เอกชนประสานเสียงนักวิชาการ เศรษฐกิจดิจิทัลต้องใช้กลไกตลาด ไม่ใช่ระบบสั่งการ

2015.02.13 22:16

นักเศรษฐศาสตร์เผยเศรษฐกิจดิจิทัลต้องเปิดให้แข่งขัน จัดสรรคลื่นควรใช้การประมูลเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด นักกฎหมายชี้ร่างกฎหมายดิจิทัลถอยหลังสู่ระบบสั่งการแทนการใช้กลไกตลาด เอกชนค้านร่างใหม่ให้ CAT กับ TOT มากำกับตลาดไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ห่วงกองทุนกทปส.โดนยุบเพิ่มความไม่เท่าเทียมของผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงไอซีที แนะรัฐจัดสรรคลื่นเพิ่มและเร่งพัฒนาคนรับเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนนักวิชาการสื่อชี้เสรีภาพสำคัญต่อการผลิตเนื้อหาที่สร้างสรรค์ แนะดูตัวอย่างเกาหลีใต้ที่เลิกกฎหมายเซ็นเซอร์

thai-telecom-digital-economy

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 มีการจัดสัมมนา “ทิศทางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมไทยหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจดิจิทัล” โดยสถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล (APaR) สถาบันการสื่อสารระหว่างประเทศ (IIC) ร่วมกับชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการโทรทัศน์ไทย ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดยในงานได้มีวงเสวนาย่อยหัวข้อ “การกำกับดูแลตลาดและการแข่งขันที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ผศ.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซักเคอร์เบิร์กเมืองไทยจะไม่เกิด ถ้าระบบตลาดไม่แข็งแรง

พัชรสุทธิ์กล่าวเริ่มต้นว่า ระบบตลาดเป็นระบบที่ดีที่สุดที่จะนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพราะระบบตลาดจะคัดเลือกให้เหลือแต่ผู้เล่นที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น และผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็จะเป็นผู้บริโภค แต่การที่จะก่อให้เกิดสภาพเช่นนั้นได้ ตลาดต้องทำงานได้อย่างเต็มที่

โดยรัฐมีหน้าที่เพียงสร้างบรรยากาศการแข่งขันขึ้นมา แล้วเอกชนจะเป็นผู้เข้าไปแข่งขันเอง ซึ่งผู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุดจะเป็นผู้ชนะ ทำให้ในที่สุดคนทุกคนจะได้ประโยชน์ โดยหากประเทศมีระบบแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ในระยะยาว ตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยก็จะเติบโต และเมื่อผู้ประกอบการของไทยมีความพร้อม ก็จะเริ่มขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

“การใช้ระบบตลาดเป็นระบบที่ดีในการคัดผู้ชนะ เราจะไม่เห็นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กของเมืองไทย ถ้าเราไม่มีกลไกการให้รางวัลผู้ชนะ เราจะไม่เห็นการเอาผู้ที่ไม่มีประสิทธิภาพออกไปจากระบบ”

จัดสรรคลื่นด้วยกลไกตลาด ตอบโจทย์เรื่องประสิทธิภาพ

พัชรสุทธิ์กล่าวถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลว่า คลื่นความถี่ก็เช่นกัน ที่หากจัดสรรโดยใช้ระบบตลาดหรือการประมูล ก็จะรับประกันได้ว่าทรัพยากรคลื่นความถี่จะถูกนำไปใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด การประมูลยังสร้างรายได้ให้แก่รัฐ มีความโปร่งใส ยุติธรรม และเป็นวิธีที่สาธารณชนเข้าใจได้ง่าย

“เราต้องมองที่วัตถุประสงค์ของการจัดสรรคลื่นความถี่ เราต้องการให้คนได้ไปไปใช้ให้เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แล้วทีนี้ค่อยมาดูว่าจะใช้วิธีการอะไร… การประมูลมีประสิทธิภาพ มีรายได้ให้รัฐ มีความโปร่งใส ความยุติธรรม และเข้าใจง่าย

“ถามว่าการคัดเลือกหรือการประกวดคุณสมบัติ มันไม่ดีอย่างไร ข้อแรกความโปร่งใส เราไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการที่จะมาคัดเลือกมีความโปร่งใสจริงหรือเปล่า เว้นเสียแต่ว่าเขาจะกำหนดไปเลยว่ามีเกณฑ์การคัดเลือกอย่างไรซึ่งต้องกำหนดเป็นตัวเลขได้ และต้องไม่มีการใช้ดุลยพินิจ แล้วประสิทธิภาพ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการชุดนี้จะคัดเลือกคนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

“ถ้าเทียบกับการประมูล ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่าตอบโจทย์ห้าข้อนี้ หากมีคนนำเสนอให้ไปใช้วิธีอื่น เขาต้องตอบให้ได้ว่าระบบตลาดล้มเหลวอย่างไรหรือระบบอื่นดีกว่าการประมูลอย่างไร ซึ่งถ้าตอบได้ ผมคิดว่าก็น่าสนใจ”

เตือนรัฐอย่าถอยหลังสู่ระบบสั่งการ ขีดเส้นพื้นที่แข่งขันสำหรับเอกชนให้ชัดเจน

ปิยบุตรกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้พยายามเปลี่ยนผ่านจากระบบสั่งการมาสู่ระบบตลาด เห็นได้จากการจัดตั้งกสทช. มีหน่วยงานต่างๆ ที่มาดูแลระบบตลาด ทว่าร่างกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัลที่ออกมากลับมีเนื้อหาให้รัฐเป็นผู้ดูแลและกำหนดทุกอย่าง เสมือนว่าเรากำลังพยายามกลับไปสู่ระบบสั่งการเช่นในอดีต

ซึ่งแม้ว่าระบบสั่งการจะเหมาะสมสำหรับบางเรื่อง เช่นเรื่องการส่งเสริมหรือการทำโครงสร้างพื้นฐานบางอย่าง แต่การแข่งขันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐจำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่ที่เปิดให้มีการแข่งขัน พื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่ของเอกชน เพราะหากเส้นแบ่งดังกล่าวไม่มีความชัดเจนก็จะเกิดปัญหาขึ้นตามมา เนื่องจากร่างกฎหมายชุดนี้ยังไม่มีการพูดถึงการแข่งขันมากเท่าที่ควร รวมทั้งไม่มีการระบุด้วยว่าจะให้เอกชนอยู่อย่างไรในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

อินเทลเผย ให้ CAT และ TOT นั่งเก้าอี้คนกำกับ ไม่เป็นธรรม

ถัดมาในการเสวนาย่อยหัวข้อ “โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ล่มสลายไม่ได้และการพัฒนาสู่ Internet Superhighway” วรภัทร ภัทรธรรม ผอ.ฝ่ายพัฒนานโยบายการสื่อสารประจำภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) กล่าวถึงการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลว่า องค์กรกำกับดูแลต้องโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นอิสระจากผู้ประกอบการ ซึ่งสำหรับบริบทประเทศไทย การที่บริษัท กสท โทรคมนาคม (CAT) และบริษัท ทีโอที (TOT) จะมาเป็นผู้กำกับดูแลและผู้ประกอบการในตลาด ตามร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

วรภัทรกล่าวว่า ตนยังเป็นห่วงด้วยว่า ช่องว่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีระหว่างคนทั่วไปกับกลุ่มคนด้อยโอกาสในประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้น จากการที่กองทุนกทปส. ซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งคือเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีในกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสกำลังจะถูกยุบตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

ส่วนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดแคลนคลื่นความถี่ รัฐจำเป็นจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มเติมเพื่อรองรับกับอุปสงค์ของประเทศ

นอกจากนี้ ทักษะและความรู้ทางด้านไอซีทีของคนไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ตนจึงอยากให้รัฐเน้นในเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้วย

ทางด้านพิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐสัมพันธ์ บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล บทบาทของรัฐคือต้องเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน ไม่ใช่ผู้ควบคุม รวมทั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ต้องเปิดเสรีและเป็นธรรมด้วย

Open Society และสื่อใหม่ ผลผลิตจากการจัดสรรคลื่นตามรัฐธรรมนูญ 2540

รศ.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง “สื่อใหม่” ในประเด็น “ความท้าทายของสื่อใหม่กับสังคมยุดดิจิทัล” ว่า นิยามของ “สื่อใหม่” โดยทั่วไปคือสื่อที่สามารถรับผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลได้ เป็นสื่อที่ผู้ใช้เข้าถึงได้แบบทันทีที่ต้องการ (on demand) และมีความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ ซึ่งสื่อใหม่ในบริบทของไทยคือ สื่อที่เกิดจากการปฏิรูปสื่อครั้งแรกตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่บัญญัติให้คลื่นความถี่เป็นคลื่นสาธารณะ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้คลื่นความถี่ได้ สื่อใหม่ดังกล่าวนี้ได้แก่ วิทยุชุมชน ดาวเทียม รวมทั้งทีวีดิจิทัลด้วย ที่เป็นผลพวงมาจากการกำหนดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่

สื่อใหม่นำมาซึ่งสังคมที่เปิดกว้าง (open society) แทนที่จะเราจะเป็นผู้รับสารอย่างเดียว สื่อใหม่ได้เปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้แสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม รศ.พิรงรองบอกว่า แม้ว่าสื่อจะเปิดกว้างแล้ว แต่ระบอบก็ยังคงเป็นระบอบเดิมที่ไม่ได้เปิดกว้างตามไปด้วย

ทั้งนี้ สื่อใหม่ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย อาทิ สื่อใหม่เหล่านี้มีส่วนทำให้ผู้คนเลือกรับแต่สารที่ตนเองพอใจเท่านั้น และไม่ฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง การคุ้มครองผู้บริโภคบนสื่อใหม่ทำได้ยากขึ้น สื่อใหม่ยังสร้างให้เกิดความอสมมาตรทางข้อมูลข่าวสาร โดยผู้บริโภคอาจไม่มีทางรู้เลยว่า เนื้อหาบนสื่อใหม่ที่ตนบริโภคอยู่ถูกกำกับโดยโฆษณา และตนไม่ได้มีเสรีภาพในการเลือกข้อมูลข่าวสารนั้นจริงๆ

“เสรีภาพ” จำเป็นต่อการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์รับเศรษฐกิจดิจิทัล

รศ.พิรงรองกล่าวว่า ในการเดินทางไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เสรีภาพเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื้อหาที่สร้างสรรค์จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีเสรีภาพ ซึ่งเราได้เห็นตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้เนื่องจากรัฐบาลปล่อยให้ประชาชนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมด

นอกจากนี้ การสร้างการแข่งขันที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญด้วย หากกฎหมายไม่ให้พื้นที่แก่เสรีภาพและการแข่งขัน ทุกอย่างก็คงเป็นเหมือนเดิม

Tags: , , , , ,
%d bloggers like this: