Thai Netizen Network

Digital Weekly: 19 มิ.ย- 25 มิ.ย.2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: วิปรัฐบาลเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไข พิจารณาเพิ่มโทษการใช้เน็ตที่กระทบต่อความมั่นคง/ กทค.เห็นชอบเงื่อนไขประมูล 4 จีห้ามค่ายมือถือมีคลื่นเกิน 60 เมกะเฮิร์ตซ์/ 2 บริษัทไทยจับมือบริษัทใหญ่สิงคโปร์ ประกาศเข้าโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ภาครัฐ/ รองนายกฯ สั่งกระทรวงไอซีที จับตาการใช้โซเชียลมีเดียที่สร้างความขัดแย้ง/ Grab Taxi เปิดบริการมอเตอร์ไซต์รับส่งผู้โดยสาร-เอกสาร/ กระทรวงพาณิชย์เตรียมคุมเข้มการหลอกขายสินค้าออนไลน์ ชวนผู้ขายลงทะเบียน-โดเมนไอพี รวมถึงข่าวอื่นๆ

วิปรัฐบาลเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไข พิจารณาเพิ่มโทษการใช้เน็ตที่กระทบต่อความมั่นคง (22 มิ.ย. 58)

วิปรัฐบาลเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิจารณาเพิ่มโทษการใช้เน็ตที่กระทบต่อความมั่นคง (22 มิ.ย. 58)

19 มิถุนายน 2558

กรมบัญชีกลางและธนาคารพาณิชย์เปิดบริการออกหนังสือค้ำประกัน-รับชำระเงินค่าซื้อเอกสารประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์

มนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลางเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือให้บริการออกหนังสือค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Guarantee) ผ่านธนาคาร และบริการรับชำระเงินค่าซื้อเอกสารประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ระหว่างกรมบัญชีกลาง และธนาคาร 15 แห่ง เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการให้บริการ โดยธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมลงนาม 15 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเกียรตินาคิน, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทิสโก้, ธนาคารธนชาต, ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย), และธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

ที่มา: โลกวันนี้

ป.ป.ช.ระบุ อดีตผู้บริหาร ทศท. มีมูลความผิด กรณีแก้ไขสัญญามือถือเอื้อประโยชน์ “เอไอเอส”

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติออกมาว่า สุธรรม มลิลา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) [ปัจจุบัน คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)] และโอฬาร เพียรธรรม อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง จากการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้เอไอเอส ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อใช้เครือข่ายร่วม (โรมมิ่ง) กับผู้ให้บริการรายอื่น และอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายร่วมก่อนนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้ชี้มูลความผิดสุธรรม มลิลา อีกกรณีหนึ่ง ที่ถูกกล่าวหาว่าแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (พรีเพด) ให้เอไอเอสโดยมิชอบเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งด้วย เบื้องต้น ป.ป.ช. ได้แจ้งให้ทีโอทีดำเนินการให้เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้เป็นไปตามสัญญาหลัก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

22 มิถุนายน 2558

วิปรัฐบาลเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไข พิจารณาเพิ่มโทษการใช้เน็ตที่กระทบต่อความมั่นคง

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไข ไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายชุดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ เมื่อครม.เห็นชอบแล้วจะนำกฎหมายทั้ง 2 ฉบับส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป สุวพันธุ์ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ได้มีการให้พิจารณาเพิ่มโทษด้านความมั่นคงในร่างกฎหมายดังกล่าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ตที่กระทบต่อความมั่นคงหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อย รวมถึงการเข้าถึงข้อความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ โดยตนเชื่อว่าจะออกมาทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างแน่นอน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

Grab Taxi เปิดบริการมอเตอร์ไซต์รับส่งผู้โดยสารและเอกสาร

Grab Taxi ประเทศไทย เปิดให้บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์เพื่อรับส่งผู้โดยสารและเอกสารภายใต้ชื่อ “Grab Bike” โดยเบื้องต้นจะให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ บริการดังกล่าวจะเรียกใช้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น Grab Taxi โดยรถมอเตอร์ไซค์จะมาถึงจุดรับภายใน 15 นาที ค่าบริการกิโลเมตรแรก 35 บาท หลังจากนั้นจะคิดราคากิโลเมตรละ 12 บาท และหากเกินกิโลเมตรที่ 11 เป็นต้นไปจะคิดราคากิโลเมตรละ 15 บาท ส่วนการชำระเงินมีเพียงช่องทางเงินสดเท่านั้น Grab Taxi เผยว่า พนักงานขับรถมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ในระบบทุกคนผ่านการอบรมและตรวจประวัติอาชญากรรมมาแล้ว รวมถึงมีระบบติดตามแบบ real-time วินาทีต่อวินาทีผ่านในแอปพลิเคชั่น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

23 มิถุนายน 2558

คสช.เตรียมเชิญสื่อทีวี-วิทยุเข้าพบครั้งใหญ่ ขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าว

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา พลโทสุชาติ ผ่องพุฒิ เจ้ากรมทหารสื่อสาร ได้เชิญสื่อสิ่งพิมพ์มาขอความร่วมมือให้เสนอข่าวด้วยข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน ไม่ดึงบุคคลอื่นมาทำให้เกิดการเสียดสีขัดแย้ง อีกทั้งให้สัมภาษณ์ว่า คณะทำงาน คสช.จะนำเสนอข่าวและบทความรายวันทั้งจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย และสำนักข่าวต่างประเทศถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีตนเป็นผู้ตรวจลงนาม ซึ่งเมื่อนายกอ่านข่าวทั้งหมดแล้วจะให้ความคิดเห็นมา ตนและคณะทำงานก็จะชมเชยหรือติติงไปยังสื่อนั้น โดยความถี่ในการเชิญสื่อมาพูดคุยคือ 2-3 เดือนครั้ง การเชิญสื่อมาพูดคุยไม่ได้มีนัยยะใดๆ แต่เป็นไปเพื่อให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น และในสัปดาห์หน้า คสช.จะเชิญสื่อวิทยุและโทรทัศน์ประมาณ 200 คนมาพบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ที่มา: รายการเรื่องเล่าเช้านี้

บอร์ด กทค.เห็นชอบเงื่อนไขประมูล 4 จีห้ามค่ายมือถือมีคลื่นเกิน 60 เมกะเฮิร์ตซ์

ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเงื่อนไขการถือครองคลื่นความถี่ของผู้ประกอบการแต่ละราย บรรจุไว้เป็นเงื่อนไขในการประมูลคลื่น 4 จีบนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งในเบื้องต้นจะกำหนดให้ค่ายมือถือทุกรายถือครองคลื่นได้ไม่เกิน 60 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยการนับปริมาณคลื่นจะนับรวมทั้งในส่วนที่เป็นสิทธิภายใต้สัญญาสัมปทาน และส่วนที่ได้รับสิทธิใช้คลื่นตามใบอนุญาตที่ได้จากกสทช. รวมถึงการถือครองคลื่นของบริษัทในเครือเดียวกันด้วยแม้จะเป็นคนละนิติบุคคล แต่จะไม่คำนวณกับฝั่งผู้ให้สัมปทาน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถือครองคลื่นเกินกว่าที่กำหนดยังสามารถเข้าร่วมประมูลได้ แต่หากชนะประมูลแล้ว ต้องคืนคลื่นความถี่ในจำนวนที่ไม่น้อยกว่าจำนวนคลื่นที่ประมูลไปได้ โดยให้คืนแค่เจ้าของสัมปทานในกรณีที่ประสงค์จะคืนคลื่นที่อยู่ภายใต้สัมปทาน หรือ คืนให้แก่ กสทช. ในกรณีที่เป็นคลื่นที่ได้มาจากการจัดสรรของ กสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ให้เหตุผลของการเพิ่มเงื่อนไขข้อนี้ว่า เป็นไปเพื่อไม่ให้มีการกักตุนคลื่นหรือทำให้เกิดการครอบงำตลาด ซึ่งจะทำให้การใช้งานคลื่นไม่มีประสิทธิภาพ และกระทบกับผู้บริโภคทั้งในด้านราคาและการให้บริการ ทั้งนี้ กสทช. จะนำเงื่อนไขการประมูลคลื่นทั้งหมดไปเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 17 ก.ค. นี้ และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเดือน ส.ค. อนึ่ง ปัจจุบันค่ายมือถือ 3 ค่ายหลัก มีเพียงดีแทคเพียงรายเดียวเท่านั้นที่มีคลื่นความถี่เกิน 60 เมกะเฮิร์ตซ์

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ 1, 2

ยกเลิกระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบ e-auction เปลี่ยนมาใช้ e-bidding แทน แก้ปัญหาฮั๊วประมูล

กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมายการประมูลการจัดซื้อจัดจ้างต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยให้ยกเลิกระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) และนำระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มาใช้แทน เนื่องจากพบว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดปัญหาการฮั้วประมูล ขณะที่ระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ที่ร่วมประมูลไม่ต้องเจอหน้ากันเพราะเปิดประมูลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้การฮั๊วประมูลเป็นไปได้ยาก อีกทั้งระบบใหม่ยังทำให้ผู้ร่วมประมูลทั้งในประเทศ ต่างประเทศหรือต่างจังหวัดสามารถร่วมประมูลได้เท่าเทียมกันด้วย ในการนี้ กระทรวงการคลังยังได้นำเสนอให้นำระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-marketting) มาใช้ในการพิจารณาสั่งซื้อสินค้าจากกรมบัญชีกลางด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, โลกวันนี้

2 บริษัทไทยจับมือบริษัทใหญ่จากสิงคโปร์ ประกาศเข้าโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ภาครัฐ

วิชัย เบญจรงคกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (UIH) เปิดเผยว่า กลุ่ม UIH ได้ร่วมมือกับ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (TCCT) และบริษัท 1- Net สิงคโปร์ พีทีอี จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลรายใหญ่จากสิงคโปร์ เตรียมพร้อมเข้าร่วมโครงการศูนย์ข้อมูลของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยทั้ง 3 บริษัท ได้ร่วมกันยื่นเอกสารแสดงความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการไปที่สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แล้ว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

กระทรวงพาณิชย์และ สนง. คกก.คุ้มครองผู้บริโภคเตรียมคุมเข้มการหลอกขายสินค้าออนไลน์ ชวนผู้ขายลงทะเบียน-โดเมนไอพี

วิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยว่า กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะตรวจสอบผู้ขายสินค้าออนไลน์ให้เข้มงวดขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หากพบว่ามีการหลอกลวงผู้บริโภคหรือมีการกระทำการผิดกฎหมายเกิดขึ้น ผู้ขายเหล่านี้จะได้รับโทษปรับสูงสุด 1 แสนบาท กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังชวนให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์ลงทะเบียนกับทางกรม โดยผู้ขายที่ลงทะเบียนแล้วจะได้รับใบอนุญาตและการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้ขายเหล่านี้จำเป็นต้องแจ้งที่อยู่และชื่อโดเมนให้กับทางกรม โดยปัจจุบัน มีผู้ขายสินค้าออนไลน์จำนวน 11,835 ราย และเว็บไซต์จำนวน 13,488 เว็บไซต์ที่ลงทะเบียนกับทางกรมแล้ว

ที่มา: The Nation

24 มิถุนายน 2558

รองนายกฯ สั่งกระทรวงไอซีที จับตาการใช้โซเชียลมีเดียที่สร้างความขัดแย้ง

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตรวจสอบการใช้โซเซียลมีเดียให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียในลักษณะสร้างความขัดแย้ง ความแตกแยก และความเข้าใจผิด ส่วนกฎหมายที่จะใช้จัดการกับเรื่องนี้นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) ได้ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

ตำรวจ ปอท. จับมือโพสต์ “ปฎิวัติซ้อน” ตามหมายจับศาลทหาร

เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยความมั่นคง ร่วมกันจับกุมชญาภา โชคพรบุศศรี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ พร้อมของกลางได้แก่ โน๊ตบุ๊ค แท็บเลต กล้องถ่ายวิดีโอ โทรศัพท์ และโทรศัพท์มือถือ สืบเนื่องจากที่ผ่านมามีผู้โพสต์ข่าวลือว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนตามสื่อออนไลน์ เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันทำการสืบสวน จนพบว่า มีผู้ที่ใช้เฟสบุ๊คส่วนตัวชื่อ chanisa B.. เป็นผู้โพสต์ข่าวลือดังกล่าวพร้อมแนบภาพการเคลื่อนย้ายรถถัง เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. เจ้าหน้าที่จึงเชิญตัวชญาภามาซักถาม ชญาภาให้การยอมรับว่าเป็นผู้นำภาพการเคลื่อนย้ายรถถังที่เผยแพร่ในไลน์คนเสื้อแดง ซึ่งตนเป็นสมาชิก มาตกแต่งข้อความว่าปฏิวัติซ้อน และอัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊กส่วนตัว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

25 มิถุนายน 2558

กสทช.เตรียมเสนอ คสช.ขยายเวลาเยียวยาลูกค้า 1800 เมกะเฮิร์ตซ์

กสทช. เตรียมทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอขยายระยะเวลาเยียวยาลูกค้ามือถือระบบ 2 จี บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่กำลังจะสิ้นสุดระยะเวลาในวันที่ 17 ก.ค.นี้ เพื่อรอให้การประมูล 4 จี บนคลื่นดังกล่าวเสร็จสิ้นและมีการแจกใบอนุญาตให้เรียบร้อยก่อน โดยลูกค้า 2 จีบนเคลื่นความถี่ดังกล่าวค้างอยู่ที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด 700,000 ราย และค้างอยู่ที่บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเอไอเอส จำนวน 1,000 ราย ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทต้องเตรียมคืนเงินให้ลูกค้าเมื่อระบบปิดลงไป โดยสำหรับทรูมูฟ ปัจจุบันมีเงินในระบบพรีเพดอยู่ประมาณ 20 ล้านบาท ลูกค้าสามารถเรียกคืนเงินในหน้าบัตรภายใน 1 ปี แต่หากพ้นระยะ 1 ปี เงินในระบบจะต้องถูกส่งเข้ารัฐเท่านั้น

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, Bangkok Post

Exit mobile version