IFPI, MPA และ True ตัวแทนผู้ประกอบการเพลง ภาพยนตร์ และโทรทัศน์บอกรับสมาชิก ยืนยันการปิดกั้นเว็บไซต์เป็นมาตรการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยรักษาศีลธรรม และสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคจะไม่ถูกกระทบหากการปิดกั้นมีความเฉพาะเจาะจงมากพอ
10 มีนาคม — IFPI, MPA และ True Visions ตัวแทนผู้ประกอบการเนื้อหาไทยและเทศ บรรยายในงานสัมมนา “Website Blocking: A Tool to Preserve Morality and Boost Digital Econamy” ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ร่วมกับ Motion Picture Association และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) ย้ำการปิดกั้นเว็บไซต์เป็นมาตรการที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
Ang Kwee Tiang ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ International Federation of the Phonographic Industry (IFPI) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของอุตสาหกรรมบันทึกเสียงระบุว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการทำร้ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเสียรายได้ ทำให้การจ้างงานลดลง และยังเป็นการทำลายศีลธรรม
Tiang ระบุว่า ปัจจุบัน กฎหมายหรือศาลใน 19 ประเทศกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี เดนมาร์ก มาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์
Tiang กล่าวว่า สำหรับข้อถกเถียงที่ว่า การปิดกั้นเว็บไซต์เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพในการแสดงออก สร้างภาระให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และไม่ได้ผลเนื่องจากผู้ใช้ก็มีหนทางอื่นในการเข้าถึงเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ดีนั้น ในเรื่องของสิทธิ ลิขสิทธิ์จัดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการปกป้องด้วยเช่นกัน ตามที่กฎบัตรสิทธิขั้นพื้นฐาน (Charter of Fundamental Rights) มาตรา 17.2 ของสหภาพยุโรปได้รับรองเอาไว้
นอกจากนี้ การปิดกั้นเว็บไซต์ไม่จำเป็นต้องส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพ หากการปิดกั้นนั้นมีความเฉพาะเจาะจงมากพอ โดยไม่ไปกระทบเว็บไซต์ถูกกฎหมายอื่นๆ “เราไม่ได้บล็อกเว็บเป็นพันๆ เว็บ เราบล็อกแต่เว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์หลักๆ เท่านั้น”
ส่วนผลกระทบที่เกิดกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้น มาตรการปิดกั้นเว็บไซต์ก็ไม่ได้กระทบต่อเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด (ระบุไว้ในมาตรา 16 ของกฎบัตรสิทธิขึ้นพื้นฐาน) แม้ว่าจะทำให้ผู้ให้บริการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
Tiang ตอบข้อวิจารณ์ที่บอกว่า การปิดกั้นเว็บไซต์เป็นมาตรการที่ใช้ไม่ได้ผลว่า มาตรการนี้ไม่จำเป็นต้องประสบผลสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์จึงจะเรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพ จากสถิติปัจจุบัน เช่น ในกรณีของเว็บไซต์ Pirate Bay แสดงให้เห็นแล้วว่า การปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งเว็บไซต์ทำให้การเข้าถึงเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ แนวคิดที่ว่า ในเมื่อมาตรการปิดกั้นเว็บไซต์ไม่มีประสิทธิภาพ จึงไม่ควรมีมาตรการดังกล่าวเสียดีกว่า เป็นแนวคิดที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก
ทางด้าน Neil Gane ผู้อำนวยการบริหารประจำเอเชียแปซิฟิกของ Motion Picture Association (MPA) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และผู้อำนวยการบริหารของ Australian Federation Against Copyright Theft (AFACT) เห็นเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า ข้อถกเถียงที่มีต่อการปิดกั้นเว็บไซต์ข้างต้นได้ผ่านการถกเถียงในศาลของสหภาพยุโรปมาแล้วในกรณีของเว็บไซต์ kino.to โดยศาลเห็นว่า ในการปิดกั้นเว็บไซต์ สิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคจะต้องไม่ถูกละเมิดอย่างไม่จำเป็น การปิดกั้นเว็บไซต์ต้องปิดกั้นเฉพาะเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายเท่านั้น และต้องระวังไม่ให้มีการปิดกั้นเว็บไซต์ที่ถูกกฎหมายไปด้วย
Gane กล่าวว่า การปิดกั้นเว็บไซต์ไม่จำเป็นต้องได้ผลอย่างสมบูรณ์ เพราะอย่างน้อยที่สุด การปิดกั้นเว็บไซต์จะทำให้การเข้าถึงเว็บดังกล่าวยากขึ้นและจะเป็นการลดแรงจูงใจของผู้บริโภคในการเข้าถึงเนื้อหาเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม Gane ระบุว่ามีผลการศึกษาหลายกรณีที่พบว่า การปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์สามารถลดการเข้าถึงเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้จริง และแม้ว่าจะมีการใช้พร็อกซี่ (proxy) เพื่อเข้าสู่เว็บผิดกฎหมายมากขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นเหล่านั้นก็เทียบไม่ได้เลยกับการลดลงของการเข้าถึงเว็บไซต์ผิดกฎหมายโดยรวม
Gane ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์จะส่งผลเสียทางเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบทางสังคมด้วย เนื่องจากเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์มักมีรายได้หลักจากโฆษณา ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นโฆษณาในธุรกิจผิดกฎหมาย อาทิ ธุรกิจเซ็กซ์ มัลแวร์ การพนัน การหลอกลวง Gane อ้างว่า หากเยาวชนต้องการเข้าถึงภาพยนตร์สักเรื่องโดยไม่อยากเสียเงิน การที่เยาวชนเข้าไปในเว็บไซต์เหล่านี้จะทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิ่งที่ไม่เหมาะสมซึ่งโฆษณาอยู่บนเว็บไซต์ได้
การบรรยายในช่วงที่สามเป็นการบรรยายโดยตัวแทนของฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัท True Visions ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ซึ่งได้แลกเปลี่ยนในประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์รายการโทรทัศน์ ของเว็บไซต์ที่นำสัญญาณภาพไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ และมาตรการทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า “fingerprinting” ที่ทรูใช้ในการค้นหาสมาชิกที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดี
คำถามจากผู้ใช้เน็ต: ที่ว่า “เจาะจง” นั้นแค่ไหน และ “เรา” ควรระวังอะไรบ้าง
ภาพรวมของการบรรยายเห็นไปในแนวทางเดียวกันหมด คือสนับสนุนการปิดกั้นเว็บไซต์ “อย่างเฉพาะเจาะจง” และไม่คิดว่าจะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ยังมองว่าเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์มีความเชื่อมโยงผ่านสื่อโฆษณากับธุรกิจผิดศีลธรรมอย่างภาพโป๊และการพนัน ทางด้านผู้ฟังในห้องไม่มีการซักถามผู้บรรยาย คำถามทั้งหมดที่ถูกถามเป็นคำถามที่ฝากมาทางทวิตเตอร์ @thainetizen
ต่อคำถามที่ว่า “สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิพื้นฐานในระดับเดียวกับเสรีภาพในการแสดงออกหรือสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือไม่? ศาลสหภาพยุโรปได้กล่าวเช่นนั้นหรือไม่?” Neil Gane ตอบว่า ใช่ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the European Union) ได้มีคำตัดสินเช่นนั้น โดยเขาได้ส่งลิงก์คำตัดสินมาให้หลังจบสัมมนา
คดีเลขที่ C-314/12 UPC Telekabel Wien GmbH v Constantin Film Verleih GmbH, Wega Filmproduktionsgesellschaft mbH – คำตัดสิน – ความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายของศาล (Advocate General)
คำถามต่อมาคือ “มีประเด็นอะไรที่เราควรระมัดระวังบ้าง เมื่อรัฐบาลจะออกหรือจะบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายในการปิดกั้นเว็บไซต์” ซึ่ง “เรา” ในที่นี้หมายถึง พลเมืองและใครก็ตามที่อยากเห็นนโยบายของรัฐบาลให้ความสมดุลอย่างยุติธรรมกับสิทธิต่างๆ สำหรับคำถามนี้ Gane ตอบว่า ไม่ใช่หน้าที่ของเขาในฐานะสมาคมการค้าที่จะตอบคำถามนี้ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องตอบ
ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @TITYing ยังได้ถามต่ออีกว่า “อะไรคือเกณฑ์สำหรับการปิดกั้นแพลตฟอร์มสำหรับการแบ่งปันที่มีทั้งเนื้อหาที่ถูกและผิดกฎหมาย (อย่างเช่น 4shared และ MediaFire)?” และ “การปิดกั้นแบบไหนที่เรียกได้ว่าเฉพาะเจาะจง” Gane ตอบว่ามีความเป็นห่วงเรื่องนี้ และสำหรับทางสหภาพยุโรปก็มีความระมัดระวังในการไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “overblocking” หรือการปิดกั้นที่เกินจำเป็น ทางด้าน Tiang กล่าวว่าการปิดกั้นเว็บไซต์ควรจะใช้สำหรับเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างรุนแรงเท่านั้น และสำหรับเว็บไซต์ที่มีทั้งเนื้อหาที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในที่เดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้ไปปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว
Gane ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ศาลสูงของสิงคโปร์มีหลักเกณฑ์ 6 ข้อที่มีความเฉพาะเจาะจงมากพอที่จะตัดสินว่า เว็บไซต์ใดที่จัดเป็นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์และควรถูกปิดกั้นการเข้าถึง หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีอาทิ ดูว่าเว็บไซต์นั้นจงใจที่จะมีส่วนร่วมในการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ พิจารณาว่าเว็บไซต์นั้นถูกปิดกั้นโดยคำตัดสินของศาลในประเทศอื่นหรือไม่ พิจารณาว่าเว็บไซต์นั้นมีวิธีการหรือชี้ช่องทางการหลีกเลี่ยงการปิดกั้นนั้นหรือไม่ ทั้งยังพิจารณาจำนวนการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวร่วมด้วย เป็นต้น
ยังมีคำถามจากผู้ใช้ทวิตเตอร์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้ถูกถามเนื่องจากข้อจำกัดของเวลา เช่น รัฐสามารถเข้ามาจัดการการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทันทีโดยไม่มีเจ้าทุกข์หรือไม่? ในกรณีที่ภาพยนตร์ถูกห้ามเผยแพร่ และวิธีเดียวจะหามาดูได้คือการละเมิดลิขสิทธิ์ จะให้ทำอย่างไร?
ชมบันทึกการสัมมนาย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=7Y8XiEEq3No