Digital Weekly: 21-30 เม.ย. 2558 สรุปข่าวนโยบายดิจิทัลรอบสัปดาห์ (ครึ่ง)

2015.04.30 16:47

สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: ทวิตเตอร์ออกมาตรการใหม่ หวังจัดการข้อความข่มขู่คุกคาม/ กระทรวงไอซีทีเผยผลงานเด่น ผลักดันร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล-ปิดเว็บไซต์ไม่เหมาะสมเกือบ 4,000 ยูอาร์แอล/ กูเกิลปรับการเสิร์ช นำปัจจัย mobile-friendly มาพิจารณาด้วย/ กองทุนกสทช. อนุมัติเงิน 47 ล้านสนับสนุนหลายโครงการใหม่ รวมทั้งโครงการส่งเสริมการศึกษาทางไกลผ่านเน็ตความเร็วสูง/ อสมท.พร้อมคืนคลื่น 2600 แลกจ่ายค่าเยียวยา/ ร่างกฎหมายปรับกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ ผ่านครม.แล้ว

twitter

21 เมษายน 2558

กูเกิลปรับอัลกอริทึมการเสิร์ช นำปัจจัย mobile-friendly มาพิจารณาด้วย

กูเกิลปรับอัลกอริทึมการเสิร์ช โดยนำปัจจัย mobile-friendly มาคิดจัดอันดับผลการค้นหา โดยจะเพิ่มคะแนนให้เว็บที่รองรับการใช้งานมือถือในกรณีที่เราค้นหาข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ การจัดอันดับดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการใช้งานผ่านเดสก์ท็อป เนื่องจากเป็นคนละบริการกัน ขณะที่การปรับอัลกอริธึมดังกล่าวยังไม่มีผลกับแท็บเล็ตในตอนนี้ โดยกูเกิลให้เหตุผลการปรับอัลกอริทึมดังกล่าวว่า เป็นเพราะต้องการบีบให้เว็บไซต์ต่างๆ ออกแบบให้ใช้งานได้บนอุปกรณ์พกพาซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา: Blognone

22 เมษายน 2558

กองทุนกสทช. อนุมัติเงินสนับสนุน 7 โครงการด้านไอที

กสทช. อนุมัติเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เป็นจำนวนเงินกว่า 47 ล้านบาท โดยมีโครงการที่ผ่านการอนุมัติทั้งหมด 14 โครงการ ซึ่งมีโครงการด้านไอที 7 โครงการ ได้แก่

  • โครงการสื่อสารและข่าวสารด้วยพลังแสงอาทิตย์เพื่อการพัฒนาของชุมชนแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จ.ตาก (สื่อสุริยะอาสา): มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก (7,568,450 บาท)
  • โครงการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาระบบทางไกลในถิ่นทุรกันดารโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง: มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (8,653,000 บาท)
  • โครงการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำผู้ปกครอง (Parent Port) เพื่อป้องกันเยาวชนจากการบริโภคเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อใหม่: ศูนย์ศึกษานโยบายการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (1,696,000 บาท)
  • โครงการเทเลโบกี้มหัศจรรย์สร้างเด็กอัจฉริยะด้านไอซีที: สมาคมโทรคมนาคมเพื่อการพัฒนาประเทศ จำนวนเงิน 6,547,920 บาท
  • โครงการพัฒนาความพร้อมระดับประเทศของการสื่อสารด้วยแสงสว่าง การถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาบุคคลากรด้านกิจการโทรคมนาคม การจัดทำร่างมาตรฐานและสื่อ: มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม (2,265,939 บาท)
  • โครงการสื่อสารปลอดภัยสูงสุดด้วยรหัสลับควอนตัม การถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาบุคคลากร: มหาวิทยาลัยนเรศวร (2,254,490 บาท)
  • โครงการออกแบบระบบสมองกลอัจฉริยะสำหรับการสื่อสารแบบไร้สาย: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (2,268,486 บาท)

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์ กสทช., Blognone

เฟซบุ๊กปรับวิธีแสดงผลใน News Feed

เฟซบุ๊กประกาศปรับอัลกอริทึมของ News Feed อีกครั้ง โดยมีการเปลี่ยนแปลง 3 อย่าง ดังนี้

  • ยกเลิกกฎที่ว่าจะไม่แสดงโพสต์จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป สำหรับผู้ใช้ที่ไม่มีเพื่อนหรือติดตามเพจมากนัก โดยหากผู้ใช้เลื่อน News Feed ไปเรื่อยๆ ก็มีโอกาสเห็นโพสต์จากแหล่งเดียวกันได้มากขึ้น
  • ปรับการแสดงโพสต์จากเพื่อนมากขึ้น ลดสัดส่วนการแสดงโพสต์จากเพจลง โดยสัดส่วนการแสดงโพสต์จะแปรผันตามผู้ใช้แต่ละราย ถ้าในอดีตผู้ใช้ไลค์โพสต์จากบางเพจบางเพจมาก เพจนั้นอาจยังถูกแสดงผลบ่อยครั้งเช่นเดิม แต่ในภาพรวมแล้ว การแสดงโพสต์จากเพจจะลดลง
  • ลดสัดส่วนการแสดงเนื้อหาที่บอกว่าเพื่อนของเรากดไลค์หรือคอมเมนต์โพสต์อะไรบ้าง

ที่มา: Blognone

เปิดตัว E-government ประเทศไทย

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จัดงาน E-Government Day พร้อมเผย ภายใน 2 ปีจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ 10 ด้าน ได้แก่

1. อินเทอร์เน็ตในประเทศจะได้รับจัดสรรใหม่ ภาครัฐจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกแห่ง ข้อมูลพื้นฐานจากบัตรประชาชน-ทะเบียนบ้านจะนำไปใช้ได้ทันที
2. ภาครัฐจะใช้ระบบคลาวด์เป็นพื้นฐาน
3. งบประมาณด้านไอทีและการจัดซื้อระบบไอทีของภาครัฐจะเน้นไปที่การพัฒนาแอปพลิเคชั่นถึง 50% ส่วนการจัดซื้อฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เครือข่ายจะลดลง
4. ภาครัฐจะแบ่งปันข้อมูลเปิดให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้
5. แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของภาครัฐจะมีให้บริการประชาชนมากกว่า 500 แอป
6. จะมีองค์กรใหม่ของภาครัฐเข้ามาจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปใช้ประโยชน์ต่อ
7. ภาครัฐจะก้าวเข้าสู่ Internet of Thing (IoT)
8. จุดให้บริการของภาครัฐจะเริ่มเปลี่ยนมาเป็นใช้เครื่องจักรแทนคน
9. ประชาชนจะเก็บข้อมูลธุรกรรมกับภาครัฐต่าง ๆ ไว้กับตัว ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น เก็บในฮาร์ดดิสก์ส่วนตัวหรือบนคลาวด์ และดึงมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ
10. แอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ ของภาครัฐจะเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น Payment Gateway และระบบอื่น ๆ ของภาคเอกชน

ที่มา: เดลินิวส์

23 เมษายน 2558

คัดเลือก 3 บริษัทวางเครือข่ายบรอดแบนด์ทั่วประเทศ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษจากต่างประเทศในการวางโครงข่ายบรอดแบรนด์ทั่วประเทศจำนวน 3 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทของฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ที่มีผลงานและประสบการณ์ในการวางโครงข่ายบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ตขนาดใหญ่ทั้งใน ยุโรป และตะวันออกกลาง คาดว่าจะใช้เวลาคัดเลือกภายใน 1 เดือน และเมื่อได้ตัวบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว จะให้เริ่มวางแผนจัดทำโครงข่ายของประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ที่มา: เดลินิวส์

24 เมษายน 2558

กระทรวงไอซีทีเผยผลงานเด่น ผลักดันร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลและปิดเว็บไซต์ไม่เหมาะสม

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีเปิดเผยผลงานเด่นในรอบ 6 เดือน ได้แก่ การผลักดันกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันและเว็บไซต์ลามกอนาจาร ประมาณ 3,900 ยูอาร์แอล

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

สนง.ส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ฯ จับมือพันธมิตรส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศซอฟต์แวร์แห่งอาเซียนด้านการท่องเที่ยว และการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลข้อที่ 4 ของรัฐบาล (การส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ – Digital Economy Promotion) โดย SIPA คาดว่า การผนึกกำลังความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศมากกว่า 2,000,000 ล้านบาทเป็นจริงได้ใน 1 ปี

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ทวิตเตอร์ออกมาตรการใหม่ หวังจัดการข้อความข่มขู่คุกคาม

ทวิตเตอร์ออกมาตรการ “ล็อคบัญชีที่มีปัญหา” ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเร่งแก้ปัญหาเรื่องข้อความข่มขู่คุกคาม โดยหากทวิตเตอร์ตัดสินใจล็อคบัญชีใดๆ เจ้าของบัญชีจะต้องยืนยันตัวตนด้วยเอสเอ็มเอส จากนั้นทวิตเตอร์จะแจ้งเงื่อนไขการใช้งานว่าห้ามส่งข้อความข่มขู่หรือทำให้ผู้อื่นอับอาย ในบางกรณีผู้ใช้จำเป็นต้องลบข้อความทวีตที่มีปัญหาก่อนจึงจะสามารถปลดล็อกบัญชีได้ ทวิตเตอร์ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังทดสอบฟีเจอร์จำกัดการแสดงผลข้อความทวีตที่น่าจะมีปัญหา (suspected abusive Tweets) โดยข้อความนั้นๆ จะถูกแสดงผลในวงจำกัด แต่ไม่กระทบกับการใช้งานอื่นๆ ของบัญชีนั้น

ที่มา: Blognone

27 เมษายน 2558

อสมท.พร้อมคืนคลื่น 2600 แลกจ่ายค่าเยียวยา

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เผยหลังการประชุมร่วมกับอสมท.ว่า อสมท.พร้อมที่จะคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 35 เมกะเฮิรตซ์กลับมาให้ กสทช. ประมูล 4จี โดยมีการจ่ายค่าเยียวยา และด้วยความจำเป็นทางด้านเทคนิค จำเป็นต้องนำคลื่นอีกส่วนที่กรมประชาสัมพันธ์ถือครองอยู่อีก 35 เมกะเฮิรตซ์มาใช้งานร่วมด้วย กสทช.จึงจะขอความร่วมมือจากรัฐบาลเจรจาขอคืนคลื่นจากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอาจต้องจ่ายค่าเยียวยาด้วยเช่นกัน โดยตามกฎหมายเดิม กสทช.ไม่มีอำนาจนำเงินไปจ่ายค่าเยียวยา ดังนั้น กสทช. จะทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ใช้มาตรา 44 เพื่อให้การเรียกคืนคลื่นครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

28 เมษายน 2558

ร่างกฎหมายปรับกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ ผ่านครม.แล้ว

พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีไอซีทีเผย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลเพียงฉบับเดียว คือร่างพ.ร.บ. ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม (เปลี่ยนกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) โดยอนุมัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้ว สาระสำคัญของร่างกฎหมายตั้งกระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิมมากนัก ที่เปลี่ยนไปมากที่สุดคือ การโยกศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้ไปอยู่ใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับอื่นยังไม่ได้บรรจุเข้าวาระครม.

ส่วนร่างกฎหมายดิจิทัลที่คาดว่าอาจจะเข้า ครม. สัปดาห์หน้าคือ ร่างพ.ร.บ. กสทช. และร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัลที่เหลือ กฤษฎีกาได้พิจารณาร่างกฎหมายส่วนใหญ่เสร็จหมดแล้ว ยกเว้น 3 ฉบับที่เป็นกฎหมายเทคนิค ได้แก่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้อง หยุดเสนอร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าครม. ชี้ให้นำกลับมาให้ประชาชนแก้ไขก่อน

ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้เรียกร้องให้กระทรวงไอซีทีนำชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลกลับมาแก้ไขปรับปรุงร่วมกันกับภาคประชาชน จนกว่าจะได้ร่างที่สมบูรณ์จึงนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. หลังมีข่าวว่ากระทรวงไอซีทีนำชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 8 ฉบับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 28 เมษายน 58 (อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งจะปรับกระทรวงไอซีทีไปเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ เพียงฉบับเดียว และร่างดังกล่าวได้ผ่านครม.แล้ว ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับอื่นยังไม่ได้บรรจุเข้าวาระครม.)

ที่มา: ประชาไท

Tags: , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: