Thai Netizen Network

อังกฤษทดสอบ 5G ส่งหนังบลูเรย์ทั้งเรื่องใน 1 วิ นายกไทยยืนยันประมูล 4G ปีนี้

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ในอังกฤษประสบความสำเร็จในการทดสอบเทคโนโลยีรับส่งข้อมูลไร้สาย 5G ที่เร็วที่สุดในโลก สามารถรับส่งข้อมูลได้ 1 เทระบิตต่อวินาที (1 Tbps หรือ 125 GB ต่อวินาที) เร็วกว่าเทคโนโลยี 4G หลายพันเท่า

เทคโนโลยีดังกล่าวถูกทดสอบที่ศูนย์นวัตกรรม 5G (5G Innovation Centre – 5GIC) ของมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ โดยศูนย์ดังกล่าวมีผู้ร่วมก่อตั้ง อาทิ ซัมซุง, หัวเหว่ย (Huawei), ฟูจิตสึ (Fujitsu), แอร์คอม (Aircom), เทเลโฟนิคา (Telefonica), โวดาโฟน (Vodafone), แอโรเฟล็กซ์ (Aeroflex). โรเดอร์ แอนด์ ชวาร์ซ (Rohde & Schwarz) และสำนักข่าวบีบีซี

ทั้งนี้ 5G เป็นคำที่ใช้เรียกเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นถัดไปที่คาดว่าจะสามารถรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วมหาศาล แม้ขณะนี้ หน่วยงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อาทิ สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers – IEEE) และสมาคมจีเอสเอ็ม (GSM Association – GSMA) จะยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับเทคโนโลยี 5G ก็ตาม

ออฟคอม (Ofcom) หน่วยงานกำกับกิจการสื่อสารของสหราชอาณาจักร ระบุว่า เป็นไปได้ที่สหราชอาณาจักรจะมีเครือข่าย 5G ให้บริการภายใน ค.ศ. 2020 และเชื่อว่าโทรศัพท์มือถือที่ใช้เทคโนโลยี 5G จะสามารถรับส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วระหว่าง 10-50 Gbps เมื่อเทียบกับ 4G ที่มีความเร็วในการดาวน์โหลดเฉลี่ย 15 Mbps

อีริกสัน (Ericsson) ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมระบุว่า 5G จะมีความเร็วมากถึงขนาดที่ว่าจะสามารถส่งภาพเคลื่อนไหวสดๆ จากกล้องที่ติดอยู่หน้าหมวกพนักงานดับเพลิง เพื่อที่ผู้ช่วยชาญที่อยู่ในศูนย์สั่งการและควบคุมจะสามารถให้คำแนะนำพนักงานได้ทันทีทันใด

“เรายังได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่อีกกว่า 10 เทคโนโลยี และหนึ่งในนั้นคือการรับส่งข้อมูลผ่านระบบไร้สายด้วยความเร็วที่มากกว่า 1 Tbps แม้ว่ามันจะเป็นความเร็วเดียวกับการรับส่งข้อมูลผ่านสายใยแก้ว ทว่านี่เป็นการรับส่งข้อมูลแบบไร้สาย” ศาสตราจารย์ราฮิม ทาฟาโซลลี ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม 5G ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าว V3

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2014 ซัมซุงประสบความสำเร็จในการทดลองรับส่งข้อมูลไร้สายด้วยความเร็ว 7.5 Gbps ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของซัมซุงในเกาหลีใต้ ซึ่งถือว่าเร็วที่สุดในขณะนั้น ก่อนที่สถิติดังกล่าวจะถูกทำลายลงด้วยการทดลองของศูนย์นวัตกรรม 5G ที่สามารถรับส่งข้อมูลที่ 800 Gbps ได้ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน

ทั้งนี้ ศูนย์นวัตกรรม 5G ระบุชัดเจนว่า การพัฒนาเทคโนโลยีรับส่งข้อมูลไร้สายที่เร็วที่สุดไม่ใช่เป้าหมายหลักของการวิจัย แต่เป้าหมายหลักคือมุ่งค้นหาว่าควรออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายอย่างไร เพื่อให้ตามทันกับความต้องการของผู้ใช้

รายงานระบุด้วยว่า ขณะนี้ ผู้ใช้ในสหราชอาณาจักรเริ่มคุ้นเคยกับการใช้เครือข่าย 4G ซึ่งเร็วกว่าเครือข่าย 3G เดิม ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมโทรคมนาคมใน หลายประเทศก็กำลังพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยี 5G อยู่ โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้บรอดแบนด์มากกว่าประเทศตะวันตกเสียอีก

อัปเดตสถานการณ์ 4G ไทย

สำหรับประเทศไทย การทดสอบเครือข่าย 4G เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2555 โดยเบื้องต้นคาดหมายว่ากสทช.จะสามารถจัดประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ได้ภายในปี 2557 เพื่อนำคลื่นช่วงดังกล่าวมาเพิ่มเติมในการให้บริการเทคโนโลยี 4G อย่างไรก็ตาม หลังการรัฐประหารในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 94/2557 ลงวันที่ 17 ก.ค. 2557 ให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมออกไป 1 ปี ซึ่งทำให้การประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ต้องชะลอไปด้วย

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการส่วนหนึ่งได้เริ่มให้บริการเทคโนโลยี 4G แล้ว บนคลื่นความถี่ที่แต่ละรายมีอยู่เดิมหรือร่วมมือกับเจ้าของคลื่นความถี่อย่างกสท.โทรคมนาคม (850 MHz) และทีโอที (2300 MHz)

ท้ังนี้ในงานสัมมนา “ขับเคลื่อนเอสเอ็มอีด้วยเศรษฐกิจดิจิตอล” เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2558 มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะสามารถเปิดประมูลคลื่นได้ภายในเดือนกันยายน 2558 แน่นอน

“รัฐบาลจะเร่งผลักดันการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 จีอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล โดยการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 จี จะเป็นเรื่องแรกที่คณะกรรมการเตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะหารือในที่ประชุม หลังจากที่คณะรัฐมนตรีจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆในการเข้าสู่ เศรษฐกิจดิจิทัลก่อนที่ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลจะเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้การขับเคลื่อนการประมูล 4 จี และวางระบบอินเทอร์เน็ตเดินหน้าไปได้ มั่นใจว่าจะเปิดประมูลได้ภายในกันยายนนี้”

เนชั่นทีวีรายงานว่า คณะกรรมการเตรียมการฯ ชุดนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเมื่อประกาศแล้วจะมีการประชุมทันที คาดว่าจะสามารถเรียกประชุมได้ภายใน 2 สัปดาห์หรือประมาณเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่ากว่าจะสามารถเปิดประมูลได้อีกครั้ง การจัดสรรคลื่นความถี่จะยังเป็นอำนาจหน้าที่ของกสทช.อยู่อีกหรือไม่ เพราะถึงตอนนั้นคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติน่าจะจัดตั้งเสร็จแล้ว และอำนาจในการกำหนดแผนแม่บทการใช้คลื่นความถี่จะไปอยู่ที่คณะกรรมการดิจิทัลฯ อีกทั้งในร่างมาตรา 9 ที่จะแก้ไขมาตรา 45 ของพ.ร.บ.กสทช.ระบุว่า การจัดสรรคลื่นไม่จำเป็นต้องใช้การประมูล สอดคล้องกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เปิดเผยว่ารัฐบาลมีความตั้งใจเปิดประมูล 4G ภายในปี 2558 อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่จะตั้งขึ้น รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ด้วย

ที่มา

 

Exit mobile version