Digital Weekly: 5-11 ก.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

2015.07.11 21:23

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์:  สอบงบ กสทช. พบใช้จ่ายไม่สอดคล้องหลักธรรมาภิบาล/ กระทรวงไอซีทีจัดอบรมลูกเสือไซเบอร์ ปลูกฝังใช้ไอทีอย่างมีจริยธรรม-ขยายเครือข่ายเผ้าระวังภัยความมั่นคง/ “เนชั่นทีวี” ใช้เทคโนโลยีใหม่วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ชมจากโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์/ ศาลทหารไม่ให้ประกันหญิงโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่น ‘ประยุทธ์’ / กระทรวงไอซีทีเตือน เจอโฆษณาเงินกู้นอกระบบจับดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอม/ กทค.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4 จี เปิดประชาพิจารณ์ 17 ก.ค./ กสทช.เร่งแก้ปัญหาคลื่นวิทยุชุมชนกวนคลื่นการบิน ฯลฯ

กระทรวงไอซีทีจัดอบรมลูกเสือไซเบอร์ ปลูกฝังใช้ไอทีอย่างมีจริยธรรม-ขยายเครือข่ายเผ้าระวังภัยความมั่นคง

กระทรวงไอซีทีจัดอบรมลูกเสือไซเบอร์ ปลูกฝังใช้ไอทีอย่างมีจริยธรรม-ขยายเครือข่ายเผ้าระวังภัยความมั่นคง

6 กรกฎาคม 2558

กทค.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4 จี เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ 17 ก.ค.นี้

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สําหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยเตรียมเสนอ กสทช.ในวันที่ 14 ก.ค. เพื่อเริ่มกระบวนการประชาพิจารณ์ในวันที่ 17 ก.ค.
ร่างประกาศมีสาระสำคัญคือ

  • จะนำคลื่นออกประมูลจำนวน 2 ใบอนุญาต แต่ละใบอนุญาตมีคลื่น 2×12.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ให้ผู้ประกอบการแต่ละรายยื่นประมูลได้ใบอนุญาตเดียว
  • อายุใบอนุญาตสิ้นสุด 15 ก.ย. 2577
  • ราคาเริ่มต้นเป็นราคาเดิมที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ประเมินไว้ในปี 2557 โดยมีราคาเริ่มต้น 11,600 ล้านบาท ลดจากมูลค่าคลื่น 30% แต่ถ้าผู้เข้าประมูลน้อยกว่าหรือเท่าจำนวนใบอนุญาตจะเริ่มต้นประมูลเต็ม มูลค่าคลื่นที่ 16,571 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ITU ได้ประเมินราคาตั้งต้นใหม่ ซึ่งลดลงกว่าเดิม 9% มาให้แล้ว เนื่องจากให้เหตุผลว่าในปีนี้มีการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ใน 7-8 ประเทศ อาทิ โรมาเนีย อินเดีย ศรีลังกาซึ่งดูแนวโน้มแล้วมีราคาลดลงทั้งสิ้น แต่ กทค.ก็ยังเห็นให้คงราคาเดิม เพราะเห็นว่าข้อมูลที่ ITU เสนอมาไม่ชัดเจน ความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ในไทยมีอยู่สูง และหากลดราคาตามที่ ITU ประเมินมาอาจถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้
    อนึ่ง ราคานี้ยังไม่ รวมคลื่น 5 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ดีแทคจะส่งคืนให้
  • เงื่อนไขการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นทุกย่านความถี่โทรคมนาคมยังอยู่ที่ 60 เมกะเฮิร์ตซ์ ทั้งในรูปแบบสิทธิ์ภายใต้สัมปทานและใบอนุญาต หากผู้ชนะประมูลถือครองเกิน ต้องส่งคืนคลื่นไม่น้อยกว่าจำนวนที่ประมูลได้ให้กับ กสทช. หรือเจ้าของสัมปทาน
  • เงื่อนไขการขยายโครงข่ายคงไว้ที่ 40% ของประชากร ภายใน 4 ปี

ทั้งนี้ เงื่อนไขต่างๆ ข้างต้นยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้หลังจากเปิดประชาพิจารณ์แล้ว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

กสทช.และกระทรวงคมนาคมเร่งแก้ปัญหาคลื่นวิทยุชุมชนกวนคลื่นการบิน

กสทช.และกระทรวงคมนาคมร่วมลงนามข้อตกลงแก้ไขปัญหาคลื่นวิทยุชุมชนรบกวนการสื่อสารการบิน โดยที่ผ่านมา บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (Aerothai) ได้รับคำร้องเรียนว่าคลื่นการบินถูกรบกวนจำนวน 100-300 คำร้องต่อเดือน ด้านนายกสมาคมนักบินไทยระบุว่า คลื่นวิทยุชุมชนเป็น 1 ใน 4 แหล่งที่มาที่ก่อให้เกิดการรบกวนคลื่นการบิน ส่วน ผอ.การบริหารจราจรทางอากาศของ Aerothai เรียกร้องให้ กสทช.บังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดเพื่อลดปัญหาคลื่นกวนกัน กันช่วงคลื่นไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน และร่วมกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) ทางด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า วิทยุชุมชนเป็นปัญหาใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมกระจายเสียงและแพร่ภาพออกอากาศ และปัญหาการกวนกันของคลื่นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งกล่าวด้วยว่า วิทยุชุมชนในปัจจุบันไม่ได้เป็นของชุมชนอย่างแท้จริง อนึ่ง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ยังไม่ได้กำหนดให้การกวนกันของคลื่นเป็นปัญหาเร่งด่วน

ที่มา: Bangkok Post

กระทรวงไอซีทีเบรกศูนย์ไอซีทีชุมชน 300 แห่ง หลังเช็คประสิทธิภาพ 1,900 ศูนย์เดิม พบตอบสนองชุมชนเพียง 50 ศูนย์

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผยว่า กระทรวงจะระงับการสร้างศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน 300 แห่ง วงเงิน 90 ล้านบาท เนื่องจากเมื่อประเมินประสิทธิภาพศูนย์เดิมจำนวน 1,900 แห่งแล้วพบว่า มีเพียง 50 แห่งเท่านั้นที่ตอบสนองการใช้งานของชุมชนได้ในระดับดี ปัญหาที่พบเบื้องต้นคือปัญหาการบริหารจัดการ เช่น ส่วนชุมชนไม่มีงบประมาณบำรุงรักษา พรชัยเห็นว่า ส่วนนี้อาจนำเงินมาจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งจะจัดตั้งขึ้นใหม่ได้ โดยประเมินไว้ที่ปีละ 12 ล้านบาท และการระงับโครงการดังกล่าวก็เพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้เสร็จภายในปีนี้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

CAT เตือน แบบสอบถามออนไลน์ที่อ้างชื่อบริษัทเป็น Malware Ads

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เผยถึงกรณีที่ปรากฏแบบสำรวจออนไลน์บนหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีข้อความชวนตอบแบบสอบถามออนไลน์ชิงรางวัลโดยอ้างชื่อบริษัทว่า บริษัทไม่ได้เป็นผู้จัดทำแบบสำรวจออนไลน์ดังกล่าวและได้ตรวจสอบพบแล้วว่าเป็น Malware Ads ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายโดยที่ผู้ใช้งานไม่รู้ตัว

ที่มา: เดลินิวส์

7 กรกฎาคม 2558

กระทรวงไอซีทีจัดอบรมลูกเสือไซเบอร์ ปลูกฝังใช้ไอซีทีอย่างมีจริยธรรม-ขยายเครือข่ายเผ้าระวังภัยความมั่นคง

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงไอซีทีกล่าวในการอบรมโครงการค่ายลูกเสือไซเบอร์ (CyberScout Camp) ระหว่างวันที่ 6-8 ก.ค.58 ว่า กระทรวงฯ ดำเนินโครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างเยาวชนที่มีจิตสำนึกด้านจริยธรรมคุณธรรมในการใช้และเรียนรู้ไอซีที และขยายเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังสอดส่องพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสถาบันและประเทศชาติ โครงการดังกล่าวมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นเยาวชนช่วงอายุ12-18ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาและครูพี่เลี้ยง หัวข้อการอบรมมีได้แก่ คอมพิวเตอร์เบื้องต้น, คุณธรรมและจริยธรรมในการใช้ไอซีที, พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550, รูปแบบและลักษณะการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์, วิชาการลูกเสือและลูกเสือไซเบอร์, รู้เท่าทันภัยออนไลน์และการแจ้งเหตุเว็บไซต์ไม่เหมาะสมของลูกเสือไซเบอร์ เป็นต้น

ที่มา: เดลินิวส์

8 กรกฎาคม 2558

“เนชั่นทีวี” ใช้เทคโนโลยีใหม่วิเคราะห์พฤติกรรมผู้ชมจากโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์

เนชั่นทีวี สถานีโทรทัศน์ข่าวในเครือเนชั่นมันติมีเดียร่วมกับบริษัท Computerlogy บริษัทผลิตซอฟต์แวร์ของไทย ทำโปรเจกต์ “โซเชียล ทีวี” (social TV) ที่ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์ชื่อ “TH3RE” ซึ่งจะวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและตรวจสอบกระแสที่กำลังเป็นที่นิยมบนโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ยูทูบ เว็บบอร์ด เว็บไซต์ข่าว และบล็อกต่างๆ ซึ่งจะทำให้เนชั่นทีวีสามารถวิเคราะห์กระแสบวกและลบและสามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหารายการข่าวให้เหมาะสมได้ ระบบนี้จะบอกข้อมูลว่าหัวข้ออะไรกำลังเป็นกระแสในตอนนี้ กระแสอะไรที่คนกำลังพูดถึง มีคนจำนวนกี่คนที่พูดถึงเรื่องนี้ ที่ไหนและเมื่อไหร่ที่เรื่องนี้เกิดขึ้น และคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องบวกหรือลบ

ที่มา: The Nation

9 กรกฎาคม 2558

กมธ.สอบงบ กสทช. พบใช้จ่ายไม่สอดคล้องหลักธรรมาภิบาล-กรอบการเงินการคลัง

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบรายงานการพิจารณาศึกษาติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาติดตาม รายงานมีเนื้อหาว่า การจัดทำและการบริหารงบประมาณประจำปี 2556 ของกสทช.ไม่ได้ดำเนินการสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล การเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด พบข้อบกพร่องในการว่าจ้างที่ปรึกษา ไม่มีแผนงานการจัดจ้าง การดำเนินการมักมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว และใช้วิธีพิเศษขั้นตอนในการจัดจ้างและจัดทำขอบเขตการดำเนินงาน (ทีโออาร์) ไม่โปร่งใส และอื่นๆ นอกจากนี้ กมธ.เห็นควรให้พิจารณาทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ.2553 และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างและความเป็นอิสระของกสทช.

ที่มา: เดลินิวส์

ชูศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน สนองนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวถึงศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Government Contact Center : GCC 1111) ว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่สนองนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐและลดช่องว่างระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ประชาชนสามารถติดต่อศูนย์ดังกล่าวได้ทางโทรศัพท์ โทรสาร อีเมล เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ โดยการให้บริการแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.บริการสอบถามข้อมูลทั่วไป 2.บริการสอบถามข้อมูลเพื่อการติดต่อหน่วยงานภาครัฐ 3.บริการแบบฟอร์มคำขอรับบริการและเอกสารต่างๆ และ 4.บริการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2547 ที่ผ่านมา GCC 1111 ได้รับเรื่องร้องทุกข์และประสานงานต่อจำนวน 3,417 เรื่อง

ที่มา: เดลินิวส์

ทรูเตรียมลงทุนอีก 3.3 หมื่นล้านขยายโครงข่าย

มนัสส์ มานะวุฒิเวช หัวหน้าสายงานการพาณิชย์และพัฒนาธุรกิจ ทรูออนไลน์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยว่า ในปี 2558-2559 ทรูเตรียมลงทุน 33,000 ล้านบาทเพื่อขยายโครงข่ายทั่วประเทศให้ครอบคลุม 10 ล้านครัวเรือนในปี 2559 ทรูยังเปิดบริการใหม่ที่โครงข่ายไฟเบอร์สามารถรองรับความเร็วได้สูงสุด 10 Gbps ทั้งเทคโนโลยีเอฟทีทีเอช (FTTH ), เอฟทีทีบี (FTTB) และด็อกซิส (DOCSIS) รองรับการใช้งานที่ต้องการความเร็วสูงในการเชื่อมต่อ อาทิ บริการวีดิโอสตรีมมิ่ง (VDO Streaming) การประชุมทางไกล (VDO Conference)

ที่มา: เดลินิวส์

10 กรกฎาคม 2558

ศาลทหารไม่ให้ประกันหญิงโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่น ‘ประยุทธ์’ แจ้งผิด พ.ร.บ.คอม-ม.116-ม.348

ศาลทหารไม่ให้ประกันตัวรินดา ปฤชาบุตร ผู้ต้องหาคดีโพสต์เฟซบุ๊ก ที่โพสต์ข้อความกล่าวหาว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาโอนเงินไปสิงคโปร์จำนวนหมื่นล้านบาท รินดาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 ก.ค. และถูกแจ้งความผิด 3 ข้อหา คือ มาตรา 14(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ,มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 348 ประมวลกฎหมายอาญา รินดากล่าวว่า เธอไม่ได้เขียนข้อความดังกล่าวขึ้นเองแต่คัดลอกข้อความนั้นจาก Line โดยไม่ได้อ่านให้ละเอียดก่อน เธอยังปฏิเสธว่าไม่ได้มีความรู้จักกับมนูญ ชัยชนะ หรือ อเนก ซานฟราน ซึ่งถูกโยงเอาไว้ในผังเครือข่ายผู้โพสต์ข้อความซึ่งตำรวจนำมาใช้ประกอบการแถลงข่าว ด้านทนายจำเลยกล่าวว่า เธอถูกแจ้งข้อหาหนักเกินไป เพราะหากมีการเผยแพร่ข้อความเท็จที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ เสียหายก็เข้าข่ายหมิ่นประมาท ไม่ใช่มาตรา 116 ที่เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ

ที่มา: ประชาไท

กระทรวงไอซีทีเตือน เจอโฆษณาเงินกู้นอกระบบจับดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีทีเผยว่า หากพบโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง หรือฉ้อโกง เช่น ชักชวนให้ประชาชนกู้เงินนอกระบบหรือเชิญชวนให้ลงทุนหรือประมูลของที่ราคาถูกกว่าความเป็นจริงทางสื่อออนไลน์ กระทรวงไอซีทีจะระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวและดำเนินการหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แต่หากกรณีเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องก็จะสนับสนุนข้อมูลโดยการเก็บพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องรวบรวมส่งให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์

Tags: , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: