ประธานทีดีอาร์ไอระบุ ประชาชนแทบไม่ได้อะไรจากชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคม ร่างกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนและรัฐ อีกทั้งการออกแบบกฎหมายขาดการประเมินผลกระทบนโยบาย ร่างพ.ร.บ.กสทช.ไม่ตอบโจทย์ธรรมาภิบาล แนะจัด “โต้วาทีสาธารณะ” ทิ้งท้ายคำถาม 6 ข้อให้รัฐตอบ ด้านประธานเครือข่ายพลเมืองเน็ตเสนอ จะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลต้องสร้างความมั่นใจและการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่วนการสอดแนมนั้นไม่ตอบโจทย์การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “บทบาท กสทช. ภายใต้เศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล: ร่างกฎหมายดิจิทัลฯ ตอบโจทย์หรือไม่?” จัดโดยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกสทช. และสฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) โดยมีวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ไม่ว่าจะมองจากด้านเศรษฐกิจหรือสังคม ประชาชนก็ไม่ได้อะไร
สมเกียรติกล่าวถึงชุดร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลจำนวน 10 ฉบับว่า เมื่อมองผลกระทบของร่างกฎหมายชุดนี้ต่อเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายชุดนี้จะทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มทุน “ที่ไม่ต้องการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการที่โปร่งใส” และหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กองทัพ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงผู้ประกอบการเอกชนที่ต้องการสวมรอยใช้คลื่นความถี่ ขณะที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษีจะได้ประโยชน์น้อยมาก
สมเกียรติกล่าวต่อว่า โดยเฉพาะหน่วยงานราชการนั้นจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการ “ได้ขยายอาณาจักร” หรือจากการจัดตั้งหน่วยงานและคณะกรรมการใหม่จำนวนมากขึ้นมา ซึ่งหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องนำรายได้เข้ารัฐ และสามารถกำหนดอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าอัตราเงินเดือนราชการได้
“เป็นการออกกฎหมายในแบบที่ว่า เอาเงินมาก่อน ด้วยการเอากองทุนดิจิทัลฯ เอาออฟฟิศมาก่อน เอาเงินเดือนมาก่อน ทำงานอะไร เดี๋ยวค่อยไปว่ากัน ยังไม่มีการบอกสัญญาส่งมอบงาน แต่บอกขอทรัพยากรมาให้หมดก่อน” สมเกียรติกล่าว
ส่วนเมื่อมาพิจารณาจากมุมมองด้านการเมืองและสังคม ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสิทธิเสรีภาพ ความเป็นส่วนตัว ความสามารถในการเข้าถึงบริการต่างๆ ของประชาชน ว่าเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อเทียบกับความมั่นคงของรัฐ พบว่า ร่างกฎหมายไม่มีความสมดุลเลยในด้านการถ่วงน้ำหนักเรื่องความมั่นคงและเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ความเป็นส่วนตัว ความสามารถในการเข้าถึงบริการต่างๆ
สมเกียรติกล่าวว่า เห็นได้ชัดว่า ร่างกฎหมายชุดนี้เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อรับใช้ความมั่นคงมากกว่าประชาชน โดยประชาชนในที่นี้ยังรวมไปถึงภาคธุรกิจใหญ่อื่นๆ ด้วย เช่น ภาคธุรกิจธนาคารที่จะได้รับผลกระทบ
“สรุปว่า ไม่ว่าจะมองในมุมของเศรษฐกิจหรือสังคม ประชาชนก็จะได้ประโยชน์น้อยมากจากร่างกฎหมายชุดนี้”
ถนนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้มีสายเดียว: ก่อนร่างกม.ต้องศึกษาผลกระทบนโยบายก่อน
สมเกียรติกล่าวว่า กระบวนการออกแบบกฎหมายชุดนี้มีปัญหาอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังไม่ได้คิดถึงทางเลือกต่างๆ ทางนโยบายอีกด้วย เนื่องจากโดยปกติ การจะจัดทำโครงการใดขึ้นต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบในการออกกฎหมายหรือที่เรียกว่า RIA (Regulatory Impact Assessment) ซึ่งการร่างกฎหมายชุดนี้ไม่ได้มีการทำแบบประเมินดังกล่าว
“วิธีการให้ได้มาซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้มีถนนสายเดียว ควรต้องมีกระบวนการประเมินผลกระทบของกฎหมาย (RIA) เช่นว่า ถ้าจะต้องการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ถ้าต้องการโครงข่ายบรอดแบนด์ทั่วประเทศ มันมีสามทางเลือก แต่ละทางเลือกมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบหรือข้อดีข้อเสียอย่างไร ประชาชนจึงจะได้ทางเลือกที่ดีที่สุด”
นอกจากนี้ จากการที่ร่างกฎหมายชุดนี้ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบ เราจึงไม่อาจรู้ได้ด้วยว่า ประชาชนเสียประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างไรบ้าง
สรุป ร่างพ.ร.บ.กสทช. ไม่ตอบโจทย์
สมเกียรติกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของกสทช.คือเรื่องธรรมาภิบาล ทั้งนี้ ธรรมาภิบาลประกอบด้วย เรื่องของความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และเรื่องความรับผิดชอบต่อผลงาน (accountability) ซึ่งหากร่างกฎหมายต้องการแก้ปัญหาของกสทช. ร่างกฎหมายจะต้องต้องตอบโจทย์ในสามประเด็นนี้
ทว่าร่างกฎหมายกสทช.ที่ออกมาก็ไม่ได้ตอบโจทย์ประเด็นเหล่านี้แต่อย่างใดเลย
แนะจัด “โต้วาทีสาธารณะ” ให้รัฐตอบคำถามตรงประเด็น
สมเกียรติกล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลว่า ช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีการท้วงติงชุดร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับจากภาคประชาชน และรัฐก็ดูมีท่าทีเปิดกว้างมากขึ้น แต่ท่าทีของรัฐบาลยังไม่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ เมื่อมีข้อสงสัยหรือข้อสังเกตจากฝ่ายต่างๆ ก็ยังไม่มีพบว่ามีรัฐมนตรีที่มีหน้าที่รับผิดชอบท่านใดออกมาชี้แจง “ให้ตรงประเด็น” เลยด้วย
“วิธีที่จะให้ท่านตอบโจทย์ได้ตรงประเด็นควรจะต้องมีการจัด public debate (การโต้วาทีสาธารณะ) โดยเชิญฝ่ายรัฐบาลและผู้ที่เห็นต่างมาอยู่ในเวทีเดียวกัน มีการตั้งคำถามและตอบคำถามกัน” ซึ่งสมเกียรติบอกว่า นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุด และขอฝากให้สื่อมวลชนหรือหน่วยงานต่างๆ ลองพิจารณาดู ว่าการจัดเวทีดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือไม่
6 คำถามที่รัฐต้องตอบ ก่อนเดินหน้าชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล
สมเกียรติกล่าวว่า ก่อนที่จะมีการจัดโต้วาทีสาธารณะ มีคำถามที่รัฐบาลควรจะต้องตอบก่อน อย่างน้อย 6 ประเด็น ดังนี้
1. จะมีหลักประกันหรือไม่ว่าการออกกฎหมายชุดเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะพ.ร.บ.กสทช. และ พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะทำให้การใช้คลื่นความถี่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้คลื่นความถี่จริง เพราะที่ผ่านมา มีการนำคลื่นไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์มากมาย เช่น หน่วยงานของรัฐนำคลื่นความถี่ที่ได้ไปให้สัมปทานกับเอกชนต่อ อย่างในกรณีวิทยุโทรทัศน์ของกองทัพบก วิทยุโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ทีโอที หรือกสท. เป็นต้น จนทำให้ต้องมีการจัดตั้งกสทช.ขึ้นมา
“ท่านผู้ยกร่างและรัฐบาลมีหลักประกันอย่างไร ว่านี่จะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอย” สมเกียรติกล่าว
2. ต่อให้คลื่นความถี่ตามวัตถุประสงค์แล้ว จะมั่นใจได้อย่างไรว่าคลื่นจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สมเกียรติกล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐบาลมีความสับสนในเรื่องที่ว่า การที่รัฐจะต้องการให้มีบริการสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น รัฐไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะนั้นเองเสมอไป เช่น หากต้องการให้มีบริการรักษาพยาบาล ก็สามารถให้มีทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และรัฐก็สามารถอุดหนุนงบประมาณไปยังเอกชนได้ การจัดสรรบริการสาธารณะไม่จำเป็นต้องทำโดยหน่วยงานของรัฐเท่านั้น
“ฉะนั้นการจะกันคลื่นออกมาโดยบอกว่า คลื่นนี้เป็นคลื่นบริการสาธารณะ จะต้องทำโดยรัฐ เช่น ทีโอทีได้คลื่นไปทำบริการสาธารณะด้านโทรคมนาคมจริง และไม่ได้ไปปล่อยใครต่อ จะมีหลักประกันอย่างไรว่าทีโอทีจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
สมเกียรติกล่าวว่า วิธีที่ดีกว่านั้นคือ การที่รัฐเปิดให้มีการแข่งขันในตลาด และรัฐไปซื้อบริการที่ราคาถูกที่สุด มีคุณภาพดีที่สุด โดยไม่ว่าผู้ให้บริการนั้นจะเป็นรัฐหรือเอกชนก็ตาม
3. หากยกเลิกการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูลและใช้การคัดเลือกแทน รัฐบาลจะมีหลักประกันอย่างไรว่าจะมีการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ ในเมื่อการประมูลคือวิธีการคัดเลือกว่าใครคือผู้ประกอบที่จะสามารถนำคลื่นความถี่ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
สมเกียรติกล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยได้มีการประมูลคลื่นความถี่เสร็จสิ้นไปแล้วสองครั้ง ซึ่งหากใช้วิธีการคัดเลือก ที่ผ่านมาการจัดสรรคลื่น 3G และทีวีดิจิทัลอาจจัดสรรไม่เสร็จด้วยซ้ำเพราะอาจมีการฟ้องร้องกันมาก
“มาถึงจุดนี้ สังคมได้เห็นและเข้าใจแล้วถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของการประมูลคลื่นความถี่ มีเพียงรัฐบาลที่ยังคงมีปัญหาในการทำความเข้าใจเรื่องนี้” สมเกียรติกล่าว
4. รัฐบาลมีหลักประกันอย่างไร ว่าจะไม่ไปแทรกแซงการทำงานของกสทช. เพราะร่างพ.ร.บ.กสทช.ที่ออกมานั้น ได้กำหนดไว้ว่า กสทช.จะต้องทำตามนโยบายและแผนแม่บทของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเฉพาะ “แผนแม่บท” นั้นจะเอื้อให้รัฐบาลสามารถลงรายละเอียดได้มากว่าจะกำหนดให้กสทช.ทำอะไร
ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการที่รัฐบาลกำหนดนโยบาย โดยการกำหนดเพียงเป้าหมายและใช้ตัวชี้วัด แล้วให้กสทช.หาวิธีดำเนินการเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้อยู่แล้วตามกฎหมายปัจจุบัน ขณะที่ร่างกฎหมายข้างต้นจะทำให้มีความเสี่ยงมากที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานของกสทช.
5. จะมีหลักประกันอย่างไรว่า ธรรมาธิบาลของกสทช.ซึ่งเป็นปัญหามากในปัจจุบันจะดีขึ้น ในเมื่อร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับนี้ “ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการใช้เงินหรือเรื่องของซุปเปอร์บอร์ดเลย”
“รัฐบาลจะแก้กฎหมายทั้งที จะไม่แตะประเด็นที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นปัญหาเลย ก็เสมือนว่ารัฐบาลไปสมคบกับกสทช.ในการแก้เนื้อหาออกมา” สมเกียรติกล่าว
6. มีหลักประกันอะไร ว่าจะมีการประมูล 4G ภายในเร็ววันนี้
สมเกียรติกล่าวว่า ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ ก็เป็นเหตุให้มีการเลื่อนประมูล 4G และก็มีความพยายามในการร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่ว่านี้ ซึ่งอาจทำให้ตีความได้ว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้มีการประมูลคลื่นต่างๆ รวมทั้งคลื่น 4G ด้วย
สมเกียรติกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยออกมายืนยันเลยว่า จะให้มีการประมูลคลื่น 4G หรือไม่ และเมื่อไหร่ ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ออกมาตอบในประเด็นนี้ “คงจะช่วยไม่ได้ที่อาจจะมีคนสงสัย ว่ารัฐบาลกำลังสมคบกับกลุ่มทุนบางกลุ่มที่ไม่อยากให้มีการประมูลหรือไม่ เนื่องจากผลประโยชน์ในวงการโทรคมนาคมมีมหาศาล”
“การประมูล 3G ได้เงินเข้ารัฐไปอย่างน้อยๆ ก็ห้าหมื่นกว่าล้าน ถ้าประมูลได้มากกว่านี้ มีการแข่งขันเต็มที่ เม็ดเงินก็จะมากกว่านี้ นี่คือการเดิมพันที่จะดูว่า รัฐบาลมีหลักประกันหรือไม่ที่จะให้มีการประมูล 4G ในเร็ววันนี้ และทำให้ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัลโดยการแข่งขันของโอเปอร์เรเตอร์ในตลาด ไม่ใช่โดยการบงการของรัฐโดยการร่วมมือกับกลุ่มทุนบางกลุ่ม”
สมเกียรติกล่าวด้วยว่า ตนอยากให้ทุกฝ่ายรวมตัวกันและติดตามในเรื่องนี้ และเห็นว่าภาคประชาสังคมรวมถึงภาคธุรกิจควรจะต้องมีการยกร่างกฎหมายคู่ขนานกันไป
จะไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ต้องสร้างความมั่นใจและการแข่งขันที่เป็นธรรม
สฤณีกล่าวว่า หากกฎหมายจะตอบโจทย์การไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล กฎหมายจะต้องสามารถ
1. สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) ว่ารัฐจะไม่มาสอดแนมประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่มีเหตุอันควร และความมั่นใจในเสถียรภาพของระบบ (information security)
2. สร้างสนามแข่งขันที่เท่าเทียม เป็นธรรม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
“เพราะเศรษฐกิจดิจิทัล เรากำลังพูดถึงเศรษฐกิจสมัยใหม่ นวัตกรรมต่างๆ เป็นเศรษฐกิจที่โดยธรรมชาติควรจะเอื้อให้ผู้ประกอบการรายเล็กที่อาจไม่ได้มีทุนมาก เข้ามานำเสนอบริการให้เราได้เลือกใช้”
“ถ้าให้มีหน่วยงานหนึ่งใส่หมวกเป็นทั้งคนกำกับ คนส่งเสริม และเป็นคนทำธุรกิจด้วย กรณีอย่างนี้จะเป็นผลเสียต่อการสร้างสนามแข่งขันแน่นอน และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ที่จะไม่ได้บริการที่หลากหลายให้เลือกใช้”
ส่วนในเรื่องความปลอดภัยของระบบสารสนเทศนั้น สฤณีกล่าวว่า การให้อำนาจรัฐในการสอดแนมประชาชนไม่ได้ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับระบบ ทว่าสิ่งที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยของระบบคือเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และเรื่องการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน การออกกฎหมายที่เอื้อให้รัฐสอดแนมประชาชนจึงไม่ได้ตอบโจทย์ที่ต้องการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยของระบบสารสนเทศ
นอกจากนี้ หากไปดูกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่เผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะพบว่ากฎหมายมีความชัดเจนว่ากฎหมายมุ่งดูแลในเรื่องทางเทคนิคเท่านั้น