Thai Netizen Network

“ปาร์ตี้เหล่าเมกเกอร์” ไปดูซิว่าเขาทำอะไรกัน (เก็บตกงาน Maker Party ตอนที่ 1)

พินดา พิสิฐบุตร รายงาน

“งาน Maker Faire เป็นพื้นที่ที่ให้คนมาเล่น มาสนุก และมาแบ่งปัน คนที่มาร่วมงานยังได้แรงบันดาลใจกลับไปทำอะไรต่อด้วย นี่เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ”

ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสารวิทยาศาสตร์ สวทช. พูดถึงงาน Maker Faire และชุมชนของเมกเกอร์ไว้ในช่วง Freestyle Talk ของงาน “Chiang Mai Maker Party” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว

เห็นจะจริงดังว่า เพราะระหว่างที่เดินโต๋เต๋อยู่ในงาน เราเดินสวนกับชายร่างใหญ่ที่สวมหูแมวขยับได้ “มันจะขยับไปตามอารมณ์คนสวม ซึ่งวัดเอาจากคลื่นสมอง” มีคนแอบกระซิบบอกเราว่าอย่างนั้น จนต้องให้อุทานออกมาว่า จริงดิ เจ๋งอ่ะ!

เรายังเดินผ่านหุ่นยนต์ที่ขยับแขนไปตามคนที่ยืนเป็นต้นแบบ เจ้าของหุ่นยนต์บอกว่า “มันยังทำแขนท่ากังนัมสไตล์ไม่ได้นะครับ” และตั้งแต่บ่ายสามโมงครึ่งจนถึงห้าโมงเย็น เราก็ได้ยินเสียงโห่ร้องและเป่าปากเป็นระยะๆ จากเหล่ากองเชียร์ที่ห้อมล้อมวงแข่งขันหุ่นยนต์ซูโม่ ซึ่งเป็นการจับหุ่นยนต์สองตัวมาชนกันโดยต้องชนให้อีกฝ่ายกระเด็นออกจากวงให้ได้ ต้องยอมรับว่า มันออกจะดูเหมือนวงเชียร์ไก่ชนมากกว่า อ้อ และถ้ามัวแต่เดินสวยอยู่ในงานโดยไม่ดูให้ดีๆ ก็อาจโดน “โดรน” (drone) บินเฉี่ยวหัว หรือไม่ก็เผลอเหยียบรถบังคับของใครสักคนที่กำลังวิ่งอยู่บนพื้น

ความโกลาหลทั้งหมดนี้ดูปกติดี เมื่อมาอยู่ในงาน Chiang Mai Maker Party งานรวมพลเหล่าเมกเกอร์ (makers) ตัวจริง!

Chiang Mai Maker Party ซึ่งจัดขึ้นที่เชียงใหม่เมื่อสุดสัปดาห์ (28-29 มีนาคม) ที่ผ่านมา เป็นงานรวมตัวของเมกเกอร์งานแรกในเมืองไทย โดยผู้มาร่วมงานมีทั้งเมกเกอร์ ผู้สนใจอยากเป็นเมกเกอร์ ผู้ใคร่รู้เกี่ยวกับเมกเกอร์จากทั่วทุกสารทิศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเชียงใหม่ กรุงเทพ และมีบางคนที่บินมาไกลจากภูเก็ต โดยเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้คือ Chiang Mai Maker Club หรือชมรมเมกเกอร์แห่งเชียงใหม่นั่นเอง

งานครั้งนี้มีการแสดงผลงานจากชมรมกว่า 20 ชิ้น อาทิ โดรนจิ๋วประกอบเอง เครื่องวัดความชื้นในดินที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันในมือถือและจะแสดงค่าความชื้นที่ได้บนแอป หลอดไฟเปลี่ยนสี ที่สั่งเปลี่ยนสีจากแอปบนมือถือเช่นกัน รวมกับผลงานจากเหล่าเมกเกอร์อื่นๆ ที่มาร่วมงานอีก 13 ราย

เมกเกอร์ที่อายุน้อยที่สุดในงานคือน้องอะตอม ด.ช.อธิษฐ์ หงษ์วิทยากร ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นป.6 ซึ่งเดินทางมาไกลจากนครปฐมพร้อมคุณพ่อ ผลงานของอะตอมคือสิ่งที่ดูคล้ายตู้เกม อันประกอบด้วยกล่องไม้สองกล่อง แต่ละกล่องมีปุ่ม 5 ปุ่ม ทำหน้าที่เป็นจอยสติ๊กบังคับตัวละครในเกมให้ปล่อยพลังสู้กัน อะตอมเขียนโปรแกรมเกมดังกล่าวด้วยโปรแกรมเขียนโค้ดอย่างง่ายที่ชื่อว่า Scratch หลังจากที่เราลองเล่นเกมด้วยการกดชาร์ตพลังไปได้สักพัก ดูเหมือนตัวละครในเกมจะตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนคับจอ “อันนี้ยังต้องแก้ bug อยู่นะครับ” คุณพ่อพูดอย่างยิ้มๆ

น้องอะตอมและตู้เกมทำเอง

บรรยากาศงาน

แล้วเราก็เดินมาหยุดอยู่ตรงหน้าหุ่นยนต์สุนัขหน้าตาน่ารักที่ใช้หน้าจอสมาร์ทโฟนแทนใบหน้า ขยับหางได้ แต่ลำตัวดูประหลาดสิ้นดีเพราะมีแผงวงจรไฟฟ้าและสายไฟยั้วเยี้ยนามว่า “Pi-Bot” ผลงานนี้เป็นของ “ดร.โรเจอร์” หรือ ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมการเรียนรู้ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Pi-Bot เป็นหุ่นยนต์ช่วยในการเรียนการสอนเขียนโปรแกรมที่มีเซ็นเซอร์ติดตั้งอยู่และเชื่อมต่อผ่านสาย USB เข้ากับคอมพิวเตอร์ Pi-Bot จะตอบสนองเมื่อเราสั่งให้มันทำอะไรก็ตามจากปุ่มคำสั่งบนคอมพิวเตอร์ โดยภายใต้ปุ่มคำสั่งเหล่านั้นคือโค้ดนั่นเอง นี่แหละที่ทำให้การเรียนเขียนโค้ดสนุกและเข้าใจง่ายขึ้น

ในงานยังมีเวิร์คช็อปสอนประกอบรถแข่ง จัดแข่งขันรถบังคับวิบาก มีการนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D printer) มาโชว์ มีการบรรยายที่เรียกว่า Freestyle Talk ทั้งหมด 13 หัวข้อ อาทิ “Industrial 2.0: our role as Makers in the era of 21st century innovation”, “How to start up for maker?”, “การระดมทุนจาก Crowdfunding” (ถ้านั่งฟังจนก้นช้ำแล้วสามารถพักโดยการลุกไปเชียร์ไก่ชนด้านนอกได้) และปาร์ตี้เบียร์ฟรี (!) ในคืนวันเสาร์ด้วย

ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ (ขวา) และทีม ถ่ายรูปกับหุ่นยนต์สุนัข Pi-Bot

โฉมหน้ารถบังคับที่ผ่านสนามแข่งรถวิบาก 4 ฤดูมาได้โดยไม่พัง

เมกเกอร์กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ได้เวลาเข้าร่มหลบแดดไปฟัง Freestyle Talk หัวข้อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างสรรค์ ที่มีผศ.ดร.เกษมศักดิ์ อุทัยชนะ ตัวแทนจากเครือข่ายเชียงใหม่สร้างสรรค์มาบรรยายให้ฟัง ผศ.ดร.เกษมศักดิ์บอกกับเหล่าเมกเกอร์ว่า โจทย์ของเมกเกอร์คือการนำเอาไอเดียและแม่แบบที่มีอยู่ มาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อจะพัฒนามาเป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้

ส่วน Martin Venzky-Stalling ตัวแทนจากเชียงใหม่สร้างสรรค์เช่นกัน เล่าถึงที่มาของเครือข่ายในหัวข้อบรรยายเดียวกันว่า เชียงใหม่สร้างสรรค์เกิดจากการทำงานร่วมระหว่างรัฐ เอกชน และภาคการศึกษา โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างงานและโอกาสให้กับคนเชียงใหม่ และทำให้เศรษฐกิจของเชียงใหม่เข้มแข็ง เพราะว่าในปัจจุบัน “คนเชียงใหม่เรียนจบ ก็ต้องไปหางานทำในกรุงเทพ” Martin เล่าด้วยว่า สิ่งที่เครือข่ายพยายามส่งเสริมคือธุรกิจด้านซอฟต์แวร์และไอที ซึ่งมีคนทำงานด้านนี้อยู่จำนวนมากในเชียงใหม่

William Hooi (ที่สองจากซ้าย) นำทีม Singapore Makers บุกงาน

ส่วนกระแสเมกเกอร์ในต่างประเทศนั้น William Hooi ผู้ก่อตั้งสมาคม Singapore Maker องค์กรที่ทำงานส่งเสริมทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะในสิงคโปร์ ซึ่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาร่วมงานนี้โดยเฉพาะ ได้มาเล่าให้ฟังถึงกระแสเมกเกอร์ในสิงคโปร์ ภายใต้การบรรยายหัวข้อ Maker Scene ว่า เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมนี้และเข้ามาสนับสนุนให้เกิดกลุ่มบริษัทที่ชื่อ OneMaker Group ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อชักนำนักออกแบบและเมกเกอร์เข้าหากัน และเพื่อทำให้ไอเดียกลายมาเป็นต้นแบบที่จับต้องได้จริง

William เล่าว่า การจะสร้างพื้นที่ของเมกเกอร์ (maker space) ขึ้นมานั้น จะต้องเริ่มด้วยความคิดริเริ่มและจุดประสงค์อะไรสักอย่างก่อน ก่อนจะมาหาเครื่องมือที่จะใช้ และหาคนที่จะมาร่วมงานด้วย ในสิงคโปร์มีการจัดโครงการให้คนมาร่วมกันทำของ จัดเสวนาเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่เสมอ จัด Hackathon ซึ่งบริษัทเอกชนจะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ เนื่องจากบริษัทต้องการหาวิธีแก้ปัญหา และการจัด Hackathon คือการให้คนมาร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหาให้นั่นเอง เหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศของเมกเกอร์

William ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า วัฒนธรรมเมกเกอร์คือการชักชวนให้คนมาสร้างสินค้าด้วยตัวเอง การเป็นเมกเกอร์ไม่ควรเป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น แต่เมกเกอร์ควรจะยังชีพได้ด้วยการขายของที่สร้างขึ้นมาด้วย และองค์กรอย่าง Singapore Makers ก็เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่อยากผลิตอะไรขึ้นมาเอง แต่ไม่รู้ว่าจะต้องไปที่ไหน

แข่ง pitch!

ตกเย็นวันเสาร์ ก็ถึงเวลาที่เหล่าเมกเกอร์ที่มีไอเดียแต่ไม่มีเงินทุนต่างรอคอย ยินดีต้อนรับเข้าสู่ช่วงแข่งขัน pitching! การ pitch ในที่นี้คือการให้เวลาเมกเกอร์ 10 นาทีในการนำเสนอโครงการของตัวเองต่อหน้ากรรมการ โดยโครงการที่กรรมการเห็นว่าน่าสนใจและมีศักยภาพในทางธุรกิจจะได้รับเงินรางวัลสูงสุด 1 แสนบาทเพื่อนำไปพัฒนาเป็นต้นแบบต่อไป กรรมการพูดตอนหนึ่งด้วยว่า อยากให้เวทีนี้เป็นเวทีที่จะทำให้เมกเกอร์ได้ฝึกขายไอเดีย

“เงิน 1 แสนวันนี้อาจไม่มาก แต่เราจะเตรียมตัวให้คุณเพื่อที่วันหลังคุณจะได้ไปเอาเงินล้านที่อื่น”

แข่ง pitch: ทีม Pancake Art กำลังบรรยายโครงการทำเครื่องทำแพนเค้กอัตโนมัติ ซึ่งจะทำแพนเค้กเป็นรูปต่างๆ ผ่านแอปบนสมาร์ทโฟน

ผู้ชนะการ pitch ครั้งนี้มีทั้งหมด 5 ทีม ได้แก่ทีมที่ทำโครงการ Electric Tripod หรือขาตั้งกล้องอัตโนมัติที่กางตั้งด้วยตัวเองและจดจำตำแหน่งความสูงที่ต้องการได้, โครงการ Mechanic Smart Scale ที่จะติดตั้งเซ็นเซอร์เข้ากับเครื่องชั่งน้ำหนัก เพื่อส่งค่าที่ชั่งได้ไปยังสมาร์ทโฟนหรือคลาวด์, โครงการ Smart Tractor หรือรถไถนาแบบอัตโนมัติ ส่วนโครงการ Arts on drinks และ Pancake Art ซึ่งใช้แขนหุ่นยนต์ในการวาดลวดลายลงบนฟองนมและแพนเค้กนั้น ได้รับเงินทุนก้อนเดียวกันเพื่อนำไปช่วยกันพัฒนาและแบ่งปันอุปกรณ์กันใช้

สุขุม สัตตรัตนามัย นิสิตปริญญาเอกภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมทำ Pancake Art ที่ได้รางวัลจากการ pitch พูดถึงงานนี้ว่า

“เมื่อวานเป็นการแข่ง pitch ครั้งแรก สนุกดี แล้วพอได้รางวัลด้วยก็แปลว่าไอเดียนั้นมีคนเห็นด้วย”

“ตอนแรกที่จะมางานนี้ว่าจะเอาตุ๊กตาที่ขยับได้มาโชว์ แต่เตรียมไม่ทัน เลยเอาหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารมาแทน มางานนี้ได้เห็นบรรยากาศการทำงานของชมรมที่นี่ ดูคึกคักดี พยายามเอาบรรยากาศอย่างนี้ไปปรับใช้กับชมรมหุ่นยนต์ที่จุฬาฯ บ้าง”

ตอนนี้สุขุมกำลังเตรียมทำหุ่นยนต์เพื่อผู้สูงอายุเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก โดยหุ่นยนต์ที่ว่าจะคอยมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสความจำเสื่อมในผู้สูงอายุได้

ทางด้านฐปน วรวุฒิวัฒน์ ฟรีแลนซ์ที่ทำงานด้านเขียนโปรแกรมและงานดีไซน์ อีกหนึ่งในผู้มาร่วมงานเล่าให้ฟังว่า ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชอบทำหุ่นยนต์อยู่แล้วก่อนที่จะมีกระแสเมกเกอร์ “งานนี้อยากมาดูว่าเขาทำอะไรกันบ้าง อยากรู้ว่ามีอะไรใหม่ๆ มีอะไรที่เราช่วยเขาได้หรือเขาช่วยเราได้ไหม”

เมื่อถามว่ามางานนี้แล้วได้อะไรบ้าง ฐปนบอกว่า “หลักๆ คือได้มารู้จักคนที่เหมือนเรา อยู่ดีๆ จะมาคุยเรื่องทำอิเล็กทรอนิกส์ คนทั่วไปก็คุยกับเราไม่รู้เรื่อง งานนี้ทำให้เจอคนที่มีความสนใจคล้ายกัน คุยกันรู้เรื่อง สนุกดี”

ซึ่งก็ฟังดูจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของคนจัดงาน ที่อยากให้งานนี้เป็นพื้นที่ที่เมกเกอร์ได้มาเจอกัน

“อยากจะรวมสังคมเมกเกอร์เข้าด้วยกัน เรายังไม่มีงานที่รวมคนที่สนใจด้านนี้ แล้วเราก็เชื่อว่ามีคนที่สนใจด้านนี้อยู่มากสมควร ตอนนี้ก็น่าจะทำให้เป็นการเดินเครื่องวงการเมกเกอร์เมืองไทย ว่ามีสังคมอยู่ มีคนที่ชอบในเรื่องนี้เหมือนๆกัน คนที่มาเจอกันในงานนี้จะได้เครือข่าย ต่อไปอาจจะได้ทำงานร่วมกัน”

น.พ.ภาณุทัต เตชะเสน หรือ “หมอจิมมี่” เจ้าของบริษัทจิมมี่ซอฟต์แวร์ ผู้ก่อตั้งและสปอนเซอร์หลักชมรม Chiang Mai Maker Club เล่าให้ฟังถึงเหตุผลในการจัดงานนี้

หมอจิมมี่ประมาณไว้ว่า เมกเกอร์ในเชียงใหม่น่าจะมีด้วยกันหลายร้อยคน ส่วนกรุงเทพคิดว่าน่าจะมีเยอะทีเดียว แต่หลังจากนี้คาดว่าจะเกิดการตื่นตัวในวงการ ทำให้เมกเกอร์มีจำนวนมากขึ้นอีก

หมอจิมมี่ยังเล่าให้เราฟังต่อ ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างกระแสเมกเกอร์กับ Internet of Things (IoT) ว่า IoT จะเปิดโอกาสใหม่ๆ อะไรให้กับเมกเกอร์บ้าง เมกเกอร์ไทยควรจะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อจะคว้าโอกาสนี้ไว้ นอกจากนั้น เรายังได้ไปสัมภาษณ์ชายหนุ่มผู้ริเริ่มชมรม Chiang Mai Maker Club มาด้วยนะ ว่าคิดอะไร จู่ๆ ถึงได้ลุกขึ้นมาตั้งชมรมเมกเกอร์ รวมทั้งแผนในอนาคตของชมรม ติดตามต่อได้ใน อนาคตของเมกเกอร์ (เก็บตกงาน Maker Party ตอนที่ 2)

เดี๋ยว ช้าก่อน! ว่าแต่ว่าผู้อ่านอ่านมาถึงตรงนี้นึกถึงอะไรบ้างไหม เพราะผู้เขียนพบว่า เขียนไปเขียนมา ก็พลันนึกถึงคำว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” ขึ้นมาดื้อๆ น่ะสิ –จบ–

ส่วนหนึ่งของผลงานชมรมเชียงใหม่เมกเกอร์คลับ

แข่งหุ่นยนต์ซูโม่

เวิร์กช็อปประกอบรถแข่ง

เตรียมตัวให้ดี! : การแข่งรถบังคับวิบาก

สนามแข่งรถวิบาก (เขาบอกว่าคอนเสปต์คือ สนามนี้มี 4 ฤดู หญ้า กรวด ทราย และน้ำแข็งแห้ง)

โฉมหน้าหุ่นยนต์ซูโม่ (Sumo-Bots Battle)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Exit mobile version