ตัวแทนธุรกิจเพลง-หนังยืนยัน บล็อคเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ “อย่างเจาะจง” ไม่กระทบเสรีภาพ

2015.03.10 21:56

IFPI, MPA และ True ตัวแทนผู้ประกอบการเพลง ภาพยนตร์ และโทรทัศน์บอกรับสมาชิก ยืนยันการปิดกั้นเว็บไซต์เป็นมาตรการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยรักษาศีลธรรม และสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคจะไม่ถูกกระทบหากการปิดกั้นมีความเฉพาะเจาะจงมากพอ

Ang Kwee Tiang ผู้อำนวยการ International Federation of the Phonographic Industry (IFPI) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Ang Kwee Tiang ผู้อำนวยการ International Federation of the Phonographic Industry (IFPI) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

10 มีนาคม — IFPI, MPA และ True Visions ตัวแทนผู้ประกอบการเนื้อหาไทยและเทศ บรรยายในงานสัมมนา “Website Blocking: A Tool to Preserve Morality and Boost Digital Econamy” ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ร่วมกับ Motion Picture Association และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) ย้ำการปิดกั้นเว็บไซต์เป็นมาตรการที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

Ang Kwee Tiang ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ International Federation of the Phonographic Industry (IFPI) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงระบุว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการทำร้ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเสียรายได้ ทำให้การจ้างงานลดลง และยังเป็นการทำลายศีลธรรม

Tiang ระบุว่า ปัจจุบัน กฎหมายหรือศาลใน 19 ประเทศกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี เดนมาร์ก มาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์

Tiang กล่าวว่า สำหรับข้อถกเถียงที่ว่า การปิดกั้นเว็บไซต์เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออก สร้างภาระให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และไม่ได้ผลเนื่องจากผู้ใช้ก็มีหนทางอื่นในการเข้าถึงเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ดีนั้น ในเรื่องของสิทธิ ลิขสิทธิ์จัดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องด้วยเช่นกัน ตามที่กฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐาน (Charter of Fundamental Rights) มาตรา 17.2 ของสหภาพยุโรปได้รับรองเอาไว้

นอกจากนี้ การปิดกั้นเว็บไซต์ไม่จำเป็นต้องส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพ หากการปิดกั้นนั้นมีความเฉพาะเจาะจงมากพอ โดยไม่ไปกระทบเว็บไซต์ถูกกฎหมายอื่นๆ “เราไม่ได้บล็อกเว็บเป็นพันๆ เว็บ เราบล็อกแต่เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์หลักๆ เท่านั้น”

ส่วนผลกระทบที่เกิดกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้น มาตรการปิดกั้นเว็บไซต์ก็ไม่ได้กระทบต่อเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด (ระบุไว้ในมาตรา 16 ของกฎบัตรสิทธิขึ้นพื้นฐาน) แม้ว่าจะทำให้ผู้ให้บริการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

Tiang ตอบข้อวิจารณ์ที่บอกว่า การปิดกั้นเว็บไซต์เป็นมาตรการที่ใช้ไม่ได้ผลว่า มาตรการนี้ไม่จำเป็นต้องประสบผลสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์จึงจะเรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพ จากสถิติปัจจุบัน เช่น ในกรณีของเว็บไซต์ Pirate Bay แสดงให้เห็นแล้วว่า การปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งเว็บไซต์ทำให้การเข้าถึงเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ แนวคิดที่ว่า ในเมื่อมาตรการปิดกั้นเว็บไซต์ไม่มีประสิทธิภาพ จึงไม่ควรมีมาตรการดังกล่าวเสียดีกว่า เป็นแนวคิดที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก

Neil Gane ผู้อำนวยการบริหาร  Motion Picture Association ประจำเอเชียแปซิฟิก

Neil Gane ผู้อำนวยการบริหาร Motion Picture Association ประจำเอเชียแปซิฟิก

ทางด้าน Neil Gane ผู้อำนวยการบริหารประจำเอเชียแปซิฟิกของ Motion Picture Association (MPA) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และผู้อำนวยการบริหารของ Australian Federation Against Copyright Theft (AFACT) เห็นเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า ข้อถกเถียงที่มีต่อการปิดกั้นเว็บไซต์ข้างต้นได้ผ่านการถกเถียงในศาลของสหภาพยุโรปมาแล้วในกรณีของเว็บไซต์ kino.to โดยศาลเห็นว่า ในการปิดกั้นเว็บไซต์ สิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคจะต้องไม่ถูกละเมิดอย่างไม่จำเป็น การปิดกั้นเว็บไซต์ต้องปิดกั้นเฉพาะเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายเท่านั้น และต้องระวังไม่ให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ถูกกฎหมายไปด้วย

Gane กล่าวว่า การปิดกั้นเว็บไซต์ไม่จำเป็นต้องได้ผลอย่างสมบูรณ์ เพราะอย่างน้อยที่สุด การปิดกั้นเว็บไซต์จะทำให้การเข้าถึงเว็บดังกล่าวยากขึ้นและจะเป็นการลดแรงจูงใจของผู้บริโภคในการเข้าถึงเนื้อหาเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม Gane ระบุว่ามีผลการศึกษาหลายกรณีที่พบว่า การปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์สามารถลดการเข้าถึงเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้จริง และแม้ว่าจะมีการใช้พร็อกซี่ (proxy) เพื่อเข้าสู่เว็บผิดกฎหมายมากขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นเหล่านั้นก็เทียบไม่ได้เลยกับการลดลงของการเข้าถึงเว็บไซต์ผิดกฎหมายโดยรวม

Gane ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์จะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบทางสังคมด้วย เนื่องจากเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์มักมีรายได้หลักจากโฆษณา ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นโฆษณาในธุรกิจผิดกฎหมาย อาทิ ธุรกิจเซ็กซ์ มัลแวร์ การพนัน การหลอกลวง Gane อ้างว่า หากเยาวชนต้องการเข้าถึงภาพยนตร์สักเรื่องโดยไม่อยากเสียเงิน การที่เยาวชนเข้าไปในเว็บไซต์เหล่านี้จะทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิ่งที่ไม่เหมาะสมซึ่งโฆษณาอยู่บนเว็บไซต์ได้

การบรรยายในช่วงที่สามเป็นการบรรยายโดยตัวแทนของฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท True Visions ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ซึ่งได้แลกเปลี่ยนในประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ ของเว็บไซต์ที่นำสัญญาณภาพไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ และมาตรการทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า “fingerprinting” ที่ทรูใช้ในการค้นหาสมาชิกที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดี

คำถามจากผู้ใช้เน็ต: ที่ว่า “เจาะจง” นั้นแค่ไหน และ “เรา” ควรระวังอะไรบ้าง

ภาพรวมของการบรรยายเห็นไปในแนวทางเดียวกันหมด คือสนับสนุนการปิดกั้นเว็บไซต์ “อย่างเฉพาะเจาะจง” และไม่คิดว่าจะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ยังมองว่าเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์มีความเชื่อมโยงผ่านสื่อโฆษณากับธุรกิจผิดศีลธรรมอย่างภาพโป๊และการพนัน ทางด้านผู้ฟังในห้องไม่มีการซักถามผู้บรรยาย คำถามทั้งหมดที่ถูกถามเป็นคำถามที่ฝากมาทางทวิตเตอร์ @thainetizen

ต่อคำถามที่ว่า “สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิพื้นฐานในระดับเดียวกับเสรีภาพในการแสดงออกหรือสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือไม่? ศาลสหภาพยุโรปได้กล่าวเช่นนั้นหรือไม่?” Neil Gane ตอบว่า ใช่ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the European Union) ได้มีคำตัดสินเช่นนั้น โดยเขาได้ส่งลิงก์คำตัดสินมาให้หลังจบสัมมนา

คดีเลขที่ C-314/12 UPC Telekabel Wien GmbH v Constantin Film Verleih GmbH, Wega Filmproduktionsgesellschaft mbH – คำตัดสินความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายของศาล (Advocate General)

คำถามต่อมาคือ “มีประเด็นอะไรที่เราควรระมัดระวังบ้าง เมื่อรัฐบาลจะออกหรือจะบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายในการปิดกั้นเว็บไซต์” ซึ่ง “เรา” ในที่นี้หมายถึง พลเมืองและใครก็ตามที่อยากเห็นนโยบายของรัฐบาลให้ความสมดุลอย่างยุติธรรมกับสิทธิต่างๆ สำหรับคำถามนี้ Gane ตอบว่า ไม่ใช่หน้าที่ของเขาในฐานะสมาคมการค้าที่จะตอบคำถามนี้ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องตอบ

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @TITYing ยังได้ถามต่ออีกว่า “อะไรคือเกณฑ์สำหรับการปิดกั้นแพลตฟอร์มสำหรับการแบ่งปันที่มีทั้งเนื้อหาที่ถูกและผิดกฎหมาย (อย่างเช่น 4shared และ MediaFire)?” และ “การปิดกั้นแบบไหนที่เรียกได้ว่าเฉพาะเจาะจง”  Gane ตอบว่ามีความเป็นห่วงเรื่องนี้ และสำหรับทางสหภาพยุโรปก็มีความระมัดระวังในการไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “overblocking” หรือการปิดกั้นที่เกินจำเป็น ทางด้าน Tiang กล่าวว่าการปิดกั้นเว็บไซต์ควรจะใช้สำหรับเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างรุนแรงเท่านั้น และสำหรับเว็บไซต์ที่มีทั้งเนื้อหาที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในที่เดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้ไปปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว

Gane ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ศาลสูงของสิงคโปร์มีหลักเกณฑ์ 6 ข้อที่มีความเฉพาะเจาะจงมากพอที่จะตัดสินว่า เว็บไซต์ใดที่จัดเป็นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์และควรถูกปิดกั้นการเข้าถึง หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีอาทิ ดูว่าเว็บไซต์นั้นจงใจที่จะมีส่วนร่วมในการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ พิจารณาว่าเว็บไซต์นั้นถูกปิดกั้นโดยคำตัดสินของศาลในประเทศอื่นหรือไม่ พิจารณาว่าเว็บไซต์นั้นมีวิธีการหรือชี้ช่องทางการหลีกเลี่ยงการปิดกั้นนั้นหรือไม่ ทั้งยังพิจารณาจำนวนการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวร่วมด้วย เป็นต้น

ยังมีคำถามจากผู้ใช้ทวิตเตอร์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้ถูกถามเนื่องจากข้อจำกัดของเวลา เช่น รัฐสามารถเข้ามาจัดการการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทันทีโดยไม่มีเจ้าทุกข์หรือไม่? ในกรณีที่ภาพยนตร์ถูกห้ามเผยแพร่ และวิธีเดียวจะหามาดูได้คือการละเมิดลิขสิทธิ์ จะให้ทำอย่างไร?

ชมบันทึกการสัมมนาย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=7Y8XiEEq3No

Tags: , , , , , , , , ,
%d bloggers like this: