Thai Netizen Network

Digital Weekly: 15 มิ.ย- 18 มิ.ย.2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: ผบ.ตร.เสนอเชื่อมเน็ตต่างประเทศเหลือช่องเดียว คุมง่าย/ “เศรษฐกิจดิจิทัล” มาแล้ว ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฯ/ รมว.ไอซีทีและผู้บริหาร กสท เห็นควรเลื่อนประมูล 4 จี/ กสทช.มีมติ 9 ต่อ 1 เห็นชอบให้กระทรวงการคลังยืมเงิน 1.4 หมื่นล้าน 3 ปี ไม่คิดดอกเบี้ย/ ผอ.กรุงเทพโพลล์เสนอขายหวยแบบออนไลน์ แก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา/ รมว.ไอซีทีเผย ไม่เก็บข้อมูลความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติของเอกชน/ เตรียมขยายโครงข่าย ให้ทีโอที-กสท ลงทุนนำสายโทรคมนาคมลงดิน ฯลฯ

ผบ.ตร.เสนอเชื่อมเน็ตต่างประเทศเหลือช่องเดียว คุมง่าย (ภาพจาก xperimentalprojekt.wordpress.com)

ผบ.ตร.เสนอเชื่อมเน็ตต่างประเทศเหลือช่องเดียว คุมง่าย (ภาพจาก xperimentalprojekt.wordpress.com)

15 มิถุนายน 2558

รมว.ไอซีทีและผู้บริหาร กสท เห็นควรเลื่อนประมูล 4 จี

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีเผยว่า ตนเห็นด้วยที่ดีแทคจะคืนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์จำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์ให้ กสทช.นำไปประมูล 4 จี และ กสท ก็ควรได้รับเงินชดเชยในการนี้ แต่จากการที่ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับปัจจุบันไม่อนุญาตให้ กสทช.จ่ายเงินชดเชยให้กับ กสท ได้ กระทรวงไอซีทีจึงมีแผนเข้าพูดคุยกับเลขาธิการ กสทช.ในสัปดาห์หน้า ว่าจะสามารถเลื่อนการประมูล 4 จีออกไปจนกว่าร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่จะเสร็จสิ้นได้หรือไม่ ขณะที่พันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ รักษาการตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคมเห็นว่า ตนอยากได้ความชัดเจนเกี่ยวกับการคืนคลื่นจำนวน 5 เมกะเฮิร์ตซ์ดังกล่าว และว่าหากการประมูล 4 จีจะเลื่อนออกไปอีกไม่กี่เดือนเพื่อที่จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมและประเทศ ก็คงไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายอะไรนัก

ที่มา: Bangkok Post

ผอ.กรุงเทพโพลล์เสนอขายหวยแบบออนไลน์ แก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา

กิตติศักดิ์ พรหมรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาว่าไม่ได้ผล และเสนอว่าทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการขายหวยแบบออนไลน์ เพราะตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว การขายหวยออนไลน์จะทำให้ความต้องการขายหรืออุปทานมีไม่จำกัด ทำให้สามารถควบคุมราคาได้ตามที่กำหนด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, กรุงเทพธุรกิจ

กสทช.พิจารณาร่างประกาศคุ้มครองผู้บริโภคจากปัญหาเอสเอ็มเอสขยะ

ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาเอสเอ็มเอสขยะที่เรียกเก็บเงินผู้ใช้ว่า ขณะนี้กสทช.กำลังพิจารณาร่างประกาศ กสทช.เรื่อง “การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่าย หรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. …” ซึ่งเมื่อประกาศมีผลใช้บังคับจะครอบคลุมถึงปัญหาเอสเอ็มเอสขยะ เอสเอ็มเอสบริการเนื้อหาต่าง ๆ ที่มีการคิดค่าบริการโดยที่ผู้บริโภคไม่ได้สมัครใช้บริการ และยังครอบคลุมถึงการไม่แจ้งให้ผู้บริโภคทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการให้บริการอย่างชัดเจน หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญด้วย ด้านก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคมกล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า อำนาจของ กสทช.จะกำกับดูแลได้เฉพาะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เช่น เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ แต่ไม่ครอบคลุมถึงบริษัทผู้ให้บริการเนื้อหาผ่านโทรศัพท์มือถือ สิ่งที่กสทช.จะทำได้คือหากผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อน สามารถเข้ามาร้องเรียนเพื่อประสานงานไปยังค่ายมือถือให้ตรวจสอบ หากมีหลักฐานว่าผู้บริโภคไม่ได้สมัครใช้บริการค่ายมือถือต้องคืนเงินให้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

เปิดเวทีรับฟังความเห็น การกำกับสื่อใหม่ในยุคหลอมรวม

มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนร่วมกับ กสทช. จัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นในเรื่องกรอบระยะเวลาและกรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อใหม่ในยุคหลอมรวม โดยอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล หนึ่งในคณะผู้วิจัยกล่าวถึงข้อเสนอเบื้องต้นของการกำกับกิจการสื่อใหม่ว่า ควรปรับข้อกำหนดกฎหมายการประกอบกิจการสื่อเพื่อเอื้อให้มีการแข่งขันเสรีมากขึ้น ควรสร้างมาตรฐานทางเทคโนโลยี ส่วนผู้มีอำนาจกำกับควบคุมสื่อควรกำกับผังรายละเอียดแต่ไม่ลงรายละเอียดในเนื้อหา อาทิตย์ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ที่เจ้าของเว็บไซต์จะต้องรับผิดหากมีการนำเข้าข้อมูลเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เพราะในความเป็นจริงที่มีการอัปโหลดข้อมูลจำนวนมหาศาล เจ้าของเว็บไซต์ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั่วถึง การเอาผิดจึงควรเอาผิดหากเจ้าของเว็บไซต์ปล่อยให้มีเนื้อหานั้นอยู่หลังจากถูกแจ้งเตือนมากกว่า

อ่านรายงานสรุป เก็บประเด็น: ‘สื่อใหม่’ ต้องกำกับ? อย่างไร? โดยใคร?

ที่มา: ประชาไท

รมว.ไอซีทีเผย ไม่เก็บข้อมูลความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติของเอกชน

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่ากระทรวงไอซีทีเผยถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (National Data Center) ว่า ศูนย์ดังกล่าวจะให้รัฐเช่าใช้จัดเก็บข้อมูลส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเปิดให้เอกชนต่างๆ เช่าใช้งานได้ โดยส่วนที่ให้บริการแก่หน่วยงานของรัฐจะได้รับบีโอไอ และพิจารณาให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า และหากคัดเลือกผู้ให้บริการได้จะต้องจัดสร้างเสร็จพร้อมให้บริการภายใน 18 เดือน ส่วนข้อมูลรัฐที่จะนำมาเก็บไว้ที่ผู้ให้บริการเอกชน จะมีกำหนดประชุมกำหนดกรอบการทำงานวันที่ 22 มิ.ย. นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ระบุว่า เป็นข้อมูลทั่วไปและข้อมูลที่ให้บริการประชาชน ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการคลัง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

16 มิถุนายน 2558

ครม.เห็นชอบแล้ว ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฯ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….” ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว (ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการรวมร่างกฎหมาย 3 ฉบับเข้าด้วยกัน นั่นคือ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.กองทุนพิจารณาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …) โดยเนื้อหาหลักในร่างกฎหมายคือการตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานใหม่ขึ้น อันได้แก่

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ในวาระเริ่มแรกคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีองค์ประกอบเฉพาะกรรมการโดยตำแหน่ง แต่ไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ และให้ยุบสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และโอนพนักงานและลูกจ้างสำนักงานฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นการชั่วคราว

ที่มา: ประชาไท, เว็บไซต์รัฐบาลไทย

เตรียมขยายโครงข่าย ให้ทีโอที-กสท ลงทุนนำสายโทรคมนาคมลงดิน

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เผยว่า หลังจากที่ได้หารือร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจถึงความคืบหน้าโครงการนำสายไฟฟ้าและสายโทรคมนาคมลงดิน ตามแผนขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ข้อสรุปว่า การนำสายต่างๆ ลงดินจะให้ทีโอทีและกสท โทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ทั้งสององค์กรเป็นผู้ลงทุน และให้บริษัทเอกชนที่ต้องการพาดสายโทรคมนาคมใต้ดินจ่ายค่าพาดสายให้ทั้งสององค์กร เบื้องต้นการดำเนินการจะเริ่มจากกรุงเทพฯ ก่อนขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ทั้งนี้ ที่ต้องนำสายไฟฟ้าและสายโทรคมนาคมต่างๆ ลงดินเพราะปัจจุบัน การวางโครงข่ายโทรคมนาคม อาทิ สายโทรศัพท์ สาย 3 จี สาย 4 จี และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงติดขัดปัญหา ไม่สามารถพาดสายได้เพิ่ม เนื่องจากเสาไฟฟ้าไม่สามารถรองรับน้ำหนักเพิ่มเติมได้แล้ว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

17 มิถุนายน 2558

ผบ.ตร.เสนอเชื่อมเน็ตต่างประเทศเหลือช่องเดียว คุมง่าย

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสนอให้ใช้อินเทอร์เน็ตเกตเวย์เพียงช่องทางเดียว เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบและปิดกั้นข้อมูลและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมได้ เพราะที่ผ่านมา การไล่ปิดเว็บไซต์เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยได้ให้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ไปศึกษาเพิ่มเติมและอาจให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นเจ้าภาพดูแล คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท ทั้งนี้ พล.ต.อ.สมยศเสนอเรื่องนี้ขึ้นเนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่พบว่าเว็บไซต์ต่างประเทศที่ชื่อ daengdeedee.com ได้ปล่อยข่าวลือว่าอาจมีการต้านรัฐประหารเกิดขึ้น

ที่มา: The Nationประชาไท

กสทช.มีมติ 9 ต่อ 1 เห็นชอบให้กระทรวงการคลังยืมเงิน 1.4 หมื่นล้าน 3 ปี ไม่คิดดอกเบี้ย

ที่ประชุมบอร์ดกสทช. มีมติ 9 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้ยืมเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนนเร่งด่วน มูลค่า 14,300 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปีโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยการอนุมัติสอดคล้องตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 80/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการองค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ข้อ 6 ส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณ ให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงินกองทุน กทปส. เพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ทางด้านสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็น 1 เสียงที่ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว ระบุว่า การกู้ยืมเงินดังกล่าวผิดวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. และแม้จะเป็นความจำนงจากกระทรวงการคลัง แต่ก็ต้องมีการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจและชั่งน้ำหนักระหว่างการพัฒนาระบบน้ำขนส่งกับการพัฒนาด้านโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน ขณะที่สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เหตุผลว่า กองทุนดังกล่าวถือเป็นกองทุนของรัฐ ซึ่งหากมีเงินเหลืออยู่มากรัฐบาลสามารถยืมมาใช้ในโครงการจำเป็นด้านอื่นๆ ได้ หากไม่ทำให้กระทบกระเทือนกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

ที่มา: ไทยรัฐ

กระทรวงไอซีทีเตรียมปรับโครงสร้างเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ ปรับ SIPA เป็นหน่วยงานเลขานุการให้ คกก.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีเป็นประธานการประชุมผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงไอซีที เพื่อติดตามความก้าวหน้าการเตรียมการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงใหม่เป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าเรื่องโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการเพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับเป็นกระทวงดิจิทัลฯ ได้ทันทีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ….เสร็จสิ้น โดยคาดว่าจะประกาศเป็นกฎหมายได้ราว ก.ย.นี้ ขณะนี้กระทรวงไอซีทีอยู่ระหว่างการจัดทำร่างข้อกำหนดการจ้างที่ปรึกษาและขอบเขตของงานศึกษาออกแบบปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและการจัดกรอบอัตรากำลังเพื่อให้กระทรวงฯ มีโครงสร้างใหม่ที่เหมาะสม

โดยหน่วยงานในกระทรวงไอซีทีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ที่ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีบทบาทในการเป็นหน่วยงานเลขานุการให้กับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะตั้งขึ้นใหม่ และมีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

18 มิถุนายน 2558

ดีแทคยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองที่ห้ามเชื่อมต่อ 3 จีบนโครงข่ายสัมปทาน

บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ขณะดำเนินการในคดีที่ กสท โทรคมนาคม ยื่นคำร้องห้ามมิให้ดีแทคนำเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมประเภทสถานีฐานทั้งหมดภายใต้สัญญาสัมปทานไปใช้โดยการติดตั้งหรือเชื่อมต่อ หรืออนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3 จีติดตั้งหรือเชื่อมต่อกับอุปกรณ์โทรคมนาคมย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์เพิ่มเติม ดีแทคให้เหตุผลว่า การเดินหน้าเชื่อมต่อเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม 3 จีและ 4 จี บนย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์จะช่วยให้รัฐและผู้ให้สัมปทานหรือ กสท ได้รับผลประโยชน์จากส่วนแบ่งรายตามสัญญาสัมปทานเพิ่มขึ้น ขณะที่คำสั่งของศาลปกครองข้างต้นกลับจะทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน กระทบต่อคุณภาพบริการและการขยายสัญญาณบนโครงข่ายย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ อีกทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะถ้าไม่สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ย่อมทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังจะกระทบกับการประมูล 4 จีที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะทำให้เกิดความไม่แน่นอน รวมทั้งยังกระทบกับการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ของผู้เข้าร่วมประมูลด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Exit mobile version