผู้เข้าร่วมได้แก่ บุคลากรจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม วัตถุประสงค์การจัดการแข่งขันคือเพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้กับกำลังพลให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์และเตรียมพร้อมต่อการไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ที่มา: ประชาไท

นายกฯ มอบหมายกองทัพ-สมคิด-อุตตม เพิ่มการต่อต้านสงครามไซเบอร์ลงในนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

ณ วันแถลงยุทธศาสตร์ชาติ-ยุทธศาสตร์ทหาร พศ. 2559-2563 ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวขณะเยี่ยมชมบูทศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภัยบนโลกไซเบอร์ จึงให้นโยบายและแนวทางกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และอุตตมะ สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำไปสานต่อ โดยให้นำแนวความคิด การปฏิบัติการไซเบอร์ และการต่อต้านสงครามไซเบอร์ของศูนย์ไซเบอร์กองทัพบกใส่ไว้ในนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดูแล โดยให้เหตุผลว่า หากให้ฝากการเมืองดูแลเรื่องความมั่นคงและเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลนั้นจะมีความเสี่ยงสูง การที่ให้กระทรวงกลาโหมเข้ามามีส่วนในการดูแลนั้นมีข้อดีคือ สามารถขับเคลื่อนได้ง่าย มีความปลอดภัยมั่นคงและยั่งยืน เพราะเป็นสถาบันที่อยู่กับประเทศชาติตลอดไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ศาลอุทธรณ์ตัดสินเพิ่มจำคุก ไม่รอลงอาญา คดี 112 ‘เฉลียว’ ช่างตัดเสื้ออัปโหลดเสียง ‘บรรพต’

ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาคดีนายเฉลียว (สงวนนามสกุล) อาชีพช่างตัดเสื้อ เป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกฟ้องจากกรณีอัปโหลดไฟล์เสียง ‘บรรพต’ ขึ้นเว็บไซต์ 4Share ศาลแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุก 3 ปีและให้รอการลงโทษ เป็นลงโทษจำคุก 5 ปีรับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา) ทั้งในระหว่างถูกคุมขัง เฉลียวยืนยันว่า เขาเป็นเพียงผู้ฟังคลิปเสียงดังกล่าวและเพิ่งหัดเล่นอินเทอร์เน็ต เมื่ออัปโหลดเป็นจึงอัปโหลดคลิปเสียงเอาไว้ฟัง คดีนี้อ่านคำพิพากษาเป็นการลับ มีเพียงทนายความและจำเลยที่ได้เข้าห้องพิจารณาคดี

ที่มา: ประชาไท

4 กันยายน 2558

นักกฎหมายเผย หลังพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์บังคับใช้ 1 เดือน เว็บไซต์ให้ดูหนัง-ฟังเพลงฟรีโดนฟ้องจำนวนมาก

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เผย หลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ผ่านไป 1 เดือน พบว่ารูปแบบของการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มากที่สุดคือ การเปิดเว็บไซต์ให้ดูภาพยนตร์และฟังเพลงฟรี โดยผู้ผลิตภาพยนตร์ได้ยื่นฟ้องขอให้มีการสั่งปิดเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ส่วนสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์อยู่ระหว่างยื่นเรื่องเพื่อขอให้ปิดเว็บไซต์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เนื้อหาเช่นกัน สาเหตุที่ยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์เพราะผู้กระทำผิดไม่เชื่อว่าจะตามตัวผู้กระทำผิดมารับโทษได้ ไพบูลย์กล่าวด้วยว่า ต้องรอเก็บข้อมูลราว 3-4 เดือนจึงจะสามารถประเมินได้ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงมากน้อยเพียงไร

ที่มา: เดลินิวส์

กสท พัฒนาระบบไอทีให้การเคหะแห่งชาติ

กสท โทรคมนาคมร่วมกับการเคหะแห่งชาติพัฒนางานด้านไอทีให้กับการเคหะแห่งชาติ โดยเฉพาะระบบบริหารบัญชีการเงินและงบประมาณบนไอริส คลาวด์ แพลตฟอร์ม (IRIS Cloud Platform) กฤษดา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติเผยว่า ในอนาคต ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันศึกษาความเป็นไปในการใช้งานระบบอื่นๆ บนคลาวด์ เช่น ระบบ Front-End เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนและลดต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวของ กคช. และยังอาจมีการลงทุนระบบโครงข่าย FTTX สําหรับโครงการที่อยู่อาศัย พัฒนาระบบสมาร์ทโฮมและระบบIPTV ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติได้

ที่มา: เดลินิวส์

กองทุน กสทช. อนุมัติ 1,000 ล้านบาท โครงการเพื่อบริการโดยทั่วถึงและวิทยุชุมชน-พัฒนาบุคลากรและคุ้มครองผู้บริโภค

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ในฐานะคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนาในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เผยว่าปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินราว 4,000 ล้านบาท และเพิ่งอนุมัติ 1,000 ล้านบาท สำหรับสนับสนุนการทำโครงการเพื่อบริการโดยทั่วถึงและวิทยุชุมชน กับโครงการวิจัยและพัฒนาบุคลากรและคุ้มครองผู้บริโภค ด้านตัวแทนวิทยุชุมชนระบุ ภาคบริการชุมชนไม่เคยได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนดังกล่าวเลย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Exit mobile version