Thai Netizen Network

Digital Weekly: 26 ก.ค.- 1 ส.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: เฟซบุ๊กเปิดตัวเครื่องมือตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้งาน/ กสทช.เปิดประชาพิจารณ์เกณฑ์ประมูล 4 จีที่เชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วม 300 คน ด้านค่ายมือถือติงสเป็กตรัมแคป/ รัฐบาลเตรียมลงทุน 7 พันล้าน 21 โครงการไอซีทีรับเศรษฐกิจดิจิทัล/ รัฐหนุน สพธอ. 80 ล้าน ทำระบบมาตรฐานกลางรหัสสินค้า/ สหภาพทีโอทีเดินสายยื่นหนังสือคัดค้านประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์/ ศาลทหารสั่งพิจารณาลับ คดี 112 ‘อัญชัน’ จำเลย 29 กรรมเครือข่ายบรรพต ฯลฯ

ศาลทหารสั่งพิจารณาลับคดี ม.112 ‘อัญชัน’ จำเลยโพสต์คลิปบรรพตขึ้นยูทูป วันเดียวกันนัดสอบจำเลยโพสต์แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ (ภาพ: ปรับเปลี่ยนโดยใช้ไอคอนของ Picons.me ภายใต้อนุสัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์)

ศาลทหารสั่งพิจารณาลับคดี ม.112 ‘อัญชัน’ จำเลยโพสต์คลิปบรรพตขึ้นยูทูป วันเดียวกันนัดสอบจำเลยโพสต์แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ (ภาพ: ปรับเปลี่ยนโดยใช้ไอคอนของ Picons.me ภายใต้อนุสัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์)

27 กรกฎาคม 2558

รัฐหนุน สพธอ. 80 ล้าน ทำระบบมาตรฐานกลางรหัสสินค้า

สุรางคณา วายุภาพ ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เผยกับฐานเศรษฐกิจว่า คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานกลางรหัสสินค้าและบริการและระบบทะเบียน โดยประสานการทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกรมศุลกากร เพื่อส่งเสริมการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window) โดยกำหนดเป้าหมายแล้วว่าภายใน 1 ปี จะต้องมีรหัสสินค้าจำนวน 1 แสนรายการ และภายใน 5 ปีจะเพิ่มเป็น 2-3 แสนรายการ สุรางคณาเผยด้วยว่า สพธอ.ต้องใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนในการลงทุนซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ

รัฐบาลเตรียมลงทุน 7 พันล้าน 21 โครงการไอซีทีรับเศรษฐกิจดิจิทัล

รัฐบาลเตรียมแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (hard infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานทางมาตรฐานและกฎหมาย (soft infrastructure) จำนวน 18 โครงการภายในปีนี้ และอีก 3 โครงการภายในปี 2560 อาทิ โครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ โครงการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ โครงการศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ ระบบคุ้มครองข้อมูล ระบบดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยจะใช้งบประมาณรวมทั้งหมดกว่า 7 พันล้านบาท

ที่มา: Bangkok Post

กสทช.เปิดประชาพิจารณ์เกณฑ์ประมูล 4 จีที่เชียงใหม่ มีผู้เข้าร่วม 300 คน ด้านค่ายมือถือติงสเป็กตรัมแคป

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์เป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ 300 คน ประเด็นที่รับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น ได้แก่ เรื่องขนาดของคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล วิธีการอนุญาต ราคาขั้นต่ำของการประมูลคลื่นความถี่ เป็นต้น โดย กสทช.จะนำความคิดเห็นที่มีผู้ให้ความเห็นต่อร่างประกาศฉบับดังกล่าวในทุกช่องทางทั้งออนไลน์ จดหมาย โทรสาร มาปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ โดยสามารถเสนอความคิดเห็นมายัง กสทช.ได้ได้จนถึงวันที่ 17 ส.ค.นี้ และ กสทช.จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นอีกครั้งที่กรุงเทพในวันที่ 3 ส.ค.นี้

ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า การแสดงความเห็นบนเวทีเน้นไปที่การเรียกร้องให้ กสทช.กำกับดูแลค่าบริการ ออกโปรโมชั่นให้มีเงื่อนไขที่เป็นธรรม มีราคาและคุณภาพการให้บริการที่เหมาะสม รวมถึงกังวลว่า การจัดประมูลของ กสทช.อาจมีการฮั้วประมูลขณะที่ดีแทคเสนอความเห็นว่า กสทช. ควรแบ่งใบอนุญาตให้มีขนาดคลื่นเล็กลง ส่วนการกำหนดเพดานสูงสุดในการถือครองคลื่น (สเป็กตรัมแคป) ไว้ที่ 60 เมกะเฮิร์ตซ์ เสนอให้ตัดเงื่อนไขสเป็กตรัมแคปแล้วค่อยตกลงการกำหนดสเป็กตรัมแคปที่เหมาะสมในภายหลัง เช่นเดียวกับเอไอเอสที่ให้ความเห็นว่า การกำหนดสเป็กตรัมแคปที่ 60 เมกะเฮิร์ตซ์ไม่มีหลักเกณฑ์มารองรับชัดเจน และเพดานการถือครองคลื่นดังกล่าวน้อยเกินไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ [1], [2]

นายกสั่งทีโอทีเคลียร์สัมปทาน ส่งศาล รธน.ตีความสิทธิใช้คลื่น

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้ทีโอทีแก้ปัญหาสัญญาสัมปทานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ให้เสร็จใน 1 เดือน ทั้งตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในส่วนของการปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากบริการพรีเพด (เติมเงิน) และการหักค่าใช้จ่ายจากบริการโรมมิ่งออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการเจรจายุติข้อพิพาทที่เกิดจากสัมปทาน ทั้งเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสิทธิในการใช้คลื่นภายใต้สัมปทานของทีโอที และกสท โทรคมนาคม (แคท) ว่า มาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คุ้มครองสิทธิแค่ไหน เนื่องจากรัฐวิสาหกิจตีความว่า มีสิทธิใช้ตามใบอนุญาตจนถึงปี 2568 ขณะที่ กสทช.ตีความว่า สิทธิย่อมสิ้นสุดพร้อมสัญญาสัมปทาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สหภาพทีโอทีเดินสายยื่นหนังสือคัดค้านประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์

สัปดาห์นี้ (27-29 ก.ค.58) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที ได้เดินสายยื่นหนังสือคัดค้านการนำคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ที่อยู่ภายใต้สัมปทานระหว่าง ทีโอที กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟว์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ซึ่งจะหมดสิ้นสุดสัมปทานในเดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้ไปประมูล 4 จี โดยอนุชิต ธูปเหลือง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที ยื่นหนังสือขอให้ระงับการนำคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ไปจัดประมูลให้กับสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ในวันที่ 28 ก.ค. ได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อประธานคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที รวมถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนในวันที่ 29 ก.ค. มีกำหนดยื่นหนังสือต่อประธานบอร์ดทีโอที และในสัปดาห์หน้าจะไปยื่นเรื่องต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมแนบบัญชีรายชื่อผู้คัดค้านการคืนคลื่นความถี่เพื่อไปประมูลพันกว่ารายชื่อ จากรายงานข่าวของประชาชาติธุรกิจ เหตุผลที่ขอให้ระงับการประมูลคือ เนื่องจากการนำคลื่นไปประมูลใหม่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ทหารศรีสะเกษเรียกผู้โพสต์ต้าน ม.44 ปรับทัศนคติ

ณัตพล (ขอสงวนนามสกุล) ชาว อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ผู้ประกอบอาชีพค้าขายอุปกรณ์ตกแต่งรถสวยและเปิดร้านคาร์แคร์ หนึ่งในผู้ที่โพสต์แชร์ข้อความต่อต้านคัดค้านการประกาศใช้มาตรา 44 ในการคุมเด็กแว้น-รถซิ่ง เดินทางเข้าพบ พ.อ.ณรงค์ กลั่นวารีย์ ผบ.กกล.รส.จ.ศรีสะเกษ พ.อ.วีรเทพ การุณรอบดุล รอง ผบ.กกล.รส.จ.ศรีสะเกษ และตำรวจ สภ.เมืองศรีสะเกษ หลังทหารได้เรียกมาพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อปรับทัศนคติ ณัตพลกล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นคนจัดทำสติ๊กเกอร์ข้อความดังกล่าวขึ้น เพียงแต่เห็นเพื่อนในกลุ่มเฟซบุ๊กแชร์มาจึงนำมาโพสต์ในหน้าไทม์ไลน์ของตน หลังการพูดคุยได้มีการลงบันทึกเป็นหลักฐาน และณัตพลรับปากว่าจะนำข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยไปแจ้งต่อกับกลุ่มเพื่อนเพื่อทำความเข้าใจต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์

28 กรกฎาคม 2558

กสท เปิดตัวศูนย์ข้อมูลใหม่ ด้านบอร์ดดีอีมีมติให้ใช้ศูนย์ฯ ของ กสท-ทีโอที ไปก่อนจนกว่าโครงการศูนย์ข้อมูลแห่งชาติจะสร้างเสร็จ

บริษัท กสท โทรคมนาคม เปิดตัวศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ที่จังหวัดนนทบุรี โดยลงทุนสร้าง 500 ล้านบาท รายงานข่าวระบุว่า กสท โทรคมนาคม เป็นผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลรายแรกและรายเดียวในอาเซียนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล TSI ระดับ 3 ของสถาบันเพื่อความปลอดภัย TÜViT พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีกล่าวในการนี้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดหันมาใช้ศูนย์ข้อมูลของ กสท โทรคมนาคม และทีโอทีไปก่อนจนกว่าโครงการศูนย์ข้อมูลแห่งชาติขนาดกว่า 30,000 ตารางเมตรจะสร้างเสร็จ โดยคาดว่าจะใช้เวลาราว 2 ปี และมีค่าบำรุงรักษาราว 8,000-9,000 ล้านบาทต่อปี

ที่มา: Blognone

สรอ.ให้บริการข้อมูลภาครัฐผ่านเว็บ-สมาร์ทโฟน เร่งเปิดข้อมูล 300 ชุดภายใน ก.ย.นี้

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) ได้จดทะเบียนชื่อและเป็นผู้ถือครองโดเมนเนม data.go.th และ apps.go.th เพื่อให้บริการเว็บไซต์ซึ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐและเป็นศูนย์กลางแอปพลิเคชั่นภาครัฐ (Government Application Center – GAC) โดยขณะนี้ สรอ.จะเร่งเปิดเผยข้อมูลภาครัฐจำนวน 300 ชุดข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2558 ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดแอป GAC ได้ทาง App Store, Google Play และ Window Phone Store

ที่มา: เดลินิวส์

กสทช. ทุ่ม 40 ล้านเนรมิตงานวันสื่อสารแห่งชาติ 6-9 ส.ค.นี้

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจัดงานวันสื่อสารแห่งชาติ หรือ “NBTC EXPO THAILAND 2015” (NET2015) ใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านบาท ในวันที่ 6-9 ส.ค. นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการคลื่นความถี่และการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยี 4G/LTE และเทคโนโลยี 4K ในงานยังมีนิทรรศการ 5 โซน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) นำเสนอนโยบายและโครงการริเริ่มของหน่วยงานภาครัฐสู่การเป็นสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล 2.ชุมชนดิจิทัล (Digital community) ฉายภาพเทคโนโลยีโลกอนาคตและชีวิตสมัยใหม่ 3.โลกเคลื่อนที่ (Mobile World) แสดงสินค้านวัตกรรมโทรศัพท์มือถือและย่านความถี่ในระบบ 4 จีและ 5 จีในอนาคต 4.บันเทิงล้ำยุค (Smart Entertainment) นำเสนอสินค้านวัตกรรมทางด้านบันเทิงในยุคดิจิทัลและอุปกรณ์ต่างๆในการแพร่ภาพและเสียงระบบดิจิทัล และ 5.ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (Cyber Secuity) การสร้างการตระหนักรู้และบอกวิธีรับมือภัยคุกคามจากช่องทางดิจิทัล

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ศาลปกครองยกคำร้อง กสท ที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตเรียกภาษีสรรพสามิต “ดีพีซี”

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 1259/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 1789/2558 ระหว่างผู้ร้องในคดีคือ บมจ. กสท โทรคมนาคม กับ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ผู้คัดค้าน ในกรณีที่แคทขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 3/2551 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 20/2554 ที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับการชำระผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการให้บริการวิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูล่า โดยศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ “ยกคำร้อง” ของ กสท เนื่องจากเห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทดังกล่าว เป็นคำชี้ขาดข้อพิพาทที่เป็นไปตามกฎหมายไทยและตามข้อสัญญา ซึ่งอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท อ่านรายละเอียดและเหตุผลของการยกคำร้อง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ศาลทหารสั่งพิจารณาลับ คดี 112 ‘อัญชัน’ จำเลย 29 กรรมเครือข่ายบรรพต

ศาลทหารนัดสอบคำให้การอัญชัน อายุ 58 ปี หนึ่งในผู้ต้องหา 14 คนที่ถูกฟ้องตามมาตรา 112 โดยพิจารณาคดีเป็นการลับ อัญชัญโดยกล่าวหาว่าอยู่ในเครือข่าย ‘บรรพต’ และอัปโหลดและเผยแพร่คลิปของบรรพตซึ่งมีข้อความหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ขึ้นบนเว็บไซต์ยูทูป อัญชัญถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 91 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ข้อ 1 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ด้วยข้อหาทั้งหมด 29 กรรม จำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ในวันเดียวกัน ศาลได้พิจารณาคดีนัดสอบคำให้การกฤษฎ์ หรือเนส ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์แถลงการณ์จากสำนักพระราชวังปลอมบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งศาลวินิจฉัยให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยเนื่องจากเนื้อหาคดีมีลักษณะที่ไม่น่าส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อองค์พระมหากษัตริย์

ที่มา: ประชาไท

29 กรกฎาคม 2558

ทีดีอาร์ไอและซิป้าเผยผลสำรวจ เทรนด์ดิจิทัล-คลาวด์ดันมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ไทยปี 57 โตร้อยละ 9.4

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แถลงผลสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2557 และคาดการณ์ปี 2558 และ 2559 พบว่า ภาพรวมตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยในปี 2557 มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยรวม 54,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 9.4 โดยภาคการเงินเป็นสาขาที่มีการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์สูงที่สุด และยังพบการเติบโตอย่างมากของซอฟต์แวร์สำเร็จรูปที่ใช้งานผ่านเว็บ (SaaS) แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในการใช้งานคลาวด์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปี 2558 คาดว่ามูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้นในตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยจะเติบโตร้อยละ 11.1 โดยมีแรงหนุนสำคัญคือ การขยายตัวของ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (Internet of Things – IoT) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ได้ (wearable device)

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

กสท-องค์กรเภสัชกรรม-รพ.หาดใหญ่ เปิดบริการอิเล็กทรอนิกส์จัดซื้อเวชภัณฑ์

บริษัท กสท โทรคมนาคม ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และโรงพยาบาลหาดใหญ่เปิดบริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจัดซื้อเวชภัณฑ์ โดย กสท ได้พัฒนาระบบ e-Logistics & DC, SOA Platform ภายใต้ชื่อบริการ “CAT SupplyChain Visibility” เพื่อเชื่อมโยงกระบวนการสั่งซื้อระหว่างโรงพยาบาลกับผู้จัดจำหน่ายหลักทางด้านยาเวชภัณฑ์ผ่านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุขได้เห็นชอบให้จัดทำระบบกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกลุ่มอุตสาหกรรมยาของประเทศไทย ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับลูกค้าขององค์การเภสัชกรรมเข้ากับบริการดังกล่าวของ กสท

ที่มา: เดลินิวส์

30 กรกฎาคม 2558

เฟซบุ๊กเปิดตัวเครื่องมือตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้งาน

เฟซบุ๊คเปิดตัวเครื่องมือตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้งาน (Security Checkup Tool) ให้กับผู้ใช้เฟซบุ๊กผ่านบราวเซอร์ทั่วโลก และจะเปิดตัวเครื่องมือดังกล่าวสำหรับการใช้เฟซบุ๊กในสมาร์ทโฟนตามมา โดยในการตรวจสอบความปลอดภัย ผู้ใช้จะเห็นแถบแจ้งเตือน “ใช้เฟซบุ๊กอย่างปลอดภัย” (Stay Secure on Facebook) บนไทม์ไลน์ เมื่อกด “เริ่มต้น” เฟซบุ๊คจะให้ผู้ใช้ล็อกเอาต์จากเครื่องที่เคยล็อกอินไว้ ถัดมาจะให้ผู้ใช้เลือกว่าจะให้แจ้งเตือนทุกครั้งที่มีการล็อกอินในเครื่องหรือเบราว์เซอร์ที่ไม่เคยล็อคอินมาก่อนหรือไม่ และสุดท้ายคือเตือนผู้ใช้เรื่องพาสเวิร์ดและแนะนำให้ตั้งพาสเวิร์ดที่คาดเดายาก

ที่มา: Blognone, Facebook Newsroom

31 กรกฎาคม 2558

กสทช.เตือน ไม่ลงทะเบียนซิมเติมเงิน 1 ส.ค.เจอซิมดับ

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เผยว่า วันที่ 31 ก.ค. 58 เป็นวันสุดท้ายสำหรับการลงทะเบียนซิมแบบเติมเงิน โดยผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนจะส่งผลให้โทรศัพท์ไม่สามารถโทรออกได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.เป็นต้นไป ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน เช่น 191 โดยขณะนี้ยังมีผู้ไม่มาลงทะเบียนซิมทั้งสิ้น 16.9 ล้านเลขหมาย ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินมาลงทะเบียนซิมแล้ว 68.6 ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 80.2 จากจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงินทุกระบบทั้งหมดรวม 85.5 ล้านเลขหมาย

ที่มา: อีเมลประชาสัมพันธ์ กสทช. อ้างจาก Blognone

 

Exit mobile version