Thai Netizen Network

Digital Weekly: 7-17 เม.ย. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์ (ครึ่ง)

(ที่มา: The Global Information Technology Report 2015)

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์:  รายงานสถานการณ์ไอทีโลกโดย World Economic Forum ระบุ ดัชนีความพร้อมด้านโครงข่ายโทรคมนาคมของไทยอยู่ลำดับที่ 67 ชี้ความเสียเปรียบคือกฎหมายเกี่ยวกับไอที ต้นทุนราคาอินเทอร์เน็ตที่สูง ความยากลำบากในการเริ่มต้นธุรกิจ คุณภาพการศึกษา การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ระดับการจัดซื้อที่เกี่ยวข้องกับไอทีของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ/ UberBLACK ไทยปรับขึ้นค่าโดยสาร/ ผู้ร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลเผย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อาจหารือผู้เกี่ยวข้องเรื่องการเก็บข้อมูลจราจร-กระบวนการตรวจสอบการทำงานบางเรื่องไม่จำเป็นต้องเขียนเพราะกฎหมายหลักมีกำกับอยู่แล้ว/ สปช.เห็นชอบผลการศึกษาชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลของกมธ.สื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่พบว่าร่างกฎหมายฯ ไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคม-ควรชะลอไว้ก่อน/ CAT เผยพร้อมร่วมเข้าประมูล 4G คาดได้ SK Telecom จากเกาหลีใต้เป็นพันธมิตร

สถานการณ์ไอทีโดยรวมของไทยจากรายงาน The Global Information Technology Report 2015 ของ World Economic Forum

7 เมษายน 2558

เอไอทีร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เตรียมขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสู่โรงเรียนและชุมชนห่างไกลทั่วประเทศ

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิชาการโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาวิจัย ซึ่งจะทำให้โรงเรียนทั่วประเทศสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้เป็นครั้งแรก โดยเอไอทีจะมอบหมายเลขที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต (IP Address) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในการเชื่อมโยงระบบสื่อสารความเร็วสูง จำนวน 32,768 หมายเลขให้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่จะเป็นผู้บริหารจัดการ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในด้านการศึกษาวิจัยและช่วยให้การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปสู่โรงเรียนและชุมชนห่างไกลเป็นไปได้อย่างไม่ติดขัด

ที่มา: The Nation, กระทรวงศึกษาธิการ

8 เมษายน 2558

สภาปฏิรูปแห่งชาติเห็นชอบผลการศึกษาชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลของคณะกรรมาธิการการปฎิรูปการสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ

ที่ประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาและลงมติเกี่ยวกับรายงานผลการพิจารณาศึกษากฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของคณะกรรมาธิการการปฎิรูปการสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศที่ระบุว่า ร่างกฎหมายฯ ไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมและควรให้ชะลอไว้ก่อน โดยลงมติเห็นชอบต่อรายงานนี้ 163 คะแนน ไม่เห็นด้วย 4 คะแนน และงดออกเสียง 13 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 180 คน โดยหลังจากนี้ คณะกรรมาธิการการปฎิรูปฯ จะนำข้อเสนอแนะของสมาชิกไปปรับปรุงรายงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม รายงานการศึกษาฉบับเต็ม

ที่มา: Blognone

ผู้ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล เผยความคืบหน้าร่างกฎหมายและประเด็นพิจารณาเพิ่มเติม

สุรางคณา วายุภาพ หัวหน้าทีมร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล, สมาชิกสภานิติบัญญัติและผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เปิดเผยความคืบหน้าชุดร่างกฎหมายดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กเพจของตน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ที่มา: เพจเฟซบุ๊กของสุรางคณา วายุภาพ

10 เมษายน 2558

CAT เผยพร้อมร่วมประมูล 4G คาดได้ SK Telecom จากเกาหลีใต้เป็นพันธมิตร

กสท โทรคมนาคม หรือ CAT เผย CAT เตรียมพร้อมประมูล 4 จี โดยได้กันงบสำหรับการประมูล 4 จีไว้อย่างน้อย 30,000 ล้านบาท ซึ่งทาง CAT มั่นใจในการเข้าประมูลเพราะมีกำไรสะสมอยู่มากกว่า 30,000 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยจากเงินฝากส่วนนี้ปีละกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี  CAT จะใช้วิธีประมูลร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศ ซึ่งที่มีการพูดคุยแล้วคือ SK Telecom จากเกาหลีใต้และบริษัทสื่อสารอีกแห่งจากญี่ปุ่น สำหรับวิธีการเข้าร่วมประมูล 4G ของ CAT นั้นจะใช้วิธีเหมือนกับที่ อสมท. เข้าประมูลทีวีดิจิทัล คือให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพดานเงินลงทุนในการประมูล

ที่มา: Blognone

14 เมษายน 2558

UberBLACK ในไทยปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารแล้ว

UberBLACK ปรับเพิ่มค่าโดยสาร หลังจากที่ให้บริการในประเทศไทยมาเป็นเวลา 1 ปี เนื่องจากอัตราค่าโดยสารที่ประกาศใช้ในตอนแรกนั้นเพียงอัตราช่วงทดลอง โดยอัตราค่าโดยสารใหม่ เป็นดังนี้

ที่มา: Blognone

15 เมษายน 2558

World Economic Forum เผยแพร่รายงานสถานการณ์ไอทีโลก พบดัชนีความพร้อมด้านโครงข่ายโทรคมนาคมของไทยอยู่ลำดับที่ 67 จาก 143 ประเทศ

ที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เผยแพร่รายงานสถานการณ์ไอทีโลก (Global IT Report) ประจำปี 2015 พบว่า ดัชนีความพร้อมด้านโครงข่าย (Networked Readiness Index – NRI) ของไทยอยู่ในลำดับที่ 67 จาก 143 ประเทศ เช่นเดียวกับในปีที่แล้ว ทว่าดัชนีย่อยในหมวดนี้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งนี้ ข้อเสียเปรียบของไทยได้แก่ ประสิทธิภาพของระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับไอที, การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา, ความยากลำบากในการเริ่มต้นธุรกิจ, ระดับการจัดซื้อจัดหาที่เกี่ยวข้องกับไอทีของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ, ต้นทุนราคาอินเทอร์เน็ตที่สูง และคุณภาพการศึกษา

ขณะที่อันดับ 1 ได้แก่สิงคโปร์ ตามมาด้วยฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ส่วนสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับ 7 ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรในอันดับ 8 ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 9

ดัชนีดังกล่าวเป็นการประเมินสถานการณ์ด้านไอทีของแต่ละประเทศ ทั้งในด้านนโยบายและสถาบันกำกับดูแล การมีทรัพยากรที่จำเป็น และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ประชาชนสามารถใช้เทคโนโลยีข้อมูลการสื่อสารเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www3.weforum.org/docs/WEF_GITR2015.pdf
รายงานเฉพาะประเทศไทย http://www3.weforum.org/docs/WEF_Thailand.pdf


ที่มา: Global Information Technology Report 2015 ของ World Economic Forum

Exit mobile version