Thai Netizen Network

Digital Weekly: 26 มิ.ย.-4 ก.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: ถูกเจาะครั้งใหญ่ แฮกเกอร์โจมตีเว็บสถาบันการศึกษาและบริษัทห้างร้านไทย/ ตำรวจหิ้วมือถือ 5 ผู้ต้องหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ไปจากจุดตรวจค้นโดยยังไม่ปิดผนึกซอง / ดีแทคยินดีคืนคลื่นเพื่อประมูล 4 จีอีก 5 เมกะเฮิร์ตซ์ ปรีดิยาธรระบุ “ในเมื่อทุกคนเต็มใจคืนคลื่นจึงไม่จำเป็นต้องเยียวยา”/ Sanook! ลงทุนระบบวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้ ชวนอีก 10 ดังเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้า/ กมธ.ยกร่างฯ เบรกข้อความเจ้าของคลื่นความถี่เป็นพลเมือง ชี้ตัดโอกาสกลุ่มอาเซียนลงทุนโทรคมนาคม/ SIPA เสนอตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษซอฟต์แวร์/ ตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ ก.ย.นี้ ฯลฯ

มือถือ 5 เครื่องของผู้ต้องหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่ตำรวจนำออกไปจากจุดเกิดเหตุโดยยังไม่ปิดผนึกซองเก็บพยานหลักฐานและไม่ได้ทำบันทึกการยึด (27 มิ.ย. 58)

มือถือ 5 เครื่องของผู้ต้องหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่ตำรวจนำออกไปจากจุดเกิดเหตุโดยยังไม่ปิดผนึกซองเก็บพยานหลักฐานและไม่ได้ทำบันทึกการยึด (27 มิ.ย. 58)

26 มิถุนายน 2558

Sanook! ลงทุนระบบวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้ ชวน 10 เว็บเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้า

จักรพันธ์ พวงแก้ว ประธานฝ่ายสื่อโฆษณาออนไลน์ บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด ระบุ Sanook! ลงทุนระบบวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคบนโลกออนไลน์เพื่อเพิ่มศักยภาพโฆษณา โดยระบบบริหารจัดการผู้ใช้งาน (Data Management Platform – DMP) ดังกล่าวจะคำนวณหาพฤติกรรมผู้บริโภคและเพื่อให้ส่งโฆษณาไปได้ตรงเป้าหมายที่สุด รวมถึงการส่งโฆษณาซ้ำ (Retargeting) เพื่อเพิ่มโอกาสการตัดสินใจ นอกจากนี้ Sanook! กำลังเจรจากับเว็บไซต์จำนวน 10 เว็บให้เข้ามาใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว เพื่อรวมข้อมูลของผู้ใช้และนำข้อมูลทั้งหมดไปขายเพื่อเพิ่มรายได้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ไอทียู ร่วมรัฐบาลไทย-ออสเตรเลีย เอดีบี ศึกษาเชิงลึกการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัล

สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ไอทียู) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) รัฐบาลไทย รัฐบาลออสเตรเลีย และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ทำโครงการการศึกษาและพัฒนาศักยภาพการก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล มีระยะเวลาศึกษาเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. ถึงไตรมาสแรกของปี 2559 โดยจะศึกษารายละเอียดเชิงลึกในการนำประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลและให้เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลรัฐบาล

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

27 มิถุนายน 2558

ตำรวจหิ้วมือถือผู้ต้องหาขึ้นมอเตอร์ไซค์ไปจากจุดตรวจค้นโดยยังไม่ปิดผนึกซอง

ตำรวจพร้อมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานนำหมายค้นเข้าค้นรถศศิกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน หนึ่งในทนายความของ 5 นักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยพบโทรศัพท์มือถือ 5 เครื่องของผู้ต้องหา ทว่าระหว่างการตรวจค้นยังไม่สิ้นสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายได้นำโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 เครื่อง ขึ้นมอเตอร์ไซค์ไปจากจุดตรวจค้นโดยไม่ได้ปิดผนึกซอง ก่อนจะนำมาคืนในอีกประมาณ 12 นาทีถัดมา

ที่มา: เฟซบุ๊กเครือข่ายพลเมืองเน็ต

29 มิถุนายน 2558

ทนายกลุ่มปชต.ใหม่ เผยมือถือยังไม่ถูกตรวจข้อมูล โต้ ผบช.น.ให้ข้อมูลไม่เป็นจริง

เนื่องจากเหตุยึดมือถือของ 5 นักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (ย้อนอ่านข่าวเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2558) เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าพบพลตำรวจตรีธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ที่กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ขอให้ทำสำเนามือถือทั้ง 5 เครื่อง โดยตำรวจก็จะทำสำเนาให้กองพิสูจน์หลักฐาน 1 ชุด และให้พนักงานสอบสวน 1 ชุด โดยเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงมาให้ทราบว่า มีคำสั่งให้มีการเร่งรัดคดีทำให้การสำเนาข้อมูลจะแล้วเสร็จใน 2 วัน เยาวลักษณ์ระบุว่า จากการตรวจสอบมือถือจำนวน 5 เครื่องพบว่ายังไม่มีการเปิดหีบห่อ และเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ตรวจหรือเปิดเผยข้อมูลจากโทรศัพท์ ดังนั้น การที่พลตำรวจโทศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่ามีข้อมูลจำนวนมากที่ได้จากโทรศัพท์มือถือจึงเป็นไปไม่ได้ เยาวลักษณ์ระบุด้วยว่า ขณะนี้ทีมทนายความกำลังฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจค้นรถในวันเกิดเหตุ เพราะถือเป็นการทำผิดกฎหมายเนื่องจากทรัพย์สินทั้งหมดถือเป็นของลูกความ

ที่มา: มติชนออนไลน์

สรุปประชุมคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ (29 มิ.ย. 2558)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ เปิดเผยรายละเอียดจากที่ประชุมคณะทำงานว่า

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สพธอ.จัดโครงการ “Green e-Commerce” ให้คำปรึกษาด้านอีคอมเมิร์ซกับเอสเอ็มอี

สำนักงานพัฒนาธุรรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จัดโครงการ Green e-Commerce เพื่อกระตุ้นและให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการรายย่อยขายสินค้าออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการตลาดออนไลน์และระบบการรักษาความปลอดภัย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 400 ราย คาดว่าในปี 2559 จะมีผู้เข้าร่วมโครงการ 10,000 ราย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

กมธ.ยกร่างฯ เบรกข้อความเจ้าของคลื่นความถี่เป็นพลเมือง ชี้ตัดโอกาสกลุ่มอาเซียนลงทุนโทรคมนาคม

มานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ. ยกร่างฯ) คนที่สองเผยว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ผ่าน 2 มาตราที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน อันได้แก่

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

30 มิถุนายน 2558

SIPA เสนอตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษซอฟต์แวร์

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) เตรียมเสนอกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่จะจัดตั้งขึ้น (ซึ่ง SIPA จะถูกย้ายไปสังกัดกระทรวงนี้) ให้ 1.จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษทางด้านซอฟต์แวร์ โดยจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายและการจัดการแบบพิเศษขึ้น เพราะกฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของบริษัทซอฟต์แวร์ต่างชาติ 2. สนับสนุนให้ซอฟต์แวร์ไทยรองรับการใช้งานของ Internet of Things (IoT) 3.สนับสนุนให้ซอฟต์แวร์ของรัฐไม่จำกัดอยู่กับเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง โดยเป็นต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เอื้อด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

1 กรกฎาคม 2558

กระทรวงไอซีทีเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ ก.ย.นี้

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กำลังจัดทำโครงการร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายรัฐบาล โดยพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเผย ขณะนี้อยู่ระหว่างประชุมระดมความคิดเห็น และจะเริ่มยกร่างแผนได้ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. นี้ คาดว่าจะจัดทำเป็นแผนฉบับสมบูรณ์ได้ราวเดือน ต.ค.-พ.ย. เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

พรชัยเผยด้วยว่า ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กำลังพิจารณาร่างกฎหมายปรับปรุงกระทรวงฯ ในวาระที่ 2 คาดว่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายและตั้งกระทรวงใหม่ได้ในเดือน ก.ย. นี้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

แฮกเกอร์โจมตีเว็บสถาบันการศึกษาและบริษัทห้างร้านไทย

เว็บไซต์มหาวิทยาลัยและร้านค้าต่างๆ ในไทยถูกเจาะระบบครั้งใหญ่ พบบางเว็บไซต์ไม่มีการเข้ารหัสรหัสผ่าน แฮกเกอร์ยังได้เผยแพร่ข้อมูลการโจมตี ทั้งช่องโหว่ที่ใช้ในการโจมตีและข้อมูลบางส่วนที่ถูกขโมยมาจากฐานข้อมูลด้วย เว็บไซต์ที่ได้รับผลกระทบ เช่น เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จุฬา มหิดล นิด้า บูรพา นเรศวร อุบล สวนดุสิต แม่โจ้ ลาดกระบัง บางมด กรุงเทพ รังสิต และร้านค้าเช่น บิ๊กซี ฟิวเจอร์ปาร์ค แม็คโดนัลด์ ฯลฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยระบุว่า ผู้บุกรุกใช้เทคนิคที่เรียกว่า SQL Injection ส่งคำสั่งเข้าไปทางรูรั่วของระบบเพื่อสั่งให้แสดงข้อมูลจากฐานข้อมูล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวรวมถึงชื่อผู้ใช้ อีเมล และรหัสผ่าน ซึ่งเว็บไซต์จำนวนมากเก็บรหัสผ่านโดยไม่ได้เข้ารหัส หรือเข้ารหัสอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้สามารถอ่านได้โดยง่าย

ที่มา: Blognone

Exit mobile version