“อินเทอร์เน็ตโตมาโดยไม่ค่อยได้พึ่งภาครัฐ มันเป็นการเติบโตของภาคเอกชน เติบโตมาจากนวัตกรรม พวกที่คิดนวัตกรรมขึ้นมา อย่างเช่น กูเกิล เขาทำเงินจากนวัตกรรมนั้นและช่วยสนับสนุนการพัฒนาเพื่อต่อยอด หรือบริษัทซิสโก้ที่ขายเราเตอร์ เขาก็ช่วยนักวิจัยให้ศึกษาต่อ เขาเรียกว่าเป็นสปิริตของวงการอินเทอร์เน็ต ที่จะมีการช่วยเหลือกันอย่างนี้ โดยที่ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับภาครัฐเท่าไหร่”
นี่เป็นความขึ้นต้นที่ ศ.ดร.กาญจนา กาญจนาสุต หนึ่งใน “ผู้บุกเบิกอินเทอร์เน็ตของเมืองไทย” บอกกับเราเมื่อถูกถามว่า คิดอย่างไรกับชุดร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล
“ในฐานะที่โตมากับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยได้พึ่งภาครัฐ มองว่า ตอนนี้ภาครัฐมาตื่นตัวกับอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่ดี แต่จู่ๆ ก็ออกร่างพ.ร.บ.มา 10 ฉบับ เท่าที่สังเกตดู ร่างพ.ร.บ.เหล่านี้เขียนมาโดยคนที่ไม่ค่อยซาบซึ้งกับพัฒนาการของอินเทอร์เน็ต คิดว่ามันจะเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตมากกว่าจะส่งเสริม ในขณะที่รัฐบาลต้องการที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล กฎหมายทั้ง 10 ฉบับนี้จะทำให้เป็นอุปสรรคมากกว่า”
คนในแวดวงอินเทอร์เน็ตคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ศ.ดร.กาญจนา กาญจนาสุต คนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Internet Hall of Fame จากองค์กร Internet Society ในฐานะผู้บุกเบิกและขับเคลื่อนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เธอได้นำเอาอีเมลและอินเทอร์เน็ตเข้ามายังประเทศไทยในปลายยุค 80 ด้วยการล็อกอินทางไกลไปยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และแลกเปลี่ยนอีเมลระหว่างมหาวิทยาลัยไปยังต่างประเทศนับแต่นั้นมา
ปัจจุบัน ศ.ดร.กาญจนา ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาและงานวิจัย (intERLab) เป็นศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และการจัดการสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) รวมทั้งเป็นรองประธานมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC)
วันนี้ ดร.กาญจนามาพูดคุยกับเราถึงโครงการที่กำลังทำอยู่ ถึงมุมมองที่มีต่อชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค Internet of Things ที่ซึ่งตู้เย็น ทีวี รถยนต์ หม้อหุงข้าว และอะไรๆ ก็กำลังจะเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต
ปัญหาของร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล
ดร.กาญจนาขยายความถึงปัญหาของร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลต่อว่า ในเรื่องหลักการ ร่างกฎหมายชุดนี้ให้อำนาจกับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมากเกินไป ทั้งๆ ที่คณะกรรมการชุดนี้จะมีบทบาทในการส่งเสริมดิจิทัลน้อยมาก ทว่ากลับมีอำนาจ “ล้นฟ้า” ขณะที่ร่างพ.ร.บ.กสทช.แก้ปัญหาของกสทช.ไม่ตรงจุด และจะทำลายความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลอย่างกสทช.
“จริงๆ แล้วการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ถ้ารัฐมีนโยบายออกมาว่าจะไปในทิศทางไหน องค์กรต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ทำได้อยู่แล้วในการจะสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่จำเป็นต้องตั้งองค์กรใหม่
“ปัญหาพอตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา ต่อให้บอกว่าเงินเดือนสูง คิดเหรอว่าเรามีคนพอที่จะไปทำงานในองค์กรลักษณะนี้ เราไม่มีคนที่มีคุณภาพพอ จำนวนมากพอ ประเทศเรายังขาดคนที่ทำงานในด้านนี้อย่างมหาศาล
“คือทุกวันนี้ที่คนชอบวิจารณ์กระทรวงไอซีที ก็เพราะว่าคนในกระทรวงไอซีทีเป็นคนที่ย้ายมาจากกระทรวงอื่น ฉะนั้นเขาต้องมาเรียนรู้ด้วยตัวเองภายในเวลา 10 ปีที่กระทรวงนี้ตั้งขึ้นมา ก็น่าเห็นใจ คนที่ไม่ได้โตมากับแนวคิดในด้านนี้จะต้องฝืนตัวเองพอสมควร ฉะนั้น ต่อให้เราทำองค์กรใหม่ เราไม่มีคน แล้วมันจะไปแก้ปัญหาอะไร”
แล้วเราควรทำอย่างไรกันดี
“เราต้องพัฒนาคน วิศวกรในด้านนี้ของเรายังไม่เพียงพอ กว่าจะหาวิศวกรที่จะมาดูแลระบบได้นี่แทบแย่ แล้วพวกนักกฎหมายที่มีความรู้ความเข้าใจอินเทอร์เน็ตก็นับนิ้วได้เลย คนยังไม่พอแล้วเราก็จะมาตั้งองค์กรที่มีอำนาจอย่างนี้ มันน่ากลัว”
อินเทอร์เน็ตชุมชน-ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต
หนึ่งในโครงการที่ ดร.กาญจนากำลังทำอยู่ในขณะนี้คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตให้กับชุมชนห่างไกล กล่าวได้ว่า หากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลในด้านนี้คือการเขียนกฎหมายเพื่อตั้งคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานกายภาพ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของ ดร.กาญจนาคือการไปลงพื้นที่เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับคนในชนบท
“เรื่องหนึ่งที่กำลังทำตอนนี้คืออินเทอร์เน็ตชุมชน เหตุที่มาทำตอนนี้ ไม่ทำเมื่อ 10 ที่แล้วเพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถ้าไปพูดเรื่องนี้กับใครต้องไปอธิบายมาก ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตคืออะไร ตอนนี้ไม่ต้องอธิบายมาก เข้าไปถึงก็ไปทำได้เลย คิดว่ามันเป็นจังหวะที่น่าจะผลักดัน
“คือหลังจากที่อยู่ในวงการนี้มานาน เห็นแล้วว่าการจะผลักดันเทคโนโลยี หากผลักเร็วเกินไปจะไม่สำเร็จและก็เหนื่อยเกินเหตุ แล้วเราก็จะต้องถอยไปในที่สุด อันนี้เห็นจากเพื่อนต่างประเทศหลายคน ฉะนั้นเลยคิดว่า เมื่อไหร่ที่เราอยากทำอะไร ต้องคอยให้ถึงจังหวะก่อนแล้วค่อยทำ
“โครงการนี้เป็นการนำอินเทอร์เน็ตเข้าไปให้ชาวบ้านได้มีโอกาสใช้ เราไม่อยากให้ชุมชนในชนบทโดนทอดทิ้ง คือชนบทกับในเมืองฐานะก็ต่างกันอยู่แล้ว การที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาทำให้ช่องว่างยิ่งกว้างเข้าอีกก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ฉะนั้น ในฐานะที่เราอยู่ในวงการนี้ เราไม่สามารถไปแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำอย่างอื่นได้ อย่างน้อยเราช่วยพยายามไม่ให้เกิด digital divide (ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ที่จะไปทำสิ่งที่เลวร้ายอยู่แล้วให้เลวร้ายยิ่งขึ้น”
แล้วสิ่งที่โครงการนี้ทำคืออะไร
“เราไปทำโครงข่ายไร้สาย (wireless network) ในหมู่บ้านที่ใช้เราเตอร์ราคาถูก แล้วใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาจากแล็บที่ AIT ทำให้สามารถสร้างโครงข่ายในหมู่บ้านได้ในราคาถูก ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ตโฟน เขามีสมาร์ตโฟนถูกๆ อยู่แล้ว พอเราเอาเราเตอร์ไปติด เขาก็ใช้ได้เลย”
เร็วๆ นี้ ดร.กาญจนายังได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อก่อตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Bangkok Neutral Internet Exchange Point – BKNIX) หรือจุดเชื่อมโยงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหลายเข้าหากันเพื่อลดความซับซ้อนในการเชื่อมต่อ ช่วยลดแบนด์วิธที่ใช้การเชื่อมผ่านโครงข่าย และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตในประเทศ
ขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิด ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตคืออะไร
“ปัจจุบันเรามีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) หลายราย บางประเทศมีเป็นร้อยราย ประเทศไทยมีน้อยหน่อย ทีนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่ละรายต้องเชื่อมโยงกัน ทั้งเชื่อมโยงไปต่างประเทศและเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายอื่นในประเทศ ปัจจุบันไม่มีศูนย์กลางที่ให้แลกเปลี่ยนข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ต้องต่อไปที่จุดหนึ่งที่เรียกว่า ผู้ให้บริการชุมสาย หรือ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตระดับชาติ (National Internet Exchange – NIX) ซึ่งในประเทศไทยมี 9 แห่ง บางแห่งเชื่อมโยงกัน แต่บางแห่งก็ไม่เชื่อมโยงกัน และบางแห่งก็เชื่อมโยงกับทุกราย ฉะนั้นการเชื่อมโยงกันระหว่างพวกนี้เป็นแบบใยแมงมุม ฉะนั้นถ้าคุณเป็นลูกค้าของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายนี้ เพื่อนไปลูกค้าของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอีกราย เวลาจะคุยกันอาจจะต้องวิ่งไปตั้งหลายรายกว่าจะไปถึง ขึ้นอยู่กับว่าคนให้บริการของเราเขาเชื่อมกันหรือเปล่า ถ้าไม่เชื่อมก็ต้องวิ่งไปหลายแห่ง
“แนวคิดของ BKNIX คือเราเอาสวิตช์มาตั้งตรงกลาง ทุกคนลากสายมาเชื่อมกันที่จุดนี้ จะคุยกับใครก็วิ่งมาที่จุดนี้จุดเดียว ทำให้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศได้เร็วขึ้น ตอนนี้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องค่อยๆ เชื่อมต่อกัน กว่าจะดีขึ้นอาจต้องเป็นปีหน้า
“ถ้าเราทำตรงนี้สำเร็จ ก็จะลดค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่ละราย เงินก้อนเดียวกันที่เขาจะต้องสูญเสียไปในการเชื่อมโยงไปหลายๆ จุด ก็มาใช้ในการเชื่อมเส้นเดียว แทนที่จะเดินไปห้าสาย เดินเส้นเดียว แล้วได้ความเร็วเพิ่มขึ้น ส่งข้อมูลได้มากขึ้น ลงทุนต่ำลง ค่าใช้จ่ายของแต่ละคนก็ลดลง เขาสามารถเอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนาอย่างอื่นได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโต”
ดร.กาญจนาเล่าถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า
“เมื่อสองปีที่ (ปี 2556) แล้วเรามีการฉลองครบรอบ 25 ปีอินเทอร์เน็ตไทย แล้วมีสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ แล้วพบว่ามีปัญหาเรื่องการรับส่งข้อมูลบนเครือข่าย เลยตั้งไว้ว่า การบริหารจัดการการรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายในประเทศให้ดีขึ้นเป็นสิ่งที่เราอยากทำ ต่อมาพอได้รางวัล Internet Hall of Fame ก็ได้ไปพูดคุยกับกูรูด้านนี้หลายคน เขาถามว่าอยากทำอะไร เลยเล่าให้เขาฟัง พวกเขาก็ช่วยพูดให้ ในที่สุดเราก็ได้รับบริจาคอุปกรณ์มา ส่วนการดำเนินงาน ด้วยความที่มูลนิธิทำหน้าที่ลงทะเบียนโดเมนเนม ก็แบ่งรายได้ตรงนั้นมาเป็นค่าไฟกับค่าจ้างคน”
เคยคิดจะไปขอทุนสนับสนุนจากภาครัฐไหม
“เคยไปขอเงินสนับสนุนจากกสทช. คือก่อนที่เราจะก่อตั้ง BKNIX เราจัดประชุมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็แนะนำว่าเราควรไปขอเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของกสทช. เพราะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งหลายต้องจ่ายเงินให้กสทช.ทุกปี เพราะฉะนั้นทำไมกสทช.ไม่นำเงินตรงนี้มาเพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนา เราก็เลยขอไป ถ้าได้มาก็จะได้เป็นเงินสำหรับค่าใช้จ่ายประจำปี แต่ก็ยังไม่ได้ คือหลายคนในกสทช.ก็เข้าใจและช่วยเหลือเรา แต่ด้วยกลไกข้างใน การจะไปขอเงินตรงไหน มันยากเหลือเกิน”
อินเทอร์เน็ตยุคแรกเริ่ม เขามีประเด็นข้อกังวลอะไรกัน
ในปัจจุบันเรามีประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เช่น ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยในโลกออนไลน์ เสรีภาพในการแสดงออก แต่สำหรับอินเทอร์เน็ตในยุคเริ่มแรก เขามีประเด็นข้อเป็นห่วงอะไรกันบ้าง
“ตอนนั้นทุกคนใช้แค่อีเมลเพื่อติดต่อทำงานกัน แล้วการใช้อินเทอร์เน็ตก็ยังแพง คนยังไม่ค่อยนึกถึงประเด็นอย่างเสรีภาพในการแสดงออกเท่าไหร่ แต่จะมีเรื่อง internet troll (เกรียนอินเทอร์เน็ต) มากกว่า
“มีพวกก่อกวนสมัยก่อนที่เข้ามากวนวงการอินเทอร์เน็ตตั้งแต่แรก กวนประสาทคนในเมลลิ่งลิสต์ตลอดเวลา แต่พวกเราที่เหลือก็อดทน ไม่มีใครว่าอะไร เราก็อยู่กันในลักษณะนั้นมาตลอด พวกเราจึงโตมากับสังคมที่มีอิสรภาพในการเขียน พวกนั้นเขียนด่า เขียนเรื่องลามก ไม่มีใครว่าอะไร เขาก็อยู่ในกลุ่มพวกเขานั่นแหละ ไม่มีใครสนใจ แล้วคนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนส่วนน้อยไปเอง”
เรียกได้ว่า เกรียนอินเทอร์เน็ตนั้นมีมาทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ในเมลลิ่งลิสต์จนกระทั่งย้ายมาเกรียนกันบนเฟซบุ๊กอย่างทุกวันนี้ และเมื่อมนุษย์ยังเป็นมนุษย์อยู่ฉันใด นอกจากความเกรียนที่ยังคงอยู่เรื่อยมาแล้ว สารพัดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคนในโลกออฟไลน์ก็พากันย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน
“ตอนนี้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว มันมีทั้งส่วนดีส่วนเสีย ส่วนดีก็คือทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่ด้านเสียก็ต้องมี ถ้าคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตแบบไม่ระมัดระวัง ก็อาจโดนละเมิดความเป็นส่วนตัว นั่นเป็นสิ่งที่อันตราย คือในโลกมีทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่ตลอด ไม่ว่าจะมีอินเทอร์เน็ตหรือไม่ แต่การที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาอาจทำให้กิจกรรมที่คนดีและคนไม่ดีมาเจอกันง่ายขึ้น
“เราจึงต้องสร้างวัคซีนให้คน ถ้ามีเทคโนโลยีที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคน วงการอินเทอร์เน็ตเองก็ต้องหาทางแก้ขึ้นมา หาวิธีป้องกัน แล้วเราก็ต้องมาหาวิธีให้คนรับรู้ ช่วยกันขยายความรู้ว่าจะป้องกันตัวอย่างไร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราทำกันมาตลอด 30 ปีที่ผ่านมา”
แลไปข้างหน้า
มองไปที่อนาคตกันบ้าง ในเมื่อเราจะเข้าสู่ยุค Internet of Things ที่ทุกอย่างกำลังจะเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต เราควรจะมีการบริหารทรัพยากรอย่างไรบ้าง เพื่อจะมารองรับการเติบโตของอินเทอร์เน็ตในอนาคต
“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาเป็นไปแบบไม่มีการวางแผน อย่างในเมือง วางโครงข่ายกันเสียจนเสาไฟฟ้าดูเหมือนเป็นม่านเลย ช่วง 10 ปีนี้สายเยอะมาก ฉะนั้นการสูญเสียเยอะ ถ้าโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปในลักษณะนี้จะไม่สามารถรองรับการเติบโตของอินเทอร์เน็ตได้ อันนี้พูดในแง่ของอินเทอร์เน็ตที่ใช้สาย
“ควรจะมีการจะเสนอให้เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัดมาเดินสายเอง แล้วให้คนมาเชื่อมได้โดยที่ไม่ต้องมาลากสายกันเองอย่างที่เราเห็นอยู่
“ซึ่งพวกเทศบาลจะไม่ค่อยรู้เรื่องนี้ เราควรจะไปเสนอให้เทศบาลเดินสายเอง เป็นเหมือนท่อประปา แล้วผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ไปซื้อว่าจะเอาสายนี้สายนี้ คือมันทำได้ในทางเทคนิค แล้วจะทำให้บ้านเมืองดูเรียบร้อยขึ้น การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตเป็นไปได้ง่ายขึ้น ถ้าเราลากสายกันวุ่นอยากนี้ อีกหน่อยเสาไฟฟ้าก็รับไม่ไหว
“สำหรับอินเทอร์เน็ตไร้สายอย่างสมาร์ทโฟน ก็ต้องเกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ แนวโน้มในโลกนี้ คลื่นความถี่จะมีไม่พอถ้าคนใช้เยอะ มีการพูดถึงการใช้คลื่นความถี่ที่เราให้กับสถานีโทรทัศน์ เราสามารถแบ่งบางส่วนมาได้ แนวคิดก็คือ คลื่นความถี่ที่เราให้ใครใช้ สามารถเอามาแชร์กันได้ แม้กระทั่งขณะที่เรากำลังใช้อยู่ จริงๆ แล้วจะมีบางช่วงที่เราไม่ได้ใช้ คนอื่นก็น่าจะมาใช้ได้”
ดร.กาญจนาบอกว่า ตอนนี้ประเทศไทยเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เหลือคลื่นความถี่จำนวนมากที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
“แต่อย่างว่า บ้านเรายังอีกนาน ตอนนี้รักษาความเป็นอิสระขององค์กำกับดูแล เช่น กสทช.ให้รอดก่อน” ดร.กาญจนาทิ้งท้ายไว้อย่างนี้
สัมภาษณ์-เรียบเรียง พินดา พิสิฐบุตร