Digital Weekly: 12-18 ก.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

2015.07.19 10:55

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: นายกสั่งห้ามเลื่อนประมูล 4 จี/ กสทช.เริ่มเปิดรับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4 จี 1800 เมกะเฮิร์ตซ์/ คนไทยบุกแชตกวน ‘นาซ่า’ หลังภารกิจพลูโต/ กระทรวงไอซีทีดันตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิทัล/ ไลน์ ประเทศไทยเปิดบริการระบบชำระเงินออนไลน์/ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ แถลงการณ์ให้กองทัพเรือถอนฟ้องหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ 2 นักข่าวภูเก็ตหวาน/ ศาลทหารให้ประกันตัวหญิงโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประยุทธ์ วงเงิน 1 แสน/ 2 กรรมการ กสทช. ประวิทย์-สุภิญญา แจงประเด็นไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.กสทช. ฯลฯ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำชับในที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า กสทช.ต้องจัดการประมูลให้ทันตามกำหนดเดิม (11 พ.ย.58) ห้ามเลื่อนโดยเด็ดขาด [ภาพประกอบ ปรับปรุงจากไอคอนเครือข่ายไร้สายที่ออกแบบโดย Mohamed Ahmed Fouad ภายใต้อนุสัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์ Attribution 3.0 Unported]

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำชับในที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า กสทช.ต้องจัดการประมูลให้ทันตามกำหนดเดิม (11 พ.ย.58) ห้ามเลื่อนโดยเด็ดขาด [ภาพประกอบ ปรับปรุงจากไอคอนเครือข่ายไร้สายที่ออกแบบโดย Mohamed Ahmed Fouad ภายใต้อนุสัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์ Attribution 3.0 Unported]

12 กรกฎาคม 2558

2 กรรมการ กสทช. ประวิทย์-สุภิญญา ทำหนังสือแจงประเด็นไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.กสทช.

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.ส่งความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … (ร่างพ.ร.บ.กสทช.) ถึงเลขาธิการ กสทช.ระบุว่า มีหลายประเด็นที่ควรยืนตาม พ.ร.บ.กสทช.ฉบับเดิมที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ได้แก่

  • ประเด็นองค์ประกอบของกรรมการ กสทช. คุณสมบัติ คณะกรรมการสรรหาและการดำเนินการคัดเลือก: ไม่ได้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม
  • หลักความเป็นอิสระของหน่วยงานกำกับดูแล: ร่างพ.ร.บ.กสทช.จะเปิดโอกาสให้ให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาแก้ไขแผนและนโยบายของหน่วยงานกำกับดูแล (กสทช.) ได้
  • การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่: มีการเขียนข้อยกเว้นที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจและจัดสรรคลื่นด้วยวิธีคัดเลือกคุณสมบัติ (มีการเพิ่มหลักเกณฑ์และเงื่อนไขว่า การประมูล “ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้”) อันจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสตามมา
  • กลไกตรวจสอบ กสทช.: ที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงานขาดความเหมาะสม นอกจากนี้ กระบวนการประเมินยังมีลักษณะเป็นเพียงกลไกภายใน
  • การสนับสนุนการชดเชยการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่: การเขียนเพิ่มเติมในร่างกฎหมายว่า ให้ใช้เงินของรัฐชดเชยหรือเยียวยาในกรณีที่ต้องนำคลื่นความถี่กลับมาจัดสรรใหม่ เป็นกรณีที่ผิดไปจากหลักการและข้อเท็จจริง
  • การบริหารกิจการภายในของสำนักงาน กสทช.: บางมาตราในกฎหมายประสงค์จะแก้ไขการบริหารงานของสำนักงานโดยมีความคลุมเครือในแง่เหตุแห่งความจำเป็น
  • การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย: สุภิญญาเห็นว่าขั้นตอนพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ควรนำความเห็นที่หลายฝ่ายได้นำเสนอไปแล้วมาพิจารณา รวมทั้งควรเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนในกระบวนการพิจารณาจัดทำร่างด้วย

วันต่อมา (13 ก.ค.) น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ได้ทำความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาจำนวน 16 มาตรา ได้แก่

  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 4 เรื่องการกำหนดคุณสมบัติ เนื่องจากทำให้คณะกรรมการสรรหาสามารถใช้ดุลยพินิจกำหนดจำนวน กสทช.เฉพาะด้าน การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทั่วไปของ กสทช. เนื่องจากไม่ใช่การกำหนดคุณสมบัติที่สะท้อนความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติภารกิจ กสทช.
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 6 ถึงความเหมาะสมของกรรมการสรรหาเพราะจะขัดต่อบทบาทหน้าที่ด้านการตรวจสอบ
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 8 เรื่องการเปลี่ยนหน่วยงานธุรการในการสรรหา กสทช. จากสำนักเลขาวุฒิสภาเป็นสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • มาตรา 16 การนำเงินชดเชยการคืนคลื่นความถี่ ที่ควรคำนึงถึงการแสวงหาประโยชน์จากการชดเชยนี้ในกรณีของผู้ที่ถือครองคลื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่อาจนำคลื่นความถี่ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 17 อำนาจการกำกับดูแลการอนุญาตประกอบกิจวงโคจรดาวเทียมที่ไม่ได้ควบคู่กับการกำกับคลื่นความถี่ที่ กสทช.ดูแล
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 19 มีประเด็นเรื่องการแทรกแซงการทำงานและความเป็นอิสระของ กสทช. และหากเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายก็ควรส่งให้หน่วยงานอื่นมีความเป็นกลางพิจารณา
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 24 ที่เพิ่มข้อความ “โดยเฉพาะด้านการบริการสาธารณะแก่ประชาชน” เนื่องจากมีประเด็นปัญหาความไม่ชัดเจนของนิยาม เพราะเนื่องจากการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดก็คือการจัดสรรความถี่เพื่อบริการสาธารณะอยู่แล้ว
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 25 ที่มีการเพิ่มข้อความว่า “โดยจะคำนึงถึงจำนวนเงินที่เสนอให้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้” เนื่องจากเป็นการทำลายหลักการสำคัญของการประมูล
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 30 ไม่ควรเจาะจงให้เฉพาะ “หน่วยงานรัฐ” ที่จะเป็นผู้ดำเนินการตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมได้
  • มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 80/2557 ควรแก้ไขให้เกิดความชัดเจนว่าจะต้องไม่ใช่กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตนั้นสิ้นสิทธิในการใช้คลื่นความถี่แล้วตามกฎหมาย และต้องมิใช่กรณีผู้ได้รับอนุญาตสมัครใจคืนคลื่นเช่นกัน
  • มาตรา 32 ให้เพิ่มข้อความว่า เงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่นที่ได้รับคืนมา เป็นส่วนหนึ่งของรายได้กองทุนวิจัยฯ โดยไม่นำเข้ากองทุนดิจิทัลฯและไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งแตกต่างจากกรณีการจัดสรรคลื่นตามมาตรา 41(6) และ มาตรา 45(1) ที่ต่างให้นำส่งเข้ากองทุนดิจิทัลฯและหักค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกและเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยไม่พบว่ามีเหตุผลความจำเป็นใดที่ไม่กำหนดให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
  • มาตรา 33 อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติว่ากระทรวงการคลังจะทราบได้อย่างไรว่าเงินกองทุนดังกล่าวมีความจำเป็นหรือหมดความจำเป็นต้องใช้หรือไม่ และเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีความจำเป็น ทั้งที่สามารถกำหนดในร่างมาตรา 32 ได้ว่าให้นำเงินรายได้ที่ได้จากการจัดสรรคลื่นที่ได้รับคืนตามมาตรา 48(4) ให้นำส่งเข้ากองทุนดิจิทัลฯตามส่วนที่กำหนด ส่วนที่เหลือเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 34 เรื่องการนำเงินกองทุนไปลงทุนได้
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 37 ควรคงข้อความที่ให้เปิดเผยค่าตอบแทนเป็นรายบุคคลไว้
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 39 ควรให้มีการทบทวนที่มาของเงินกองทุนดิจิทัลฯ โดยควรเป็นงบที่รัฐจัดสรรให้ และไม่ควรกำหนดให้มีที่มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการรายปี
  • ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 41 ที่แก้ไขเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับการประเมินผลการปฏิบัติงานไม่ควรมีผู้แทนของหน่วยงานตรวจสอบภายนอกเป็นคณะกรรมการฯ

ที่มา: ประชาไท [1], [2]

13 กรกฎาคม 2558

ศาลทหารให้ประกันตัวหญิงโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประยุทธ์ วงเงิน 1 แสนบาท

สืบเนื่องจากกรณีที่รินดา ปฤชาบุตร ผู้โพสต์ข้อความกล่าวหาบนเฟซบุ๊กว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาโอนเงินไปสิงคโปร์จำนวนหมื่นล้านบาท ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 ก.ค.พร้อมแจ้งความผิด 3 ข้อหา คือ มาตรา 14(2) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ,มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 348 ประมวลกฎหมายอาญา และก่อนหน้านี้ศาลทหารตัดสินไม่ให้ประกันตัวนั้น มาวันที่ 13 ก.ค. ศาลทหารมีคำสั่งให้ประกันแล้วในวงเงินประกันหนึ่งแสนบาทตามคำร้องของทนาย โดยศาลทหารมีความเห็นว่า ผู้ต้องหาไม่น่าจะหลบหนี ประกอบกับมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตร 2 คน ศาลให้ปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไขว่า ห้ามยุยงปลุกปั่นหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกและห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

ขณะเดียวกัน แคมเปญรณรงค์ถึง คสช.และศาลทหาร เรียกร้องให้สิทธิการประกันตัว ‘รินดา’ ใน change.org มีผู้สนับสนุนแล้ว 668 คน

ที่มา: ประชาไท

สสวท.พัฒนาศูนย์เรียนรู้วิทย์-คณิต-เทคโนโลยีออนไลน์ แก้ปัญหาขาดสื่อการเรียนการสอน

พรพรรณ ไวทยางกูร ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เผยพัฒนาการของ “ศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สสวท.” (IPST Learning Space) ซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 และใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 100 ล้านบาทว่า ศูนย์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเนื้อหาสาระการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถม 1-มัธยม 6 และเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนและปัญหาการขาดครูผู้สอนที่มีคุณภาพ ปัจจุบัน สสวท.ได้พัฒนา IPST Learning Space จนประกอบด้วย 6 ระบบ อันรวมถึง ระบบโรงเรียน ที่จะอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา, ระบบคลังสื่อดิจิทัล ที่นักเรียนสามารถเข้ามาหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ขณะที่ครูสามารถเลือกสื่อประกอบการเรียนการสอนได้ หรือระบบสำนักพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครื่องมือให้ครูฝึกสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

14 กรกฎาคม 2558

คนไทยบุกแชตกวน ‘นาซ่า’ หลังภารกิจพลูโต

หลังยานสำรวจนิวฮอไรซันส์ขององค์การนาซ่าเดินทางไปเกือบจะถึงดาวพลูโต ซาร์เรส บาเดน ผู้บริหารขององค์การนาซ่า ได้ปรากฏตัวและเปิดให้ถามตอบหน้าฟีด Live Stream ทางยูทูบ ซึ่งนอกจากการแชตถามคำถามจำนวนมาก ได้ปรากฏผู้ใช้บัญชีแชตถามเป็นภาษาไทยและแชตในลักษณะก่อกวน หรือพูดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น การปล่อยมุก การขายไอเทมเกมส์ ประกาศตัว สอบถามเรื่องอื่น คุยกันเอง ฯลฯ จนก่อให้เกิดการท้วงติงจากผู้ที่ต้องการเข้ามาสอบถามซาร์เรส ทั้งนี้ยังมีผู้ใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเข้าไปขอโทษด้วยเช่นกัน และตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. จนถึงเวลา 22.00 น. ก็ยังปรากฎผู้ใช้ภาษาไทยเข้าไปก่อกวนอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ประชาไท

กสท ไม่ยอมคืนคลื่น 5 เมกะเฮิร์ตซ์ ติดเงื่อนไขสหภาพแรงงาน

คณะกรรมการ กสท โทรคมนาคม ปฏิเสธอย่างเป็นทางการไม่ยอมคืนคลื่นย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์โดยไม่มีเงื่อนไขให้กับ กสทช.เพื่อนำไปประมูล โดยพ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุว่า หาก กสทช.อยากให้ กสท คืนคลื่นจำนวนดังกล่าว ก็ควรอนุญาตให้ กสท เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตบนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จำนวนอีก 20 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ในขณะนี้ต่อไปอีกจนถึงปี 2568 หลังจากที่สัญญาสัมปทานกับดีแทคจะหมดอายุลงในปี 2561 อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหารของ กสท ได้ตกลงกับดีแทคแล้วว่าจะคืนคลื่นจำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์ดังกล่าวให้ กสทช.อย่างไม่มีเงื่อนไข ทว่ากลุ่มสหภาพแรงงานของ กสท ได้ประท้วงโดยยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ หนึ่งในนั้นเป็นข้อเสนอให้ กสทช.อนุญาตให้ กสท และดีแทคสามารถให้บริการ 4 จีแอลทีอีหรือบริการเครือข่ายไร้สายสาธารณะบนคลื่นความถี่ 20 เมกะเฮิร์ตซ์ซึ่งไม่ได้ใช้งานต่อไปอีกจนกว่าสัมปทานกับดีแทคจะหมดอายุลงในปี 2561

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีมติรับทราบการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1,800 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์โดยไม่มีเงื่อนไขของ กสท โทรคมนาคมแล้ว

ที่มา: Bangkok Post

ไลน์ ประเทศไทยเปิดบริการระบบชำระเงินออนไลน์

ไลน์ ประเทศไทย เปิดให้บริการ “Line Pay” หรือระบบชำระเงินออนไลน์อย่างเป็นทางการ หลังจากให้บริการในประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก ก่อนหน้านี้ไลน์ได้ทดลองให้บริการในประเทศไทยมาแล้วราว 2 เดือน มีผู้สมัครเข้าใช้งาน 1 ล้านราย บริการนี้แบ่งเป็นสำหรับผู้ใช้ทั่วไปกับร้านค้า ส่วนของผู้ใช้นั้นจะผูกบัตรเดบิตหรือเครดิตกับไอดีไลน์เพื่อใช้ชื้อสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ส่วนร้านค้าจะเป็นในรูปแบบช่องทางชำระเงิน (Payment Gateway)

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ออกแถลงการณ์ให้กองทัพเรือถอนฟ้องหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ 2 นักข่าวภูเก็ตหวาน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลไทยถอนข้อกล่าวหาต่อ อลัน มอริสัน และชุติมา สีดาเสถียร 2 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ซึ่งถูกฟ้องร้องหลังเผยแพร่รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่กล่าวว่า มีบุคลากรบางส่วนในกองทัพเรือไทยเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ทั้งสองถูกกองทัพเรือฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทและกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในแถลงการณ์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ระบุด้วยว่า ในฐานะที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ต้องรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกรอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เขียนไว้ว่า “รัฐภาคีควรจะต้องพิจารณาไม่ให้การหมิ่นประมาทเป็นคดีความอาญา” และ “กฎหมายอาญาควรใช้กับคดีที่มีความร้ายแรงอย่างมากเท่านั้น และการกำหนดโทษจำคุกจากการหมิ่นประมาท ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษที่เหมาะสมในกรณีใดๆ ก็ตาม” ส่วนความคืบหน้าคดี เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ศาลจังหวัดภูเก็ตได้สืบพยานจำเลยเรียบร้อยแล้วและจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ก.ย.2558

ที่มา: ประชาไท [1], [2]

15 กรกฎาคม 2558

นายกสั่งห้ามเลื่อนประมูล 4 จี

ที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมชุดชั่วคราว) มีมติรับทราบการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1,800 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์โดยไม่มีเงื่อนไขของ กสท โทรคมนาคม แล้ว และได้ให้ กสทช.นำไปประมูลคลื่น 4 จีในย่านดังกล่าวต่อไป ทางด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กำชับในที่ประชุมด้วยว่าว่ากสทช.ต้องจัดการประมูลให้ทันตามกำหนดเดิมในวันที่ 11 พ.ย.58 ห้ามเลื่อนโดยเด็ดขาด ส่วนกรณีที่ กสท ประสงค์จะให้ กสทช. ขยายระยะคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่เหลืออีก 20 เมกะเฮิรตซ์ออกไปจนถึงปี 2568 จากที่ต้องสิ้นสุดใบอนุญาตปี 2561 ตามอายุสัมปทานที่ดีแทคจะสิ้นสุดลงนั้น พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. และประธาน กทค. กล่าวว่า กสทช.ไม่มีอำนาจดังกล่าว นอกจากนี้ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ของการประชุม มีดังนี้

  • ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานกำหนดแผนการนำสายเคเบิลและสายไฟฟ้าลงร้อยท่อใต้ดินในกรุงเทพ เพื่อแก้ปัญหาทัศนียภาพ โดยจะมีนายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน
  • ความคืบหน้าโครงการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ (National Data Center) ขณะนี้มีภาคเอกชนยื่นความสนใจเข้ามาลงทุนในนโยบายนี้แล้ว 28 ราย เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจร่วมลงทุนในไทยอยู่แล้วบางส่วน 5 ราย ภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สิทธิประโยชน์เว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

16 กรกฎาคม 2558

ปรับราคาเริ่มต้นประมูล 4 จีคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ถึงการปรับราคาเริ่มต้นประมูล 4 จีบนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จากเดิมซึ่งที่ประชุม กทค. เห็นชอบเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมาไปเป็นราคาเริ่มต้น 13,920 ล้านบาท แต่หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตราคาจะปรับไปที่ 19,890 ล้านบาท ส่วนราคาขั้นต่ำคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์เริ่มต้นที่ราคา 11,260 ล้านบาท แต่หากมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตราคาจะปรับไปที่ 16,080 ล้านบาท

ที่มา: เดลินิวส์

17 กรกฎาคม 2558

กระทรวงไอซีทีดันตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิทัล

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิทัล (Digital Commerce) การส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิทัล (Digital Entrepreneur) และการส่งเสริมเนื้อหาดิจิทัล (Digital Content) เผย กระทรวงไอซีที โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ได้เสนอกรอบแนวคิดในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิทัลเพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ โดยลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิทัล ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์พิเศษด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การลงทุน ภาษี และแรงงาน มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีเสถียรภาพรองรับการพัฒนาและให้บริการดิจิทัล เป็นต้น โดยจะผลักดันแนวคิดนี้ให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

18 กรกฎาคม 2558

กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4 จีคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์

สำนักงาน กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ที่จะเปิดประมูลในวันที่ 11 พ.ย. 2558 โดยกำหนดรับฟังความคิดเห็นเริ่มตั้งแต่วันนี้ (18 ก.ค.) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 17 ส.ค. 2558 โดยสำนักงานฯ จะนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวประกาศลงบนเว็บไซต์ www.nbtc.go.th เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปทราบ ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความคิดได้ด้วยการส่งเอกสารโดยตรง หรือผ่านช่องทางจดหมาย จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือโทรสาร มาที่สำนักงานฯ หรือเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 ก.ค. 2558 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 3 ส.ค. 2558 ที่กรุงเทพ

ประเด็นที่จะทำการรับฟังความคิดเห็น ได้แก่
1.ขนาดของคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล ซึ่งตามร่างประกาศ จะอยู่ที่ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ต่อใบอนุญาต และจัดประมูล 2 ใบอนุญาต
2.วิธีการอนุญาต ความเหมาะสมของการใช้วิธีการประมูล ความเหมาะสมของกฎการประมูล ความเหมาะสมของเงื่อนไขกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลจำนวนน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนชุดคลื่นความถี่ที่จะนำมาอนุญาตให้ใช้
3.ราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ แยกเป็น 13,920 ล้านบาท กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาต และ 19,890 ล้านบาท กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต
4.กระบวนการอนุญาต
5.สิทธิ หน้าที่ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์
6.มาตรการจำกัดพฤติกรรมสมยอมในการเสนอราคาประมูล
7.ประเด็นอื่น ๆ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Tags: , , , , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: