Thai Netizen Network

นักปฏิรูปสื่อเห็นพ้อง “ร่างพ.ร.บ.กสทช.จะทำลายความเป็นอิสระขององค์กรกำกับ”

นักวิชาการปฏิรูปสื่อและคนทำสื่อชุมชนให้ความเห็น ร่างพ.ร.บ.กสทช.ไม่แก้ปัญหาธรรมาภิบาลกสทช. ซ้ำยังจะทำลายความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแล ห่วงกฎหมายใหม่ต้องการยึดคลื่นความถี่กลับสู่หน่วยงานรัฐ

“สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ยับยั้งการออกมาของร่างพ.ร.บ.กสทช.ก่อน แล้วค่อยมาบอกว่าจะยกเครื่องกสทช.อย่างไร” เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว ตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทยกล่าวแสดงความเห็นต่อร่างร่างพ.ร.บ.กสทช. หนึ่งในชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ในงานประชุม “ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปสื่อและการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้การปรับปรุงกฎหมาย กสทช. : อนาคต กสทช. ในยุค ‘ปฏิรูป’ ทางออกปฏิรูปสื่อ หรือ ทางตัน” ณ สำนักงานกสทช. เมื่อเช้าวันนี้ (26 มี.ค. 58)

เจริญกล่าวถึงปัญหาของร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับล่าสุดที่อยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า

เจริญเห็นว่า การแก้ร่างพ.ร.บ.กสทช.เป็นการแก้ไม่ถูกที่คัน ทั้งยังเป็นการแก้เพื่อ “พ่วงเรื่องบางเรื่องเข้าไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไรบางอย่าง” ด้วย

ร่างพ.ร.บ.กสทช.ไม่แก้ปัญหา

ชโลม เกตุจินดา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ระบุว่า ปัญหาของกสทช.ในปัจจุบันนี้คือ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่กองทุนกทปส.ของกสทช.ขาดกระบวนการและแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ไม่มีการกำหนดสัดส่วนการใช้เงินที่ชัดเจน แต่การแก้ไขร่างพ.ร.บ.กสทช.ในครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว

ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสนับสนุนเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส คนพิการอย่างไรด้วย

วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติกล่าวว่า ภาคประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในกสทช. ทั้งในด้านธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การมีส่วนนร่วมของประชาชน การบังคับใช้กฎหมาย ทว่าการแก้กฎหมายไม่ได้แก้จุดบกพร่องดังกล่าวของกสทช. แต่กลับไปแก้จุดเด่นของกสทช. ซึ่งก็คือความเป็นอิสระ

วิชาญกล่าวด้วยว่า วิทยุชุมชนและภาคประชาชนเป็นห่วงเรื่องการนำคลื่นคืนจากหน่วยงานรัฐเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ โดยหากการตัดสินใจว่าจะคืนคลื่นหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการดิจิทัลฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝ่ายราชการ ก็มีแนวโน้มที่ชุมชนจะไม่ได้คลื่นคืน และจะทำให้วิทยุชุมชนไม่สามารถเติบโตได้

วิชาญให้ข้อเสนอว่า ร่างกฎหมายต้องเขียนให้ชัดว่าการคืนคลื่นจะยึดตามแผนแม่บทเดิม และเสนอว่ากสทช.ควรต้องกระจายอำนาจและการทำงานไปยังสำนักงานเขตต่างๆ ด้วย

สุชัย เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข โครงการนำร่องทีวีชุมชน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.กสทช.ขาดหลักประกันว่าชุมชนจะได้รับคลื่นความถี่คืน ทั้งนี้ สื่อชุมชนมีความสำคัญ หากกฎหมายไม่มีหลักการสนับสนุนให้ชุมชนถือครองคลื่นความถี่ที่ชัดเจน โอกาสในการได้รับข้อมูลข่าวสารของชุมชนจะหายไป และชาวบ้านจะได้รับแต่เพียงข้อมูลจากส่วนกลางเท่านั้น

ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ ตัวแทนเครือข่ายสถานบันเพื่อการปฏิรูปสื่อ คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เห็นเช่นกันว่า กสทช.ต้องถูกปฏิรูปเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ทว่าเนื้อหาร่างพ.ร.บ.กสทช.กลับไม่ได้แก้ปัญหานี้ อีกทั้งไม่ได้สอดคล้องกับเจตนารมย์ในการสร้างสังคมดิจิทัลแต่อย่างใด

ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังจะทำให้กสทช.ขาดความเป็นอิสระ ซึ่งผิดเจตนารมณ์การจัดตั้งองค์กรนี้ นอกจากนี้ การที่ประชาชนไม่ทราบถึงกระบวนการร่างกฎหมายทำให้การตรวจสอบของประชาชนไม่เข้มแข็งด้วย

ผิดตั้งแต่ต้น

สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า จุดที่อ่อนที่สุดของกสทช.คือระบบการตรวจสอบ ซึ่งหากจะยกเครื่องพ.ร.บ.กสทช.ใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด

สุภาพรกล่าวด้วยว่า การปฎิรูปสื่อเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนช่วยกันผลักดันมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จนออกมาเป็นกสทช.และพ.ร.บ.กสทช. ทว่า แม้ว่าวันนี้ผู้มีส่วนร่วมในครั้งนั้นจะไม่พอใจผลพวงที่ออกมาเพียงใด การที่รัฐบาลจะมาล้มการเดินทางที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่รับไม่ได้

ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังผิดตั้งแต่เริ่มต้น ที่ไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากประชาชน ยังไม่ต้องรวมไปถึงการพูดถึงเนื้อหา ขณะที่การพิจารณาร่างกฎหมายรายมาตราจะเสมือนเป็นการตกหลุมพราง เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ผิดตั้งแต่วิธีคิด

สุภาพรกล่าวยืนยันว่า เราไม่ควรรับร่างกฎหมายฉบับนี้

สุภาพรกล่าวถึงชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยว่า ร่างกฎหมายชุดนี้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าสังคม อีกทั้งคำว่า “สังคม” ของร่างกฎหมายชุดนี้ยังแคบ โดยรัฐมองเพียงว่าสังคมในทีนี้คือสังคมที่ไม่ปรองดองและไม่มีความมั่นคงเท่านั้น

ทั้งนี้ สุภาพรเห็นด้วยกับการที่ร่างกฎหมายให้ควบรวมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เข้าเป็นชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่าจะทำให้การทำงานเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง

เราไม่อยากเห็นการกำกับดูแลสื่อโดยรัฐอีกต่อไป

อัศวิน เนตโพธิ์แก้ว อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์กล่าวว่า เราไม่อยากเห็นภาพการกำกับดูแลสื่อโดยรัฐอีกต่อไปแล้ว และร่างพ.ร.บ.กสทช.ซึ่งจะกระทบความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลฉบับนี้จะทำให้การปฏิรูปสื่อถึงทางตัน

อัศวินกล่าวถึงปัญหาในร่างพ.ร.บ.กสทช.ต่อว่า ภาษาและคำที่ใช้ในร่างพ.ร.บ.กสทช.มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจน เช่น ที่กฎหมายระบุว่า การปฏิบัติหน้าที่ของกสทช.ต้อง “สอดคล้อง” กับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลฯ เป็นการเขียนกฎหมายแบบ “ซ่อนเงื่อน” ทำให้ในอนาคตการทำงานของกสทช.จะตกอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการดิจิทัลฯ

ส่วนการให้ตั้งคณะกรรมการร่วม (โดยมีตัวแทนคณะกรรมการดิจิทัลฯ และกสทช.) เพื่อมาตัดสินว่าการทำงานของกสทช.สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลหรือไม่นั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐต้องการเข้ามาควบคุมการสื่อสารภายในประเทศ

อัศวินกล่าวด้วยว่า แม้ชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลจะอ้างว่าทำเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ทว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายได้ลืมคิดไปว่าเศรษฐกิจดิจิทัลตั้งอยู่บนฐานความคิดสร้างสรรค์ และความคิดสร้างสรรค์จะไม่เกิดขึ้นหากปราศจากความเป็นอิสระ การอ้างเช่นนี้จึงเป็นเพียงการอ้างแต่เพียงลอยๆ

ความเห็นจาก 3 กรรมการกสทช.

ด้านกรรมการกสทช. ผศ.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ระบุว่า ความเป็นอิสระของกสทช.เป็นสิ่งที่ต้องรักษาเอาไว้ เช่นเดียวกับนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ย้ำเรื่องความจำเป็นของการมีอยู่ของกสทช. แม้ว่ากสทช.จะมีทั้งคนรักและชังก็ตาม ขณะที่สุภิญญา กลางณรงค์ระบุว่า อำนาจการบริหารคลื่นความถี่ต้องเป็นของกสทช. และหลักการการปฏิรูปสื่อต้องได้รับการธำรงไว้ รวมทั้งต้องรักษาหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ และไม่ให้รัฐใช้กสทช.เป็นกลไกในการปิดกั้นสื่อด้วย

Exit mobile version