สรุปข่าวดิจิทัลประจำสัปดาห์: กรรมการกสทช.หวั่น ประมูล 4 จีอาจไม่ทันเดือนสิงหาคมปีนี้/ คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อฯ ลงความเห็น ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลไม่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมดิจิทัล/ กสทช.และไอซีทีเตรียมแผนจำกัดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมถือคลื่นได้ไม่เกินรายละ 50 เมกะเฮิร์ตซ์ ให้เหตุผลเพื่อป้องกันการผูกขาด/ กสทช.เสนอตั้งกองทุนพิเศษสำหรับจ่ายเงินชดเชยหน่วยงานรัฐที่คืนคลื่นความถี่ ไอซีทีไฟเขียวให้ กสท โทรคมนาคม และทีโอทีเข้าประมูล 4 จีได้/ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเผย ขณะนี้รัฐบาลปิดกั้นเว็บไซต์ได้เพิ่มเท่าตัว
21 มีนาคม 2558
รัฐบาลปิดกั้นเว็บไซต์ได้เพิ่มเท่าตัว
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการปิดกั้นเว็บไซต์ได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว พร้อมทั้งระบุว่า ต่อไปนี้การปราบปรามผู้กระทำผิดมาตรา 112 จะทำได้มีประสิทธิภาพขึ้น เนื่องจากกระทรวงไอซีทีบังคับให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนต้องลงทะเบียนซิมการ์ดทุกระบบเพื่อพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้ ทำให้สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติมีข้อมูลภาพรวมความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ และสามารถกำหนดเป้าหมายการปฏิบัติงานได้ชัดเจนขึ้น
ที่มา: The Nation, กรุงเทพธุรกิจ
23 มีนาคม 2558
กรรมการกสทช.ระบุ ประมูล 4 จีอาจไม่ทันเดือนสิงหาคมปีนี้
น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.เปิดเผยว่า การประมูล 4 จีอาจล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ไม่เคยประเมินมูลค่าคลื่นความถี่มาก่อนจึงอาจต้องจ้างเอกชนดำเนินการอีกต่อหนึ่ง น.พ.ประวิทย์ระบุด้วยว่า การเรียกคืนคลื่น 2,600 เมกะเฮิรตซ์จาก อสมท.จะทำได้ยาก เพราะอสมท.ได้นำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปทำสัมปทานกับบริษัท อินเตอร์เนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการทีวีบนมือถือแล้ว และหากรัฐบาลยืนยันให้ทำเช่นนี้ เชื่อว่าการประมูล 4 จีจะเกิดไม่ทันภายในปีนี้
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
รัฐบาลสั่งเรียกคืนคลื่น 2,300 เมกะเฮิร์ตซ์จากทีโอที แลกกับการให้ใช้คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ต่อไป 10 ปี
พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีเปิดเผยว่า รัฐบาลมีคำสั่งให้กระทรวงไอซีทีเรียกคืนคลื่น 2,300 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ไม่ได้ใช้งานจากทีโอทีเพื่อนำมาประมูล 4 จี โดยแลกกับการที่ทีโอทีจะได้รับอนุญาตให้ถือครองคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ต่อไปอีก 10 ปี
ที่มา: Bangkok Post
รัฐบาลเตรียมจัดตั้งดาตาเซนเตอร์ คาดเปิดใช้งานปีหน้า
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเปิดเผยว่า จะมีการจัดตั้งดาตาเซ็นเตอร์ (IDC) ขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ใช้รายใหญ่ คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุน 3-4 หมื่นล้านบาทและจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 10 เดือนและเปิดใช้งานได้ภายในปี 2559
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
บทวิเคราะห์ของหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์คาด การประมูล 4 จีอาจเกิดขึ้นได้ต้นปีหน้า หากรัฐบาลยืนยันประมูลคลื่นอื่นนอกจาก 900-1,800 เมกะเฮิร์ตซ์ด้วย
บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ ระบุว่า บริษัทคาดการณ์ว่าการประมูล 4 จีจะมีขึ้นไม่ทันเดือนสิงหาคมปีนี้ตามที่รัฐบาลวางแผนไว้ โดยการเรียกคืนคลื่น 2,600 เมกะเฮิร์ตซ์จากอสมท. อาจต้องใช้เวลา และหากรัฐบาลจะยังยืนยันนำคลื่นอื่นๆ นอกเหนือจากคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์และ 1,800 เมกะเฮิร์ตซ์มาประมูลในคราวเดียวกัน การประมูลน่าจะเกิดขึ้นได้ต้นปีหน้า (2559)
ที่มา: The Nation
กระทรวงสาธารณสุขเปิดตัวแอปเตือน-ร้องเรียน เครื่องสำอาง อาหาร และยาอันตราย
กระทรวงสาธารณสุขเปิดตัว 2 แอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยสินค้าอันตรายจากยา เครื่องสำอาง และอาหาร ทั้งบนระบบปฏิบัติการ iOS และแอนดรอยด์ แอปดังกล่าวได้แก่ “ทำดี ดรัก อเลิร์ต (Tumdee drug alert)” ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วยให้รู้สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ “อย. สมาร์ท แอปพลิเคชัน (Oryor Smart Application)” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งให้ข้อมูลความรู้พิษภัยของสารต้องห้ามและสามารถรับแจ้งเรื่องร้องเรียนได้
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
ผู้ร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล เผยความคืบหน้าร่างกฎหมาย
สุรางคณา วายุภาพ ผู้ร่างชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล, ผอ.สพธอ. และสมาชิกสภานิติบัญญัติเปิดเผยความคืบหน้าชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลในเฟซบุ๊กเพจของตน โดยชี้แจงว่า
- ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม: แล้วเสร็จ เหลือรอการทบทวนอีกครั้ง
- ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: แล้วเสร็จ เหลือปรับแก้เล็กน้อย
- ร่างพ.ร.บ.กสทช.: ใกล้เสร็จรอบแรก เหลือเพียงนำความเห็นจากกสทช.และหน่วยงานต่างๆ มาพิจารณาอีกรอบ
- ร่างกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แยกออกเป็น 2 ฉบับ ฉบับแรกรองรับผลทางกฎหมายของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับกลไกการกำกับดูแลธุรกิจบริการ ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แยกออกเป็นอีกฉบับหนึ่ง
- ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล: ใกล้เสร็จรอบแรก อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องและไม่ขัดกัน โดยให้กฤษฎีการ่วมกับสพธอ.จัด Open Forum อีกครั้งต้นเดือนเมษายนนี้
- ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์: พิจารณารอบแรกแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างทบทวนโดยเริ่มให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง
- ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ: ยังชะลออยู่ โดยจะให้ร่างกฎหมายฉบับอื่นเสร็จไปก่อน
ที่มา: เฟซบุ๊กเพจของสุรางคณา วายุภาพ
ไอซีทีไฟเขียว ให้ กสท โทรคมนาคมและทีโอทีเข้าประมูล 4 จีได้ ด้านกสทช.เผย ปีนี้ประมูล 4 จี 4 ใบอนุญาต
พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีไอซีทีเปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ทีโอทีและ กสท โทรคมนาคมสามารถเข้าร่วมประมูล 4 จีได้ ด้วยการตีมูลค่าทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทานเป็นหุ้นหรือเป็นมูลค่าร่วมลงทุน ซึ่งจะเป็นในรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการเจรจาหาพันธมิตรของทีโอทีและกสท โทรคมนาคม
ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ระบุว่า ปีนี้กสทช.จะเปิดประมูลใบอนุญาต 4 จีจำนวน 4 ใบอนุญาต แบ่งเป็นคลื่น 1800 จำนวน 2 ใบอนุญาต คลื่น 900 จำนวน 2 ใบอนุญาต และหากกสทช. สามารถเจรจากับ กสท โทรคมนาคมและดีแทคได้สำเร็จ ก็จะสามารถนำคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิร์ตซ์ที่ไม่มีการใช้งานจำนวน 25 เมกะเฮิร์ตซ์มาเปิดประมูล 4 จีได้เพิ่มเติม มีผลทำให้มีใบอนุญาต 4 จี เพิ่มอีก 2 ใบอนุญาต
ซึ่งแนวทางการเจรจาคือต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ กสท โทรคมนาคมตามสิทธิ์เจ้าของคลื่นความถี่ ขณะที่ไม่ต้องเยียวยาให้ดีแทค เนื่องจากเป็นผู้ยื่นข้อเสนอคืนคลื่นเอง และแนวทางการจ่ายเงินชดเชยอาจนำมาใช้กับ อสมท.ซึ่งปัจจุบันถือครองคลื่น 2,600 เมกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งมีบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งานและสามารถนำมาประมูลได้
ที่่มา: ไทยรัฐ
27 มีนาคม 2558
กสทช.และไอซีทีเตรียมแผนจำกัดให้ผู้ประกอบการถือคลื่นได้ไม่เกินรายละ 50 เมกะเฮิร์ตซ์ กสทช.ยังเสนอตั้งกองทุนพิเศษเพื่อจ่ายเงินชดเชยหน่วยงานรัฐที่คืนคลื่นความถี่แก่กสทช.
กสทช.เสนอให้มีกองทุนพิเศษ ที่จะนำเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่จากผู้ประมูลที่ชนะ จ่ายเป็นค่าชดเชยให้กับหน่วยงานรัฐที่คืนคลื่นความถี่ให้กสทช. ในการนำคลื่นออกประมูล และหากมีเงินเหลือจะแบ่งเงินออกเป็นสองส่วน คือ ร้อยละ 25 เข้าสู่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนที่เหลือจะนำส่งคลัง
นอกจากนี้ กสทช.และกระทรวงไอซีทียังเตรียมเสนอแผนการประมูลต่อคณะรัฐมนตรีวันนี้ (27 มี.ค.) โดยแผนการดังกล่าวรวมถึงการกำหนดให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมแต่ละรายถือครองคลื่นความถี่ที่ใช้จริงได้ไม่เกิน 50 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถครองครองคลื่นความถี่ได้และเพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่ทั้งสามราย
ที่มา: The Nation
กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ ลงความเห็น ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลไม่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมดิจิทัล
คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เผยผลการพิจารณาศึกษาชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล โดยผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า
นโยบายพัฒนาประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและดิจิทัลของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ พบว่ามีแนวทางไปทางที่มุ่งเน้นปกป้องความมั่นคงของประเทศมากกว่าความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์, สถานะและบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานและหน่วยงานที่จะถูกจัดตั้งขึ้นตามร่างกฏหมายไม่ชัดเจน, ขาดหลักประกันการใช้อำนาจและความรับผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่, กสทช.จะถูกลดบทบาทลงและขาดความเป็นอิสระ, ร่างกฎหมายกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยคณะกรรมาธิการได้สรุปว่า ชุดร่างกฎหมายจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าผลดี และอาจจะไม่ทำให้วัตถุประสงค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาลประสบผลสำเร็จ (อ่านรายละเอียดการแถลงข่าวได้ที่ กรุงเทพธุรกิจ)
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, Bangkok Post, ข่าวสด