Thai Netizen Network

Digital Weekly: 23-28 พ.ค. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์

แผนภาพโครงสร้างสพธอ.ภายใต้ชุดพ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ)

แผนภาพโครงสร้างสพธอ.ภายใต้ชุดพ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ)

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์:

22 พฤษภาคม 2558

สพธอ.ปรับโครงสร้างองค์กรรับกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล แยกไทยเซิร์ตไปเป็น “สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ”

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เผยว่า สพธอ.อยู่ระหว่างเตรียมปรับโครงสร้างใหม่เพื่อให้รับกับชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ ส่งผลให้ สพธอ. ต้องแยกออกเป็น 2 องค์กร คือ

1.ไทยเซิร์ต (ThaiCERT) หรือศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย จะแยกออกจาก สพธอ. และตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (NCSA) โดยจะเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการกำกับดูแลและขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และวิเคราะห์เก็บหลักฐานทางดิจิทัลเพื่อประกอบการดำเนินคดี

ในสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ยังแยกบุคลากรตั้งเป็นหน่วยงานธุรการรองรับการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (National Data Protection : NDPC) ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และขึ้นตรงกับรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

2.สำหรับหน่วยงานที่เหลือใน สพธอ. จะกลายเป็นสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ซึ่งภารกิจตาม พ.ร.บ.ใหม่เน้นที่การพัฒนามาตรฐานรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ร่าง พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สุรางคณาเผยว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายทั้ง 3 กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

24 พฤษภาคม 2558

ข่าวสดเตรียมฟ้องเฟซบุ๊กเพจปลอม

เฟซบุ๊กเพจ ‘khaosod’ ของข่าวสดออนไลน์ เตรียมดำเนินการทางกฎหมายกับเพจปลอม พร้อมประกาศให้แฟนเพจทราบว่า การคลิกลิงก์ที่โพสต์อยู่บนเพจปลอมดังกล่าวอาจทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ติดไวรัสสแปม ทั้งนี้ เพจปลอมจะโพสต์ลิงก์ข่าวที่ไม่ได้นำมาจากเว็บไซต์ของข่าวสด (khaosod.co.th) แต่จะใช้ลิงก์ปลอมที่เป็นตัวอักษรตัวใหญ่ และมีจุด . ต่อท้าย (KHAOSOD.COD.TH) ซึ่งการปลอมเฟซบุ๊กเพจดังกล่าวมีลักษณะเดียวกันกับการปลอมเฟซบุ๊คเพจของดาราหรือบุคคลสาธารณะหลายคน ที่ถูกนำชื่อไปตั้งเป็นเพจและลงท้ายด้วยจุด “.” พร้อมนำภาพโปรไฟล์ที่เหมือนกันมาตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ และมีการโพสต์ลิงก์ข่าว ซึ่งเมื่อกดเข้าไปแล้วไม่ตรงกับลิงก์ข่าวที่ปรากฏอยู่ในตัวอย่างของแต่ละโพสต์

(ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กเพจข่าวสด)

ที่มา: ประชาไท

เด้งผู้การฯ ปอท. เซ่นกองปราบจับบ่อนออนไลน์

พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ออกคำสั่งย้ายพล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการปราบปรามกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) และพ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ้น รองผบก.ปอท. ไปปฎิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติราชการกองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง และให้รอง ผบช.ก. มารักษาราชการแทนพล.ต.ต.ศิริพงษ์ หลังจากที่พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รรท.ผบก.ป. พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ผกก.1 บก.ป. ร่วมกับสน.ห้วยขวาง นำหมายค้นเข้าตรวจสอบและพบชายชาวเกาหลีลักลอบเปิดรับแทงพนันกีฬาออนไลน์พร้อมของกลางในห้องพักเขตห้วยขวาง ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.มีนโยบายเรื่องบ่อนการพนัน อบายมุขสถานบริการผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกำชับ ผบช.และ ผบก.ทุกพื้นที่กวดขันดูแลเพื่อไม่ให้มีอยู่ในพื้นที่ และถ้ามีหน่วยอื่นเข้าจับกุม ผบช. ผบก.และ ผกก.ในพื้นที่และ บช.ก.ต้องรับผิดชอบ โดยถือเป็นนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ผู้จัดการออนไลน์

25 พฤษภาคม 2558

ป.ป.ช.เตรียมสอบจัดซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์ “ค่านิยม 12 ประการ” แพงเกินจริง

สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า ตามที่มีผู้ร้องเรียนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดซื้อสติกเกอร์ไลน์ “ค่านิยม 12 ประการ” ในราคาแพงเกินจริงนั้น ป.ป.ช.ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมดเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขอเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรียกผู้เชี่ยวชาญด้านจัดทำสติกเกอร์ไลน์เข้าให้ปากคำ คาดว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่ามีมูลหรือไม่ในเร็ววันนี้ ซึ่งหากผลมีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการสอบสวน และอาจเชิญพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเข้ามาชี้แจง

ที่มา: สปริงนิวส์

กรมทางบกเตรียมแก้ พ.ร.บ.รถยนต์ ให้เรียกแท็กซี่ผ่านแอปได้

ธีรพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกระบุว่า การเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชั่นไม่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ได้ระบุใน พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 เนื่องจากได้อนุโลมให้การใช้แอปเรียกแท็กซี่เหมือนการโบกเรียกและการโทรศัพท์เข้าไปที่ศูนย์บริการ ทั้งเตรียมเพิ่มวิธีการดังกล่าวไว้ใน พ.ร.บ.รถยนต์ฉบับใหม่ แต่การใช้รถแท็กซี่ผิดประเภท เช่น รถป้ายดำหรือป้ายเขียวที่ไม่ระบุเส้นทางชัดเจน รวมถึงไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะถือว่าผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกกำลังเตรียมพัฒนาแอปพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่เพื่อให้บริการเองเช่นกัน

ส่วนการแข่งขันระหว่างแอปพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่แต่ละรายในปัจจุบันนั้น ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างทุ่มงบประมาณเพื่อดึงผู้ใช้งานและเพิ่มยานพาหนะในระบบให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น GrabTaxi ที่ตั้งกองทุนสำหรับผู้ขับรถแท็กซี่พร้อมมีประกันชีวิตและให้เงินอุดหนุนการศึกษาบุตร หรือออลไทยแท็กซี่ของนครชัยแอร์ที่ใช้ระบบรายได้ประจำจูงใจ ส่วนคนขับรถของอีซี่ แท็กซี่ (ไทยแลนด์) ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และได้ค่าบริการพิเศษ 20 บาทต่อเที่ยว ขณะที่อูเบอร์ใช้โปรโมชั่นลดราคาค่าบริการขั้นต่ำเพื่อจูงใจผู้ใช้

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

กสทช.แนะ‘หม่อมอุ๋ย’เสนอรัฐบาล ใช้ ‘ม.44’ ยึดคืนคลื่นความถี่

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เสนอ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 สั่งเรียกคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อนำจัดสรรใหม่และนำมาประมูล 4 จี หลังพบว่าการเรียกคืนคลื่นจากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจมีปัญหา จากการหน่วยงานเจ้าของคลื่นมักยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

ที่มา: แนวหน้า

ศาลอาญานัดสอบปากคำจำเลยคดี ม.112 จำเลยยันเฟซบุ๊กถูกปลอม

ศาลอาญา รัชดา มีนัดสอบปากคำและตรวจพยานหลักฐานคดีของนายปิยะ (สงวนนามสกุล) อดีตโบรกเกอร์ที่ถูกฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ มาตรา 14 (3), 14 (5) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายหมิ่นสถาบันในบัญชีชื่อ “พงศธร บันทอน” จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและระบุว่า ตนไม่ใช่พงศธร บันทอน แต่ภาพโปรไฟล์ในเฟซบุุ๊กเป็นรูปของเขาจริง โดยเป็นรูปที่เขาใช้ในทวิตเตอร์และกูเกิลพลัส ซึ่งตั้งแต่วันที่เขาถูกจับเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2557 จนถึงขณะนี้จำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเป็นเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว และอัยการคดีนี้ได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยศาลจะนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 17 ส.ค.นี้

ที่มา: ประชาไท

26 พฤษภาคม 2558

กองทุนกสทช.เตรียมให้รัฐยืมเงินโครงการบริหารจัดการน้ำ14,300 ล้าน ไม่เสียดอกเบี้ย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ยืมเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของกสทช. จำนวน 14,300 ล้านบาท ไปใช้ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า การยืมเงินจากกองทุน กทปส. จะช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยซึ่งเป็นภาระของรัฐบาลได้ 560 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เผยว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 80/2557 ได้แก้ไข พ.ร.บ. กสทช. โดยเพิ่มวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุน กทปส. ให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงินกองทุนเพื่อนำไปใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์ได้ และทางกองทุนก็พร้อมจะให้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

ไทยเซิร์ตเตรียมช่วยดูแลระบบความปลอดภัยไอทีของหน่วยงานภาครัฐไทย

ไทยเซิร์ต (ThaiCERT) หรือศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย ภายใต้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เตรียมให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐไทยเพิ่มระบบความปลอดภัยไซเบอร์ หลังพบว่าหน่วยงานภาครัฐถูกโจมตีอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า ThaiCERT Government Monitoring System (ThaiCERT GMS) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.Government Threat Monitoring System (GTM) ช่วยวิเคราะห์รูปแบบการโจมตีที่เกิดกับระบบไอทีของหน่วยงานภาครัฐ ตั้งเป้าหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ 40 แห่ง 2.Government Website Protection System (GWP) ช่วยป้องกันการโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ตั้งเป้าหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ 80 แห่ง

ที่มา: Blognone (ระบุแหล่งข่าวว่ามาจากอีเมลประชาสัมพันธ์ไทยเซิร์ต)

สรอ. ตั้งเป้าภายในก.ย.ปีนี้ หน่วยงานรัฐต้องมีข้อมูลเปิดอย่างน้อย 50 ชุด

ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.) เผยว่า ภายในปีนี้ สรอ.จะผลักดันให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลในระดับ 3 ดาว [ข้อมูลที่มีเงื่อนไขว่าจะอยู่ใต้สัญญาอนุญาต Open License สามารถอ่านได้ด้วยเครื่อง (Machine-Readable) และไม่มีผู้ถือครองกรรมสิทธิ์] โดยภายในเดือน ก.ย. นี้ สรอ.ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีชุดข้อมูลอย่างน้อยสุด 50 ชุด จาก 150 หน่วยงานภาครัฐที่ถูกเปิดเผยในวงกว้าง ทางด้านพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีระบุว่า นโยบายข้อมูลเปิดภาครัฐดังกล่าวจะช่วยสร้างความโปร่งใสของรัฐ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ข่าว 1, ข่าว 2

สรรพากรร่วมกับทรูมันนี่เปิดชำระภาษีผ่านมือถือ

กรมสรรพากรร่วมมือกับทรูมันนี่เปิดให้บริการชำระภาษีในระบบอินเทอร์เน็ตผ่านจุดรับชำระและร้านค้ากว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ ทรูมันนี่เป็นหน่วยงานที่ 29 ที่ร่วมมือกับสรรพากรในการชำระเงินภาษี นอกจากหน่วยงานก่อนหน้านี้ทั้งธนาคาร ไปรษณีย์ ห้างสรรพสินค้า รวมจำนวน 28 แห่ง ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานยังได้เปิดให้ประชาชนชำระภาษีผ่านสมาร์ทโฟนในแอปพลิเคชั่น วอลเล็ท บาย ทรูมันนี่ (Wallet by TrueMoney) ในทุกค่ายมือถือตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งบนระบบ iOS และแอนดรอยด์

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

Exit mobile version