2015.03.09 19:16
9 มีนาคม – กฤษฎีกาเตรียมเผยความคืบหน้าร่างกฎหมายดิจิทัล พุธที่ 11 มี.ค. นี้ ยืนยันไม่ยุบกทปส.แต่จะแบ่งเงินไปส่วนหนึ่ง และยังคงการประมูลคลื่นเชิงพาณิชย์ สพธอ.ระบุ เศรษฐกิจดิจิทัลต้องแก้ไขความไม่เท่าเทียม ตัวแทนประชาสังคมยกแนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัลจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นแนวทาง
วันที่ 9 มีนาคม 2558 มีการสัมมนา “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: สังคมได้อะไร?” จัดโดยคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ณ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีวิทยากรได้แก่ ภาสกร ประถมบุตร ผอ.โปรแกรมวิจัยนวัตกรรมและบริการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สุรางคณา วายุภาพ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หนึ่งในทีมผู้ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล, ดิสทัต โหตระกิตย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และสฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ดำเนินการสัมมนาโดย มณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมการธิการสังคมฯ คนที่หนึ่ง
ชวนร่วมให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฯ วันพุธนี้
ดิสทัต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าวว่า ตอนนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาจำเป็นต้องผลักดันร่างกฎหมายออกมาให้ทันเวลา สำหรับผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะจัดสัมมนา “การมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างกฎหมายเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล (รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล)” ในวันพุธที่ 11 มีนาคมนี้ ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น 1 โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส ถนนหลานหลวง กรุงเทพ ตั้งแต่เวลา 9:00 ถึง 16:00 (เปิดลงทะเบียน 8:30) เพื่อนำเสนอความคืบหน้าในการแก้ไขและรับฟังข้อเสนอแนะโดยจะนำความเห็นที่ได้กลับไปตรวจพิจารณาใหม่
เมื่อมีคำถามจากผู้ร่วมสัมมนาซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านไอทีว่า นอกจากในงานรับฟังความคิดเห็นในวันพุธนี้แล้ว ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะสามารถเสนอความคิดเห็นและข้อสอบถามไปยังช่องทางใดได้บ้าง ดิสทัตกล่าวว่า เนื่องจาก ณ ตอนนี้กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายค่อนข้างกระชั้น จะพยายามเปิดให้มีการเสนอความเห็นทางเว็บไซต์ และหากไม่มีช่องทางจริงๆ ก็สามารถเสนอความเห็นมายังตนได้โดยตรง
สำหรับความคืบหน้าร่างกฎหมายนั้น ดิสทัตระบุว่า ร่างกฎหมายกสทช.ฉบับแก้ไข จะระบุให้แบ่งเงินส่วนหนึ่งจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไปให้กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แทนที่จะโอนเงินจากกองทุนกทปส.ไปทั้งหมด ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าสัดส่วนเงินดังกล่าวจะเป็นเท่าใด ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่จะยังคงการประมูลไว้เฉพาะการใช้คลื่นในเชิงพาณิชย์
ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม?
ทางด้านสุรางคณา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและผอ.สพธอ. หนึ่งในทีมผู้ร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการร่างกฎหมาย ที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมว่า เป็นเพราะโครงสร้างภาครัฐมีปัญหา จึงทำให้กระบวนการร่างกฎหมายต้องเป็นไปอย่างเร่งรีบ
สุรางคณายังได้พูดถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม โดยระบุว่า ปัจจุบัน คนด้อยโอกาสยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ร่างกฎหมายจึงได้เน้นสร้างความเท่าเทียมให้กับคนด้อยโอกาส โดยจะอยู่ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลด้านดิจิทัลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ แม้ว่าในปัจจุบัน กสทช.จะมีแผนการลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ก็มีคำถามว่าแผนดังกล่าวได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่
ทางด้านภาสกร ผอ.โปรแกรมวิจัยนวัตกรรมและบริการ สวทช. ซึ่งมาเป็นวิทยากรแทน เมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงความสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นกัน โดยระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งยังสร้างโอกาสการเรียนรู้ใหม่ๆ และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ
อนึ่ง ในเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีนั้น ร่างกฎหมายกสทช. ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ถูกวิจารณ์มากว่า เนื้อหาในร่างกฎหมายที่ระบุให้ยุบกองทุน กทปส. จะยิ่งเพิ่มความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีในหมู่คนด้อยโอกาส เนื่องจากกองทุนกทปส.มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีของกลุ่มคนเหล่านี้ ขณะที่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ไม่มีระบุวัตถุประสงค์ดังกล่าวไว้ แต่กลับระบุให้การนำเงินไปให้เอกชนกู้ยืมได้
สังคมควรจะได้อะไรจากเศรษฐกิจดิจิทัล
สฤณี ประธานมูลนิธิอินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมืองกล่าวว่า หลายครั้งเจตนารมณ์ของกฎหมายฟังดูดี แต่ในความเป็นจริง กฎหมายที่ออกมาไม่ได้สอดคล้องไปตามเจตนารมณ์นั้น และอาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งนี่เป็นข้อกังวลต่อร่างแรกของกฎหมายชุดนี้
สฤณีกล่าวต่อว่า ตนจะไม่ขอย้อนไปพูดถึงความเหตุผลและความจำเป็นของการมีเศรษฐกิจดิจิทัล แต่จะมาพูดคุยเพื่อให้เดินไปข้างหน้า โดยจะมาพูดถึงเรื่องว่าสังคมควรจะได้อะไรจากเศรษฐกิจดิจิทัล
สังคมควรจะได้อะไรจากเศรษฐกิจดิจิทัล
1. ได้ความเชื่อมั่น ทุกวันนี้ชีวิตของเราทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ หรือจะใช้เทคโนโลยีการสื่อสารหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตัวเราถูกหน่วยงานต่างๆ เก็บไว้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีอัตราการใช้สื่อสังคมสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเรามีความตื่นตัวในเรื่องนี้สูง ขณะเดียวกัน กลไกทางนโยบายและความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีของไทยยังด้อยอยู่
ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เก็บข้อมูลของเราไปมากนี้ เราควรจะเชื่อมั่นได้ว่ารัฐจะไม่นำข้อมูลเราไปใช้ทำอะไรโดยที่เราไม่ยินยอม เราต้องเชื่อมั่นได้ด้วยว่า ผู้ประกอบการจะคุ้มครองข้อมูลของเรา และเครือข่ายสารสนเทศยังต้องมีความปลอดภัยด้วย “ทั้งความเป็นส่วนตัว (privacy) และความมั่นคงของเครือข่าย (cybersecurity) คือหัวใจของเศรษฐกิจดิจิทัล” สฤณีกล่าว
2. ได้ทางเลือกในการใช้บริการต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งมีทางเลือกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เรายังคาดหวังด้วยว่า เทคโนโลยีจะช่วยลดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพราะเทคโนโลยีสามารถทำให้เราเข้าถึงข้อมูลที่ไร้พรมแดนได้โดยที่มีต้นทุนต่ำ
3. ได้รัฐที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ในการปรับโฉมรัฐบาลไปสู่รูปแบบดิจิทัล สิ่งที่ควรทำไปพร้อมกันคือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐให้ประชาชนเข้าถึงได้ตั้งแต่แรก (by default) และอยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์อ่านออก โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนไปขอข้อมูลจากรัฐ
4. ได้สังคมเปิด (open society) แม้ว่าในสังคมออนไลน์จะมีเรื่องที่แย่ๆ มากมาย อาทิ ข่าวลือ ข้อมูลเท็จ แต่รัฐต้องช่วยสร้างสังคมที่เปิดต่อความเห็นต่าง ไม่ใช่ด้วยการไล่ล่าหรือสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้นในโลกออนไลน์
เศรษฐกิจดิจิทัลในแบบ OECD
สฤณียังได้ยกตัวอย่างคำแนะนำที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) ได้จัดทำออกมาเป็นรายงานในปี 2003 ว่ารัฐต่างๆ ควรทำอย่างไรเพื่อจะพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยข้อแนะนำดังกล่าวมีดังนี้
- รัฐต้องเสริมสร้างให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลมีความพิเศษตรงที่มีต้นทุนต่ำ และเอื้อผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้ามาในตลาดได้ นอกจากนี้รัฐต้องต่อต้านการการผูกขาด โดยสฤณีกล่าวว่า กฎหมายป้องกันการผูกขาดของไทยในปัจจุบันยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก
- รัฐต้องวางตัวเป็นกลางทางเทคโนโลยี ไม่ไปกำหนดหรือบังคับให้ใช้เทคโนโลยีใด แต่ต้องปล่อยให้เอกชนเป็นผู้นำในเรื่องนี้
- รัฐต้องทำตัวเป็นผู้สนับสนุน โดยสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และพัฒนาบรรยากาศทางธุรกิจ ไม่ใช่ลงไปจัดการทุกอย่างเอง
- รัฐต้องกระจายประโยชน์ของเทคโนโลยีไปยังคนทุกกลุ่มของสังคม หรือเรียกได้ว่าเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี
- รัฐต้องพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลข่าวสารและสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลข่าวสาร (cybersecurity) นั้น ผู้เจาะระบบมักอาศัยอยู่ต่างประเทศ ดังนั้น หน้าที่ของรัฐจึงไม่ใช่วิ่งไปตามจับผู้กระทำผิด แต่ควรสร้างระบบให้ปลอดภัย โดยเน้นไปที่การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย สร้างการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อรับมือภัยคุกคามอย่างทันท่วงที รวมทั้งต้องสร้างมาตรฐานข้ามพรมแดนร่วมกัน
เศรษฐกิจดิจิทัลในมุมมองของ World Economics Forum 2014
ขณะที่การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economics Forum) เมื่อปีที่ผ่านมา (2014) ได้มีการจัดทำรายงานสรุปแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งระบุว่ารัฐควรต้องเปลี่ยนวิธีคิดและควรวางบทบาทของตนอย่างไร เพื่อตามให้ทันพัฒนาการของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยรายงานระบุว่า
เดิมรัฐมองว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องของโทรคมนาคม ดังนั้นเวลาออกกฎหมายจึงมักเน้นไปที่ด้านโทรคมนาคม และมักไปนิยามหรือกำหนดว่าต้องใช้เทคโนโลยีอะไร ทว่าทุกวันนี้ เทคโนโลยีก้าวไปไกลกว่านั้น รัฐไม่ควรกำหนดการใช้เทคโนโลยี แต่ควรให้ตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน
เดิมรัฐมักใช้วิธีกำกับอย่างเข้มงวด และมักใช้กำกับดูแลโดยวิธีป้องกันและปราบปราม แต่วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ภาคเอกชนมีบทบาทสูง รัฐจึงควรเปลี่ยนจากการ “ถือไม้เรียว” มาเป็นการวางมาตรฐานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ส่งเสริมให้เกิดการกำกับกันเองของผู้เล่น
และแทนที่รัฐจะหาตัวคนกระทำผิดหรือหาวิธีลงโทษ ซึ่งสะท้อนออกมาในการออกกฎหมายบนฐานความผิด รัฐควรเขียนเพียงหลักการสั้นๆ ในกฎหมาย เช่น กำหนดหลักการว่า บริษัทต้องขอความยินยอมของเจ้าของข้อมูลก่อนการเก็บข้อมูล และรัฐมีหน้าที่เพียงแค่ดูแลว่าบริษัททำตามหลักการหรือไม่
สฤณีกล่าวด้วยว่า ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐควรถอยมาเป็นเพียงผู้ส่งเสริม กฎหมายไม่ควรนำเอาอำนาจและหน้าที่จำนวนมากไปกองไว้ที่รัฐ ตนไม่อยากให้รัฐซึ่งเป็นสถาบันที่เปลี่ยนแปลงช้าเข้าไปเป็นผู้ฉุดรั้งพัฒนาการของเศรษฐกิจดิจิทัล
ส่วนในเรื่องธรรมาภิบาลนั้น สำหรับตนแล้ว คิดว่ากฎหมายชุดนี้ไม่ควรมีธรรมาภิบาลด้อยไปกว่ากฎหมายกสทช. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านการมีส่วนร่วมและถกเถียงจากหลายฝ่าย
กฎหมายไม่ใช่เครื่องมือเดียวในการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต
สฤณีกล่าวว่า กลไกกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตไม่ได้มีแต่กฎหมายอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยทั้งกฎหมาย บรรทัดฐานทางสังคม ตลาด และเทคโนโลยี ดังนั้นเวลาที่เกิดปัญหาขึ้น ตนไม่อยากให้มุ่งไปแก้ที่ตัวกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทางด้านดิสทัตกล่าวเสริมว่า ควรต้องแยกว่าเรื่องใดบ้างที่กฎหมายหรือรัฐควรและไม่ควรเข้าไปยุ่ง เพราะในบางเรื่อง การที่กฎหมายเข้าไปยุ่งจะทำให้ตัวกฎหมายนั้นแข็งและไม่มีพลวัต ส่วนเรื่องที่กฎหมายควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวคือเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อนึ่ง ในหลักการและเหตุผลของการจัดสัมมนาระบุว่า เนื่องจากคณะกรรมาธิการสังคมฯ เห็นว่า ร่างกฎหมายชุดนี้มีความซับซ้อน กระทบต่อสังคมในวงกว้าง และจำเป็นต้องสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน จึงได้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น นอกจากนี้ คณะกรรมการสังคมฯ ยังเห็นด้วยว่า ในการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ประเด็นทางสังคมมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องเศรษฐกิจ โดยรัฐต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการรัฐให้เอื้อต่อคนทุกระดับ รวมถึงคนด้อยโอกาสและคนพิการ และส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง
เอกสารเพิ่มเติม
- ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ http://ictlawcenter.etda.or.th/de_laws
- รายงาน Seizing the Benefits of ICT in a Digital Economy (2013) ของ OECD
- รายงาน Delivering Digital Infrastructure Advancing the Internet Economy (2014) ใน World Economic Forum 2014